Skip to main content

            5.ปฏิกิริยาของกลุ่มการเมืองมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเหตุการณ์ 9/11และการระเบิดไนท์คลับที่บาหลีปี 2002 : ข้อท้าทายต่อนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย

            หลังเหตุการณ์ 9/11 ประเทศมุสลิมต่างๆต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอัฟกานิสถาน ปี 2001 การและการโจมตีอิรักในปี 2003 เหตุการณ์ดังกล่าว เปรียบเสมือนเป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมอื่นๆ ก่อนหน้านี้  ในอิรัก อิหร่าน หรือในปาเลสไตน์ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้ปฏิกิริยาหรือความรู้สึกของชาวมุสลิมต่อเหตุการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายล่าสุดเริ่มที่จะมีความซับซ้อน และไปไกลในแง่ของความรู้สึกในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสายกลางในอินโดนีเซียอย่าง Muhammadiyah, Nahdlatal Ulama (NU) หรือ Majelis Ulama Indonesia (MUI) กลุ่มมุสลิมradical ต่างๆ รวมทั้งประชาชนต่างๆ ที่ไม่พอใจ อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์ระเบิดไนท์คลับที่บาหลีเมื่อปี 2002 ชาวมุสลิมอินโดนีเซียก็ได้รับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวต่างประเทศด้วยเช่นกัน[1]

            ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวได้ว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศมุสลิมต่างก็ได้รับผลกระทบไปในทำนองเดียวกันแต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน สำหรับชาวอเมริกันนั้นเหตุการณ์ 9/11 ทำให้เกิดความรักชาติและความสามัคคีอย่างท่วมท้นในหมู่ประชาชน นำมาสู่การสนับสนุนนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ต่างจากชาวมุสลิมทั่วโลกและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ผูกพันกับชาติในฐานะที่เป็นรัฐ แต่ผูกพันอยู่กับความเป็นอุมมะห์ (ความเป็นมุสลิมทั่วโลกแม้จะอยู่ในประเทศที่มีความแตกต่างกัน) อย่างไรก็ตามประสบการณ์บางอย่างของชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการต่อสู้เพื่อต้านอาณานิคมในอดีต การเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 1997 ความลักลั่นของกระแสความทันสมัยอย่างประเทศตะวันตกอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ชาวมุสลิมมีความรู้สึกถึงความเป็นชาตินิยมผสมกับคุณค่าของอิสลามมากขึ้นเช่นกัน เช่น ในอาเจะห์ ขบวนการ Aceh Freedom Movement ( GAM ) มองว่าตัวเองว่าเป็นกลุ่มชาตินิยมหาใช่กลุ่มมุสลิม radical ที่ต่อสู้กับชาวมุสลิมชวาที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ[2]

            ไม่เพียงแต่ผลกระทบของเหตุการณ์ 9/11 จะทำให้ชาวมุสลิมมีความรู้สึกร่วมกันต่อเหตุการณ์ดังกล่าว  แต่ยังทำให้ผู้นำที่เป็นทางการในประเทศมุสลิมแต่ละประเทศ มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์การที่เกิดขึ้นในแนวทางที่แตกต่างกันออกไปเช่นกันและดูเหมือนว่ารัฐบาลจะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายไม่ใช่น้อย  สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย บูรไนและฟิลิปปินส์ อ้างร่วมกันคือประเทศเหล่านี้เป็นประเทศมุสลิมสายกลางที่ได้รับภัยคุกคามจากมุสลิมที่ใช้ความรุนแรง จนนำมาสู่ความร่วมมือของ ASEANในการต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์ 9/11ที่ประชุมร่วมของรัฐมนตรี ASEAN (The joint communiqués of the ASEAN Ministerial Forums )และเวที ASEAN Regional Forum (ARF) ระบุว่าการก่อการร้ายเป็นเพียงหนึ่งในการก่ออาชญากรรมข้ามชาติเท่านั้นเช่นเดียวกับ การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ การฟอกเงิน และภัยโจรสลัด เช่นเดียวกับการประชุมเพื่อเสนอ แนวทาง ASEAN Vision 2020 ในปี 1997 และการประชุม Hanoi Plan of Action ในปี 1998 ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงการก่อการร้ายไว้โดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าการก่อการร้ายในภูมิภาคยังเป็นการก่อการร้ายที่ส่วนใหญ่มีเป้าหมายภายในประเทศมากกว่า[3]

            กระนั้นกลไกของASEAN ในการจัดการกับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติยังดำเนินต่อไปและมีการเพิ่มระดับในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น เช่น ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime (AMMTC) ถือเป็นกลไกการทำงานของ ASEAN หลายกลไกในการแบ่งปัน ข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือระดับนโยบายร่วมกัน ซึ่งนำมาสู่การสร้าง ASEAN Center for Combating Transnational Crime [4]

            เหตุการณ์ 9/11 ทำให้ทัศนคติของผู้นำของประเทศต่างๆ เปลี่ยนไป สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ประกาศให้ AMMTC จากเดิมที่มีการยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติมาเป็นการเน้นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายข้ามชาติ ที่ต้นตอมาจากเครือข่ายที่ซับซ้อนของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ หรือกลุ่มญามิอะห์ อิสลามิญะห์ หรือ JI  อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ประเทศต่างๆ ก็ยังคงมีมาตรการที่แตกต่างในการจัดการกับปัญหา  มาเลเซียและสิงคโปร์ มีการใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อที่จะจับคุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย  ส่วนอินโดนีเซียเพียงแค่ใช้กรอบและกฎหมายภายในประเทศโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอดส่องดูแลมากกว่าการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรง[5]

            ในช่วงแรกหลังจากการบุกอัฟกานิสถานเพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างมีความเกรงกลัวว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการทำสงครามต่อต้านอิสลาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ประกาศว่า ASEAN ควรจะต้องรับเอานโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นกลาง โดยประณามทั้งผู้ก่อการร้ายและการปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในการเข้าโจมตีอัฟกานิสถานอีกด้วย เขาได้กล่าวว่า ASEAN ควรจะสู้กับผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่เพียงแต่วิธีการทางตรงเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้มีการชนะจิตใจของประชาชนให้ได้ เพื่อให้ประชาชนลดการสนับสนุนการก่อการร้ายและใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อแสดงถึงปัญหาและความทุกข์ของตัวเอง[6]

            สำหรับอินโดนีเซีย ดูเหมือนว่ายังไม่มีท่าทีในการตอบรับกระแสของนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในเบื้องต้น เพราะต้องจัดการกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและสมดุลทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในประเทศ อาทิกลุ่มทหาร กลุ่ม Islamic fundamentalists กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะกลุ่มอิสลามต่างๆ ที่ไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา เช่นกลุ่ม FPI (Islamic Defenders Front ) ที่มีการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรีประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ขณะที่กลุ่มมุสลิมสายกลางอย่าง Muhammadiyah และ Nahdlatul Ulama ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการโจมตีอัฟกานิสถาน เพราะการโจมตีดังกล่าว เป็นการทำให้เป็นชนวนให้มีการลุกฮือขึ้นของกลุ่มมุสลิมradical ภายใต้สภาวะนี้ทำให้อินโดนีเซียลังเลในการเข้าร่วมมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายแบบพหุภาคี แต่กลับไปเน้นกลไกการจัดการภายในประเทศมากกว่า  สำหรับประเทศสมาชิก ASEAN อื่นๆ ฟิลิปปินส์เอง ประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโย่ สนับสนุนสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ เนื่องจากต้องต่อสู้กับกองกำลังกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนไทยแม้รัฐบาลในขณะนั้นจะให้การสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้ายแต่กลุ่มมุสลิมในประเทศไทย ก็ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ควรส่งกองกำลังทหารไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพยายามหลีกเลี่ยงการรับความช่วยเหลือทางการทหารและการเมืองจากวอชิงตัน [7]

            ในเดือนพฤศจิกายนปี 2001 ถือเป็นก้าวแรกที่สมาชิกอาเซียนจะมีแนวทางในการสร้างความรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการก่อการร้าย เมื่อสมาชิกได้มีความตกลงร่วมกันในการประกาศ ASEAN Declaration on Joint Action to Counter Terrorism ดูเหมือนว่าสมาชิกจะมีการตอบรับร่วมกันเป็นอย่างดีและให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายในระยะยาว อย่างไรก็ตามยังไม่มีความลงรอยร่วมกันในวิถีทางของการต่อต้านการก่อการร้าย ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการทหารจากสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ขณะที่กระแสการลุกฮือต้านนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในอินโดนีเซีย ทำให้รัฐบาลเมกาวาตีได้รับแรงกดดันอย่างสูงและไม่สามารถที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มที่

            แม้จะมีความยากลำบากสำหรับสหรัฐอเมริกาในการสร้างความร่วมมือกับประเทศ ASEAN ในการต่อต้านการก่อการร้าย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2002 ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้สร้างความร่วมมือกันโดยประกาศ Agreement on Exchange and Establishment of Communication Procedures  และขยายความร่วมมืออีกครั้งกับสหรัฐอเมริกา ส่วนเดือนสิงหาคม ปี 2002 ก็มีความร่วมมือ ASEAN-United States Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism แต่ความร่วมมือทั้งหมดสามารถสรุปได้สองประการว่า ประการที่หนึ่งคือ ASEAN ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ว่าจะสามารถสร้างมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกันได้หรือไม่ เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศและการตระหนักถึงภัยคุกคามจากต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ประการที่สองประเทศต่างๆยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันถึงระดับการเข้ามาแทรกแซงกิจการในภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา[8]

            อย่างไรก็ตามเหตุการณ์การระเบิดไนต์คลับที่ Sari ที่บาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปี 2002 ได้ทำให้ ASEAN ตระหนักถึงภัยก่อการร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ถูกสังหารเป็นชาวต่างชาติ เอกอัคราชทูตของสหรัฐอเมริกาประจำอินโดนีเซีย นาย Ralp Boyce กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาจะถอนเจ้าหน้าที่ทูตกลับทันที หากอินโดนีเซียไม่จัดการกับผู้ก่อการร้ายในประเทศ ต่อมาในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 8  ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 ที่กรุงพนมเปญ ASEAN ได้เน้นถึง The Joint Declaration to Counter Terrorism โดยนำมาประกาศขึ้นใหม่ทันทีในการประชุมครั้งนี้ โดยมีการประณามผู้ก่อเหตุการณ์การระเบิดที่บาหลี มีการเพิ่มมาตรการการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้นในการเข้าถึงเบาะแสผู้ที่ก่อการร้าย นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังมีความต้องการที่จะขยายมาตรการในการป้องกัน ต่อสู้และกดดันกิจกรรมของกลุ่มต่างๆดังกล่าว หนึ่งในความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียคือการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีการวางแผนระเบิดไนท์คลับที่บาหลี คือ นาย Abu Bakar Ba’ayir อย่างไรก็ตามกระแสต่อต้านจากกลุ่มมุสลิมที่ไม่พอใจกับการจับกุมนาย Ba’ayir ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกันแม้การจับกุมภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐของอินโดนีเซียมีความกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่พลเมืองภายในประเทศ[9]

            แม้มาตรการในความร่วมมือแบบพหุภาคีของ ASEAN จะไม่ค่อยมีความคืบหน้าในเชิงนโยบายเท่าที่ควรนัก แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำให้เกิดความร่วมมือในระดับการพูดคุยในครั้งต่อๆไป เดือน มกราคม ปี 2003 ASEAN มีเวทีเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเข้ามาของแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือที่มีความคืบหน้าส่วนใหญ่คืองานข่าวกรองที่ประเทศต่างๆ ให้ความร่วมมือกัน เช่น อินโดนีเซียร่วมมือกับตำรวจสิงคโปร์ในการจับกุมผู้ต้องเครือข่ายผู้ก่อการร้าย JI ชาวสิงคโปร์ คือ Mas Selamat Kastari ส่วนเจ้าหน้าที่ไทยก็สามารถติดตามและจับกุม Hambali ที่เป็นผู้ต้องหาชาวอินโดนีเซียได้ในประเทศไทย นอกจากนี้มาเลเซียยังมีการก่อตั้ง ศูนย์การต่อต้านการก่อการร้ายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน Putrajaya ในเดือนกรกฎาคม ปี 2003 เพื่อติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้การขยายความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายต่อไปในปีเดียวกันโดยมีเวที International Meeting  on Counterterrorism and Transnational Crime (ISM CT-TC) ที่มีการขยายความร่วมมือไม่ใช่เฉพาะใน ASEAN เท่านั้น แต่ได้ขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นนอกภูมิภาคอีกด้วย คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และรัสเซีย เพื่อดึงความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาดังกล่าวในด้านต่างๆ มาช่วยเหลือประเทศเหล่าประเทศที่กำลังพัฒนาใน ASEAN[10]

            จะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุการณ์ที่บาหลี ASEAN ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยต่อสถานการณ์การก่อการร้ายได้อีกต่อไป การจับกุมเครือข่ายการก่อการร้ายภายในภูมิภาคถือเป็นเครื่องยืนยันว่าภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรง อย่างไรก็ตามการรับเอาแนวทางต่อต้านการก่อการร้ายนั้นยังมีการกระทบน้อยต่อแนวทางปฏิบัติภายในประเทศ หากเราพิจารณานโยบายต่างๆ ที่ ASEAN ประกาศใช้ตั้งแต่ช่วง 2001- 2004 ASEAN ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในแต่ละประเทศของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การมีความร่วมมือ ใน 8 ประเทศ ของ ASEAN คือ Treaty on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters  ซึ่งเป็นลักษณะของความร่วมมือกันและกันในการต่อต้านภัยอาชญากรรมทั้งหลายเช่น การฟอกเงิน การปล้นเครื่องบินโดยสาร และการฆาตกรรม ซึ่งเน้นไปที่การบังคับหรือใช้กฎระเบียบหรือกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ภายในประเทศมากกว่าแสดงให้เห็นว่า ASEAN ยังคงรักษาหลักการไม่แทรกแซงเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ แนวทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความยืดหยุ่นของ ASEAN ในการใช้มาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายและพร้อมที่จะก้าวไปอย่างช้าๆ ในการสร้างมาตรฐานและการปฏิบัติในอนาคต[11]

6.ทิศทางการเมืองมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการประกาศใช้แนวทางการต่อต้านการก่อการร้ายของ ASEAN

หลังเหตุการณ์ 9/11 ถือได้ว่าเป็นบรรยากาศที่ทำให้มีความรู้สึกถึงเส้นแบ่งระหว่างการรักษาอธิปไตยของชาติมุสลิม การต่อต้านชาติมหาอำนาจตะวันตก และการที่ประเทศมุสลิมสายกลางที่มีความทันสมัยต่างๆ จะเข้าร่วมในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ผู้เขียนเองอยากอธิบายให้เห็นถึงการเมืองมุสลิมในภูมิภาคที่มีผลต่อประเด็นนี้ในสองระดับด้วยกัน คือ ระดับที่เป็นทางการและระดับที่ไม่เป็นทางการ ประการแรกระดับที่เป็นทางการ ผู้นำของประเทศต่างๆได้รับประโยชน์จากแนวทางต่อต้านการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ไม่เพียงแต่ออกมาความไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าวที่นำโดยสหรัฐอเมริกา พร้อมกับประณามผู้ก่อเหตุการณ์ 11 กันยายน แต่ก็ได้มีการกวาดจับสมาชิกองค์กรหัวรุนแรงต่างๆของประเทศ ซึ่งรวมไปถึง Nik Abdul Aziz bin Nik Mat หัวหน้าของพรรค PAS ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มมุสลิมradical มหาเธร์ดูเหมือนว่าจะตั้งรับกับสถานการณ์ภายในประเทศได้ดี โดยประกาศว่ามาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมที่มีความเจริญ มีความทันสมัยและมีความเป็นประชาธิปไตย[12]

 สำหรับอินโดนีเซียในช่วงแรกไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในการจับกุมและกวาดล้างผู้ก่อการร้ายได้มากนัก  แต่หลังจากเหตุการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายที่บาหลี อินโดนีเซียก็มีความพยามในการต่อต้านการก่อการร้าย ที่เป็นลักษณะของการ อยู่เบื้องหลัง” มากกว่าการปรากฏให้เห็นต่อหน้าสาธารณะ สหรัฐเมริกามองว่าอินโดนีเซีย ไม่ควรที่จะปราบปรามหรือลอยแพกลุ่ม Islamic fundamentalism แต่ควรที่จะสนับสนุนระบอบของประเทศที่ดำเนินอย่างเป็นสายกลางมากกว่า [13 ]   นำมาสู่การจำกัดการค้าอาวุธ การให้การศึกษาและโครงการอบรมทางด้านการทหาร (IMET)แก่อินโดนีเซีย ความสัมพันธ์ที่ฟื้นขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าฝ่ายทหารจะเข้ามาครอบงำการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย[14]  นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียยังถือโอกาสนี้ในการฟื้นฟูกิจการทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียอีกครั้ง หลังจากหยุดไปเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ของทหารอินโดนีเซียที่เมืองดิลิ ในติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1991

            สำหรับกลุ่มประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนน้อย สำหรับไทยแม้ว่านโยบายมีผลให้รัฐบาลไทยสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และทางตอนใต้ของประเทศไทย แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างความแน่ใจว่าจะการเชื่อมโยงเครือข่ายการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างระหว่างประเทศกับกลุ่มก่อความไม่สงบภายในประเทศ การส่งทหารออกไปปฏิบัติการในพื้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่ากำลังทหารของประเทศจะสามารถท้าทายกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่อสู้มาเป็นหลายร้อยปีได้หรือไม่ สำหรับฟิลิปปินส์ที่มีปัญหาอยู่กับกลุ่มมุสลิม MILF และกลุ่ม ASG (Abu Sayyaf Group ) ทางใต้ของประเทศ แม้ว่าจะประสบปัญหากับภาวะชะงักงันในความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ ในการทำสงครามต่อต้านกลุ่ม ASG แต่ฟิลิปปินส์ก็รู้ดีว่าไม่ควรที่จะจมอยู่กับความสัมพันธ์ทางการทหารที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแรงต้านภายในประเทศและมีปัญหากับชาติมุสลิมต่างๆ ที่กำลังระมัดระวังต่อการเข้ามาเกี่ยวข้องในภูมิภาค[15]

สำหรับความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มมุสลิมอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อแนวทางการต่อต้านการก่อการร้ายนั้นอาจสามารถประเมินได้ว่า ปฏิกิริยาของชาวมุสลิมหลังจากเหตุการณ์ 9/11 เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความคลุมเครือหลายประการ แม้ว่าจะปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวมุสลิมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาจะเป็นสัญลักษณ์ของการพังทลายของระบอบทุนนิยมของสหรัฐเมริกา แต่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลกปฏิเสธและประณามการโจมตีอาคารเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม สิ่งที่ชาวมุสลิมกระทำต่อเรื่องนี้คือหันมาทบทวนสิ่งต่างๆ รอบตัว และค้นหาความหมายในสิ่งที่เกิดขึ้นตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่มองว่าอิสลามนั้นไม่ใช่แหล่งที่มาของการก่อการร้ายและอิสลามไม่ใช่ศัตรูกับตะวันตก แต่นโยบายเอกนิยมของสหรัฐอเมริกาและแนวโน้มของสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายต่างหากที่สร้างทัศนคติที่เป็นลบให้กับชาวมุสลิมในเรื่องนี้ และยิ่งกระตุ้นความรู้สึกให้กับชาวมุสลิมเช่นเดียวกับชาวตะวันที่รู้สึกเช่นเดียวกัน 

สิ่งที่น่าจะมีการประเมินต่อไปในเรื่องนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มมุสลิมต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากนี้ว่าจะเป็นไปทิศทางใด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกรวมทั้งมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจับตามอง นับแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นได้เกิดพื้นที่สาธารณะขึ้นของกลุ่มมุสลิมต่างๆ ที่ก้าวเข้ามาทำการแข่งขันในการเมืองมากขึ้น ดังที่ Dale F. Eikeman และ James Piscatoriกล่าวว่า การก้าวขึ้นมาของกลุ่มมุสลิมต่างๆเป็นการแข่งขันช่วงชิงการตีความเชิงสัญลักษณ์ และเข้าควบคุมสถาบันที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถดำรงอยู่ได้โดยบางกลุ่มเลือกที่จะใช้โอกาสนั้นโดยเข้ามาร่วมกับพรรคการเมือง บางกลุ่มมองว่าระบบราชการเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาจึงไม่ได้เข้าร่วม[16] 

      ดังนั้นจึงเกิด โอกาสให้กลุ่มต่างๆ เข้ามามีโอกาสทางการเมืองและมีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมนั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการมีพื้นที่ต่อรองในการรักษาอัตลักษณ์ของตนเองให้ดำรงอยู่ โดยมีการใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต แม้อาจจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ยุทธศาสตร์ในการก่อการร้าย การปลุกระดมมวลชน ความไม่พอใจส่วนบุคคลและการพยามเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่สาธารณะนั้นจะไม่หายไป แต่บทบาทของกลุ่มมุสลิมอื่นๆเริ่มมีการขยายขอบเขตมากขึ้น เช่นในอินโดนีเซีย กลุ่ม Liberal Islam ขึ้นมาตอบโต้ในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงต่างๆของสังคม หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ Liberal Islam มีการเรียกร้องให้มีการแยกศาสนาออกจากการเมือง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การถกเถียงภายในสังคมมุสลิมเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้นมีตั้งแต่ผู้รับเอาคุณค่าแบบสมัยใหม่ (Secular modernists) อีกทั้งสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน [17]

ยกตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซียมีพื้นที่สาธารณะของกลุ่มการเมืองอิสลามอื่นๆ อีก โดยเฉพาะในอินโดนีเซียหลังสลายของยุคระเบียบใหม่ล่มสลาย พรรคการเมืองอิสลามหลายๆ พรรคก็เป็นที่น่าจับตามองด้วยเช่นกัน เป็นที่น่าจับตามมองว่ากลุ่มมุสลิมต่างๆได้เข้ามาสู่สนามเลือกตั้งมากขึ้น แม้ว่าบางกลุ่มจะมองว่าหลักการประชาธิปไตยจะไม่เหมือนกับหลักการของอิสลาม แต่การมีพรรคการเมืองและการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างสิ้นเชิงตามหลักการของศาสนา กลุ่มมุสลิมต่างๆ จึงมองว่าประชาธิปไตยจึงเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวมุสลิมในการดำรงรักษาอัตลักษณ์ของศาสนาเอาไว้ เช่น การเกิดขึ้นของพรรค PPP (United development party) PKB (National awakening Party) PAN ( National mandate party ) PKS (Prosperous justice Party) เป็นต้นแต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์เข้าไปมีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการแต่เลือกเป็นองค์กรศาสนาที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองมากกว่าและเน้นการดำเนินกิจการต่างๆ ภายใต้หลักการของศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าพื้นที่ทางการเมืองจะไม่สามารถทำให้พวกเขาสามารถผลักดันหลักการของอิสลาม หรือชาริอะห์เข้ามาใช้ได้จริง  เพราะเผชิญกับพลังต่อต้านจากโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ  พวกเขาไม่ได้ใส่ใจนักกับการที่จะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองให้เข้ามาอยู่ในหลักการของศาสนาอิสลาม แต่มีความต้องการให้สังคมโดยรวมรักษาอัตลักษณ์และหลักการศาสนาอิสลามเอาไว้ [18]

7. บทสรุป

 จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีบทบาทต่อความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายมากพอสมควร ผ่านเวทีใหญ่ต่างๆ เช่น ASEAN และ APEC อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องของการก่อการร้ายก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น ความแตกต่างของกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ การรับรู้ถึงเรื่องของภัยคุกคามภายนอก การเมืองภายในประเทศ และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็มีปัญหาน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อต้องทำสงครามกับอิรักและความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาอิสราเอลและปาเลสไตน์

 สิ่งที่เป็นคำถามต่อมาของผู้เขียนคือว่า การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมในตะวันออกเฉียงใต้เองจะมีผลต่อ นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายและการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในอนาคตอย่างไรบ้าง ผู้เขียนมองว่าแม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องเฝ้าดูในระยะยาว และไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายตามกลไกระหว่างประเทศอย่างไร แต่การเข้ามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของชาวมุสลิมมากขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ต่อชาวมุสลิมในการตรวจสอบกันเองมากขึ้นและสนับสนุนให้ผู้นำประเทศใช้มิติทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ถูกต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย หนึ่งในข้อเสนอที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือ การค้นหาความหมายของคำว่า ญิฮาด(Jihad)ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่มุ่งเน้นการตรวจสอบตัวเอง การขจัดความโลภและความเห็นแก่ตัวภายในจิตใจที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการใช้ความรุนแรงในการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคม




 [1] Bernard Adneney-Riskotta, “The impact of September 11 on Islam in Southeast Asia,” in Islam in

Southeast Asia : Political, social and strategic challenges for the 21st century, eds. K.S. Nathan and Mohammad Hashim Kamali. (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2005), pp. 325-327.

[2] Ibid., pp.237-331.

[3] Jonathan T. Chow, “Asean Counterterrorism Cooperation since9/11,” Asian Survey 45,2 (Mar-Apr 2005): 304

[4] Ibid., p.305.

[5] Ibid., pp.305-306.

[6] Ibid., p.307

[7] Ibid., pp.307-308

[8] Ibid., p.313

[9] Ibid., p.314.

[10] Ibid., pp.317-318.

[11] Ibid., p.319.

[12] Bernard Adneney-Riskotta, “The impact of September 11 on Islam in Southeast Asia,”  in Islam in Southeast Asia : Political, social and strategic challenges for the 21st century, p.338.

[13] Ibid., p.339.

[14] International Crisis Group, “Indonesia-U.S. Military ties,” Indonesia Briefing Paper, (July,2001): 3.

[15] Bernard  Adneney-Riskotta, “The impact of September 11 on Islam in Southeast Asia,”  in Islam in Southeast Asia : Political, social and strategic challenges for the 21st century, p.339-340.

[16] Noorhaidi Hasan, “September  11 and Islamic militancy in post-new order Indonesia” in Islam in Southeast Asia : Political, social and strategic challenges for the 21st century, eds. K.S. Nathan and Mohammad Hashim Kamali. p.308.

[17]  Barry Deskar, “Islam and society in South-East Asia after 11 September,” in Islam in Southeast Asia: Critical Concepts in Islamic Studies, eds. Joseph Chinyong Liow and Nadiryah Hosen(New York: Routledge, 2010): 76.

[18] Masdar Hilmy, Islamism and democracy in Indonesia: Piety and pragmatism ( Singapore: ISEAS, 2010) :168-165.