Skip to main content

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สรุปภาพรวมพบแนวโน้มความรุนแรงในระดับความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการยิงหรือการฆ่ารายวันซึ่งการเกิดเหตุทำให้มีความสูญเสียชีวิตอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และมีการก่อความรุนแรงในลักษณะการประสานงานและร่วมมือกันปฏิบัติการอย่างเป็นระบบในการโจมตีเป้าหมายในพื้นที่กว้างหลายๆแห่งพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกันมากขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เราตั้งคำถามต่อไปว่ารัฐไทยล้มเหลวในการจัดการปัญหาหรือขาดความชอบธรรมในการจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทางการเมืองและความมั่นคงหรือไม่ซึ่งที่ผ่านมา นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้มีการเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่อง “ค่านิยมประชาธิปไตย” เป็นความร่วมมือระหว่างนักรัฐศาสตร์จากต่างประเทศชื่อ Dr. Robert Albritton จากมหาวิทยาลัย Mississippi แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถาบันและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้น แม้ว่ารัฐจะไม่ล้มเหลว แต่รัฐก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักเพราะสถาบันการบริหารเช่นตำรวจและทหาร รวมทั้งข้าราชการพลเรือนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน บทบาทของนักการเมืองในระดับชาติก็ไม่ได้รับการยอมรับ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสนองตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดาวน์โหลดเอกสาร .PDF (311Kb)
32 เดือนแห่งความรุนแรง

 

32 เดือนแห่งความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้:

 

รายงานเหตุการณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึง 30 มิถุนายน 2549

 

 

 

 

 

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

 

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

 

 

 

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน (31 สิงหาคม 2549) ช่วงแห่งความรุนแรงนับได้เป็นเวลา 32 เดือน ในห้วงเวลาดังกล่าวพัฒนาการของสถานการณ์นับว่ายาวนานพอสมควร สิ่งที่น่าคิดก็คือ ความรุนแรงมีความต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างแก่สังคมไทยได้ เพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่และมีความหมายที่ท้าทายความรับรู้ของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้บอกให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายความเข้าใจ ความรับรู้เก่าๆของเราเกี่ยวกับสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมและชาติพันธ์ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความสามารถของรัฐและการจัดการความขัดแย้งที่รุนแรงซับซ้อน และความรับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้บนความเชื่อความศรัทธาแบบที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เคยเข้าใจ

 

เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลในทางวิชาการมีความชัดเจนและเป็นระบบยิ่งขึ้นการวิเคราะห์ในที่นี้จะสรุปภาพรวมเหตุการณ์เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าว โดยข้อมูลการวิเคราะห์นี้จะได้มาจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ภาคใต้ในทางวิชาการซึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ร่วมมือกับสถาบันข่าวอิศรา ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสถาบันเครือข่ายต่างๆได้ร่วมมือกันสร้างและพัฒนาขึ้นมาเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ภาพรวม: แนวโน้มความรุนแรงในระดับความเข้มข้นมากขึ้น

 

ข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาในห้วงระยะเวลา 32 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547-สิงหาคม พ.ศ. 2549 มีจำนวนความถี่ของการก่อเหตุความรุนแรงรวมทั้งสิ้น 5,460 ครั้ง ในชุดของความรุนแรงดังกล่าว จังหวัดนราธิวาสมีสถิติสูงสุด 2,074 ครั้ง รองลงมาคือจังหวัดปัตตานี 1,656 ครั้ง และจังหวัดยะลา 1,412 ครั้ง ส่วนจังหวัดสงขลามีรายงาน 318 ครั้ง

 

การก่อเหตุความรุนแรงดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ในห้วงเวลา 32 เดือนดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตรวม 1,730 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,513 คน กล่าวโดยภาพรวม มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 4,243 คน

 

จากสภาพโดยทั่วไปของเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว คำถามที่น่าพิจารณาก็คือเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2549 มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลง

 

ต่อข้อพิจารณานี้ เราอาจตีความได้สองแนวทาง กล่าวคือ ในประการแรก เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมทั้งจังหวัดสงขลาในบางส่วน ในรอบ 8 เดือนแรกของ ปี พ.ศ. 2549 หากจะกล่าวในแง่ของระดับความถี่หรือจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบมีระดับที่คงที่หรืออาจจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2548 ทั้งนี้เมื่อพิจารณเปรียบเทียบระดับความรุนแรงในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม พ.ศ. 2548 กับปี พ.ศ. 2549 ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2548 มีเหตุการณ์จำนวน 1,849 ครั้งเทียบช่วงเวลา 8 เดือนเช่นกันในปี พ.ศ. 2549 มีเหตุการณ์ 1,202 ครั้ง เหตุการณ์เกิดขึ้นน้อยลงประมาณ 647 ครั้ง

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรายังอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าสถานการณ์โน้มเอียงไปในทิศทางที่มีความรุนแรงและความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2548 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงรวม 1,281 คน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยผู้ที่เสียชีวิต 418 คนและบาดเจ็บจำนวน 863 คน แต่ใน 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2549 ปรากฏว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 1,106 คน ในจำนวนนี้เป็นตัวเลขผู้เสียชีวิต 422 คนและบาดเจ็บจากเหตุการณ์จำนวน 684 คน แม้จำนวนครั้งของเหตุการณ์จะต่างกันอยู่ 600 กว่าครั้ง แต่มองในแง่ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2549 กลับมีจำนวนมากกว่าเล็กน้อย แสดงให้เห็นระดับความเข้มข้นของความรุนแรงในแต่ละครั้งของเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2549 อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียในจำนวนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

 

 

 



 

ยุทธวิธีการก่อเหตุ: ยิงรายวันและระเบิด

 

เมื่อดูจากประเภทของการก่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ข้อมูลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดเหตุการณ์ประเภทที่ใช้การยิงในจำนวนมากที่สุด จำนวน 2,087 ครั้งหรือร้อยละ 40 ของเหตุทั้งหมด รองลงมาคือการวางระเบิดหรือการโจมตีด้วยระเบิด มีจำนวน 967 ครั้งหรือร้อยละ 19 ของทั้งหมด อันดับที่สามคือการวางเพลิง จำนวน 721 ครั้งหรือร้อยละ 14 นอกจากนั้นจะเป็นการก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆเช่นเผายางรถยนต์หรือใช้ตะปูเรือใบโปรยตามถนน เป็นต้น

 

การก่อกวนมีประมาณ 701 ครั้งหรือร้อยละ 14 เช่นเดียวกัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมองจากเส้นทางของการใช้ยุทธวิธีการก่อเหตุในรอบ 32 เดือนหรือ 2 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการใช้ยุทธวิธีการก่อเหตุโดยใช้การยิงจะเป็นวิธีการหลักตลอดเวลาที่ผ่านมาซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะคือการยิงรายวันตามพื้นที่ต่างๆกระจายไปในวงกว้างทุกพื้นที่ ส่วนการใช้การวางเพลิงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มากเป็นอันดับสองในช่วงปี พ.ศ. 2547 นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

 

การใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุมีระดับสูงมากขึ้นอย่างผิดสังเกต โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในปีดังกล่าวเป็นต้นมา คลื่นการใช้ระเบิดโจมตีสูงสุดอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2549 มีการก่อเหตุโดยใช้ระเบิดมากที่สุดจนทำสถิติสูงกว่าระดับของความรุนแรงชนิดอื่นๆในเดือนเดียวกัน และเป็นการก่อเหตุโดยใช้ระเบิดมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบสามปีจำนวนสูงถึง 88 ครั้งในเดือนเดียว เหตุเกิดในระหว่างวันที่ 15 ถึง 18 มิถุนายน โดยเฉพาะวันที่ 15 มิถุนายนวันเดียวมีการวางระเบิดมากถึง 30 กว่าจุดในพื้นที่กว้างทั้ง 3 จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีการวางระเบิดในบางพื้นที่ของอำเภอเทพา สงขลา

 

 

 

ข้อมูลในรอบ 30 เดือนนับตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2549 แสดงให้เห็นพื้นที่ในระดับอำเภอที่มีการก่อเหตุวางระเบิดมากที่สุดก็คือในเขตอำเภอเมืองยะลา ซึ่งสูงถึง 85 ครั้ง รองลงมาคืออำเภอเมืองนราธิวาสและอำเภอระแงะจังหวัดนราธิวาสซึ่งมีการวางระเบิดสูงถึงแห่งละ 49 ครั้ง อำเภอสุไหงปาดีก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการวางระเบิดค่อนข้างมากประมาณ 48 ครั้ง

 

อย่างไรก็ดีเมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมดทุกประเภทของการก่อการ โดยดูเป็นรายอำเภอทั้งสามจังหวัดในพื้นที่ จากข้อมูลในรอบ 30 เดือนเช่นเดียวกันเราพบว่าอำเภอที่มีเหตุเกิดมากที่สุดก็คืออำเภอเมืองยะลา 425 ครั้ง อันดับสองคืออำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 316 ครั้ง ลำดับที่สามคืออำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสมีเหตุเกิดขึ้น 302 ครั้ง ลำดับที่สี่คืออำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีเหตุเกิดขึ้น 280 ครั้ง ลำดับที่ห้าคืออำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 261 ครั้ง

 

เมื่อเทียบดูเหตุการณ์เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2549 เราพบว่าพื้นที่ที่เป็นจุดก่อเหตุมากที่สุดก็ยังคงเป็นอำเภอเมือง จังหวัดยะลา จุดที่น่าสนใจก็คืออันดับสองกลับกลายเป็นอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อันดับที่สามและสี่ในช่วงนี้ก็คือ อำเภอรือเสาะและอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

 

 



 

เป้าและเหยื่อของความรุนแรง

 

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือใครคือผู้ที่เป็นเป้าหมายหรือเหยื่อของความรุนแรงจากการฆ่ารายวันไม่ว่าจะเป็นการตายหรือบาดเจ็บด้วยการยิงหรือระเบิด กล่าวโดยภาพรวมแล้ว ในแง่การตายจากความรุนแรงคนมุสลิมเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 ผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ระบุได้ว่าเป็นคนมุสลิมมีจำนวน 924 คน ส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นคนพุทธมีจำนวน 697 คน

 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าจะขัดแย้งกับความรู้สึกโดยทั่วไปว่าคนพุทธเป็นเหยื่อหรือเป้าหมายของการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แท้ที่จริงแล้วชาวมุสลิมกลับเป็นผู้ที่ได้รับความสูญเสียด้านชีวิตมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ในด้านของผู้บาดเจ็บจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธ โดยมีจำนวนสูงมากถึง 1,474 คน ส่วนคนมุสลิมที่ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนน้อยกว่าคือ 718 คน

 


อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ควรสนใจและพิจารณาด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในรอบ 6 เดือนแรกระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ของปี พ.ศ. 2548 และปี พ.ศ. 2549 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เป็นคนพุทธมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ในหกเดือนแรกของปี พ.ศ. 2548 คนพุทธเสียชีวิต 111 คน ในขณะที่ปี พ.ศ. 2549 ในรอบหกเดือนแรกคนพุทธเสียชีวิตจากเหตุการณ์จำนวน 141 คน อีกด้านหนึ่ง ผู้เสียชีวิตที่เป็นคนมุสลิมในหกเดือนแรกของปี 2548 มีจำนวน 208 คน ในขณะที่หก เดือนแรกของปี 2549 มุสลิมเสียชีวิต 183 คนแสดงว่าในปีปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบของคนมุสลิมมีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าในภาพรวม คนมุสลิมที่เสียชีวิตจะยังคงมีจำนวนมากกว่าก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าจับตาในบางพื้นที่ที่มีข่าวการกำหนดเป้าหมายการโจมตีต่อคนพุทธจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ

 

 

เป้าหมายของการก่อความรุนแรงในอีกด้านหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือราษฏรโดยทั่วไป ข้อมูลปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 แสดงให้เห็นว่า มีราษฎรที่เป็นเหยื่อหรือเป้าของการทำร้ายสูงมากถึง 1,462 คนหรือร้อยละ 47 ของเหยื่อแห่งความรุนแรงทั้งหมด กองกำลังติดอาวุธของรัฐเช่น ทหารและตำรวจแม้จะเป็นเป้าหมายทางยุทธวิธีที่สำคัญ แต่เป้าหมายที่เป็นพลเรือนหรือประชาชนโดยทั่วไปกลับกลายเป็นจุดอ่อนและเป้าใหญ่ที่สุดในการก่อเหตุความไม่สงบ

 

ลักษณะพิเศษเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ในปี พ.ศ. 2547 ทั้งนี้สอดคล้องกับรายงานที่ว่ายุทธวิธีหลักที่ใช้ในการก่อเหตุความรุนแรงก็คือการยิงหรือการสังหารด้วยกระบวนการที่มือสังหารใช้วิธีขี่ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ประกบยิงเหยื่อผู้บริสุทธิ์ เป้าการโจมตีที่สำคัญตามมาก็คือตำรวจ นปพ. หรือ ตชด. ประมาณร้อยละ 16 ของเป้าหมายการก่อความรุนแรงทั้งหมด ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเป้าหมายลำดับที่สามหรือร้อยละ 12 ของเป้าหรือเหยื่อที่ถูกโจมตีทั้งหมด

 

เป็นที่น่าสนใจที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ว่าตำรวจมีแนวโน้มจะเป็นเป้าการถูกโจมตีมากกว่าทหาร ทั้งนี้อาจจะมาจากสาเหตุที่ตำรวจมีบทบาทมากกว่าทหารในการลงพื้นที่และอยู่ใกล้ประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ที่ตำรวจเป็นเป้าทางการเมืองที่ได้รับการมองด้วยความไม่พอใจมากกว่าทหาร

 

เนื่องจากความยากลำบากในการแยกข้อมูลที่บางครั้งมีรายงานว่ามีราษฏร ตำรวจและ นปพ. ถูกโจมตีทำร้ายพร้อมกันอีกประมาณร้อยละ 12 หากนำข้อมูลส่วนนี้มาพิจารณาด้วยก็อาจจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวโน้มจะถูกโจมตีมากกว่าทหารในสถานการณ์การก่อความไม่สงบภาคใต้ นอกจากนี้แล้วเป้าหมายการโจมตียังเป็นคนงาน ลูกจ้างทางราชการหรือผู้ที่ทำงานให้รัฐ รวมทั้งพวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งตามปกติก็จะเป็นเป้าของการก่อความรุนแรงอยู่เสมอ

 

 

สรุปสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ในรอบ 32 เดือน

 

กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงระยะเวลา 32 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 สถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น มีการก่อเหตุความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบรวมทั้งสิ้น 5,460 เหตุการณ์ เมื่อมองในรายละเอียด จังหวัดนราธิวาสมีสถิติความรุนแรงสูงสุดจำนวน 2,074 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 1,656 ครั้ง และจังหวัดยะลา 1,412 ครั้ง ส่วนจังหวัดสงขลามีเหตุการณ์ประมาณ 318 ครั้ง ในห้วงเวลา 32 เดือนดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตรวม 1,730 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,513 คน จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 4,243 คน

 

สถานการณ์ในพื้นที่มีความโน้มเอียงไปในทิศทางที่มีความรุนแรงและความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจก็คือการก่อความรุนแรงในสองแบบในลักษณะคู่ขนาน คือการยิงหรือการฆ่ารายวันซึ่งการเกิดเหตุทำให้มีความสูญเสียชีวิตอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และอีกแนวทางหนึ่งคือการก่อความรุนแรงที่เป็นคลื่นสูงเป็นช่วงๆ ตามจังหวะเหตุการณ์

 

การก่อความรุนแรงในลักษณะคลื่นดังกล่าวแสดงให้เห็นความสามารถของฝ่ายที่ก่อเหตุความไม่สงบ ในการประสานงานและร่วมมือกันปฏิบัติการอย่างเป็นระบบในการโจมตีเป้าหมายในพื้นที่กว้างหลายๆแห่งพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน ในปี พ.ศ. 2549 คลื่นของการโจมตีดังกล่าวพุ่งสูงสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการก่อเหตุความรุนแรงในสถานที่และจุดต่างๆจำนวน 262 ครั้งตลอดทั้งเดือน

 

ความถี่ของความรุนแรงใกล้เคียงกับยอดสูงของความรุนแรงในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่เกิดเหตุการณ์กรณีกรือเซะ ในเวลานั้นเกิดเหตุความรุนแรงสูงถึง 266 ครั้งในเดือนเดียว ช่วงคลื่นสูงของความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในรอบ 32 เดือนคือในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปี พ.ศ. 2548 ซึ่งในครั้งนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นสูงสุดในระดับ 345 ครั้ง ในรอบ 32 เดือนระหว่างเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2547 ถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2549 มียอดสูงของคลื่นความรุนแรงครั้งใหญ่อยู่ 3 ครั้ง เมษายน พ.ศ. 2547 พฤษภาคม/มิถุนายน พ.ศ. 2548 และสิงหาคม พ.ศ. 2549

 

ความสำคัญของการเกิดคลื่นความรุนแรงไม่ใช่เพียงแค่การก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความสามารถในการจัดการและการประสานงานอย่างค่อนข้างเป็นระบบซึ่งจะมีผลต่อการได้เปรียบในทางการเมืองด้วย เพราะการโจมตีและปฎิบัติการสามารถกระทำในวงกว้างในหลายๆพื้นที่

 

 

 



 

รัฐล้มเหลว ?

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เราตั้งคำถามต่อไปว่ารัฐไทยล้มเหลวในการจัดการปัญหาหรือขาดความชอบธรรมในการจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทางการเมืองและความมั่นคงหรือไม่ ที่ผ่านมาความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหาภาคใต้มีอยู่ไม่น้อยเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแง่การทหารและความมั่นคงรัฐได้ใช้มาตรการทางการทหารและความมั่นคงรวมทั้งส่งกำลังทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่จำนวนนับหมื่น รัฐยังได้ลงทุนไปจำนวนนับเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทในแง่งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งด้วย

 

การให้แก้ปัญหาภาคใต้ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดว่าควรจะเป็นเช่นใด ในท่ามกลางความสับสนที่เกิดขึ้นคำถามว่ารัฐล้มเหลวหรือไม่ยังต้องการคำตอบอยู่ ในที่นี้คนที่น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ในเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้มีการเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่อง “ค่านิยมประชาธิปไตย” เป็นความร่วมมือระหว่างนักรัฐศาสตร์จากต่างประเทศชื่อ Dr. Robert Albritton จากมหาวิทยาลัย Mississippi แห่งสหรัฐอเมริกากับนักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวอย่างประชากร 1,500 คนจากการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสรวมทั้งสงขลาและสตูล

 

ข้อมูลที่ได้มาเป็นความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ต่อสถาบันทางสังคมและการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อสถาบันดังกล่าวอย่างไร มากน้อยเพียงใด ?ในสถานการณ์ที่มีปัญหาในปัจจุบัน

 


 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือคะแนนความรู้สึก “ไม่ไว้วางใจ” อย่างสูง ต่อนักการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี (65%) พรรคการเมือง (68 %) รัฐบาล (62 %) รัฐสภา (57 %) ในส่วนของสถาบันฝ่ายข้าราชการ ทหาร ตำรวจนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจต่อตำรวจ (56 %) มีระดับสูงสุด รองลงมาคือความไม่ไว้วางใจต่อทหาร (51%) และข้าราชการพลเรือน (48 %) รวมทั้งไม่ไว้วางใจต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (48)

 

แต่ที่น่าสนใจก็คือคะแนน “ความไว้วางใจ” ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต่อสถาบันยุติธรรมหรือศาล เช่นคะแนนความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อศาลรัฐธรรมนูญมีระดับสูงที่สุด (50 %) ศาลปกครองก็ได้รับความไว้วางใจค่อนข้างสูง (49 %) ศาลยุติธรรมก็ได้รับความไว้วางใจมาก (42 %) นอกจากนี้สื่อทางโทรทัศน์ก็ได้รับความไว้วางใจ (47 %) ประเด็นที่น่าให้ความสำคัญก็คือองค์กรการปกครองท้องถิ่นถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่ได้รับความไว้วางใจค่อนข้างสูงด้วย (45 %)

 


อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถาบันและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้น แม้ว่ารัฐจะไม่ล้มเหลว แต่รัฐก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักเพราะสถาบันการบริหารเช่นตำรวจและทหาร รวมทั้งข้าราชการพลเรือนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน บทบาทของนักการเมืองในระดับชาติก็ไม่ได้รับการยอมรับ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสนองตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้.