Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


 

สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีกสมรภูมิการเมืองที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่หนึ่งเป็นเพราะปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วมๆ 4 ปี ถึงจุดอิ่มตัวเต็มแก่ ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ต่างต้องการให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเสียที ส่งผลให้ปัญหาภาคใต้เป็นหนึ่งใน "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกพรรคการเมืองต้องประกาศเป็นนโยบาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนตัดสินใจ

ประการที่สองเป็นเพราะสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มวาดะห์ เบียดแย่งเก้าอี้ ส.ส.กันเหมือนเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ประกาศตัวลงสู้ศึกด้วย ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มสัจจานุภาพ" ของ น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ที่เข้าสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน หรือกลุ่มผู้นำศาสนาหัวก้าวหน้าที่สวมเสื้อพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาขอแบ่งเก้าอี้ด้วยอีกราย

และประการสุดท้าย พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจกลายเป็นจุดชี้ขาดผลการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป เพราะภาคอื่นๆ ทั้งตัวผู้สมัคร ฐานเสียง ส.ส.เก่า หัวคะแนน และ "กระสุน" ค่อนข้างลงตัวกันหมด จนพอมองเห็นภาพรางๆ แล้วว่าใครจะได้ก้าวเข้าสู่สภาหินอ่อน และพรรคไหนน่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสักเท่าใด

แต่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงนาทีนี้ยังต่อรองสลับสับเปลี่ยนทั้งตัวบุคคลและพื้นที่กันวุ่นวาย มิหนำซ้ำหัวคะแนนก็ยังสะวิงไปมา ขณะที่ "กระสุน" ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ แถมยังมีสถานการณ์ความรุนแรงเป็นตัวแปรอีกต่างหาก

จากเหตุผลทั้งหมดที่ไล่เรียงมาทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ลุ้นระทึกของทุกพรรคการเมืองตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตด้วยซ้ำ!

 

ปชป.ทรงแต่ไม่ทรุด

          เมื่อพลิกข้อมูลดูเขตเลือกตั้งของทั้ง 3 จังหวัด จะพบว่าการเลือกตั้งเที่ยวนี้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมเป็น 12 คน แบ่งเป็น จ.ยะลา 1 เขต มี ส.ส.ได้ 3 คน, ปัตตานี 2 เขต มี ส.ส.ได้ 4 คน และนราธิวาส 2 เขต มี ส.ส.ได้ 5 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 คน

          ทั้งนี้หากเจาะฐานคะแนนในภาพรวมแล้ว พรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่าซึ่งกวาดที่นั่ง ส.ส.ไปถึง 10 ที่นั่งจากทั้งหมด 11 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2548) มีฐานเสียงหนาแน่นอยู่ในกลุ่มคนไทยพุทธ และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ยกเว้นการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์มักจะแชร์เก้าอี้กับกลุ่มวาดะห์แบบครึ่งๆ หรือได้น้อยกว่าเล็กน้อย

          แต่สาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์เอาชนะได้อย่างถล่มทลาย เป็นเพราะกระแสต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างหนักหน่วงในพื้นที่ และประชาชนต้องการ "ตบหน้า" รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ "กรือเซะกับตากใบ" ทั้งๆ ที่ตัวผู้สมัครของประชาธิปัตย์ในครั้งนั้น บางคนเป็น "หน้าใหม่" เสียด้วยซ้ำ

ทว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ กระแสเกี่ยวกับเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบ ลดความร้อนแรงลงมากแล้ว ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกรัฐประหารจนต้องกระเด็นตกเก้าอี้ไป ฉะนั้นภาพรวมของกระแสประชาธิปัตย์จึงกลับไปเหมือนกับในช่วงก่อนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่ได้เปรียบขึ้นมาเล็กน้อยในฐานะ ส.ส.เก่า และมีโอกาสสร้างผลงานในพื้นที่ได้มากกว่า

 

"หมอแว" เจอโยง "พัลลภ"

ส่วน "กลุ่มสัจจานุภาพ" ของ น.พ.แวมาฮาดี ที่ประกาศ "43 แรงบันดาลใจดับไฟใต้" ซึ่งเต็มไปด้วยนโยบายในแนว "ประชานิยม" จนเรียกเสียงฮือฮาได้ระดับหนึ่งนั้น ล่าสุดเริ่มโดนสร้างกระแสโจมตีเรื่อง "นอมินีทหาร" จากการปรากฏตัวเพียง "แวบเดียว" ในพรรคเพื่อแผ่นดินของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษา กอ.รมน.

กระแสข่าวลือรุนแรงขึ้นเรี่อยๆ ถึงขนาดขนานนามพรรคเพื่อแผ่นดินว่าเป็น "พรรคพัลลภ" หรือ "พรรคกรือเซะ" เพื่อกระตุ้นให้คนในพื้นที่หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ อันเป็นบาดแผลในใจของพี่น้องมุสลิมสามจังหวัด

ภาพและเสียงของ พล.อ.พัลลภ นั้น ไม่ต่างอะไรกับ "ของแสลง" เพราะเขาคือผู้ที่ออกมาแอ่นอกรับว่า เป็นคนสั่งยิงอาวุธหนักถล่มมัสยิดกรือเซะเพื่อจับกุมผู้ก่อความไม่สงบในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งๆ ที่มัสยิดเก่าแก่แห่งนี้คือสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ของชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สภากาแฟและเสียงจากร้านน้ำชาในพื้นที่ฟันธงตรงกันว่า "กลุ่มสัจจานุภาพ" ไม่น่าจะ "นอนมา" เหมือนกระแสฮือฮาในช่วงแรก เพราะนับวันมีแต่จะอ่อนแรงลง แม้แต่ตัว น.พ.แวมาฮาดี เองที่ขอจองเขต 1 นราธิวาส ก็ยังอาจต้องลุ้นถึงหืดขึ้นคอ

 

"วาดะห์" สงบศึกในชั่วคราว

หันไปดู "กลุ่มวาดะห์" กลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่ทำงานในพื้นที่มาอย่างเนิ่นนาน จนแกนนำกลุ่มหลายคนได้เป็นถึงรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในการเลือกตั้งปี 2548 กลับพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างหมดรูป

ล่าสุดกลุ่มวาดะห์ได้ไหลกลับไปรวมตัวกันอีกครั้งที่พรรคพลังประชาชน โดยไม่สนว่าพรรคการเมืองแห่งนี้จะถูกพะยี่ห้อ "อดีตไทยรักไทย" ที่เคยทำให้สมาชิกวาดะห์น้ำตาตกมาแล้ว

ซูการ์โน มะทา น้องชาย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำคนสำคัญของกลุ่มวาดะห์ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่วาดะห์พ่ายแพ้แบบยกทุกเขต ก็เพราะถูกปล่อยข่าวโจมตีเรื่องกรือเซะกับตากใบ และความแตกแยกภายในที่แบ่งเป็นสาย "เด่น โต๊ะมีนา" กับสาย "วันมูหะมัดนอร์ มะทา"

แต่ถึงวันนี้กระแสข่าวลือคลี่คลายลงแล้ว ชาวบ้านเข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันแกนนำวาดะห์ทั้ง 2 ขั้วได้หันกลับมาจับมือกัน และมีความเป็นเอกภาพสมดังชื่อกลุ่ม จึงมั่นใจว่าจะไม่มีทางพ่ายแพ้อย่างหลุดลุ่ยซ้ำรอยปี 2548 อย่างแน่นอน มิหนำซ้ำยังประเมินว่าจะได้รับชัยชนะอย่างน้อยครึ่งหนึ่งอีกต่างหาก

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การหาเสียงของกลุ่มวาดะห์ คือการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในระบบเครือญาติ ผสมผสานกับผลงานในอดีตที่สมาชิกของกลุ่มอยู่ในฐานะ "ร่วมรัฐบาล" มาแล้วหลายครั้ง

 

"หน้าใหม่" ต้องรอก่อน

            นอกจากการเบียดแย่งเก้าอี้ ส.ส.ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อแผ่นดินแล้ว ยังมีพรรคการเมืองใหม่อีก 2 พรรคที่หาญลงสู้ศึกในสมรภูมิการเมืองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวนี้

          พรรคแรกคือพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่มี "กลุ่มสันติภาพ" ของ พิเชษฐ สถิรชวาล ย้ายไปเข้าสังกัด โดยกลุ่มสันติภาพก็คืออดีตพรรคสันติภาพไทย ที่เคยมีประสบการณ์ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งก่อนมาบ้างแล้ว

          อย่างไรก็ดี แม้ผู้สมัครทั้งหมดจากกลุ่มสันติภาพจะเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ดี แต่เนื่องจากฐานการเมืองยังไม่แน่นพอ จึงยากที่จะเป็นสอดแทรกได้สำเร็จ

          อีกพรรคหนึ่งคือพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ดึงเอา "กลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า" มาร่วมงาน โดยกลุ่มดังกล่าวมี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และ มันโซร์ สาและ หัวหอกองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่เป็นแกนนำ

          นโยบายของกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้าที่ประกาศจะสะสาง "ความอยุติธรรม" ทั้งในบริบทการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะความไม่เป็นธรรมคือรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในวันนี้อยู่แล้ว ทว่าด้วยความที่ผู้สมัครเกือบทั้งหมดของกลุ่มเป็น "หน้าใหม่" ที่แทบไม่เคยสัมผัสการเมืองระดับชาติมาก่อนเลย จึงเร็วเกินไปที่จะต่อกรกับระดับปรมาจารย์อย่างประชาธิปัตย์และวาดะห์

เจาะผู้สมัครรายเขต
 

          ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า การจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตของหลายๆ พรรค หลายๆ กลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังฝุ่นตลบอยู่มาก ทั้งๆ ที่วันเปิดรับสมัครวันแรกจะดีเดย์ในวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว

          แต่นี่คือข้อมูลล่าสุดที่ "กรุงเทพธุรกิจ" ลงพื้นที่เก็บรวบรวมมา พร้อมทั้งประเมินโอกาสของว่าที่ผู้สมัครแต่ละเขต ในช่วงโค้งแรกของการหาเสียงเลือกตั้ง

          เริ่มจาก ยะลา มีเขตเดียว ส.ส. 3 คน พรรคพลังประชาชนเข็น "ดรีมทีมวาดะห์" ลงสมัครเพื่อลุ้นเอาชนะแบบยกเขต ประกอบด้วย ซูการ์โน มะทา, ไพศาล ยิ่งสมาน และบูราฮานูดิน อุเซ็ง

          เขตนี้ต้องเรียกว่าวาดะห์ครบเครื่องจริงๆ เพราะซูการ์โนเป็นน้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งบารมียังล้น ขณะที่ไพศาลเสียงแน่นปึ้กทางฝั่งผู้นำศาสนา ส่วนบูราฮานูดิน ได้ฐานเสียงจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

          อย่างไรก็ดี วาดะห์ในสนามเลือกตั้งยะลาก็มีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย  เพราะ นิรันดร์ วายา อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา เตรียมสวมเสื้อพรรคเพื่อแผ่นดินลงสู้ศึก

          ขณะที่ทีม ส.ส.เก่าของประชาธิปัตย์ก็ไม่จัดว่าขี้เหร่ เพราะทั้ง อับดุลการิม เด็งระกีนา, ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ และณรงค์ ดูดิง ยังอยู่กันพร้อมหน้า โดยเฉพาะ ณรงค์ ดูดิง ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในพื้นที่

นราธิวาส เขต 1 เป็นศึกชนช้าง เพราะ "หมอแว" กระโดดลงสมัครเอง แต่เพื่อนร่วมทีมอย่างอดีตนายอำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาส และ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ ยังค่อนข้างโนเนมเกินไป

          คู่แข่งคนสำคัญของหมอแวในเขต 1 ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่นำทีมโดย เจะอามิง โตะตาหยง ที่เสียงยังดีและมีผลงาน คาดว่าน่าจะได้รับความไว้วางใจไม่ยากนัก แต่ลูกทีมยังลูกผีลูกคน เพราะต้องสู้กับทั้งหมอแวและวาดะห์ ซึ่งคราวนี้แม้ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จะไม่ได้ลงเอง แต่ก็พร้อมผลักดันอยู่เบื้องหลังแบบเต็มตัว

นอกจากนั้นยังมี ไพศาล ตอยิบ และ พรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ ส.ส.เก่าที่ย้ายค่ายไปสวมเสื้อมัชฌิธิปไตยอีก

เขตนี้หลายคนมองว่าหมอแวมีสิทธิเข้าป้าย 1 ใน 3 แต่ก็คงต้องลุ้นเหนื่อย เพราะคู่แข่งล้วนเกรดเอ ที่สำคัญตัวหมอแวเองก็ยังถูกป้ายสีว่าอยู่ข้างเดียวกับทหารอีกด้วย

          นราธิวาส เขต 2  มีผู้แทนได้ 2 คน นัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส.หลายสมัย และแกนนำกลุ่มวาดะห์ คราวนี้ประกาศขอสู้ตายเพื่อล้างภาพที่เคยตกเป็นจำเลยแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่นัจมุดดินต้องเจอศึกหนักอย่าง กูเฮง ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคชาติไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังแรงดีไม่มีตก

          ปัตตานี คราวนี้มี 2 เขต เขตละ 2 คน ล่าสุด เด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีต ส.ว.ปัตตานี  ที่หวนกลับมาลง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน ยังปักหลักที่เขต 1 แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวย้ายไปลงเขต 2

          ชื่อชั้นของ เด่น โต๊ะมีนา อย่างไรเสียชาวปัตตานีก็คงตัดใจไม่ขาด แต่สำหรับ พ.ต.อ.เจ๊ะอิสมาแอล เจ๊ะโมง เพื่อนร่วมทีม โอกาสค่อนข้างริบหรี่

ทั้งนี้ คู่แข่งของพรรคพลังประชาชนหนีไม่พ้นประชาธิปัตย์แชมป์เก่า ที่นำทีมโดย อันวาร์ สาและ กับ อิสมาแอล เบญอิบรอฮิม

          ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังประชาชนส่ง มุข สุไลมาน ซึ่งยังมีภาษีดี เพราะเป็นคนเก่าคนแก่ แต่ก็ต้องชนกับ นิมุคตาร์ วาบา อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนดัง ที่ติดโลโก้ "เพื่อแผ่นดิน" ลงสู้ศึก

          ขณะที่ประชาธิปัตย์ ส.ส.เก่าอย่าง ซาตา อาแวกือจิ ยังมีลุ้น เพราะขยันลงพื้นที่เหลือเกิน ส่วน โมฮาหมัดยาสรี ยูซง ส่อแววจะได้ตำแหน่ง ส.ส.เก่าไปครอง

          ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์แนวโน้มการเลือกตั้งใหญ่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งในที่สุดคงต้องจับตาดูกันจนถึงโค้งสุดท้าย เพราะแดนสนธยาอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หลายๆ ครั้งการใช้วิชามาร ข่าวปล่อย ข่าวลือ หรือแม้แต่เงิน ก็เคยพลิกผลการเลือกตั้งแบบหน้ามือเป็นหลังมือมาแล้ว !

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เจาะนโยบายดับไฟใต้ (1)
ปชป.ชูรองนายกฯดับไฟใต้ ดัน ก.ม.จัดองค์กรคุมเบ็ดเสร็จ

เจาะนโยบายดับไฟใต้ (2)
พปช.ขายของเก่า "หรี่ไฟใต้" ฟื้นศรัทธาวาดะห์เบียด ปชป.

เจาะนโยบายดับไฟใต้ (3)
ประชานิยมฉบับหมอแว "เพื่อแผ่นดิน" เทหมื่นล้านดับใฟใต้

เจาะนโยบายดับไฟใต้ (4) จบ  
มัชฌิมาฯ มุ่งสาง "4 อยุติธรรม" - รวมใจไทยฯ "ศาสนานำการเมือง"

นักวิชาการเชื่อ ปชป.รักษาหัวหาด "วาดะห์-หมอแว" แบ่งเค้กก้อนเล็ก
จับตา "กลุ่มใต้ดิน" เทคะแนนให้ใคร

อ่านเรื่องการเมืองใน 3 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด คลิก!