Skip to main content

สามารถ ทองเฝือ
คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
 

บทนำ

สภาพทั่วไปของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาพูดเพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มาจากรากฐานเดียวกัน ตลอดจนการใช้วัฒนธรรมอิสลามในการดำเนินชีวิตซึ่งมีวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างไปจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยวิถีชีวิตของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความผูกพันยึดมั่นวิถีทางอิสลามเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากนี้แล้วเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นและเปราะบางต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงในระดับสากลที่หลายประเทศได้ให้ความสำคัญและได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนับตั้งแต่เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและตากใบที่เกิดขึ้นในปี 2004 เป็นต้นมา ประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญและสนใจต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศโลกมุสลิมได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มีความสลับซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ มีรากเหง้าความเป็นมานับตั้งแต่อดีตที่สั่งสมสืบทอดเรื่อยมาเป็นเวลานมนานจนกระทั้งถึงสมัยปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม และมีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งในระดับชาติและในระดับสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งโลกมุสลิมรวมทั้งองค์การและหน่วยงานมุสลิมระหว่างประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญและมีความสนใจในการที่จะเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความสันติสุขให้เกิดขึ้นโดยเร็วไวที่สุด ซึ่งกลุ่มประเทศในโลกมุสลิมได้ตระหนักว่าบริเวณพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จึงเห็นควรที่จะเข้ามาให้การเอาใจใส่ดูแลกับปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของประชาชาติมุสลิมที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบทั่วทุกภูมิภาคของโลก

ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาและนำเสนอถึงบริบทแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับโลกมุสลิมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้เกิดขึ้นมาว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาที่จะส่งผลกระทบหรือมีผลต่อพัฒนาการแห่งความสัมพันธ์ของไทยกับกลุ่มประเทศโลกมุสลิมนั้นอย่างไร

 

อิสลาม โลกมุสลิมกับชายแดนภาคใต้ : นัยสำคัญแห่งสัมพันธภาพและความหมาย

          เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า "อิสลาม" เป็นชื่อเรียกของศาสนาที่สำคัญที่สุดของโลกอีกศาสนาหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทของเอกเทวนิยม คือศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งมีผู้คนนับถือศรัทธากันเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ศรัทธาในศาสนานี้เรียกว่า "มุสลิม" ซึ่งหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นเอง คำว่าอิสลามมาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ อัส-สิลมฺ แปลว่า สันติภาพ การนอบน้อมและการยอมจำนน ในด้านนิรุกติศาสตร์จึงหมายถึงการยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะได้บรรลุถึงความสันติสุข ดังนั้น "มุสลิม" ก็หมายถึงผู้ที่นอบน้อมมอบตนต่อพระผู้เป็นเจ้าแต่ผู้เดียวเพื่อความสันติ (ศราวุฒิ อารีย์, 2550:5) อย่างไรก็ตามยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยมักจะเรียกประชาชนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามว่าไทยอิสลาม และในบางครั้งก็เรียกกันว่าชาวไทยมุสลิม ในทำนองเดียวกันจึงไม่น่าแปลกนักที่บางครั้งเรามักจะได้ยินการเรียกกลุ่มประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามว่าเป็นกลุ่มประเทศที่จัดอยู่ใน "โลกอิสลาม" หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า "โลกมุสลิม" ซึ่งในการให้คำจำกัดความของคำนิยามทั้งสองนี้นั้นยังคงมีความสับสนกันอยู่ว่าจะเรียกกันอย่างไรดีถึงจะถูกต้องมากที่สุด

          สำหรับในบทความนี้จึงใคร่ขอนำเสนอคำจำกัดความโดยยึดหลักภาษาและตามหลักรัฐศาสตร์ว่า ประเทศใดก็ตามที่ประชากรส่วนใหญ่หรือชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ นับถือศาสนาอิสลามและมีบทบาทอำนาจทางการเมืองมากกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายในประเทศของตนเราเรียกกันว่าเป็นประเทศ "โลกมุสลิม"  ด้วยเหตุผลที่ว่าหากเราเรียกประเทศเหล่านี้ว่าประเทศ "โลกอิสลาม" แล้ว คงอาจจะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปในหลักการแห่งศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลามว่า ประชาชนมุสลิมในประเทศนั้นๆ ได้ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เคร่งครัดหรือไม่ เพราะคำว่า "อิสลาม" เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งครอบคลุมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ศรัทธาตั้งแต่เกิดจนถึงตายตามหลักการแห่งศาสนบัญญัติของอิสลาม กล่าวคือ อิสลามมิใช่แค่ศาสนาแต่อิสลามหมายถึง วิถีชีวิตโดยมีธรรมนูญในการดำเนินชีวิตคืออัลกุรอานและอัลหะดิษ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างและจริยธรรมที่ดีงามของท่านศาสดามูฮัมหมัดที่มุสลิมต้องเรียนรู้เจริญรอยตาม กล่าวได้ว่า อิสลามเป็นทั้งระบบความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกๆ ด้านตั้งแต่เกิดจนตาย โดยมีรากฐานที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดามูฮำหมัด ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะเรียกประเทศที่มีประชากรมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มใหญ่หรือที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติและมีประชากรมุสลิมของประเทศนั้นๆ มีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมากกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นว่าเป็นกลุ่มประเทศ "โลกมุสลิม"

          ปัจจุบันประเทศหรือรัฐชาติต่างๆ มีจำนวนเกือบ 200 ประเทศในโลก ในจำนวนนั้นมีกลุ่มประเทศที่สามารถเรียกว่าเป็นกลุ่มประเทศ "โลกมุสลิม" ได้นั้นมีจำนวน 57 ประเทศด้วยกัน ที่ตั้งอยู่ในสี่ทวีป คือ ในทวีปเอเชีย 26 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์บัยญาณ บาห์เรน บังคลาเทศ บรูไน กาตาร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คาซัคสถาน คูเวต คิรกิรสถาน เลบานอน มาเลเซีย มัลดีฟส์ โอมาน ปากีสถาน ปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ทาจิกิสถาน เตอร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับอีมิเรทต์ และเยเมน ทวีปยุโรป 2 ประเทศ ประกอบด้วย อัลบาเนีย และตุรกี ทวีปอเมริกาใต้ 2 ประเทศ ได้แก่ กายานา และสุรินาม และทวีปแอฟริกาอีก 27 ประเทศ ประกอบไปด้วย อัลจีเรีย เซเนกัล เบนิน กาบอง โมร๊อกโก โตโก บูร์กินาฟาโซ แกมเบีย โมซัมบิก ตูนิเซีย แคเมอรูน ลิเบีย ไนเจอร์ อูกันดา ชาด กินี ไนจีเรีย โกตคิวัวร์ โคโมรอส กินีบิสเซา ซีราลิโอน จิบูตี อิยิปต์ มาลี มอริตาเนีย  โซมาเลีย และซูดาน ซึ่งเหล่าบรรดารัฐชาติทั้ง 57 ประเทศดังกล่าวนี้ ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศที่เปรียบเสมือนเป็นองค์การสหประชาชาติของกลุ่มประเทศโลกมุสลิม นั้นคือองค์การการประชุมอิสลามหรือ Organization of Islamic Conference (OIC) ที่เรียกกันย่อๆ ว่าองค์การโอไอซีที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1969 เป็นองค์การสังกัดรัฐบาลระหว่างประเทศ โดยวางอยู่บนกฎบัตรขององค์การที่มีผลบังคับใช้ในปี 1972 ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสัมพันธ์ภาพร่วมกันของประชาชาติมุสลิมและยังถือได้ว่าองค์การนี้เป็นกระบอกเสียงหลักของศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ (จรัญ มะลูลีม, ใน มุสลิมนิวส์, 2550:7-9) ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าประเทศโลกมุสลิมคือประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซีในปัจจุบันนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ศราวุฒิ อารีย์ (2550: 3 - 4) ได้ทำการจำแนกประชาชาติมุสลิมในโลกปัจจุบันออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ กลุ่มประเทศมุสลิมอาหรับ, กลุ่มประเทศมุสลิมที่มิใช่อาหรับ และกลุ่มมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งสองกลุ่มแรกก็คือประเทศสมาชิกองค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซีนั้นเอง

          หนึ่งในหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลามนั้น มุสลิมทุกคนจะต้องยึดมั่นศรัทธาต่อบทบัญญัติคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) ที่ปรากฏอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งมุสลิมทุกคนจะต้องยึดถือเป็นธรรมนูญชีวิตของพวกเขาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือธรรมนูญแห่งอิสลาม ในบทบัญญัติแห่งอัลกรุอานได้ระบุเอาไว้ว่า ประชาชาติมุสลิมเป็นพี่น้องกัน ดังปรากฏในบทบัญญัติโองการหนึ่ง (อัลกุรอาน, 49 : 10) ซึ่งมีใจความว่า

          "แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องของพวกเจ้า และจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา"

          จากโองการแห่งบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอานนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเหล่าบรรดาประชาชาติมุสลิมทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด ย่อมมีสภาพแห่งความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งผลที่ตามมาแห่งความเป็นพี่น้องกันในศาสนาหรือภราดรภาพในอิสลามนั้นคือ ความรักใคร่ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือร่วมมือเกื้อกูลกัน เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าการเป็นพี่น้องกันในทรรศนะอิสลามตามบทบัญญัติแห่งอัลกุรอานในโองการนี้นั้น นับได้ว่ามีความเข้มข้นกว่าการเป็นพี่น้องทางสายเลือดหรือวงศ์ตระกูลเสียอีก    

ดัวยเหตุผลตามบทบัญญัติในโองการดั่งปรากฏอยู่ในอัลกุรอานดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศโลกมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาชาวมุสลิมที่กระจัดกระจายอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ เช่นกันที่ได้ให้ความสนใจและห่วงใยต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากในบริเวณพื้นที่สามจังหวัดดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศไทย ด้วยการตระหนักถึงความเป็นประชาชาติมุสลิมหรือในฐานะที่เป็นพี่น้องมุสลิมด้วยกันเหมือนดั่งที่ได้บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน ทำให้เกิดสัมพันธภาพแห่งความห่วงใยที่มีต่อกันระหว่างประชาชาติแห่งโลกมุสลิมกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้เกิดขึ้นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชาติโลกมุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การระหว่างประเทศในเวทีของโลกมุสลิม อย่างเช่น องค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซี ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยมิได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกโลกมุสลิมสักทีก็ตาม แต่องค์การโอไอซีถือว่านี่คือเจตนารมณ์หรือพันธกิจหลักและนโยบายขององค์การตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การนี้ขึ้นมา ซึ่งควรที่จะเข้ามาให้การเอาใจใส่ดูแลกับปัญหาที่เกิดขึ้นของประชาชาติมุสลิมที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยวางอยู่บนพื้นฐานแห่งสัมพันธภาพร่วมกันของอิสลาม ซึ่งเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งองค์การนี้ นั้นก็คือเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชาติมุสลิมในโลก ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐใด ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนารัฐมุสลิมที่มีฐานะด้อยทางเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประชาชาติมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐที่ไม่ใช่มุสลิม (Charter of the Islamic Conference, ใน Abdullah Ahsan,1988:127 - 134) ดังนั้นด้วยบริบทของปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยภาพรวมแล้วได้ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทยในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศโลกมุสลิมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้เกิดขึ้นมาจนกระทั้งถึงทุกวันนี้

 

ปัญหาชายแดนใต้กับพัฒนาการแห่งความสัมพันธ์ของไทยกับโลกมุสลิม

          โลกมุสลิมถือได้ว่าเป็นโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และประชากร ทั้งนี้ก็เพราะบทบาทของประเทศมุสลิมในด้านต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนทั้งในทางการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจ นักวิชาการด้านโลกมุสลิมของไทยผู้หนึ่งได้ให้ทรรศนะว่า ไทยควรให้ความสำคัญและสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศโลกมุสลิมให้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา (จรัญ มะลูลีม,ใน อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์, 2539:117-122) ซึ่งการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับกลุ่มประเทศโลกมุสลิมเหล่านี้นั้นนับว่าประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอดในระดับหนึ่ง ทางรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ รวมทั้งโลกมุสลิม เพราะรัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้ทำการสถาปนาทางการทูตกับบรรดากลุ่มประเทศโลกมุสลิมจนถึงปัจจุบันนี้มีสถานทูตไทยและกงสุลใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกมุสลิมถึง 22 แห่งด้วยกัน (Thai Mission in Muslim Countries, ใน www.thai2arab.com, 2006)

          นับตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและตากใบเมื่อปี 2004 เป็นต้นมา โลกมุสลิมได้ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ภาคใต้มากขึ้น ในขณะที่ทางรัฐบาลไทยสมัยรัฐบาลทักษิณบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นได้มีความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมเพิ่มมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากทางที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้จัดทำเว็บไซต์ภาษาอาหรับขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยต่อโลกมุสลิมขึ้นและเป็นเว็บไซต์แรกของภาครัฐของไทยที่จัดทำเป็นภาษาอาหรับ นั้นคือ www.thai2arab.com โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งนำเสนอข้อมูลของไทยในด้านต่างๆ อาทิ สถาบันพระมหากษัตริย์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น รวมทั้งความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม สอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับประชาชาติมุสลิมในประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย มุ่งหวังในการที่จะส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับโลกมุสลิม

          อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศโลกมุสลิมก็ได้เฝ้าติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวด้วยความห่วงกังวลต่อการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การระหว่างประเทศของรัฐมุสลิมอย่างองค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซีได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลไทยสมัยทักษิณในขณะนั้น ได้ส่งคณะผู้แทนไทยเข้าพบเลขาธิการโอไอซี ณ สำนักงานใหญ่ ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนมีนาคม 2005 เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ให้กับองค์การโอไอซีได้รับทราบ ซึ่งทางเลขาธิการโอไอซีได้แสดงความขอบคุณต่อทางรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ต่อมาทางการโอไอซีก็ได้ส่งคณะผู้แทนระดับสูงโดยมี ซัยยิด กาซิม อัลมิสรี่ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการโอไอซีและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2005 เพื่อปรึกษาหารือกับทางการไทย และพบปะผู้นำมุสลิมคนสำคัญๆ ของไทยเป็นระยะเวลาเกือบสองอาทิตย์ (จรัญ มะลูลีม, 2550)

          หลังการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน 2006 คณะรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ให้ความสำคัญสูงสุดในการสร้างความปรองดองภายในชาติและการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้กล่าวไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีทางด้านการต่างประเทศต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (2549 : 22) ถึงการดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสนับสนุนความปรองดองและความมั่นคงในชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้แล้วในช่วงต้นปี 2007 ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีการจัดประชุมบรรดาเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศมุสลิมเพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงต่างประเทศในการสนับสนุนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการดำเนินยุทธศาสตร์ของไทยต่อประเทศมุสลิม คำกล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศมุสลิม (กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก, ใน www.thaigov.go.th) เมื่อ 24 มกราคม 2550 กล่าวไว้ว่า

          แม้ว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาในปัจจุบันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากกระแสโลกมุสลิมในปัจจุบันไม่ว่าจากเหตุการณ์ในอิรัก ปาเลสไตน์ หรือที่อื่นๆที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วไปรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูกรังแก และเหตุผลนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างมากขึ้น และเรียกร้องความเห็นใจจากโลกมุสลิมซึ่งทำให้ประเทศมุสลิมต่างๆ หันมาสนใจและจับตามองปัญหาในจังหวัดภาคใต้มากขึ้น ดังนั้นมิติด้านต่างประเทศของปัญหาภาคใต้จึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญด้วย

 

          นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เชิญเลขาธิการโอไอซี ศาสตราจารย์เอ็กมิเลคดิน  อิห์ซาโนกลู พร้อมคณะเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2007 ซึ่งในการเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ ทางเลขาธิการโอไอซีได้พบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งระดับผู้นำศาสนาและระดับรัฐบาล ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับคณะของเลขาธิการโอไอซีเป็นอย่างมาก ในการนี้ ทางเลขาธิการโอไอซีได้มีหนังสือถึงชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันคัดค้านการใช้ความรุนแรง แต่ให้หันมาอยู่ร่วมกันโดยสมานฉันท์ และร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเลขาธิการโอไอซีได้ขอให้ชาวไทยมุสลิมและเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ อย่าปล่อยให้ใครนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย และผู้กระทำผิดจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ และให้ทุกคนมีความเสมอภาคทางกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวอยากให้รัฐบาลไทยยกเลิกหรือจำกัดการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการทรมานที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม และขอให้ทุกคนยึดมั่นการเคารพสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างของการนับถือศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ โอไอซี ยินดีจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งโอไอซีเป็นองค์กรที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ส่งเสริมการก่อความไม่สงบ และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือการทรมาน และคิดว่ารัฐบาลไทยต้องอดทนในการแก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาซึ่งอาจยาวนานเป็น 10 ปี หรือ 20 ปีก็ได้ ซึ่งศาสตราจารย์เอ็กมิเลคดิน  อิห์ซาโนกลูได้นำข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาลไทยที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกโอไอซีที่ปากีสถาน และยืนยันว่าปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ใช่ปัญหาการกีดกันทางศาสนา (สยามจดหมายเหตุ, พฤษภาคม 2550: 596 - 597)

          อย่างไรก็ตาม ทางเลขาธิการโอไอซีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในโอกาสที่เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ซึ่งสาระสำคัญในแถลงข่าว คือ โอไอซีแสดงความกังวลถึงเหตุการณ์ชายแดนใต้ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ ทางองค์การโอไอซีจึงได้เร่งรัดให้รัฐบาลไทยมีการสอบสวนในข้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนรับผิดชอบให้มากขึ้นในการบริหารกิจการในท้องถิ่น ทางผู้แทนโอไอซีได้แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยได้จัดลำดับให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้ยังคงให้เป็นวาระแห่งชาติและยังได้สนับสนุนแนวทางสมานฉันท์และการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี นอกจากนี้แล้ว ไทยและโอไอซีได้ย้ำความพร้อมที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อช่วยให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนรับผิดชอบกิจการในท้องถิ่นตามกระบวนการกระจายอำนาจเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและภาษา และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยยึดมั่นในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทยด้วย

          ดังนั้นจะเห็นได้จากการที่ทางองค์การโอไอซีได้นำเอากรณีปัญหาชายแดนใต้ของไทยบรรจุเข้าไปปรึกษาหารือกันในการประชุมขององค์การประชุมอิสลามระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 34 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2007 ที่ผ่านมา ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย นายนิตย์ พิบูลสงคราม ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ของโอไอซีนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของโอไอซีครั้งที่ 34 ว่า ไทยและโอไอซีมีปรัชญาและเป้าหมายเดียวกัน คือ ต่อต้านความรุนแรง การขาดขันติธรรม การขจัดความยากจน และความอยุติธรรม ทางรัฐบาลไทยยืนยันการแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยแนวทางสันติวิธีและสมานฉันท์ และยังได้กล่าวว่าสังคมไทยให้อิสระในการนับถือศาสนาและเคารพต่อค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา  นอกจากนี้แล้วทางรัฐบาลไทยต้องการให้มิตรประเทศมุสลิมทราบและเข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงและแนวทางของรัฐบาลไทยและขอบคุณในความร่วมมือกับไทย ซึ่งก็มีส่วนสำคัญในการนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ, ใน www.mfa.go.th, 2550) 

          จรัญ มะลูลีม (2550) ได้ให้ทรรศนะเอาไว้ในหนังสือพิมพ์มุสลิมนิวส์ว่า ไทยมีจุดมุ่งหมายสำคัญให้โอไอซีเข้าใจท่าทีนโยบายและการปฏิบัติต่อชาวไทยมุสลิม การแสวงหาความร่วมมือกับโอไอซี และประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือผู้ก่อความไม่สงบใช้ประเด็นปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลายมาเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทรรศนะของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ จังหวัดนราธิวาสอย่างนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ (มติชน, 27 มิถุนายน 2550: 7) ได้ตั้งข้อสังเกตและให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า จากท่าทีของโอไอซีต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ส่อแสดงว่า องค์การโอไอซีจะอาสาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแม้แต่น้อย อย่างมากก็เพียงถามไถ่ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในทางที่จะเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ในฐานะของความเป็นมิตรที่ดีเสียมากกว่า  

 

บทสรุปส่งท้าย

          จากการที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับโลกมุสลิมต่อบริบทของการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าหากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วนั้น ประเทศไทยในสายตาประชาคมชาวโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มประเทศโลกมุสลิมย่อมส่งผลถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เกิดความเสียหายได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ คงจะต้องคิดกันต่อไปถึงประเด็นปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐไทยต่อกลุ่มประเทศโลกมุสลิมว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและสัมพันธภาพที่ดีอย่างไร ซึ่งรัฐบาลไทย จะต้องแสดงให้โลกมุสลิมเห็นว่า ไทยได้ยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธีที่จริงจังและจริงใจให้จงได้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในโลกแห่งยุคปัจจุบันอย่างยั้งยืนตลอดไป

 

เอกสารอ้างอิง
หนังสือภาษาไทย
จรัญ มะลูลีม (2539), "ไทยกับโลกมุสลิม" ใน อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (บรรณาธิการ), ไทยกับเพื่อนบ้าน, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศราวุฒิ อารีย์ (2550), การก่อการร้าย: มุมมองของโลกอิสลาม, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือภาษาอังกฤษ
Abdullah al Ahsan (1988), The Organization of the Islamic Conference: An Introduction to an Islamic Political Institution, Herndon: The International Institute of Islamic Thought.
Hasan Moinuddin (1987), The Charter of the Islamic Conference and Legal Framework of Economic Cooperation among its Member States.
วารสารและหนังสือพิมพ์
มุสลิมนิวส์, ปีที่ 12 ฉบับที่ 59 ประจำเดือนมีนาคม 2550
มติชน, ปีที่ 30 ฉบับที่ 10663 วันที่ 21 พฤษภาคม 2550 
มติชน, ปีที่ 30 ฉบับที่ 10700 วันที่ 27 มิถุนายน 2550 
สยามจดหมายเหตุ, ปีที่ 32 พฤษภาคม 2550
สื่ออิเลกโทรนิค
เว็บไซต์รัฐบาลไทย,   www.thaigov.go.th
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ,   www.mfa.go.th
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ไทย-มุสลิม,   www.thai2arab.com