หมายเหตุ : แปลสรุปจาก Knowing the Enemy โดย George Packer พิมพ์ใน The New Yorker, December 18, 2006 โดยการสนับสนุนข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
บทความนี้เสนอหลักการสำคัญว่า การแก้ปัญหาเหตุการณ์รุนแรงในปัจจุบันในภูมิภาคต่างๆของโลก ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีมองภาพใหญ่ก่อน ปัญหาสำคัญในปัจจุบันไม่ใช่ "ปัญหาการก่อการร้าย (Terrorism)" แต่เป็น "ปัญหาการก่อความไม่สงบ (Insurgency)" ซึ่งมีข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 2 กรณีนี้คือ คน ที่เกี่ยวข้อง
ในการก่อการร้ายนั้น "ผู้ก่อการร้าย (Terrorist)" เป็นพวกปฏิบัติการเป็นกลุ่มเฉพาะ ที่มีแนวคิดและพฤติกรรมใช้ความรุนแรงและมักจะเกินเยียวยาหรือเจรจาหว่านล้อม จึงเป็นภารกิจโดยตรงของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องใช้บุคลากร อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการ
แต่ในการก่อความไม่สงบนั้น "ผู้ก่อความไม่สงบ (Insurgent)" เป็นผู้ที่มีฐานมวลชนกว้าง ทำงานกับกระแสสังคม ความคิด และภาพลักษณ์ โดยผ่านทางสื่อทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งจะชนะหรือแพ้กันด้วย "การเมือง" ไม่ใช่การปราบปรามอย่างเดียว
เดวิด คิลคัลเลน นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลีย ซึ่งไปทำวิจัยในอินโดนีเซียในปี 1996 พบว่า อินโดนีเซียเคยมีขบวนการดารุลอิสลาม ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1950 และขบวนการนี้เป็นจุดกำเนิดของขบวนการเจไอ (Jemaah Islamiya) ในเวลาต่อมา ขบวนการนี้ใหญ่กว่าขบวนการคอมมิวนิสต์มลายูซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นต้นแบบในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบเสียอีก แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ปราบปรามขบวนการดารุลอิสลามได้อย่างราบคาบ โดยใช้วิธีการทางทหารเป็นหลัก
หลังจากนั้นเดวิด คิลคัลเลนได้เข้าไปร่วมเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในเหตุการณ์ติมอร์ตะวันออกในปี 2001 ซึ่งต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย เชาเห็นความเหมือนของกรณีทั้งสอง โดยรัฐบาลอินโดนีเซียใช้วิธีปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น การทำร้ายผู้ต้องสงสัย อพยพประชาชน การห้ามออกนอกบ้าน การเกณฑ์ชาวบ้านมาเป็นหน่วยรักษาความมั่นคง และการกดดันให้ชาวบ้านเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเป็นต้น แต่บริบทและยุคสมัยของกรณีทั้งสองแตกต่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความแตกต่างก็คือ ในกรณีของขบวนการดารุลอิสลามในสมัยปี 1950-1960 นั้น วิธีการเหล่านี้ใช้ได้ผลเนื่องจากข้อมูลข่าวสารสมัยนั้นอยู่ในวงแคบ สิ่งที่เกิดขึ้นรู้กันอยู่ในเฉพาะพื้นที่เท่านั้น โลกภายนอกไม่ได้รับทราบอะไรมากนัก แต่ในกรณีของติมอร์ตะวันออกนั้นเป็นปี 1990 เป็นยุคโลกาภิวัตน์แล้ว ข่าวสารข้อมูลเดินทางเร็วและกว้างขวางมาก ผู้ก่อการในติมอร์ตะวันออกสามารถใช้สื่อทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพในการเผยแพร่สถานการณ์และเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง ป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนรัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถใช้วิธีเดิมๆอีกต่อไปได้ และต้องยอมให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราชในที่สุด
ถึงแม้ว่าขบวนการดารุลอิสลามเป็นมุสลิม และขบวนการติมอร์ตะวันออกเป็นคริสต์ ทั้งสองกรณีก็เป็นขบวนการที่มีรากฐานลึกๆอยู่บน เครือข่ายทางสังคมของคน ในท้องถิ่น และวิธีการที่เครือข่ายทางสังคมเหล่านี้สัมพันธ์กัน ไม่ใช่พฤติกรรมทางศาสนา เหตุผลสำคัญที่คนหนุ่มสาวเข้าร่วมในขบวนการเหล่านี้ก็คือความรู้สึกได้ผจญภัย ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยถูกชักชวนผ่านทางเครือญาติ เพื่อนฝูง และคนรู้จัก
หลักการในการต่อต้านความไม่สงบนั้นได้ถูกวางไว้ตั้งแต่รัฐบาลอังกฤษในมลายาในทศวรรษ 1950 โดย เซอร์เจราลด์ เทมปลาร์ ว่า กำลังทหารเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของปัจจัยความสำเร็จ ที่เหลืออีก 3 อย่างคือ การเมือง เศรษฐกิจ และ ข้อมูลข่าวสาร
ประเด็นสำคัญก็คือ ขบวนการก่อความไม่สงบในปัจจุบันอาจถือได้ว่าเป็น "องค์กรโฆษณาข่าวสารที่ติดอาวุธ (Armed Propaganda Organizations)" มากกว่าขบวนการก่อการร้ายที่มุ่งจะทำลายชีวิตอย่างเดียว ขบวนการเหล่านี้เปลี่ยนวิธีการกลับไปกลับมาได้ระหว่างการใช้อาวุธกับการโฆษณาชวนเชื่อ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เช่นการที่กลุ่มต่อต้านในอิรักวางระเบิดขบวนรถทหารสหรัฐ ที่จริงแล้วกลุ่มต่อต้านไม่ได้เน้นจะลดจำนวนรถบรรทุกทหาร (เพราะรู้ว่าสหรัฐส่งมาเพิ่มได้เสมอ) แต่ต้องการเผยแพร่ภาพของรถถังหรือรถฮัมวีที่กำลังถูกไฟไหม้มากกว่า ซึ่งจะมีผล 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นพวกมากขึ้น ให้ชาวบ้านรู้สึกว่ารัฐบาลเองก็มาคุ้มครองไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านก็ถูกทำให้เหมือนกับว่าเหลือทางเลือกเพียง 2 ทาง คือจะช่วยผู้ก่อการหรือจะต่อต้านผู้ก่อการ ในส่วนพวกที่คิดจะต่อต้านนั้น ผู้ก่อการก็จะฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดู เป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ารัฐบาลป้องกันชาวบ้านไม่ได้และไม่สามารถทำอะไรผู้ก่อการได้ด้วย และ ระดับโลก เพื่อรักษาโมเมนตัมทางการเมืองและสร้างภาพลักษณ์ว่าขบวนการนั้นๆ กำลังเติบโตขึ้น ไม่มีใครหยุดยั้งได้ เป็นการใช้ "สื่อ" ที่จะทำให้ "สาร" ของพวกเขาถูกขยายผลทั้งไปสู่พื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียงกันและไปทั่วโลก
เช่นเดียวกัน ในการประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม อัล-ไคดา ในระยะหลังๆ จะเห็นว่าความคับแค้นที่กลุ่มนี้ใช้โจมตีสหรัฐมีหลายเรื่อง ตั้งแต่กรณีปาเลสไตน์ ซาอุดิอราเบีย อัฟกานิสถาน และภาวะโลกร้อนด้วย การที่มีเรื่องภาวะโลกร้อนรวมอยู่ในข้อกล่าวหาสหรัฐนี้ ชี้อย่างชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ของอัล-ไคดาไม่ใช่สงครามศาสนาแต่เป็นยุทธศาสตร์ข่าวสาร
และการที่การประชาสัมพันธ์นี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2004 ก็แสดงว่าอัล-ไคดามีจุดมุ่งหมายทางการเมืองด้วย โดยต้องการให้ประธานาธิบดีบุชได้รับการเลือกตั้ง เพราะกลุ่มอัล-ไคดาเห็นว่ายุทธศาสตร์ที่สหรัฐใช้ในขณะนั้น คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) เป็นผลดีกับกลุ่มอัล-ไคดา ทำให้อัล-ไคดายังมีความสำคัญอยู่ในระดับโลก หากสหรัฐเปลี่ยนแนวทางจากการปราบปรามมาเป็นการค่อยๆ เจรจาหารือกับกลุ่มต่างๆ ได้ กลุ่มอัล-ไคดาก็จะถูกลดความสำคัญลง และถ้าไม่มีสื่อมวลชนออกข่าวให้เป็นระยะๆ ภาพลักษณ์ของอัล-ไคดาก็จะเสื่อมลง
การต่อสู้กับความไม่สงบจะชนะหรือแพ้ก็อยู่ที่สงครามข่าวสารทั้ง 2 ระดับนี้ คือระดับท้องถิ่น และระดับโลก ในระดับท้องถิ่น ชาวบ้านต้องเห็นว่าการเข้าข้างภาครัฐจะเป็นผลดีกับตัวเองมากกว่า ซึ่งหมายความว่าภาครัฐจะต้องทำตัวให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงเศรษฐกิจหรือสังคมหรือความปลอดภัย และหนุนให้สังคมทำความเข้าใจและต่อต้านข่าวสารที่ผิดๆในระดับท้องถิ่น ส่วนในระดับโลกนั้น สื่อมวลชนและภาครัฐต้องจำกัดเขตหรือแก้ไขอย่างทันควันมิให้ข่าวสารที่ถูกตีความผิดๆ ถูกส่งออกไประดับโลก
เขายกตัวอย่าง เช่นกรณีที่ทหารสหรัฐทำทารุณกรรมนักโทษชาวอิรักในคุก Abu Ghraib หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือภาครัฐต้องเป็นคนแรกที่ให้ข้อมูลก่อน อย่าปล่อยให้ผู้อื่นเป็นคนปล่อยข่าว เพราะภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือที่จะเกิดขึ้นจะต่างกันมาก แต่ฝ่ายทหารระดับสูงยังไม่ยอมรับแนวคิดนี้ เพราะการที่สหรัฐไปติดอยู่กับความคิดเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) จึงทำให้สหรัฐใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีการทหารเป็นหลัก
ยุทธศาสตร์การสื่อสารเช่นนี้ดูจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มสุดโต่งเกือบทุกกลุ่มในโลก เช่นในการสู้รบระหว่างกลุ่มฮิสบอลเลาะห์กับทหารอิสราเอลในเลบานอน ทันทีที่การสู้รบสิ้นสุดลง ฮิสบอเลาะห์ก็นำธงของกลุ่มไปติดไว้ตามบ้านชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย ทำนองว่ากลุ่มจะให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านนั้น แต่ที่จริงการทำเช่นนี้เป็นปฏิบัติการทางสื่อสาร กล่าวคือกลุ่มกำลังบอกกับชาวบ้านว่า "เราจะดูแลพวกท่านเป็นอย่างดี" ในขณะเดียวกันก็กำลังบอกกับองค์กรช่วยเหลือจากต่างประเทศว่า "บ้านนี้อยู่ในความปกป้องของเรา" ผลก็คือเมื่อองค์กรช่วยเหลือจากต่างประเทศตามเข้าไปในอีก 2-3 วันต่อมา องค์กรเหล่านั้นก็ต้องไปเจรจากับกลุ่มฮิสบอลเลาะห์ก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านได้ และชาวบ้านก็ยิ่งถูกตอกย้ำความรู้สึกว่าที่พึ่งหนึ่งเดียวของพวกเขาก็คือกลุ่มฮิสบอลเลาะห์
การต่อต้านสงครามข่าวสารเช่นนี้ควรทำ 3 อย่าง คือ
1.ต้องสร้างภูมิต้านทานกับข่าวสารที่ผิดๆ (โดยการสะสมความน่าเชื่อถือทีละน้อยๆ แต่อย่างต่อเนื่อง)
2.ต้องหนุนผู้นำชุมชนที่สามารถแก้ไขข่าวสารที่ผิดๆได้ และ
3.ต้องสร้างกลุ่มหรือหน่วยสื่อสารที่เป็นคู่แข่งขึ้นมา (ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นฝ่ายรัฐ เพียงแต่เสนอข่าวสารในทางที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและวิถีวัฒนธรรม -- ภาครัฐต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับข้อนี้)
ส่วนในระดับยุทธศาสตร์นั้น การต่อต้านความไม่สงบต้อง "แยกประเภท (disaggregate)" ฝ่ายตรงข้ามอย่างระมัดระวัง เพราะมวลชนมีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มที่ก่อความไม่สงบมีฐานมวลชนที่มีข้อคับแค้น (Grievances) แตกต่างกัน การที่จะเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลับผนึกกำลังกันต่อต้าน กลายเป็นขบวนการที่ใหญ่ขึ้นโดยไม่เจตนา ในขณะที่ถ้าแยกแยะข้อคับแค้นของแต่ละกลุ่ม และคลี่คลายไปตามเงื่อนไขและบริบทที่ต่างกัน จะทำให้ขบวนการไม่ลุกลามและมีโอกาสที่จะแก้ไขตกลงกันได้ง่ายขึ้น
ยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเดวิด คิลคัลเลน เรียกว่า "ยุทธศาสตร์การแยกประเภท (Disaggregation Strategy)" ควรจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการต่อต้านความไม่สงบในอนาคต เช่นเดียวกับในยุคสงครามเย็น ซึ่งโลกตะวันตกใช้ยุทธศาสตร์จำกัดเขต (Containment Strategy) ในการจัดการกับสหภาพโซเวียตและโลกคอมมิวนิสต์อย่างได้ผล
ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แยกประเภท จะต้องมองฝ่ายตรงข้ามในนิยามที่แคบที่สุด (define the enemy in narrow terms) เช่น ไม่เหมารวมว่าผู้ก่อความไม่สงบเป็นพวก "มุสลิมหัวรุนแรง" (หรือเป็น "กลุ่มแบ่งแยกดินแดน" ในกรณีของภาคใต้) เหมือนกันหมด เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นการตกหลุมพรางของฝ่ายตรงข้าม ที่ต้องการชูวิสัยทัศน์ร่วมกัน (และสุดโต่ง) อยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าฝ่ายต่อต้านความไม่สงบ "... จะต้องต่อต้านด้วยการมุ่งให้ความปลอดภัยกับประชาชนในพื้นที่ และโดยการทำตัวเองให้เป็นหน่วยเรียนรู้ (Learning Organizations) ปรับวิธีการให้ทันกับผู้ก่อความไม่สงบ .... สิ่งแรกที่กำลังพลจะต้องทำคือทำความรู้จักกับพื้นที่ รู้จักคน รู้จักประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ หมู่บ้าน ถนน ของพื้นที่ ทำความคุ้นเคยกับประชาชน ผู้นำชุมชน และเข้าใจความรู้สึกคับแค้นเก่าๆ ที่มีอยู่ ..." (จากคู่มือเล่มใหม่ของกองทัพสหรัฐซึ่งเพิ่งออกเมื่อเดือนธันวาคม 2006)
ความรู้สำคัญที่จะต่อต้านและจำกัดวงของขบวนการก่อความไม่สงบเหล่านี้ได้ก็คือ ความรู้ทางวัฒนธรรม (Cultural Knowledge) โดยเฉพาะด้วยวิธีการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะขบวนการเหล่านี้ปฏิบัติการอยู่บนเครือข่ายเครือญาติ เพื่อนฝูงและคนรู้จัก ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น ฝ่ายต่อต้านความไม่สงบต้องเข้าใจเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้ และหนุนให้เกิดเครือข่ายที่เชื่อถือได้ในชุมชน เช่นมัสยิด กลุ่มอาชีพ และกลุ่มแรงงาน รวมทั้งสนับสนุนผู้นำชุมชนตามระบบสังคมเดิมให้มีบทบาทมากขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างที่มีมายาวนานที่สุดก็คือในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีความขัดแย้งมาเป็นเวลากว่า 800 ปีแล้ว ในกรณีนี้ ก็พบเช่นเดียวกันว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีความเชื่อมโยงกันในเครือญาติและเพื่อนฝูง โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญกลับเป็นพวกที่มีการศึกษาดี มีงานทำ ไม่ใช่วัยรุ่นหัวรุนแรงแต่อย่างใด และสถานการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ถูกหล่อเลี้ยงโดยเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมที่เล่าสืบทอดกันมาหลายสิบชั่วคน
ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "เข้าใจ" กลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะสนามต่อสู้ในเรื่องความไม่สงบนี้เป็นสนามต่อสู้ทางข่าวสารในระดับท้องถิ่น ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิประเทศเชิงมนุษย์ (human terrain)" ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือต่อต้านความไม่สงบได้ และงานนี้เป็นงานยาว ซึ่งกิจกรรมหลายอย่างต้องไปด้วยกัน ได้แก่ สงครามนอกแบบระยะยาว การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านความไม่สงบ และการฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพ (long-duration unconventional warfare, counterterrorism, counterinsurgency, and stabilization and reconstruction)
การลงทุนของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาก็ต้องทุ่มเทมาทางสังคมมากขึ้นแทนที่จะเน้นทางการทหารเป็นหลัก ในกรณีของอิรักและอัฟกานิสถาน มีผู้ประมาณว่ารัฐบาลสหรัฐใช้เงินประมาณร้อยละ 1.4 เท่านั้นในกิจการพลเรือน ส่วนที่เหลือนั้นเป็นค่าใช้จ่ายด้านกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์และการส่งกำลังบำรุง ทั้งๆ ที่ตามหลักการต่อต้านความไม่สงบนั้น ควรจะต้องลงทุนประมาณร้อยละ 80 ในกิจกรรมทางพลเรือน
ยุทธศาสตร์เช่นนี้ต้องคงอยู่ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศ เพราะการเปลี่ยนมุมมองจากการปราบปรามเป็นการต่อต้านความไม่สงบต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงแนวคิด เจตคติ โครงสร้างการบริหาร และระบบงบประมาณ จึงต้องใช้เวลามาก และเป็นการยากที่จะเปลี่ยนจากภายในตัวระบบเอง แต่ก็ต้องสื่อสารยุทธศาสตร์นี้กับผู้บริหารนโยบายอย่างอดทนและต่อเนื่อง เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดให้พร้อมที่จะรับกับแนวคิดใหม่ได้ในจังหวะที่เหมาะสม