โฆษณาชวนเชื่อ + นโยบายเพ้อฝัน ไม่เท่ากับ จริงใจ+รับฟัง+ยอมรับ
กระแสในการนำเสนอข่าวสารทางหน้าปัดวิทยุ หน้าหนังสือพิมพ์ บนหน้าจอตู้ อย่างโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ข่าวจากสำนักข่าวต่างๆในประเทศ แม้แต่สื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังเต็มไปด้วยการนำเสนอกระแสทางการเมือง การเลือกตั้งปี 54 จึงทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในความสนใจเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับในพื้นที่เพียงเท่านั้น สำหรับคนนอกแล้ว ความเลวร้ายในพื้นที่ก็ยังคงมีแนวคิดที่ว่า เป็นฝีมือของฝ่าย “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน”
ความสนใจของผู้บริโภคข่าวสารบ้านเมืองไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือว่านอกพื้นที่ เมื่ออยู่ในช่วงของกระแสใดแล้ว ข่าวประเภทนั้นก็จะขายออกทันที เช่น กรณีการเข้าจู่โจมของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วย SEAL กองทัพสหรัฐอเมริกา ที่สามารถวิสามัญแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวมุสลิมระดับโลกได้อย่าง โอซามา บินลาดิน ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ ก็มีแต่ข่าวการตายบินลาดิน
ส่วนกระแสและเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หากไม่มีการขับเคลื่อน ผลักดันหรือชูประเด็นขึ้น ก็จะถูกกลบด้วยข่าวที่สื่อส่วนกลางเป็นคนกำหนดมาให้ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงนี้มีการก่อเหตุถี่ขึ้นมาก ไม่ว่าจะเหตุยิงและระเบิดรายวัน พล.ต.ต.โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้เปิดเผยผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดยะลาแล้ว มีการวางระเบิดเฉลี่ยวันละ 1 ลูก เพียงวันที่ 1 มิ.ย. มีถึง 4 ลูก
เราลองมากางแผนผังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เหตุการณ์มีเริ่มรุนแรงในช่วงนี้ เป็นเพราะเหตุใดบ้าง กระแสของการเมืองการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงนี้ เป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงด้วยหรือไม่ หากว่าใช่ แสดงว่านักการเมืองที่ลงสมัครเองเป็นผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วยหรือ? หรือนักการเมืองเป็นเพียงแค่ตัวเดินเกมส์ ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่มอบทุนก้อนใหญ่แก่นักการเมืองหาเสียงในพื้นที่ เมื่อคนที่ตนสนับสนุนได้รับการคัดเลือกจากประชาชน การเอาคืนทุนพร้อมกำไรก็จะเริ่มกวาดโกยทันที เมื่อเข้าไปอยู่ในที่นั่งรัฐสภาอันทรงเกียรติได้ การตอบแทนคุณ สิ่งที่ต้องทำคือการผลักดันให้เป็นไปตามแผนของผู้ให้ทุนให้เข้าในการพิจารณาของสภาให้จนได้ แล้วสิ่งที่นั้นคืออะไร?
ทุนที่กล่าวมา อาจจะไม่ใช่เม็ดเงินก้องโตที่มีสกุลเป็น “บาท” ทุนที่สำคัญที่กล่าวอาจเป็นทุนที่เป็น ทรัพยากรบุคคล คือ ประชาชนในพื้นที่ ที่ตนสามารถควบคุม ชี้ทาง และนำแนวคิดได้ หรือที่มีสกุลว่า “คน”
สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ อะไรจะเป็นสิ่งของ หรือ ข้อความใด ที่สามารถจะทำให้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่นับว่าเป็นทุนก้อนสำคัญ ที่จะออกไปเลือก “บุคคล” และ “พรรค” ที่บอกไปแล้ว เขาจะจับปากกา แล้ว ขีดกากบาท ไปที่ หมายเลขช่อง บุคคล และ พรรค ตามคำสั่ง
ในพื้นที่ชายแดนใต้ พรรคการเมือง เมื่อพูดกันตรงๆแล้ว เป็นเพียงแค่การชิงชัยกันระหว่าง ผู้ที่ยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 กับผู้ที่ปลุก ศอ.บต.ให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง และออกพ.ร.บ.รองรับให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เถื่อนเหมือนก่อน นั่นคือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งในปี 54 ครั้งนี้ จะเป็นการวัดชีพจรขององค์กรที่อ้างว่าขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่ อย่าง ศอ.บต. ว่าจะสามารถหายใจต่อไปได้หรือไม่
หากว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการคัดเลือกจากประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ศอ.บต.ก็จะหายใจต่อได้ และเป็นองค์กรที่มีอนาคตและมีงบประมาณบานเบอะต่อไป แต่กลับกันถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลได้ งานไว้อาลัยแก่ ศอ.บต. คงจะต้องจัดเกิดขึ้น หลังจากตั้งผู้ปกครองคนใหม่แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน
แต่อีกช่องทางหนึ่ง หากผลการเลือกตั้งส่วนหนึ่งออกมามีการ “โหวต NO” หรือมีการกากบาทในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ในจำนวนหนึ่ง ไม่ได้แสดงว่ามีจำนวนมวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ “เสื้อเหลือง” เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนใต้แต่อย่างใด มันจะสะท้อนให้เห็นว่า คนในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ยอมรับในนโยบาย งานพัฒนา งานบริหารความรุนแรงในพื้นที่ และการขาดความจริงใจของรัฐบาลจากส่วนกลางจากเมืองหลวง แม้ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม
การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนใต้ ล้วนเป็นงาน “โฆษณาชวนเชื่อ” ไม่ว่า “เดินหน้าศอ.บต.” “ปัตตานีมหานคร” “จัดตั้งทบวงเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้”
ฟังแล้วเหนื่อยแทนผู้ที่คิดนโยบายแก่พรรคต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพราะว่าถึงแม้นโยบายจะดีอย่างไร หากว่าพรรคนั้นได้เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่ได้มีการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังแต่อย่างใด เปลืองงบประมาณจ้างผู้มีความรู้ความสามารถมาวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา
“ความจริงใจ”
“รับฟังอย่างเข้าใจ”
“ยอมรับในความต่าง”
รัฐบาลใหม่ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่จะส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะแล้ว “นักการเมือง” และ“ผู้บริหารประเทศ” ก่อนที่จัดส่งลงมาสร้างปัญหาเพิ่มเติมแก่ “คน” ในพื้นที่
http://www.bungarayanews.com/news/view_news.php?id=572