นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีที่สถานการณ์ไฟใต้ได้ประทุขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย และลุกลามไปทั่วในเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งไฟได้ลามเลียมไปติดยังพื้นที่ใกล้เคียงพอให้ได้รับรู้รสชาดความสูญเสียร่วมกัน หากมองแบบแยกส่วนก็อาจคิดว่าเป็นเพียงเรื่องการเมืองการปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และการสาธารณสุข บางคนในพื้นที่จึงตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่รักษาพยาบาลต่อไปโดยไม่สำเหนียกถึงสถานการณ์ไฟใต้ที่เผาไหม้อยู่รอบตัว หากแต่ได้รับรู้ความหวาดกลัวของครอบครัวตนเองที่รับทราบข่าวสารจากสื่อต่างๆที่รายงานต่อเนื่องรายวันมาตลอดเกือบ 4 ปี บางคนทนแรงกดดันของทางบ้านไม่ไหว จนต้องขอย้ายออกนอกพื้นที่ทั้งที่ยังสนุกกับการทำงาน บางคนได้แต่ปลอบใจทางบ้านไปรายวันว่า "ไม่เป็นไร ยังอยู่ได้"
เมื่อเวลาผ่านไป จะมองเห็นสภาพไฟใต้ที่ชัดเจนขึ้น มีกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงที่ไม่ใช่"โจรกระจอก" แต่เป็นกลุ่มกระบวนการที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี มีฝีมือและอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อกลุ่มของตนเองอย่างชัดเจน ความรุนแรงเปลี่ยนรูปแบบและยุทธวิธีมากมายจนฝ่ายทหารและความมั่นคงต้องแก้โจทย์รายวัน ระดับความรุนแรงเพิ่มทวีขึ้น และขยายกลุ่มคนที่ถูกทำร้ายจากกลุ่มคนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งตัวแทนอำนาจรัฐ เข้าสู่ประชาชนทั่วไป และล่าสุดสู่บุคลากรวงการสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกาะติดในพื้นที่ ถึงวันนี้หลายฝ่ายได้แต่ภาวนาว่า "แล้ววันหนึ่งปาฏิหาริย์คงมีจริง" สถานการณ์รุนแรงเหล่านี้คงหายไป ฟังดูคล้ายคำรำพันของคนป่วยด้วยโรคที่หมดหวัง แล้วเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากไฟกองนี้ ลองมาร่วมเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนที่ยังไม่ถูกเผาในไฟใต้ด้วยกันสักครั้ง
เปิดเทอมใหม่กับโรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้
ต้นเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นการเปิดภาคเรียนที่แสนจะตื่นเต้นกว่าโรงเรียนแพทย์ชนบทครั้งไหนๆ เพราะมีครูใหญ่ครูน้อยจากแดนใต้ชักชวนให้ร่วมเดินทางมาเรียนไกลถึงชายแดนใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้คุกรุ่น วันเปิดเทอมแปลกกว่าที่อื่นเพราะต้องคอยติดตามข่าวคราวจากทั้งหน้าจอโทรทัศน์และข่าวจากคนในพื้นที่ จากนั้นเอามาชั่งน้ำหนักรวมกันแล้วบวกสัญชาตญาณตนเองก่อนที่จะหารเฉลี่ยว่า ปลอดภัยพอจะลงมาได้หรือไม่ พอถึงกำหนดวันเปิดเรียนรอบแรก สถานการณ์หนักขึ้นถึงขนาดต้องเลื่อนวันเปิดเทอมออกไปไม่มีกำหนด จนเมื่อวันฟ้าเปิด ครูในพื้นที่โทรไปบอกว่าให้ลงมาได้ ก็รีบลงมา พอจะใกล้วันเปิดเทอมเข้าจริงๆ ก็เกิดเหตุระเบิด 50 จุดพร้อมกันในหลายพื้นที่อีก นักเรียนทั้งหลายที่บรรลุนิติภาวะแล้วถึงกับไม่กล้าบอกทางบ้าน ได้แต่บอกครึ่งเดียวว่าเดินทางมาหาดใหญ่ ไม่ได้บอกว่า แล้วจะต้องนั่งรถตู้ต่อไปยะลา นราฯ ปัตตานี ด้วยกลัวว่าคนทางบ้านจะเป็นห่วงถึงขึ้นไม่ให้เดินทางไปเรียน นักเรียนบางคนถึงกับทำพินัยกรรมสั่งเสียไว้เรียบร้อยพร้อมให้นักเรียนด้วยกันเซ็นต์เป็นพยานก่อนออกจากสนามบินกรุงเทพ และทั้งที่ไม่ได้เตรียมนัดกันก่อนล่วงหน้า เหล่านักเรียนก็เดากันว่าไม่น่าจะใส่เสื้อเหลืองตามสมัยนิยมลงไป เพราะเดี๋ยวจะดูโดดเด่นเกินไปในควันไฟใต้
พวกเราบินลงไปรวมตัวกันที่หาดใหญ่ ครูที่มารับเล่าสรุปสถานการณ์อย่างย่อให้นักเรียนทั้งหลายรับทราบในช่วงเวลาอาหารเย็น จากนั้นแยกย้ายกันเข้านอนเพื่อเตรียมออกเดินทางสู่โรงเรียนแพทย์ชนบทในเขตแดนมิคสัญญีในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น แม้กระทั่งเวลาออกรถยังต้องกะเกณฑ์กันแน่นอน ที่จะไม่แล่นรถไปในช่วงเวลา prime time ของระเบิดนานาชนิดระหว่างทาง คือระหว่างเวลา 6.00-8.00 น.
จากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ จึงทำให้ครูในโรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้เข้าใจบริบทของชุมชนและชาวบ้านที่มีลักษณะพิเศษนี้มากขึ้น โดยน้อมรับเอาความรู้ทางศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาสู่การบริการ และพัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพและความกลมเกลียวไปด้วยกัน จึงเกิดเป็นองค์ความรู้ที่กลั่นกรองออกมาจากการทดลองปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้รูปแบบที่อยู่ตัวเฉพาะพื้นที่ ดังรายวิชาต่อไปนี้
รายวิชา ไฟใต้ 101 : เวชปฏิบัติสำหรับชาวมุสลิม (Islamic medicine)
เวลาอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดๆของประเทศไทย คนส่วนใหญ่มักไม่รู้หรือสำเหนียกถึงความสำคัญของความหลากหลายวัฒนธรรมที่มีอยู่ในประเทศ จึงอาจคิดแบบเหมารวมว่า "เราก็เป็นคนไทย(พุทธ)ด้วยกัน ทำไมไม่รักกัน รอมชอมกัน ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาทำกันแบบนี้ ทำไมแกที่เป็นคนส่วนน้อยต้องทำตัวแตกต่าง เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามสิ จะเรียกร้องอะไรกันนักหนา ทำไมผู้หญิงต้องคลุมหน้าคลุมตา ดูน่ากลัว ทำให้มองไม่เห็นสีหน้าภายใต้ผ้าคลุม ไม่รู้ว่าคิดดีหรือคิดร้าย ทำไมผู้ชายต้องมีเมียสี่คน ทำไมไม่กินหมู ทำไมต้องเกลียดหมา ทำไมถึงจะไหว้พระไม่ได้ก็แค่ทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตน ทำไม....ฯลฯ..." อคติเหล่านี้ผุดขึ้นในจิตใจของคนไทยหลายคนขณะรับทราบข่าวคราวของไฟใต้
สถานการณ์ที่รุนแรงของไฟใต้เสี้ยมให้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมพื้นที่กับวัฒนธรรมใหญ่ของประเทศที่มีมาแต่เดิม ช่องว่างที่หลายคนไม่เข้าใจและไม่พยายามเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมนั้นเกิดจากความแตกต่างทางศาสนาของผู้คน เมื่อมองภาพรวมทั้งประเทศ ประชากรมุสลิมเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่มีไม่ถึง 5% ของประชากรทั้งประเทศ คนส่วนใหญ่จึงมองไม่เห็นความสำคัญและความแตกต่างของเขาเหล่านี้ หากแต่ในเขตชายแดนใต้ มุสลิมคือประชากร 95% ของพื้นที่แถบนี้ ไทยพุทธกลับกลายเป็นชนส่วนน้อย บุคลากรสาธารณสุขหลายคนก็เป็นไทยพุทธ กฏระเบียบของโรงพยาบาลก็เป็นพิมพ์เดียวกันทั้งประเทศโดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น
โรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้หลายแห่งได้พยายามปรับกฏเกณฑ์ต่างๆของโรงพยาบาลให้เคารพวัฒนธรรมของชาวบ้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมมุสลิม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหญ่ของดินแดนแถบนี้ ซึ่งสภาพการปรับตัวในการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าวทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งวิชาใหม่ที่ไม่ได้เรียนจากภาคอื่นๆของประเทศ รายวิชาไฟใต้ 101 สอนให้รู้จักกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันงดงามของชาวมุสลิมโดยทั่วไป ตั้งแต่พิธีเกิดจนตาย
การคลอด หมอตำแย(โต๊ะบิแด) เป็นผู้มีภูมิปัญญาของชุมชนที่ยังมีบทบาทอย่างสูงต่างจากพื้นที่ภาคอื่นของประเทศ หมอตำแยมีบางอย่างที่เหนือกว่าแพทย์ปริญญา กล่าวคือ ชาวบ้านยังนิยมคลอดที่บ้านกับหมอตำแยหรือผดุงครรภ์โบราณ(ผดบ.)มากกว่ามาคลอดโรงพยาบาล เพราะทำให้มีความอบอุ่นของครอบครัวและญาติมิตรขณะคลอดที่บ้าน และส่วนมากมีประวัติสมาชิกทั้งบ้านคลอดกับหมอตำแยคนเดิมมาตลอด มีความผูกพันกันและไม่เห็นมีอะไรอันตรายเมื่อคลอดกับหมอตำแยประจำตระกูล
การคลอดที่บ้านจะมีผู้เฒ่าที่นับถือมากล่าวอาซานให้ทันทีหลังคลอด ซึ่งเป็นพรอันประเสริฐของเด็กทารก เด็กทารกไม่ต้องถูกเจาะเลือด ร่างกายซึ่งเป็นของขวัญของพระเจ้าจึงไม่ต้องถูกทำร้ายตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคลอดเสร็จ เด็กไม่ต้องถูกแยกอยู่ห้องเด็กอ่อน ซึ่งเป็นการแยกแม่แยกลูก แม่เมื่อคลอดเสร็จจะได้อยู่ไฟ กินปลาเค็ม เมื่อคลอดเสร็จ หมอตำแยจะคลึงมดลูกต่อ และคลึงเต้านมให้น้ำนมไหลดี หญิงนั้นจะรู้สึกว่าได้คลอดตามวิถีมุสลิมอย่างสมบูรณ์แล้ว จิตวิญญาณลักษณะนี้ไม่มีในกลุ่มคนไทยพุทธที่จะได้รู้สึกว่าผ่านการคลอดของความเป็นคนพุทธที่สมบูรณ์ การคลอดที่นี่จึงมีคุณค่าทางจิตใจและจิตวิญญาณอย่างสูง ขณะที่กระแสไทยพุทธโดยเฉพาะในเขตเมืองและภาคอื่นๆ นิยมฝากครรภ์คลอดกับหมอสูตินรีแพทย์และหาฤกษ์หายามก่อนลงมือผ่าคลอดตามฤกษ์มากขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถเรียกได้ว่าน่าภาคภูมิใจในวิถีแห่งพุทธ
การเกิด เสียงแรกและเสียงสุดท้ายที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือและได้ยินคือคำสอนจากคัมภีร์อัลกุรอ่าน เด็กแรกเกิดต้องได้ยินเสียงแรกเป็นเสียงอาซานจากพ่อหรือผู้นำศาสนา หลายโรงพยาบาลในไฟใต้จึงจัดมุมอาซานที่สวยงามอยู่ติดกับห้องคลอด บ้างก็มีรูปของหินกาบะและนครเมกกะอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในทิศที่หันหน้าไปทางนครเมกกะ บ้างก็ทำเป็นซุ้มสีทองสวยหรูในทิศที่เป็นมงคล บ้างก็มีคำสวดอวยพรติดฝาผนังให้เป็นภาษาอาหรับตามพระคัมภีร์ เพื่อให้ผู้มาคลอดที่โรงพยาบาลรู้สึกอุ่นใจว่าโรงพยาบาลให้เกียรติในสิ่งที่เขาเคารพ และจะเป็นมงคลแก่ทารกแรกเกิดไปตลอด นอกจากนี้บางโรงพยาบาลยังร่วมแสดงความยินดีด้วยการมอบภาพถ่ายระหว่างพ่อแม่และทารกเกิดใหม่ให้เป็นที่ระลึกของครอบครัวในวาระอันน่ายินดีนี้ ทั้งยังมีความร่วมมือกับหมอตำแยในการช่วยส่งต่อหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์และคลอดยังโรงพยาบาลร่วมไปกับการดูแลที่บ้านโดยหมอตำแยด้วย
การดำเนินชีวิต คนไทยพุทธที่ไม่ใส่ใจกับศาสนิกอื่นมากนักอาจจำความรู้สมัยเรียนชั้นประถมได้เลาๆว่า ชาวมุสลิมมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นพระอัลเลาะห์ก็เท่านั้น อาจจำเพิ่มได้อีกประการเรื่องมุสลิมต้องมีการละหมาด แต่ไม่รู้รายละเอียดไปกว่านั้น ชาวไทยพุทธอาจท่องจำศีล 5 ได้และรู้ว่าเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการเป็นพุทธ หากแต่จะมีสักกี่คนที่กล้ายอมรับว่าปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัดหรือแม้กระทั่งสวดมนต์เป็นประจำ ศาสนาสำหรับชาวไทยพุทธส่วนหนึ่งจึงเสมือนเรื่องที่ปฏิบัติก็ดี ไม่ปฏิบัติก็ได้
ตรงกันข้ามกับชาวมุสลิมที่มีหลักศรัทธา 5 ประการที่ปฏิบัติกันโดยเคร่งครัด จนบางครั้งชาวพุทธที่หย่อนยานก็จะตั้งข้อรังเกียจต่อชาวมุสลิมที่เคร่งครัดว่า "จะอะไรกันนักหนา ทำไมต้องยุ่งยากละหมาดอะไรบ่อยๆ ทำไมต้องถือศีลอด ป่วยแล้วก็ให้รู้จักหยุดสิ ...ฯลฯ" แต่แท้ที่จริงแล้ว อิสลามไม่ใช่เพียงศาสนาที่นับถือบ้าง ผ่อนบ้าง แต่ศาสนาจะระบุกิจกรรมและแนวทางแก้ปัญหาในชีวิตทุกด้านไว้อย่างละเอียดให้ปฏิบัติได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพและสรีระร่างกายด้วย สำหรับมุสลิม ศาสนาจึงเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่แยกออกจากชีวิตประจำวัน หลักศรัทธา 5 ประการที่มุสลิมทุกคนถือปฏิบัติ คือ
•1. ปฏิญาณยอมตนต่อพระเจ้าองค์เดียวคือพระอัลเลาะห์
•2. ละหมาดวันละ 5 เวลา
•3. ถือศีลอดช่วงเดือนรอมดอน
•4. จ่ายซะกาต บริจาคทานให้คนที่ยากไร้
•5. ไปฮัจญ์ อย่างน้อย 1 ครั้งในชั่วชีวิต
การเจ็บป่วย คือ บททดสอบจากพระเจ้าที่มีต่อทุกคน พระเจ้าจะเป็นผู้กำหนดให้ใครป่วย ให้ใครหาย แพทย์จะเป็นผู้ช่วย หากแต่การรักษาชีวิตและสุขภาพเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ดังนั้นเขาอาจจะพยายามดูแลรักษาตนเองจนกว่าจะทำไม่ได้จึงมาหาหมอ จึงอาจจะดูเหมือนว่าอิหม่ามหรือโต๊ะครูชอบปล่อยให้คนไข้มีอาการหนักแล้วจึงจะแนะนำให้มาหาหมอโรงพยาบาล
การกู้ชีวิต มุสลิมอาจมองการกู้ชีวิต ปั๊มหัวใจเป็นการทำร้ายร่างกายได้ แม้ว่าเขาจะไม่พูดแต่เขาคิด ดังนั้นจึงต้องขออนุญาตญาตเสมอ เพราะอาจทำให้ญาติรู้สึกเจ็บปวดแทน
การตาย มุสลิมมีชีวิตในภพนี้เพื่อภพหน้า การทำทุกอย่างในภพนี้เพื่อการมีชีวิตได้ไปอยู่รวมกับพระเจ้าในภพหน้า มุสลิมจึงมีชีวิตที่พอเพียง เมื่อเวลาตายมาถึง จึงเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่สมบูรณ์ คือการไปอยู่รวมกับพระเจ้า การตายจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้เกียรติ เป็นการเดินทางไปสู่ภพหน้า การทำอะไรกับศพจึงต้องนุ่มนวล เพราะมุสลิมถือว่าศพคือคนที่มีอีกชีวิตหนึ่งซึ่งกำลังรอคำพิพากษาจากพระเจ้าว่าจะได้ไปอยู่รวมกับพระองค์หรือไม่
การที่มุสลิมถือว่าร่างกายเป็นของขวัญอันประเสริฐจากพระเจ้า ดังนั้นเมื่อตาย ทุกส่วนของร่างกายต้องยังอยู่เพื่อคืนกลับไปยังพระเจ้า ศพที่มีกระสุนค้างอยู่และแพทย์ต้องการกรีดเอาหัวกระสุนออก ต้องขออนุญาตจากญาติก่อนเสมอ เพราะเวลาคืนของขวัญให้แก่พระเจ้า ของขวัญควรจะต้องมีสภาพเหมือนเดิม ไม่มีร่องรอยการกรีดทำลาย การตายของคนที่นี่จึงมักไม่เป็นที่กังขาของญาติ เพราะวัฒนธรรมมุสลิมเข้าใจว่าพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดความตาย จึงมักไม่เป็นเรื่องราวฟ้องร้องแพทย์เหมือนภาคอื่นๆ ตรงกันข้ามญาติมักจะรีบร้อนอยากเอาศพกลับไปทำพิธีทางศาสนาให้เร็วที่สุด จึงอาจจะเป็นเรื่องเป็นราวได้หากแพทย์อยากจะยื้อตรวจศพหรือเก็บวัตถุพยานจากศพก่อน
รายวิชา ไฟใต้ 102 : วัฒนธรรมมลายูปัตตานี
แม้กระทั่งหมอมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้เอง ที่ถูกฝึกอบรมมาจากโรงเรียนแพทย์ภาคกลางหรือแม้แต่โรงเรียนแพทย์ในภาคใต้ ก็ยังยอมรับว่าขณะเป็นนักเรียนแพทย์ไม่เคยเห็นหรือคิดถึงบริบทเหล่านี้ขณะเรียนแพทย์ ต่อเมื่อมาอยู่เองและเริ่มสังเกตก็จะรู้ว่ามุสลิมในชนบทชายแดนใต้มีบริบทที่แตกต่างจากมุสลิมทั่วไปหรือภาคอื่นๆ มุสลิมในเขตอำเภอก็ไม่เหมือนแม้กระทั่งมุสลิมในตัวเมืองยะลา คือมีวิธีปฏิบัติทางศาสนากิจที่เคร่งครัดและแปลความแตกต่างกันไปแม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น ผู้ชายใส่กางเกงเตะบอลก็ต้องมีความยาวขากางเกงต่ำกว่าเข่า นุ่งขาสั้นไม่ได้ เวลาทหารจูงหมาเข้าไปตรวจค้นในบ้านหรือรถถือเป็นการลบหลู่อย่างแรง ชาวบ้านรับไม่ได้แต่ไม่พูด ยิ่งเอาหมาเข้าค้นมัสยิดยิ่งเป็นการหลู่เกียรติจนรับไม่ได้ ทหารที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาประจำการทุก 6 เดือนไม่ได้เตรียมการก่อนลงพื้นที่ชุมชนที่มีวัฒนธรรมเคร่งครัด มุสลิมที่เคร่งเหล่านี้มีความแตกต่างจากมุสลิมภาคอื่น เพราะมีเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มาเกี่ยวข้องด้วย มีความเป็นมาจากการเป็นประเทศเอกราชที่มีวัฒนธรรมประจำชาติ ภาษายาวีเป็นหลักฐานที่สำคัญในความมีตัวตนของคนในดินแดนแถบนี้ เพราะไม่ใช่ภาษาไทย และไม่ใช่ภาษามาเลเซีย แต่เป็นภาษาเฉพาะของตนเอง ซึ่งบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษถิ่นนี้ว่าเป็นชนชาติขนาดใหญ่ที่มีภาษาเป็นของตนเองและสามารถสืบทอดได้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลไทยพยายามจะครอบงำและใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาราชการ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษายาวีเป็นภาษาหลักในการดำเนินชีวิตของเขา แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมเดิมที่มีมายาวนาน ซึ่งต้องถือว่าเป็นความโดดเด่นที่น่าเรียนรู้มากกว่าจะพยายามไปเปลี่ยนชาวบ้านให้มาพูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ของเขา
สถานการณ์ไฟใต้วันนี้จึงไม่ใช่เหตุที่เกิดมาจากความแตกต่างทางศาสนาโดยตรง แต่มีปัจจัยที่สลับซับซ้อนมาจากความแตกต่างของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ การเมืองการปกครองที่ถูกกดขี่ข่มเหงและแย่งชิงทรัพยากรโดยรัฐบาลกลางมายาวนาน
คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่เข้าใจ โดยเมื่ออ้างเหตุมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีในอดีต หลายคนเกิดความคิดต่อต้านทันที "เรื่องมันในอดีต ผ่านไปตั้งนานแล้ว คิดจะมาแยกแผ่นดินตอนนี้จะไปได้อะไร จะมาทวงคืนอะไร แยกไปอยู่เองแล้วจะรอดเหรอ เป็นคนไทยดีๆไม่ชอบหรือไง....ฯลฯ" อคติเหล่านี้บ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจและไม่เคารพในชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ไม่มองความแตกต่างว่าเป็นความสวยงามของมวลมนุษย์ ไม่สนใจกระทั่งว่าเขามีความเป็นมาอย่างไรหรือมีรากเหง้ามาอย่างไร โรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้จึงเปิดมุมมองให้เข้าใจรากเหง้าของคนแถบนี้มากขึ้น ทั้งครูใหญ่ครูน้อยและนักเรียนในแถบนี้จึงได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มาของท้องถิ่น ที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ไฟใต้มากขึ้นว่ามีที่มาที่สลับซับซ้อนเกินอธิบายได้ภายในประโยคสองประโยค จึงต้องอาศัยการเล่าเรื่องเท่านั้นจึงจะพอเข้าใจ
รายวิชา ไฟใต้ 103 : เวชปฏิบัติในแดนสงคราม (War Medicine)
วิกฤตควันปืน และระเบิดที่คละคลุ้งทั่วชายแดนใต้เกิดกระจายโดยทั่วไปทำให้เกิดระบาดวิทยาของความเจ็บป่วยรูปแบบใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้หาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า ทั้งโรงเรียนแพทย์ทั้งหลายไม่ได้มีรายวิชาสอนเอาไว้ก่อนไปทำงาน ทำให้โรงเรียนแพทย์ชนบทหลายโรงต้องเผชิญหน้าและเรียนรู้บทเรียนต่างๆด้วยตนเองจนเกิดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะที่ขึ้น การเกิดปรากฏการณ์การบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดรายวัน มีการวางแผนเป็นยุทธวิธีการต่อสู้ที่บุคลากรสาธารณสุขไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เสมือนว่ากำลังทำการตรวจรักษาพยาบาลในท้องที่ที่มีสงครามรายวัน แต่เป็นสงครามที่ไม่เห็นตัวผู้ก่อการ เห็นแต่ทหารตำรวจที่ใส่ชุดปฏิบัติการที่เด่นชัดอยู่ฝ่ายเดียว แพทย์พยาบาลและสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่จึงได้รับผลกระทบและความหวาดกลัวไปด้วยกัน เพราะไม่รู้ว่าใครทำและไม่รู้ว่าจะป้องกันตนเองจากการถูกลอบทำร้ายรายวันได้อย่างไร
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขพยายามใช้การดูแลผู้ป่วยแบบเข้าใจ เห็นใจ และองค์รวมมากที่สุด เพราะถือว่าผู้ป่วยก็หวาดกลัวและสูญเสียไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในวิกฤตไฟใต้ทำให้คนได้เห็นอกเห็นใจกันและเกิดสภาพการดูแลคนไข้แบบองค์รวมมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ การวางตัวเป็นกลางเป็นสิ่งที่ทำยากแต่ต้องทำมากขึ้น เพราะมีบทบาทเป็นทั้งผู้รักษาเยียวยามนุษย์ทุกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้าราชการที่ต้องให้ความร่วมมือกับทางการ การปกป้องผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดเพื่อการรักษาพยาบาลทำให้ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายความมั่นคงที่เป็นข้าราชการด้วยกัน ครั้นจะให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแสกับทางราชการ คนเหล่านั้นก็เป็นคนไข้ของเราที่มีสิทธิผู้ป่วยและต้องรักษาความลับในการรักษาพยาบาลให้เขา บุคลากรในโรงเรียนแพทย์ชนบทไฟใต้จึงเลือกที่จะรักษาผู้ป่วยและดำรงหน้าที่ของผู้รักษา มากกว่าจะเป็นพลเมืองชี้เบาะแสให้ทางการทั่วๆไป การวางตัวเหล่านี้ต้องประเมินสถานการณ์เป็นครั้งๆ เพราะจะทำให้ถูกเพ่งเล่งจากทางความมั่นคงว่าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ก่อการร้ายไปเสียได้
นอกจากการวางตัวเป็นกลางท่ามกลางกระแสควันปืน ความรู้จากการรักษาผู้บาดเจ็บและชันสูตรศพที่ตายจากอาวุธสงครามเป็นภาวะใหม่ที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนแพทย์อื่น ลักษณะการบาดเจ็บที่แปลกใหม่ทุกๆวัน ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธในการรักษา ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่จะรักษา เมื่อไหร่จะส่งต่อ กรณีไหนที่มีแนวโน้มจะมีปัญหา เช่น "ศพนักรบ" ควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นการเคารพศพไปด้วย ทำหน้าที่ชันสูตรไปด้วยได้ และไม่ขัดแย้งกับญาติหรือชุมชนที่กำลังรู้สึกสูญเสีย กรณีไหนควรหรือไม่ควรออกชันสูตรศพนอกโรงพยาบาลโดยเฉพาะในพื้นที่สงคราม ที่แพทย์พยาบาลอ่านสถานการณ์ไม่ออกว่าเป็นกับระเบิดลูกที่สองอยู่ที่ตำแหน่งไหน แต่ต้องถูกฝ่ายพนักงานสอบสวนและทหารบังคับให้ออกไปเป็นกลางท่ามกลางสนามรบ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นความรู้ที่ต้องหาหนทางตกผลึกและช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไปอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะเสียขวัญกำลังใจกันไปมากกว่านี้ และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับสถานีอนามัยในพื้นที่ที่มียุทธการกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวดของทหาร
โรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้จึงมี "แผนเผชิญเหตุ" ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจาก "แผนอุบัติเหตุ" คือ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีการต่อสู้กันและมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากจะทำอย่างไร หากมีการล้อมโรงพยาบาลเพื่อแย่งศพนักรบจะทำอย่างไร หากมีการรื้อค้นข้าวของและลอบวางระเบิดสถานีอนามัยและโรงพยาบาลจะทำอย่างไร หากมีการจับบุคลากรไปเป็นตัวประกันจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมการในสภาพการณ์ที่ล่อแหลมของพื้นที่ มีการประชุมทำแผนกันทั้งเขต ไม่ใช่เพียงรายอำเภอหรือจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ร่วมกัน หาแนวทางที่จะปฏิบัติได้เมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉินที่เกิดจากการก่อการร้ายรอบตัว
บทส่งท้าย
นอกจาก 3 รายวิชาหลักที่ได้เรียนรู้อย่างน่าตื่นเต้นจากโรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้แล้ว ยังมีรายวิชาย่อยอีกมากมายที่ยังรอการรวบรวมให้ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับความรู้ในภาคอื่นๆ ซึ่งจะได้หาโอกาสในการถอดองค์ความรู้เหล่านี้ออกมาเผยแพร่ให้นักเรียนนอกห้องเรียนคนอื่นได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน บทเรียนที่ได้มาเรียนรู้จากโรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้เป็นบทเรียนที่มีลักษณะพิเศษและโดดเด่นไม่เหมือนใคร เมื่อมองวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อมองให้เห็นคุณค่าของน้ำที่ยังเหลืออีกครึ่งแก้วได้ เมื่อนั้นการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะสำลักควันสงครามสักปานใด โรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้จึงยังยืนเด่นเป็นสง่า เป็นตำราเล่มใหม่ให้ได้เรียนรู้จากกลางกองเพลิงแห่งความขัดแย้งของสงคราม ในเมื่อไฟสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะมอดดับลงในเร็ววัน โรงเรียนแพทย์ชนบทในไฟใต้ก็พร้อมเปิดภาคเรียนให้ได้ศึกษาเรียนรู้ ตำราที่ได้จากกองเพลิงเล่มนี้จะได้มีบทเรียนใหม่เพิ่มเติมเป็นบทต่อๆไปที่คนในพื้นที่ได้แต่หวังว่า มันคงจะปิดตำราเล่มนี้ลงได้สักวัน