Skip to main content

หมายเหตุ :    สรุปเรียบเรียงจาก 
                  
Workshop on Global Extremism, Terror and Response Strategies
                  
โดยสถาบัน Bibliotheca Alexandrina, Egypt, August 2006
                  
และ An Inclusive World, in which the West, Islam and the Rest have a stake
                  
โดย Strategic Foresight Group, Mumbai, India, January 2007
                  
และค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต พฤษภาคม 2550)
                   โดย สนง.กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

1. บทนำ

ลัทธิสุดโต่ง (Extremism) กับการก่อการร้าย (Terrorism) เป็น 2 คำที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างสูงแต่ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกัน ในปัจจุบันมีการใช้คำ 2 คำนี้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับศาสนา (Religion) อีกด้วย จึงต้องแยกคำทั้ง 3 คำนี้ออกจากกันให้ชัดเจน

ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ การก่อการร้าย เป็นกิจกรรม (Act) ซึ่งทำอันตรายกับตัวคนที่ไม่ใช่ทหารหรือต่อเป้าหมายที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร  ส่วน ลัทธิสุดโต่ง (ซึ่งสหประชาชาติไม่ได้นิยาม) เป็นเรื่องของความคิดและการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งอาจ (ยัง) ไม่มีการกระทำรุนแรงก็ได้ แต่ลัทธินี้จะเป็นรากฐานของการก่อการร้าย เพราะส่งเสริมให้สมาชิกใช้วิธีการใดก็ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย ในระยะยาว ลัทธิสุดโต่งเป็นอันตรายมากกว่า เพราะลัทธิสุดโต่งเน้นการครอบงำทางความคิด และการดึงดูดคนเข้าสู่ขบวนการให้ขบวนการใหญ่ขึ้นๆ ซึ่งจะเกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ลัทธิแบบนี้มุ่งเป้าที่กลุ่มคนรุ่นใหม่อายุน้อย ทั้งในประเทศตัวเองและผู้อพยพในประเทศอื่น ซึ่งในที่สุดจะครอบงำลักษณะของสังคมนั้นๆให้ไปในทาง "หนึ่งเดียว (absolutist)" ไม่ยอมรับความคิดแบบอื่นๆ

ส่วน ศาสนา นั้นเป็นสิ่งที่ถูกอ้างโดยลัทธิสุดโต่งบางลัทธิ ตัวอย่างของลัทธิสุดโต่งมีให้เห็นในหลายศาสนา ไม่เฉพาะแต่ศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่ากลุ่มลัทธิสุดโต่งที่อ้างศาสนาอิสลามมีอยู่มากและอาจจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่กลุ่มลัทธิสุดโต่งที่อ้างศาสนาคริสต์ก็มี และเป็นกลุ่มใหญ่ด้วยเช่นกลุ่มคริสต์เพนติคอสตาล (Pentecostal Christianity) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในมลรัฐที่ยากจนทางใต้ของสหรัฐ ในกลุ่มคนเชื้อชาติเม็กซิกันและคนอพยพเข้าเมือง ลัทธินี้ไม่ใช้ความรุนแรงแต่สอนให้เชื่ออย่างง่ายๆและสุดขั้ว  เช่น เชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิลและเชื่อในการกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู และใช้วิธีการจิตวิทยามวลชนในการครอบงำคน คนจนๆ ชอบลัทธินี้เพราะเปิดโอกาสให้คนจนได้เข้าร่วม เป็นนักเทศน์ (Preacher) ก็ได้ ไม่มีพิธีรีตอง เนื่องจากสมาชิกของลัทธินี้มีมาก ความเชื่อเหล่านี้จึงมีอิทธิพลถึงระดับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐด้วย (โดยผ่านทางคะแนนเสียงของคนในมลรัฐที่ยากจนเหล่านั้น) เช่น สนับสนุนการกระทำอย่างรุนแรงของประเทศอิสราเอลอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเชื่อว่าการคงอยู่ของอิสราเอลเป็นไปตามที่ทำนายไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล

อันตรายของลัทธิสุดโต่ง ก็คือ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ เพราะไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย ในบางประเทศผู้นำลัทธิสุดโต่งสามารถเข้าไปนั่งในรัฐสภาได้ด้วย แต่วิธีคิดและวิธีการชวนเชื่อของลัทธิเหล่านี้ทำให้เกิดสาวกที่ใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่ง (เช่นมือระเบิดพลีชีพ) ได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การศึกษาเรื่องการก่อการร้ายจำเป็นต้องพิจารณาลัทธิสุดโต่งในฐานะเบื้องหลังของปรากฏการณ์ด้วย

มักจะมีคำกล่าวว่าลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายเกิดจากความยากจน ความยากจนในตัวของมันเองไม่ใช่บ่อเกิดของการก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่ง (ที่จริงแล้วคนที่ยากจนจริงๆ มักจะต้องหมกมุ่นอยู่กับการอยู่รอดไปวันๆ จนไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น) แต่สิ่งที่เป็นบ่อเกิดของลัทธิสุดโต่งหรือการก่อการร้ายคือ ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ  กล่าวคือคนมองเห็นว่าสภาพของชุมชนตนเองต่ำกว่าของชุมชนอื่นๆ ในสังคมหรือในประเทศเดียวกัน

ถ้ามองไปทั่วโลก จะพบว่าลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายมีมากในภูมิภาคที่มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าภูมิภาคอื่น และมีกระบวนการทางการเมืองที่ปิดกั้นไม่ให้คนมีส่วนร่วม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ถูกบั่นทอน ตัวอย่างเช่น ชุมชนมุสลิมในยุโรปที่อพยพมาจากอัฟริกา ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีสิ่งจำเป็นในชีวิตดีพอสมควร (ดีกว่าคนเชื้อชาติเดียวกันที่อยู่ในอัฟริกา) แต่ก็ต่ำกว่าคนผิวขาวที่เป็นเพื่อนบ้าน และไม่มีคนมุสลิมได้เข้าไปเป็นตัวแทนในสังคมเช่นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือนักธุรกิจรายใหญ่ หรือดาราภาพยนตร์ ฯลฯ ที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งผิดกับในสหรัฐที่คนกลุ่มน้อยเช่นคนผิวดำมีโอกาสเช่นนี้มากกว่า คนมุสลิมในยุโรปจึงรู้สึกว่าต่ำต้อยกว่าคนเชื้อชาติอื่น

สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนเหล่านั้นมองหาทางออกใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีทางออกในด้านการเมือง (เช่นส่งตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) หรือด้านการศึกษา (ซึ่งจะเป็นบันไดไปสู่การมีอาชีพที่ดีและออกจากวงจรความยากจนเชิงเปรียบเทียบได้) ก็จะหันไปหาที่พึ่งสุดท้ายคือลัทธิสุดโต่งและความรุนแรง แกนนำลัทธิจะพยายามมุ่งเป้าชักชวนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่ามีเพื่อนร่วมขบวนการที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันจำนวนมาก ไม่ใช่ความผิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นความเลวร้ายของระบบที่จะต้องทำลายเสีย

คำถามสำคัญ คือ ทำไมกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่จึงถูกดึงดูดโดยลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายได้ง่าย ?

ทั้งลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายมีบ่อเกิดมาจากประเด็นร่วม 2 อย่าง คือ 1) ความไม่พอใจที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Grievances) และ 2) ความอยากหรือความโลภ (Greed)

กลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ถูกดึงไปทางลัทธิสุดโต่งหรือการก่อการร้าย เพราะไม่พอใจที่ถูกละทิ้งหรือถูกกีดกันจากสังคมส่วนใหญ่ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านการเมือง ซึ่งรวมๆ กันแล้วเรียกว่าเป็นการบั่นทอน "ศักดิ์ศรี" ของตน (ซึ่งในวัยนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนในวัยนี้มี Ego สูง ยอมตายเพื่อศักดิ์ศรีได้) เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มี "อุปทาน (Supply)" ของคนรุ่นใหม่เข้าสู่กลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มลัทธิสุดโต่งอย่างสม่ำเสมอ

ในขณะเดียวกันแกนนำกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มลัทธิสุดโต่งก็มีวาระของตนเองที่จะคงอิทธิพลและขยายอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือความเชื่อ จึงเป็นผู้สร้าง "อุปสงค์ (Demand)"  ด้วยความโลภ (Greed) ของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีทั้งอุปสงค์และอุปทานครบ การเกิดกลุ่มและการขยายกลุ่มก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

ตัวเชื่อมโยงระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน คือ ระบบความเชื่อ (Ideology หรือ Belief Systems) ซึ่งแกนนำใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มและวิธีการรุนแรง ระบบความเชื่อนี้อาจเป็นศาสนาก็ได้ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลาม คริสต์ หรือพุทธ (ในศรีลังกามีกลุ่มก่อการร้ายที่อ้างศาสนาพุทธ) หรืออาจเป็นเรื่องของเชื้อชาติก็ได้ (เช่นนาซีเยอรมันอ้างความเป็นเผ่าอารยัน) หรืออาจเป็นลัทธิการเมืองเช่นลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ได้ (เช่นในยุคสงครามเย็นกับโลกตะวันตก)  ดังนั้นระบบความเชื่อนี้ถูกใช้เป็น "ข้ออ้าง" ไม่ใช่ "เหตุ" ของความรุนแรง

กลุ่มเยาวชนที่รู้สึกถูกกีดกันจากสังคมจะกระโดดเข้าเกาะความเชื่อเหล่านี้ได้ง่าย และเมื่อเกาะแล้วก็มักจะฝังหัวเชื่ออย่างจริงๆจังๆ เพราะรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและมี "มีพลัง" มากขึ้นจากการเข้าร่วมกลุ่มแบบนี้ ซึ่งมีแนวทางที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่าย (แต่สุดโต่ง) 

ในกลุ่มเหล่านี้จะมี "แกนนำ" และมี "ผู้ตาม" สำหรับคนที่เป็นแกนนำนั้นมักจะมีอะไรมากกว่าผู้ตาม คือมีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มองเห็นกว้าง และสามารถเสนอ "วิสัยทัศน์ทางเลือก (Alternate Vision)" ของสังคมรูปแบบใหม่ ให้ผู้ตามยอมเสี่ยงมาเข้าร่วมงานแบบนี้ได้ เช่นแกนนำกลุ่มสุดโต่งชาวอาหรับไม่ว่ากลุ่มใด มักมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเรื่องของความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมอาหรับ (Glorious Arab Civilization) ซึ่งเคยมีมาในอดีตก่อนชาติตะวันตกหลายร้อยปี (และเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ตะวันตกในปัจจุบันเช่นคณิตศาสตร์) และอยากให้ความรุ่งโรจน์นี้หวนกลับมาอีก (หมายเหตุ : น่าจะเทียบกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มก่อการร้ายในภาคใต้ เรื่องวิสัยทัศน์อาณาจักรปาตานี? )

     สำหรับ "ผู้ตาม" นั้นมักไม่คิดมาก เข้าร่วมกลุ่มเพราะรู้สึกว่ามีพลังและมีเพื่อนร่วมขบวนการ ทำให้รู้สึกว่ามีศักดิ์ศรี ดังที่กล่าวแล้ว และเมื่อมีความรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกันเช่นนี้แล้ว จะยอมเป็นมือระเบิดพลีชีพก็ได้ สูญเสียไปก็ไม่เป็นไรเพราะมีแหล่งคนที่จะเข้ามาทดแทน (supply) มากมาย ดังนั้น ถ้าจะจัดการกับปัญหานี้ต้องจัดการที่ รากของปรากฏการณ์ คือ ลดเงื่อนไขการชักชวนคนเข้ากลุ่ม และป้องกันการปลูกฝังความเชื่อ  (Indoctrination) ให้กับสมาชิกใหม่

อนึ่ง ในหลายภูมิภาคของโลก เช่นพม่า เกาหลีเหนือ และเตอร์กเมนิสถาน มีอาการของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่งขึ้น เพราะถึงมีปริมาณด้าน "อุปทาน" คือผู้ตามมากพอก็จริงแต่ไม่มี "อุปสงค์" คือแกนนำที่สามารถเสนอวิสัยทัศน์ทางเลือกที่ดึงดูดใจผู้ตามได้ (และหากจะมีแกนนำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะถูกปราบปรามอย่างเฉียบขาดเสียก่อน) อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเหล่านี้ก็เสมือนเป็นระเบิดเวลาที่รอการระเบิดขึ้นเท่านั้น

2.  มุมมองแต่ละภูมิภาค

2.1 ทั่วโลก การก่อการร้ายในปัจจุบันกระทำได้ทั้งโดยรัฐและโดยกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ การกระทำของอิสราเอลในตะวันออกกลางก็ถือได้ว่าเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐทำอันตรายต่อคนที่ไม่ใช่ทหารหรือไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร ในบางกรณีรัฐเป็นผู้ก่อการร้ายต่อกลุ่มที่เรียกว่าผู้ก่อการร้ายอีกต่อหนึ่ง เช่น ในศรีลังกาที่รัฐบาลศรีลังกาส่งกำลังเข้าไปก่อการร้ายในเขตปกครองของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทำให้ประชาชนพลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิต

ในระยะต่อไปนี้ ความเสียหายจากการก่อการร้ายจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการเดินทาง การขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งทำให้การวางแผนนัดหมายปฏิบัติการและลอจิสติคส์สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเงิน ส่งอาวุธ หรือส่งข่าว  โดยเฉพาะการสื่อสารที่รวดเร็วและเผยแพร่ไปทั่วโลกนั้นได้กลายเป็นเป้าประสงค์ของกลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่มที่ต้องการประกาศความคับแค้นของตนออกไปสู่โลก ด้วยการก่อการรุนแรงให้เป็นข่าว (การก่อการร้ายแบบนี้จำเป็นต้องเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การตัดศรีษะเชลยให้ดูทางวิดิโอ เพราะผู้ฟังจะชินชากับการกระทำแบบเดิมๆ ก็จะไม่เป็นข่าวอีกต่อไป )

2.2 ภูมิภาคตะวันออกกลาง ตะวันออกกลางมีประวัติศาสตร์การถูกครอบงำมาอย่างยาวนาน จนกล่าวกันว่าใน 400 ปีที่ผ่านมานี้ คนตะวันออกกลางมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบความคิดเดียว คือการต่อสู้กับชาติตะวันตกที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารุกราน ซึ่งต้องพึ่งตัวเอง กฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ปัญหาสำคัญที่เป็นข้ออ้างของลัทธิสุดโต่งในตะวันออกกลางคือการบังคับใช้กฎหมายที่เป็น "ดับเบิลสแตนดาร์ด" ในปาเลสไตน์ อิรัค และเลบานอน (โดยอิสราเอล สหรัฐ และยุโรป) และคนพื้นเมืองหมดความหวังกับกฎหมายและหลักนิติรัฐ (Rule of Law) รวมทั้งไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศได้ จึงหันไปหาการก่อการร้ายเป็นทางออก

หัวใจของกลุ่มอาหรับและอิสลามทุกกลุ่มในตะวันออกกลางก็คือความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมอาหรับในอดีต  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มกู้ชาติ (National Liberation) เช่นกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์และกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ในเลบานอน ก็มี "วิสัยทัศน์ทางเลือก" ของโลกในอนาคตเหมือนกัน ว่าเป็นโลกหรือรัฐทีมีอาหรับหรือมุสลิมเป็นศูนย์กลาง

ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มก่อการร้ายเกิดขึ้น 3 แบบในตะวันออกกลาง แบบแรกคือกลุ่มท้องถิ่น มีเป้าหมายเฉพาะในประเทศนั้นเพื่อเปลี่ยนการปกครองให้เป็นรัฐอิสลาม เช่นในอัลจีเรียและอิยิปต์ในทศวรรษ 1990  แบบที่สองคือกลุ่มระหว่างประเทศ ต่อสู้เพื่อป้องกันโลกอิสลามจากผู้รุกรานต่างประเทศ เช่นกลุ่มที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านการยึดครองจากสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ประมาณ 1995 จนถึงการระเบิดตึกเวิร์ลด์เทรดในปี 2001  ซึ่งมีอาสาสมัครจากประเทศต่างๆหลั่งไหลเข้าไปร่วมต่อสู้  และแบบที่สามคือกลุ่มที่มีวาระผสม ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐเข้ายึดครองอิรัค กลุ่มแบบนี้ต้องการทั้งเปลี่ยนระบบการปกครองของประเทศและขับไล่ผู้รุกรานจากต่างประเทศไปพร้อมๆ กัน โดยมองว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้ทรยศต่อชาติ ที่ไปร่วมมือกับผู้รุกรานจากตะวันตก

ทั้งหมดนี้ ต้องตระหนักว่าผู้ที่ถูกกระทบจากกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนอาหรับและคนมุสลิม ดังนั้นคนอาหรับและคนมุสลิมก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ก่อการร้ายมุสลิมตามที่ถูกวาดภาพให้โดยสื่อตะวันตกเท่านั้น

ในระยะเวลาที่ผ่านมามีบทเรียนจากประเทศในตะวันออกกลาง คืออิยิปต์ และอัลจีเรีย   ที่ยืนยันว่าการปราบปรามเฉพาะการก่อการร้ายจะไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าไม่ปลด "เงื่อนไข" ของลัทธิสุดโต่งไปพร้อมๆ กัน 

ใน อิยิปต์นั้น  ลัทธิสุดโต่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้วในปี 1928 เมื่อเกิดกลุ่ม Muslim Brotherhood ขึ้น กลุ่มนี้มิได้ปฏิบัติการอยู่ในอิยิปต์เท่านั้น แต่ได้ขยายวงไปหลายประเทศ และมีอิทธิพลสูงในอิยิปต์ จอร์แดนและซีเรีย ตลอดจนบางประเทศในยุโรปและอัฟริกา คำขวัญของกลุ่มนี้คือ "พระเจ้าคือวัตถุประสงค์ของเรา พระคัมภีร์กุรอ่านคือรัฐธรรมนูญของเรา พระศาสดาคือผู้นำของเรา และการต่อสู้คือวิถีของเรา" เป้าหมายของกลุ่มนี้คือการปกครองในรูปแบบของรัฐอิสลามที่เรียกว่า Caliphate ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางศาสนา (การปกครองแบบนี้มีมาอย่างต่อเนื่องในโลกอาหรับตั้งแต่สมัยโบราณจนสิ้นสุดไปเมื่อปี 1924  เมื่ออาณาจักรออตโตมานล่มสลายลง คือ การปกครองโดย "กาหลิบ" นั่นเอง)

ถึงแม้ว่ากลุ่ม MB ได้ประกาศหลักการที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็มีกลุ่มย่อยๆ ที่แตกแขนงออกไปซึ่งใช้วิธีความรุนแรงและการก่อการร้าย รัฐบาลอิยิปต์ได้พยายามปราบปรามกลุ่ม MB อย่างรุนแรงมาหลายสิบปี ทั้งโดยการฆ่าและทรมานสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันกลุ่ม Muslim Brotherhood ก็ยังมีอิทธิพลสูงมากอยู่ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มนอกกฏหมาย ในปี 2005 สมาชิกกลุ่มได้รับเลือกตั้งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านเสียงข้างมากในอิยิปต์ จนในที่สุดรัฐบาลอิยิปต์ได้หันไปใช้วิถีทางใหม่คือขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอัล-อาซาร์ ซึ่งเป็นเสาหลักของความเห็นทางศาสนาอิสลาม ให้เข้ามาช่วยการตีความจากพระคัมภีร์กุรอ่าน และเริ่มงานทางศิลปและการสื่อสาร เพื่อเปลี่ยนความคิดของประชาชน

    ใน อัลจีเรียนั้นก็มีกลุ่มซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับ MB แต่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม MSP และรัฐบาลก็เริ่มต้นด้วยการปราบปรามเช่นเดียวกัน แต่ในปี 1997 รัฐบาลเริ่มใช้วิธีการประนีประนอมและเจรจาทางการเมือง กลุ่ม MSP ได้รับการรับรองตามกฏหมาย จนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2004 สมาชิกกลุ่ม MSP ได้รับการเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งปกครองอัลจีเรียอยู่ในปัจจุบัน

ในประเทศอาหรับและมุสลิมหลายประเทศ มีการขัดแย้งและการคานอำนาจกันอยู่เสมอระหว่างกลุ่มสายกลาง (Moderates) กับกลุ่มสุดโต่ง (Radicals) แต่ถ้ารัฐใช้อำนาจทางทหารมากขึ้น กลไกการคานอำนาจจะลดลง กลุ่มสายกลางก็จะตกที่นั่งลำบาก โดยเฉพาะหากรัฐบาลเข้าร่วมมือกับประเทศตะวันตกเช่นสหรัฐ เนื่องจากการกระทำของสหรัฐจะถูกมองว่าเป็นการโจมตีอิสลามและมุสลิมโดยรวม ซึ่งกลุ่มสายกลางก็ยอมรับไม่ได้ และกลุ่มสุดโต่งก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นในการเมืองภายในประเทศ

กลุ่มที่เริ่มต้นด้วยการเป็นกลุ่มลัทธิสุดโต่งในอดีตหลายกลุ่ม เช่น Jamaa Islamiyah และ Al Jihad ได้แปลงรูปเป็นกลุ่มพลังทางสังคม-การเมืองในปัจจุบัน ที่ชูศาสนาอิสลามเป็นวิถีนำทาง และปฏิบัติการอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองของประเทศนั้นๆ โดยลดหรือเลิกปฏิบัติการทางทหารอย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับกลุ่ม Muslim Brotherhood ในอิยิปต์ที่กล่าวแล้ว กลุ่ม Fils ในอัลจีเรีย กลุ่ม Muslim Brothers ในจอร์แดน และกลุ่ม Justice and Development ในตุรกี  ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา กลุ่มเหล่านี้ได้ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งในหลายประเทศ

2.3 ภูมิภาคเอเซีย ในเอเซีย สาเหตุของการก่อการร้ายมีเงื่อนไข 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น และ ระดับโลก เงื่อนไขในระดับท้องถิ่นนั้นเกิดจากคอร์รัปชั่น ความล้มเหลวหรือความไม่จริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขความยากจน(เชิงเปรียบเทียบ)  ความอยุติธรรมทางสังคม หรือการกีดกันทางเชื้อชาติในพื้นที่นั้นๆ ส่วนเงื่อนไขในระดับโลกนั้นเกิดจากความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์และการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอิสราเอลและสหรัฐในตะวันออกกลาง ซึ่งชาวมุสลิมในเอเซียมองว่าเป็นความอยุติธรรมไม่เฉพาะแต่กับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น แต่กับโลกมุสลิมทั้งหมดด้วย ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มลัทธิสุดโต่งหรือกลุ่มก่อการร้ายในประเทศใดจะมีวาระเฉพาะตัวอย่างใดก็ตาม แกนนำกลุ่มก็มักจะจับประเด็นท้องถิ่นและประเด็นปาเลสไตน์ขึ้นมาคู่กันเสมอ เพื่อดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมขบวนการ

     ในอินโดนีเซีย รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างระมัดระวัง เพื่อพยายามถ่วงดุลระหว่างกระบวนการยุติธรรมกับความสงบสุขของสังคม (คือประเด็นระหว่างการใช้ "นิติศาสตร์" กับ "รัฐศาสตร์") จะเห็นได้ว่าหลังจากการก่อการร้ายในบาหลีเมื่อปี 2002 และ 2005 รัฐบาลสามารถจับตัวผู้ก่อการร้ายได้ แต่ในการจัดการกับนาย Abu Bakr Al Bashir  ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่ม Jamaah Islamiyah นั้น รัฐบาลไม่ลงโทษอย่างรุนแรงเนื่องจากเกรงการตอบโต้ของกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศ ประเด็นนี้เป็นที่ขุ่นเคืองของสหรัฐและออสเตรเลีย แต่ความเห็นในท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพื่อความสงบสุขของสังคม ในระยะหลังนี้กลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียได้แตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม และคาดว่ากำลังมีผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่กลุ่มเก่า ซึ่งกลุ่มใหม่นี้จะใช้ระเบิดพลีชีพเป็นอาวุธหลัก

ถึงแม้ว่าการก่อการร้ายที่บาหลีจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอัล-ไคดา แต่ไม่มีความเชื่อมโยงในระดับ "ปฏิบัติการ" ระหว่างอัล-ไคดา กับกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียหรือในที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งในภาคใต้ของไทย?) กับกลุ่มก่อการร้ายในยุโรปและตะวันออกกลาง ไม่มี "ศูนย์บัญชาการกลาง" ของการก่อการร้ายระดับโลก คงมีแต่เครือข่ายของ "เซลล์" เล็กๆที่เชื่อมโยงกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน

โรงเรียนสอนศาสนา (Madrasas) ในอินโดนีเซียนั้นมีฐานอยู่ในชุมชน ชาวบ้านเป็นคนดูแลหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนั้นโรงเรียนเหล่านี้จึงมีความเป็นอิสระสูง ในอินโดนีเซียมีโรงเรียนเหล่านี้อยู่ประมาณ 14,000 แห่ง แต่มีแห่งเดียวเท่านั้นที่เป็นที่ทราบว่าเป็นแหล่งผลิตผู้ก่อการร้าย (ในชวากลาง)

องค์การมุสลิมสำคัญในอินโดนีเซียคือ Nahdatul Ulama ซึ่งมีสมาชิก 40 ล้านคน (ดูรายละเอียดในงานวิจัย สกว.ชุด "องค์การมุสลิมโลก") และองค์การ Muhammadiyah ซึ่งมีสมาชิก 30 ล้านคน ซึ่งทั้งสององค์กรนี้ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมุสลิมได้มากขึ้น และในระยะหลังนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จมากขึ้นในการควบคุมพื้นที่หมู่บ้านและในการชักชวนให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมมือ แต่เขตแดนทางทะเลที่ยาวเหยียดและแทรกซึมได้ง่ายยังเป็นปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตาม กองกำลังทางเรือของอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการปราบปรามโจรสลัดทางทะเล

ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน มีสาเหตุของการก่อการร้ายแตกต่างออกไป ถึงแม้ว่าจะยังมีสาเหตุร่วมกันอยู่ในเรื่องของปาเลสไตน์และความอยุติธรรมกับโลกมุสลิม ในอัฟกานิสถานกลุ่มตาลิบันกำลังมีอิทธิพลสูงขึ้นในระยะหลังๆ และการใช้กำลังทางทหารของประเทศตะวันตกกลับช่วยเสริมอิทธิพลของกลุ่มตาลิบันให้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันในปากีสถาน การใช้กำลังของประเทศตะวันตกโดยไม่ยอมมีการเจรจาทางการเมือง ได้ทำให้สถานการณ์ขยายตัวมากขึ้น และประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่เคยทำคือหามาตรการจัดการกับโรงเรียน Madrasas ในปากีสถาน ซึ่งในปัจจุบันเป็นแหล่งของลัทธิสุดโต่งและการดึงดูดกลุ่มเยาวชนเข้าเป็นมือระเบิดพลีชีพในอนาคต กลุ่มเยาวชนเหล่านี้มักกลายเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการอย่างอิสระในภายหลัง ซึ่งแม้แต่แกนนำลัทธิเองก็ควบคุมไม่ได้ กลายเป็น "monster" แบบแฟรงเกนสไตน์

ดังนั้นเป็นที่เห็นได้ชัดว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในทั้งสองประเทศนี้ได้มาถึง "จุดอับ"แล้ว กำลังทหารขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในอัฟกานิสถานและตามชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลทหารของปากีสถานที่ไม่ยอมให้มีการพัฒนาทางการเมืองและประชาธิปไตยได้ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงในพรรคการเมืองของปากีสถานมีบทบาทมากขึ้น การที่ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากในอัฟกานิสถานด้วยการโจมตีจากเครื่องบินสหรัฐก็ได้ทำให้กลุ่มเยาวชนในปากีสถานข้ามเขตแดนไปเข้าร่วมการต่อสู้ช่วยพี่น้องเชื้อชาติเดียวกัน ทั้งหมดนี้มีการสนับสนุนจากอัล-เคดา ในการฝึกอบรมและในการใช้ชื่ออัล-เคดาเป็นสัญลักษณ์ (Brand name)

ทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถาน การก่อการร้ายเป็นผลผลิตของปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ แต่ที่น่าสนใจก็คือสงครามนี้ถูกมองว่าเป็นสงครามระหว่างชาติตะวันตกกับมุสลิมทั้งหมด เช่นการต่อสู้ของกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ในเลบานอน (ซึ่งเป็นนิกายชิอะห์) กับอิสราเอล ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ (ซึ่งเป็นนิกายสุหนี่) แสดงว่าช่องว่างระหว่างสองนิกายนี้แคบกว่าที่คิด และทั้งสองนิกายพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วม

ในศรีลังกา ปัญหาของความขัดแย้งเป็นปัญหาระดับชาติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มทมิฬกับกลุ่มสิงหล ลัทธิสุดโต่งในศรีลังกาจึงมีรากฐานจากชาติพันธุ์ ไม่ใช่ศาสนา ในปัจจุบันกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (The Liberation Tigers of Tamil Eelam - LTTE) ควบคุมพื้นที่ได้ประมาณร้อยละ 15 ของประเทศ (แต่ประชากรที่อยู่ในความควบคุมมีไม่ถึงร้อยละ 3) ในพื้นที่เหล่านี้ กลุ่ม LTTE มี "บริการทางสังคม" ของตนเองครบถ้วน ตั้งแต่ศาล หน่วยปกครอง (ตำบล อำเภอ) ตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และกำลังทหาร เรียกว่าเป็น "รัฐ" ได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ กลุ่ม LTTE ยังใช้วิธีการไล่คนที่ไม่ใช่เชื้อชาติหรือศาสนาเดียวกันออกจากพื้นที่(Ethnic Cleansing) โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิมในภาคเหนือของประเทศ คงเหลือแต่คนนับถือศาสนาพุทธ ลัทธิสุดโต่งในศรีลังกาจึงเป็นลัทธิที่อ้างศาสนาพุทธเป็นระบบความเชื่อ

รากฐานของความขัดแย้งในศรีลังกามาจากการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองรอบๆกรุงโคลัมโบและจังหวัดภาคตะวันตกของประเทศ ร้อยละ 85 ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในพื้นที่แถบนี้ ดังนั้นจึงเกิดความยากจนเชิงเปรียบเทียบขึ้นกับพื้นที่ในภาคอื่นๆ อีก 8 จังหวัด (ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ทมิฬ ??) และเกิดความรู้สึกถูกกีดกัน ความอยุติธรรม และสิ่งอื่นๆตามมา ซึ่งเป็นบ่อเกิดของลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น

2.4 ภูมิภาคยุโรป  ยุโรปมีประสบการณ์กับกลุ่มลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายมาอย่างยาวนาน บางประเทศเคยมีสงครามกลางเมือง (Civil War) การก่อการร้ายโดยรัฐ(State Terrorism) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) และมีกลุ่มก่อการร้ายในประเทศและระหว่างประเทศ

ที่น่าสนใจก็คือยุโรปมองการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งแตกต่างจากสหรัฐ ในสหรัฐนั้นการก่อการร้ายมักถูกมองเป็นเรื่องคุกคามจากนอกประเทศ และถูกจัดการด้วยวิธีการทางทหารและการเสริมความมั่นคงภายในประเทศเพื่อป้องกันการแทรกซึมเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐ (ในปัจจุบัน) จึงไม่ยอมรับว่ามีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมหรือการเมืองที่เป็นสาเหตุของการก่อการร้าย ด้วยเกรงว่าการยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นจะเป็นการยอมรับความชอบธรรมของกลุ่มก่อการร้าย และหันไปมุ่งเป้าที่การพยายามเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ที่มองว่าเป็นแหล่งเพาะกลุ่มก่อการร้ายแทน เช่น ในอัฟกานิสถาน อิรัค และในอนาคตอาจรวมไปถึงอิหร่านและซีเรียด้วย

แต่ในยุโรป มีความตระหนักว่าการก่อการร้ายเป็นภาวะคุกคามทั้งจากภายนอกและจากภายในประเทศเอง โดยคนกลุ่มน้อยในยุโรปที่เห็นว่ามี "ดับเบิลสแตนดาร์ด" ของนโยบายในประเทศและนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะกับตะวันออกกลาง (เช่นกรณีที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศสนับสนุนสงครามของสหรัฐในอิรัค) คนกลุ่มนี้จึงหันไปหาลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย ดังนั้นยุโรปตระหนักว่าการแก้ปัญหาด้วยกำลังทหารไม่ใช่ทางออก และจะต้องแก้ปัญหาการก่อการร้ายที่เหตุคือแก้ไข "ลัทธิสุดโต่ง" รัฐบาลในยุโรปหลายประเทศให้ความสำคัญกับการป้องกันเงื่อนไขการเกิดและขยายตัวของลัทธิสุดโต่งเหล่านี้  

อย่างไรก็ดี  อาจมองได้ว่าสหภาพยุโรปเองก็มีส่วนทำให้เกิดลัทธิสุดโต่งในโลกด้วย ในช่วง 10-20 ปีหลังนี้ ลัทธิสุดโต่งในยุโรปเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะลัทธิสุดโต่งที่มีแนวทางชาตินิยมและต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมยุโรปเป็นประชาคมเดียวกัน ใช้กฎหมายของสหภาพเป็นหลัก ทำให้อำนาจของรัฐบาลระดับประเทศและของพรรคการเมืองลดน้อยลง จึงเกิดช่องว่างทางการเมืองขึ้น ซึ่งถูกแทนที่โดยกลุ่มลัทธิสุดโต่งทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ปรากฏการณ์เหล่านี้คงจะทำให้ยุโรปมีปัญหาจากภายในมากขึ้นในระยะ 10-20 ปีต่อจากนี้ไป โดยเฉพาะจากกลุ่มชาตินิยมต่างๆ

แต่ในทางบวก สหภาพยุโรปก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความเป็น "นิติรัฐ" มากขึ้นเหมือนกัน และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหภาพยุโรปและสหรัฐแยกทางกันเดินมากขึ้นในระยะหลัง เพราะยุโรปมองว่าอิสราเอลในปัจจุบันกลายเป็นรัฐก่อการร้าย (Terrorist State) และวิธีการที่สหรัฐดำเนินการอยู่ในตะวันออกกลางในปัจจุบันเป็นการทำลายหลักนิติรัฐโดยตรง นอกจากนี้ ใน 50 ปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปเป็นองค์กรเดียวที่พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมต่างๆในทวีปยุโรป และประสบความสำเร็จมากในการทำให้คนหลายกลุ่มที่เคยทำสงครามฆ่าฟันกัน หันมาร่วมมือกันได้ในปัจจุบัน (เช่นคนเยอรมัน คนฝรั่งเศส และคนอิตาลี) ผลงานนี้เป็น "ทุนทางสังคม" อันสำคัญที่น่าจะทำให้ยุโรปพัฒนาความร่วมมือให้ขยายต่อไป ในบริบทใหม่ในอนาคต

     ถ้าวิเคราะห์เครือข่ายของกลุ่มอิสลามสายสุดโต่งในยุโรป จะพบว่ามีลักษณะการปฏิบัติการ "ข้ามชาติ (Transnational)" และมีสมาชิกประกอบด้วย "สหชาติ (Multinational)" เป็นส่วนใหญ่ และมีประเด็นร่วมในเรื่องการเป็นคนพลัดถิ่น (Diaspora) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อความไม่พอใจที่ถูกละทิ้งหรือถูกกีดกันจากสังคมส่วนใหญ่เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ  ในขณะเดียวกันความรุนแรงในเชคเนีย ปาเลสไตน์ อิรัคและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าคนมุสลิมด้วยกันกำลังถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม ก็เป็นส่วนเติมเชื้อเพลิงให้กับความไม่พอใจเหล่านี้ (มีเงื่อนไขทั้งระดับ "พื้นที่" และในระดับ "โลก" เหมือนในเอเซีย)

     ยุโรปมีชุมชนมุสลิมพลัดถิ่นหลายกลุ่ม ซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างกันทั้งทางภูมิศาสตร์และสังคม-เศรษฐกิจ รวมทั้งต่างกันในระยะเวลาที่พลัดถิ่นมาอยู่ในยุโรปด้วย กลุ่มใหญ่คือกลุ่มที่อพยพมาตั้งแต่ 50-60 ปีก่อน แต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย ชุมชนเหล่านี้เดิมก็เพียงมีบทบาทให้การสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในอัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในระยะหลังๆนี้ได้เริ่มเป็นสถานที่สำหรับชักชวนกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมขบวนการด้วย โดยมีความเชื่อมโยงมากบ้างน้อยบ้างกับกลุ่มอัล-ไคดาและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ  "เซลล์" ของกลุ่มเหล่านี้ประกอบด้วยคนหนุ่มมุสลิมที่อพยพเข้ามาในชั่วคนแรกหรือชั่วคนที่สอง มักจะมาจากอัฟริกาเหนือ และบางครั้งก็มีคนผิวขาวที่เปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลามด้วย "แกนนำ"ของกลุ่มเหล่านี้มักเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ไม่มีปัญหาใดๆ กับสังคม เป็นตัวอย่างของผู้อพยพที่ดีที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้ในยุโรป

คนเหล่านี้มักจะไปทำกิจทางศาสนาที่มัสยิดที่เป็นสายสุดโต่ง และพบกับนักรบผ่านศึกจากอัฟกานิสถาน เชคเนีย บอสเนียหรือแคชเมียร์ ซึ่งเรียกกันว่า "ผู้เฝ้าประตู (Gatekeeper)" ตามมัสยิดเหล่านี้ ถึงแม้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะจัดตั้งกลุ่มกันเองได้ในระหว่างเพื่อนที่รู้จักกัน แต่จำเป็นต้องพึ่งผู้เฝ้าประตูเพื่อเชื่อมโยงกับขบวนการนอกประเทศ ผู้เฝ้าประตูจะให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการที่จะเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงและสถานที่ที่จะไปรับการฝึกอบรมต่างๆ  เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะหลังนี้มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น

สาเหตุที่เยาวชนเข้าร่วมลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายมีหลายอย่าง และมีแรงจูงใจทั้งในระดับส่วนตัว ระดับสังคมยุโรป และระดับโลก  ในระดับส่วนตัวนั้นอาจเกิดจากวิกฤติเฉพาะกาลเช่นพ่อแม่เสียชีวิต การหย่าร้าง หรือช่วงเวลาที่อยู่ในอาการซึมเศร้า  ประกอบกับความผิดหวังที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จในสังคมในฐานะที่เป็นผู้อพยพ ดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งกลุ่ม "ญิฮาด" ใช้เป็นโอกาสเสนออัตลักษณ์และทิศทางในชีวิตใหม่เข้าไปแทนที่ ในระดับสังคมยุโรปเองนั้น มาตรการทางความมั่นคงซึ่งจำกัดเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่หลัง 9/11 และมาตรการลดจำนวนผู้อพยพเข้าเมืองก็ทำให้คนมุสลิมรู้สึกว่าถูกเพ่งเล็งโดยไม่มีความผิด และในระดับโลก แนวคิดที่ว่าประเทศตะวันตกกำลังรุกรานโลกมุสลิมเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้กลุ่มเยาวชนเข้าร่วม "สงครามโลก" ครั้งใหม่นี้

2.5 ภูมิภาคอเมริกากลาง ในภูมิภาคนี้ลัทธิสุดโต่งได้เปลี่ยนรูปแบบไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เดิมในทศวรรษ 1970 และ 1980 ผู้เข้าร่วมขบวนการเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มระดับโลกที่ใหญ่กว่า คือสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต มหาอำนาจทั้งสองยื่นมือเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมในหลายประเทศรวมทั้งอเมริกากลางด้วย มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายทุนนิยมใน เอล ซาลวาดอร์ นิคารากัว และ กัวเตมาลา โดยที่ ฮอนดูรัส เป็นศูนย์กลางของกลุ่มทุนนิยมที่สนับสนุนสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการก่อการร้ายที่กระทำโดยรัฐด้วย เช่นมีทีมสังหารที่ถูกจ้างให้ไปฆ่าผู้นำกลุ่มอื่นและข่มขู่พลเรือน สหรัฐถือว่าความมั่นคงในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับตน เนื่องจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ จะปล่อยไว้ไม่ได้ ดังนั้นจึงสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้มาก และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง กลุ่มเหล่านี้ก็ขาดทิศทางและขาดการสนับสนุน ประกอบกับมีการเริ่มกระบวนการทางประชาธิปไตยในหลายประเทศโดยความช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติ  จึงทำให้สมาชิกกลุ่มบางส่วนหันมาใช้วิธีการทางการเมืองแทน การก่อการร้ายจึงลดลง

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าลัทธิสุดโต่งในอดีตที่นำไปสู่การก่อการร้ายนั้น สามารถนำไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่การก่อการร้ายก็ได้ ดังเช่นในกรณีอเมริกากลางนี้ เมื่อการก่อการร้ายสิ้นสุดลง สมาชิกกลุ่มบางส่วนกลับหันไปทำธุรกิจนอกกฎหมายแทน โคลัมเบียกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งยาเสพติด การค้าอาวุธและการค้ามนุษย์ และมีสายสัมพันธ์กับแก๊งอาชญากรรมในสหรัฐ กิจกรรมเช่นนี้ทำให้เกิดความรุนแรงจากอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งก็คล้ายคลึงกับการก่อการร้ายในสมัย 1970 และ 1980 แต่เป็นความรุนแรงที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกำไรนอกกฎหมาย

3.สรุป

ลัทธิสุดโต่ง (Extremism) เป็นเบื้องหลังที่สำคัญของการก่อการร้ายในทุกภูมิภาคของโลก  สังคมโลกจึงต้องร่วมมือกันกำจัดเงื่อนไขที่เป็นบ่อเกิดของลัทธิสุดโต่ง คือการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ปาเลสไตน์เป็นทั้งปัญหาระดับภูมิภาคของตะวันออกกลางและเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกในการสร้างแรงจูงใจกับสมาชิกลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้าย หากแก้ปัญหาปาเลสไตน์ได้อย่างครอบคลุมและเป็นธรรม จะทำให้ลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายจำนวนมากขาดความชอบธรรมในการปฏิบัติการ ทั้งในตะวันออกกลางและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สังคมโลกต้องแสดงให้เห็นว่า หลักนิติรัฐ (Rule of Law)  เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตาม และสหรัฐควรตระหนักว่าการใช้ดับเบิลสแตนดาร์ดในการปฏิบัติต่อปัญหาบางปัญหานั้นอาจเป็นสาเหตุโดยตรงของการก่อการร้าย

ในด้านสังคมและเ