ปกรณ์ พึ่งเนตร
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเกาะติดปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่มาอย่างเนิ่นนาน ได้เสนอมุมมองตรงกันข้ามกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน เพราะเธอเชื่อว่า ภายใต้ระบบงานข่าวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนทหารครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 การขายข่าวโดยคนของรัฐไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
"งานการข่าวก่อนจะถึงยุคปล้นปืน หน่วยงานด้านความมั่นคงใช้อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นสายข่าวสำคัญ แต่ผลที่ได้รับคือข่าวที่ไม่แม่นยำเพียงพอ อาจจะเป็นเพราะสายข่าวเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับแกนนำที่เคลื่อนไหวในขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลายคนจึงหากิน 2 ทาง คือ รับผลประโยชน์ทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ
"เมื่อมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน การจัดตั้งมวลชนของฝ่ายที่เรียกว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีความเข้มแข็งมาก มวลชนมีเยอะแยะไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใคร และต้องยอมรับว่าบางส่วนอาจแทรกซึมเข้ามาในหน่วยงานของรัฐเอง และอาจมีการจารกรรมข้อมูลไปด้วยวิธีการต่างๆ ฉะนั้น ถ้าข่าวสารของทางการจะรั่วไปถึงฝ่ายตรงข้ามได้ ก็น่าจะเป็นการถูกจารกรรมมากกว่าที่คนของรัฐเองจะเป็นผู้นำไปขาย"
ผศ.ชิดชนก กล่าวต่อว่า เท่าที่ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าการจารกรรมข้อมูลนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากอีกฝ่ายมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
"การจารกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายมาก ปัญหาที่น่ากลัวจึงอยู่ที่ว่า เราไม่รู้ว่าคนของเขาที่อาจจะมีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแทรกซึมอยู่ในหน่วยงานรัฐแห่งใดบ้าง ฉะนั้นการรับคนในพื้นที่เข้าทำงานต้องระมัดระวัง ต้องมีการสกรีนกันอย่างเข้มงวด ที่สำคัญต้องมีการตรวจสอบคนที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้วด้วยว่ามีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจหรือไม่"
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ผศ.ชิดชนก มองว่าเป็นปัญหา ไม่ได้อยู่ที่การถูกแทรกซึมของฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นที่เธอให้น้ำหนักไม่แพ้กันก็คือ ยุทธวิธีของฝ่ายความมั่นคงที่ผิดพลาดและไม่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้
"เรายังติดกับยุทธวิธีในกรอบเดิม คือ เน้นเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ หรือแม้จะพยายามซอยเป็นหน่วยย่อยๆ แต่ก็ยังเคลื่อนกำลังไปในทิศทางซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวน หรือการจัดชุดคุ้มครองบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น ครู หรือพระสงฆ์ ตรงนี้เป็นจุดอ่อน แต่ก็น่าเห็นใจฝ่ายความมั่นคง เพราะบางกรณีก็ไม่มีทางเลือก ทำให้ต้องตกเป็นเป้านิ่งของกลุ่มที่จ้องประทุษร้าย"
กระนั้นก็ตาม เธอยังเห็นว่าในแง่ยุทธวิธีบางเรื่องก็จำเป็นต้องปรับ เพราะสงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบเหมือนที่ทหารคุ้นชิน
"อาจจะต้องหันมาใช้การลาดตระเวนเดินเท้ามากขึ้น เพื่อป้องกันการลอบวางระเบิดแล้วเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่เหมือนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ซึ่งทหารต้องพลีชีพพร้อมกันถึง 8 นาย ต้องยอมรับว่า บางครั้งเราเคลื่อนที่เป็นขบวนใหญ่เกินไปในภูมิประเทศที่เราไม่รู้จัก ประกอบกับการสับเปลี่ยนกำลังทุกๆ 6 เดือน ทำให้หน่วยใหม่ที่ถูกส่งลงมาต้องมาเรียนรู้สนามรบกันใหม่ทุกๆ 6 เดือน ตรงนี้ก็เป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน"
"ที่สำคัญรูปแบบการต่อสู้ระหว่างเรากับฝ่ายก่อความไม่สงบตรงข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นกองกำลังขนาดเล็ก เคลื่อนที่เร็ว มีความยืดหยุ่นสูง และใช้จิตวิญญาณในการปฏิบัติการ ขณะที่ฝ่ายรัฐยังคงใช้กองกำลังเต็มรูปแบบ มันจึงเอาชนะกันไม่ได้ เพราะเป็นการต่อสู้ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง"
"ยิ่งไปกว่านั้น การจัดโครงสร้างภายในของกลุ่มก่อความไม่สงบเองก็เป็นปัญหาสำหรับเรา ถึงวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าใครจัดตั้ง ยิ่งมีข่าวเรื่องเงินยาเสพติดจำนวนหลายสิบล้านขึ้นมาอีก ทำให้ภาพมันเบลอไปหมด ส่วนคนที่ถูกจัดตั้งเองคือผู้ที่ออกก่อเหตุร้ายอยู่ในปัจจุบัน เขาก็ไม่รู้ว่าใครจัดตั้งเขา ความซับซ้อนเหล่านี้ล้วนทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากกว่าที่คิด"
เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนของระดับนโยบายที่ ผศ.ชิดชนก มองว่ามีความผิดพลาดไม่น้อยไปกว่าระดับปฏิบัติ
"การมีรัฐบาลจากการรัฐประหารน่าจะทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้ดีขึ้นกว่านี้ อย่างน้อยก็น่าจะสร้างเอกภาพในการทำงานให้เกิดขึ้นได้ แต่ 16 เดือนที่ผ่านมากลับไม่เห็นภาพความจริงจังมากนัก ยิ่งการเมืองกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ ทำให้ความมั่นใจลดต่ำลง ทุกวันนี้คนในพื้นที่พูดเหมือนกันหมดว่า ต้องการสันติสุขที่กินได้ และความสมานฉันท์ที่กินได้"
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
- พล.อ.บุญรอด มองการข่าวใต้ "เราไม่รู้เขา แต่เขารู้เราหมด"
- ขบวนการสายลับสองหน้า ‘หอกข้างแคร่' จุดไฟใต้