Skip to main content
Deep South Bookazine : ธันวาคม 50, Volume 2
คอลัมน์ สถานการณ์เฉพาะ  : ภาสกร จำลองราช
 
 
  (ภาพโดย : นครินทร์ ชินวรโกมล)

 

สนามการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนและมีปัจจัยในการวิเคราะห์แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งมี ‘เจ้าภาพ’ ที่เป็นเครือข่ายของขบวนการใต้ดินเกิดขึ้น เป็นอีกขั้วหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา


ภาพความรุนแรงและการเสียชีวิตผู้คนแทบทุกวี่วัน ในตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา เป็นความเจ็บปวดของสังคมไทยที่ต้องการการเยียวยาเป็นการเร่งด่วน ซึ่งนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคต่างรับรู้ความต้องการนี้ดี ดังนั้น ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้จึงได้ช่วงชิงกันนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กันคึกคัก พร้อมทั้งยกเป็นวาระแห่งชาติไปโดยปริยาย ซึ่งไม่แน่นักว่าข้อเสนอเหล่านี้จะมีผลต่อคะแนนเสียงในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด และชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใส่ใจในเนื้อหาสาระหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ วาระแห่งชาติข้อนี้สามารถนำมาใช้หาเสียงได้กับคนทั้งประเทศ


สนามการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.ได้ 12 คน ประกอบด้วย ปัตตานี 4 คน นราธิวาส 5คน และยะลา 3 คน


คู่ชิงที่สำคัญในหลายเขตยังคงเป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มวาดะห์ในนามพรรคพลังประชาชน แต่การปรากฏตัวของ น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ หรือ ‘หมอแว’ ประธานกลุ่มสัจจานุภาพ ในสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็น่าสนใจไม่น้อย เช่นเดียวกับบางเขตที่พรรคชาติไทยยอมทุ่มทุนเพราะหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้ส่วนแบ่ง ส.ส.

โจทย์ที่ชวนวิเคราะห์ คือ กลุ่มขบวนการใต้ดินที่ต่อกรกับรัฐไทยอยู่ขณะนี้ มีท่าทีและกำหนดบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าจำนวนบัตรเสียกว่า 30,000 ใบในคราวลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองพอสมควร

“ผมว่าพวกเขาเล่นการเมืองเป็น และครั้งนี้เขาย่อมฉกฉวยสถานการณ์อยู่แล้ว เพราะมันต้องไปเกาะเกี่ยวกับโต๊ะครู อุสตาซ ต้องเกาะเกี่ยวกับมัสยิด ซึ่งเป็นการดึงพลังมวลชนไว้ พวกเขาปฎิเสธพลังมวลชนไม่ได้ ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่พวกเขาจะได้สวมรอยเข้าสู่การเมืองด้วย เพียงแต่เข้าไปในลักษณะใดเท่านั้น” นักวิเคราะห์รายหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดกลุ่มขบวนการใต้ดินให้ความเห็น 

นักคิดรายนี้มีอายุกว่า 40 ปี หลังจากเรียนจบโรงเรียนศาสนาชั้น 10 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ไปศึกษาต่อที่เมืองบันดุง บนเกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับเพื่อนๆ อีกกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อกลับสู่บ้านเกิด เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฎิบัติการของ ‘บางฝ่าย’ ที่นำหลักศาสนามาบิดเบือนและใช้ในทางที่ผิดเพื่อดึงมวลชนให้เข้าร่วมและนำไปสู่เป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดน

“บางทีการออกไปกาบัตรลงคะแนน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเอาอย่างไร แต่อาจเป็นเพียงการสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นก็ได้ เหมือนกับการลงประชามติครั้งก่อน” นักวิเคราะห์รายนี้กล่าว 

แม้เขาไม่กล้าฟันธงว่ามีการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับกลุ่มใต้ดินหรือไม่ แต่เขาระบุว่าหัวคะแนนหลายคนที่เดินเคียงคู่อยู่กับนักการเมือง ก็คือคนๆ เดียวกันที่เคยไปเรียนต่อกับเขาที่บันดุง

แม้อุดมการณ์หนึ่งของกลุ่มใต้ดินคือการปฎิเสธอำนาจรัฐทุกรูปแบบ แต่เขาเชื่อว่า สถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ การ ‘เล่น’ กับการเมืองจะให้ประโยชน์กับพวกใต้ดินมากกว่า

“พวกที่ไปเรียนอินโดนีเซีย บางคนจบด้านการเมืองและสังคมในมหาวิทยาลัยเดียวกับอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย” นักวิเคราะห์รายนี้ยกเหตุผลเพื่อย้ำถึงความเชื่อที่ว่า กลุ่มขบวนการใต้ดินต้องแสดงพลังโยงใยไปถึงการเมืองเรื่องเลือกตั้ง ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้

ความเห็นของเขาสอดคล้องกับ ‘วัยโรจน์ พิพิธภักดี’ อดีต ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดปัตตานี โดยวัยโรจน์มีบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ซึ่งครั้งนั้น เขาย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์มาอยู่พรรคไทยรักไทยแล้วเพื่อรวมพลังกลุ่มดารุสลามเข้ากับกลุ่มวาดะห์

“คนพวกนี้ไปข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้เลือก โดยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร-อดีตนายกรัฐมนตรี) สั่งฆ่ามุสลิมแถมพวกที่ไปอยู่ในมาเลเซีย พวกสมาคมต้มยำกุ้งสั่งให้คนงานกลับมาเลือกตั้งพร้อมให้ค่ารถ เลือกใครก็ได้ยกเว้นพวกเรา” วัยโรจน์วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เขาสอบตก เช่นเดียวกับกลุ่มวาดะห์ที่แทบสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548

แต่นั่นอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดที่ทำให้ทั้งวาดะห์และดารุสลามต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูป เพราะยังมีปัญหาความแตกแยกภายในของกลุ่มวาดะห์ รวมถึงการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ก็ไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มใต้ดินเท่านั้น แต่ประชาชนเกือบทั่วด้ามขวานทองก็ไม่เอาทักษิณด้วยเช่นกัน

ตระกูลพิพิธภักดีของวัยโรจน์เป็นอดีตเจ้าเมือง ‘ยะหริ่ง’ แถมมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ปกครองในหลายรัฐทางฝั่งมาเลเซียมาแต่เก่าก่อน ทำให้นายวัยโรจน์รู้จักมวลชนอย่างกว้างขวาง แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้เขาถูกตัดสิทธิ์เพราะอยู่ในกลุ่มบ้านเลขที่ 111  

ที่น่าสนใจคือ ในอดีต ตระกูลพิพิธภักดีและตระกูลโต๊ะมีนา เดินกันคนละเส้นทางการเมืองมาโดยตลอด แต่การหวนคืนสู่สนามเลือกตั้งปัตตานีครั้งนี้ของ นายเด่น โต๊ะมีนา ได้สอดประสานกับนายวัยโรจน์ แม้ไม่ถึงกับใกล้ชิด แต่ถือว่าเป็นมิติใหม่ของคนทั้ง 2 ตระกูลและกองหนุน

“เราอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็น ส.ส.พรรคไหน หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 3 จังหวัดนี้น่าจะมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมกันปฎิรูปความรู้สึกของประชาชน เพราะพวกเขาถูกกดดันมาก” วัยโรจน์ฝากข้อเสนอไปยัง ส.ส.ทุกคนที่ได้รับเลือกตั้งหนนี้

แม้กลุ่มดารุสลามผสานเข้ากับกลุ่มวาดะห์แล้วก็ตาม แต่วันนี้ของวาดะห์ กับวาดะห์ในอดีตย่อมแตกต่างกันการรวมทั้งสองกลุ่มเพื่อความเข้มแข็งทางการเมืองก็ใช่ว่าจะสามารถผนึกพลังมวลชนไว้ได้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์รุนแรง ทำให้ความน่าเชื่อถือของวาดะห์ถูกกัดกร่อนไปมาก 

ภาพของวาดะห์กลายเป็นเพียงตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองเท่านั้น แต่กองกำลังที่แท้จริงกลับเป็นขุมพลังใต้ดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวบ้านอย่างมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็เข้าไม่ถึง

แม้แกนนำอย่าง เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และ นัจมุดดิน อูมา ถูกนำไปเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังของเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้ดูเหมือนมีระยะใกล้กับกลุ่มใต้ดินมากกว่า แต่คนในพื้นที่สีแดงก็ไม่ได้มองพวกเขาเป็น ‘พวก’ สักเท่าไหร่

“เมื่อก่อนพวกเราก็ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง ทำให้สังคมมองเราในทางไม่ดี อีกฝ่ายหนึ่งก็หาว่าเราเป็นขี้ข้ารัฐบาล ทำให้เราอยู่ลำบาก” นัจมุดดิน สะท้อนสถานการณ์อันน่าอึดอัดของวาดะห์ ซึ่งตัวเขาเองถูกตั้งข้อหาหนักหน่วงและถูกหวาดระแวงจากคนในภาครัฐ จนทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์บทเรียนการต่อสู้ทางการเมืองของวาดะห์ว่าเป็นความล้มเหลว

แต่สำหรับนัจมุดดินกลับมองว่า การเมืองในระบอบรัฐสภา ยังสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ แต่อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

“มันอาจทำให้ประชาชนบางส่วนลังเลบ้าง เขาถามว่าเรามีอำนาจทางการเมืองจริงหรือ มันแก้ได้จริงหรือขนาดผมเข้าไปช่วยเหลือรัฐแล้ว แต่รัฐให้ความคุ้มครองผมได้แค่ไหน นี่ขนาดเราทำดีแท้ๆ” 

นัจมุดดินบอกด้วยน้ำเสียงที่ไม่แน่ใจนักว่ากลุ่มใต้ดินจะส่งคนเข้ามาเล่นการเมืองในครั้งนี้หรือไม่ 

“ผมว่าไม่น่าจะมีน่ะ มันขัดกับแนวทางของเขา เพราะเขาปฎิเสธระบบรัฐสภา และเขาเชื่อว่าความสำเร็จของเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้”

แต่เขาก็ยอมรับว่า การชี้นำของกลุ่มใต้ดินมีผลต่อการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเลือก ส.ส.ในครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคลและความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่า เพราะสังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันเหมือนเป็นเครือญาติ ยกเว้นคนในเมืองที่อาจมีความศรัทธาในตัวพรรคการเมือง

แต่คำถามที่นัจมุดดินและกลุ่มวาดะห์ต้องตอบให้ได้คือ ทำไมในวันนี้พวกเขาถึงกลับมาอยู่พรรคพลังประชาชน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน สมาชิกทุกคนของวาดะห์ต่างทำท่าเข็ดขยาดในพรรคที่มีดาวเทียมส่องนำ พร้อมกับประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะหาพรรคที่เป็นกลางทางการเมืองเข้าสังกัด

ปัจจัยอะไรที่ทำให้วาดะห์เปลี่ยนใจ?

ในขณะที่การเมืองในขั้วประชาธิปัตย์ค่อนข้างนิ่งและเตรียมการพร้อมกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้เชื่อกันว่าคะแนนเสียงของประชาชนใน 3 จังหวัดยึดโยงที่ตัวบุคคลมากกว่าพรรค แต่การดำเนินงานการเมืองที่ต่อเนื่องมายาวนานก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบในหลายเขต เพราะมีฐานคะแนนจัดตั้งอยู่ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะเขตเมือง

พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างสุขุมเมื่อพูดถึงกลุ่มใต้ดินและกองกำลังนอกระบบ ไม่โฉ่งฉ่างเหมือนวาดะห์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนของประชาธิปัตย์จะปฎิเสธมือที่มองไม่เห็น เพราะในเกมลึกก็มีข่าวเหมือนกันว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ‘บางคน’ ได้พบปะกับ ‘หัวขบวน’ บางองค์กร เพื่อรับฟังข้อมูล แม้ไม่มีการยืนยันว่า บุคคลนั้นเป็น ‘แก่น’ หรือ ‘เปลือก’ แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวของประชาธิปัตย์ในการให้น้ำหนักกับกลุ่มใต้ดินอยู่เหมือนกัน

“อิทธิพลของพวกใต้ดินน่าจะมีผลอยู่บ้าง โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านต้องเชื่อฟังเขา” เจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเห็น ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้วิธีนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งด้วยแล้ว จะทำให้ชาวบ้านไม่กล้าขัดใจอำนาจนอกระบบ เพราะเช็คบิลกันได้ง่าย

“เรื่องนี้รัฐต้องควบคุมให้ดี เมื่อก่อนชาวบ้านรักชอบใครก็เก็บไว้ในใจ พอถึงเวลาก็ไปลงคะแนน พอเอาผลคะแนนไปกองรวมกันก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ครั้งนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ชาวบ้านกลัว” เจ๊ะอามิง รับรู้ความรู้สึกของชาวบ้าน

ความกลัวที่ปกคลุมทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความรู้สึกเฉพาะชาวบ้านเท่านั้นที่ถูกรุกราน แม้แต่ความรู้สึกของผู้สมัคร ส.ส.ต่างก็ถูกความกลัวรุกรานไม่แพ้กัน ทำให้ต้องปรับรูปแบบการหาเสียงกันครั้งใหญ่ จากที่เคยมีกำหนดการณ์ชัดเจนและเปิดเวทีปราศัย เปลี่ยนเป็นการเดินเคาะประตูบ้านแทนและจัดเวทีย่อยโดยไม่มีการบอกกล่าวกันล่วงหน้า

“ผมไม่มีข้อมูลน่ะว่ากลุ่มใต้ดินส่งคนเข้ามาเป็นนอมินีทางการเมือง” เจ๊ะอามิงเชื่อว่า เรื่องเช่นนี้เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลมากกว่า

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการอย่าง ดร.อิบรอเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต แห่งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ค่อนข้างมั่นใจว่ากลุ่มขบวนการใต้ดินต้องใช้การเมืองเรื่องเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือแน่นอน เพียงแต่จะใช้แบบไหน 

“พวกเขาต้องใช้ทุกอย่างที่มี อะไรที่เป็นทุนได้ก็ต้องเอา และการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นทุนที่ดี เขาต้องมีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างให้กับคนที่ต้องการชนะ”

ดร.อิบรอเฮ็มเชื่อว่าแนวทางของกลุ่มใต้ดินที่กำลังดำเนินการอยู่คือ ต้องเชื่อมต่อกับประชาชน หรือศาสนาหรือนานาชาติ ให้ได้ทางใดทางหนึ่ง และหากเชื่อมติดทางใดทางหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะศาสนา เพราะจะได้ใช้เป็นเหตุผลยกระดับให้เป็นการต่อสู้ทางศาสนาได้

“ผลการลงประชามติครั้งก่อน ทำให้เห็นว่าชาวบ้านยังไม่สิ้นหวังกับการเมืองเสียทีเดียว พวกเขาจึงออกมาใช้สิทธิ์ แต่ที่ต้องตั้งใจทำบัตรเสียกันมาก เพราะไม่อยากเอาทั้ง 2 ฝ่าย”

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี วิเคราะห์ว่าเครือข่ายขบวนการใต้ดินต้องใช้ประโยชน์จากการเมือง เพราะแต่ละคนแต่ละกลุ่มต่างต้องการขยายฐานของตัวเองดังนั้นหากผู้สมัคร ส.ส.ที่ตนให้การสนับสนุนชนะเลือกตั้ง ก็ทำให้บทบาทของเขาเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย

“ผมเชื่อว่าภายในกลุ่มใต้ดิน มีการดันกันอยู่ระหว่างคนที่เชื่อว่าจะใช้การเมืองแก้ปัญหากับพวกที่ปฎิเสธการเมือง แต่เนื่องจากแนวทางแรกเคยล้มเหลว เพราะพวกที่ไปเล่นการเมืองอาศัยฐานของขบวนการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในระดับชาติ กลายเป็นความตอกย้ำในทางลบ”

เขายังเชื่อว่าขบวนการใต้ดินสามารถชี้นำการเลือกตั้งได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตสีแดง สังเกตได้จากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งมี 30,000 คะแนนที่ตั้งใจทำบัตรเสีย ซึ่งเป็นคำถามว่าใครมีส่วนชี้นำ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนเสียงเหล่านี้จะเป็นของใคร

“การเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์เครือข่ายและหัวคะแนนกันมากกว่า เพราะนโยบายที่ออกมาไม่มีผลเท่าไหร่ แต่ความรุนแรงที่เป็นมายาวนาน ทำให้ทุกอย่างถูกกดให้นิ่งหมด ไม่มีใครกล้าขยับอะไร” ดร.ศรีสมภพย้ำให้เห็นภาพการเมืองในพื้นที่ซึ่งเป็นไปในลักษณะปิดมากกว่าที่อื่น

สิ่งที่น่าจับตามองคือ เมื่อโจทย์ที่กำหนดไว้ได้คำตอบเชิงวิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่า เครือข่ายใต้ดิน ‘เล่นการเมือง’ ครั้งนี้ด้วยแน่ เพียงแต่เป็นรูปแบบใด

คำถามที่ชวนวิเคราะห์ต่อไป คือ รูปแบบของการต่อสู้ในสนามสีแดงจะแปรเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ และรัฐไทยจะกำหนดท่าทีอย่างไร

สงครามทางความคิดนี้จะสะท้อนผลออกมาในรูปแบบใด ???

 

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในวารสาร deepsouth bookazine vol.2  ปี 2550)