มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
เหตุความในสงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับเวลาได้ร่วม 4 ปีเต็ม แม้ภาพรวมของสถานการณ์รายวันจะดูเหมือนว่าสามารถควบคุมเอาไว้ด้วยปฏิบัติการทางการทหารจนไม่มีเหตุร้ายที่บานปลายเกินจะควบคุมอย่างในช่วงของปีแรกๆ ของเหตุการณ์
‘ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ' ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะทำงานสภาที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กว่า 30 ปีของการเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่และเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เป็นประสบการณ์สำคัญที่เกลาให้ความคิดของเขาแหลมคม อันนำไปสู่การวิพากษ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงมา จนบางครั้งอาจจะเสียดแทงใจใครบางคน การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จึงถือเป็นการกล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าเชื่อว่าอาจเข้าสู่ความรุนแรงในรูปแบบใหม่ก็เป็นได้ ถ้าหากรัฐบาลชะล่าใจและเพลี่ยงพล้ำด้านยุทธศาสตร์
- รู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้
ก็ยังวิตกกังวลอยู่ เพราะเหตุร้ายยังเกิดได้อยู่เกือบทุกที่ทุกเวลา แม้ระยะหลังๆ ดูเหมือนจะลดลง แต่เมื่อไปดูสถิติการก่อเหตุตลอดทั้งปี ปี 2550 ก็ยังมากกว่าปี 2549
- ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร
อยู่แบบระมัดระวังตนเอง ระวังทั้งการเดินทางไป-กลับ แม้ขณะปฏิบัติงานหรือไปธุระส่วนตัว พูดตรงๆ ก็คือ วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่เคยไปไหนอย่างไรก็ได้ กลายเป็นต้องใช้สติและประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
- ไปทำงานอย่างไร วิตกกับความปลอดภัยหรือไม่
ไปทำงานตามปกติ โดยทั่วไปก็จะอยู่ในกรอบของแผนรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องคิดเอง ทำเองให้มากขึ้น เช่น การทุ่มเทให้กับงานอย่างมีคุณภาพ การทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเราเป็นที่พึ่ง และเป็นความหวังแก่เขาได้ในยามวิกฤต ส่วนเรื่องความไม่ปลอดภัยนั้น เราต้องคิดว่าเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในภาวะสงคราม เราก็ต้องปรับตัวปรับใจเรียนรู้สงคราม และอยู่ในสงครามให้ได้
- ทำไมยังไม่ทำเรื่องขอย้าย
เรื่องขอย้ายนั้นคิดน้อยมาก เราเติบโตที่นี่ ทำงานที่นี่ ใกล้ชิดสนิทสนมกับพื้นที่ตรงนี้มาทั้งชีวิต พี่น้องประชาชนเขาก็ลำบาก เด็กๆ ลูกศิษย์ของเราก็อยู่ตรงนี้ คิดว่าความผูกพันมันมีมากเกินกว่าจะทิ้งไปเพื่อเอาตัวรอด สู้ยืนหยัดแก้ปัญหาให้สุดกำลังจะดีกว่า
- สถานการณ์ความรุนแรงได้ให้บทเรียนอะไรบ้าง
ได้บทเรียนมากทีเดียว ได้รู้ถึงระดับเพดานความคิดของผู้บริหารประเทศระดับสูง รู้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี รู้ถึงกลไกการปฏิบัติงานเกือบทุกระดับ รู้ว่าในสังคมการเมืองและสังคมข้าราชการนั้นจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร พูดได้ว่าเท่าที่เห็นมา ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างน่าสงสารและน่าเห็นใจมากที่สุดที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา สำคัญที่สุดคือได้ข้อสรุปว่าชาติไทยเราอยู่ได้ก็เพราะฐานล่าง ถ้าฐานล่างทำตัวเหมือนชั้นบน เชื่อว่าประเทศชาติจะลำบากมากในอนาคต
- สิ่งที่ได้รับรู้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาคืออะไร
ได้ข้อสรุปว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐไทยเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ๆ น้อยมาก การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภัยความมั่นคง ในมิติใหม่ๆ ก็น้อย ยิ่งอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่เหมาะสม เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะไม่สร้างปัญหาใหม่เพิ่มก็ยังไม่ค่อยเห็นชัดเจน ต่างกับฝ่ายตรงข้ามที่คิดยุทธวิธีใหม่ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา
- คิดว่าแนวคิดในการแก้ปัญหาที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการคืออะไร
คิดว่าประการแรก ต้องหาคนที่เหมาะสมจริงๆ ไปรับผิดชอบการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ก่อน คำว่าเหมาะสมก็คือ เป็นคนดี ใจเป็นกลาง รอบรู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กล้าตัดสินใจ เพดานความคิดสูง มองปัญหาส่วนทั้งหมดและปัญหาเฉพาะส่วนออก รักงานมวลชน ชอบการทำงานเป็นทีม และทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ประการที่สอง ต้องสร้างความเป็นเอกภาพการทำงานขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะพลเรือน ตำรวจ และทหารต้องเป็นแกนนำที่ดีในการปฏิบัติงาน เข้าใจปัญหาเหมือนกัน มีอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์เดียวกัน และมียุทธวิธีที่ประสานสอดคล้องกัน ประการที่สาม คือการส่งเสริมการทำงานให้ระดับล่างได้มีความคล่องตัวและมีขวัญกำลังใจที่ดี งบประมาณต้องเพียงพอ การให้ความดีความชอบต้องตรงตัวผู้ปฏิบัติงานจริง
- คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์ปี 2551 จะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าความรุนแรงทางการทหารน่าจะลดลง แต่ความเข้มข้นน่าจะอยู่ที่แนวรบด้านการเมืองมากกว่า เท่าที่ประเมินดูรู้สึกว่า ฝ่ายก่อความไม่สงบจะสูญเสียความเชื่อมั่นในแนวทางและยุทธวิธีที่เคยใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อนลงไปมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการวินิจฉัย ประเด็นรองรับทางด้านศาสนาจากผู้รู้จริงๆ เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ผลจากการใช้แนวทางทำร้ายผู้บริสุทธิ์อย่างไม่มีข้อจำกัดทางศีลธรรม เริ่มเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการตั้งรับทางการเมือง ประกอบกับมีการเปิดเผยและซัดทอดกันเองในหมู่ผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้น ทหาร ตำรวจได้ข้อมูลชัดเจน ทำให้การกดดัน ปิดล้อม จับกุม ทำได้มากขึ้นเหตุร้ายจึงเริ่มลดลง
ที่น่าเป็นห่วงคือ งานการเมืองของฝ่ายรัฐยังไปไม่ถึงไหน หากเอาแต่งานยุทธการ ชะล่าใจกับชัยชนะทางยุทธวิธี จนเป็นเหตุให้เพลี่ยงพล้ำทางยุทธศาสตร์ในภายหลัง ปี 2551 ก็อาจเป็นปีที่เริ่มต้นในขั้นใหม่ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจเป็นได้