Skip to main content

(รายงานผลการสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล และขับเคลื่อนต่อภาคประชาสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในลำดับต่อไปนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพที่เป็นเหตุปัจจัย ที่นำไปสู่การขยายตัวของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเพื่อสอบสวนและศึกษาข้อร้องเรียนและเหตุเฉพาะหน้า ที่มีผลต่อสถานการณ์ความรุนแรง อันนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บนพื้นฐานความเป็นจริง รวมถึงการปรับกระบวนทัศน์และเสริมสร้างทัศนคติความคิดความเข้าใจในเชิงบวกต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ให้มีความเชื่อมั่นในพลังความร่วมมือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น)

               ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ยังมีหนทางแก้ไขได้ หากสามารถสร้างกลไกจัดการเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของความจริงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับ  และตัวเชื่อมประสานให้เกิดการบริหารจัดการความเป็นธรรมที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

               คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตราพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกเพื่อขับเคลื่อนภารกิจอย่างน้อย ๒ องค์กร คือ

               ๑.      สถาบันสันติยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความเป็นธรรมและพัฒนาการใช้สันติวิธี เป็นองค์กรอิสระทั้งความคิดและการดำเนินงานโดยไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการขององค์กรฯ มาจากผู้แทนของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรด้านสันติวิธีของภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีภารกิจสำคัญคือ

                        กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนโดยทั้งภาคประชาชนและภาครัฐมีส่วนร่วม เพื่อให้มีการปฏิบัติในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรม  การสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานการข่าวที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ดุลพินิจเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่และหากมีกรณีที่จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจ ก็ให้แสดงเหตุผลประกอบการใช้ดุลพินิจนั้น รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจที่มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม

                        จัดโครงสร้างการประสานงานในกระบวนการยุติธรรมและแนวทางการใช้สันติวิธีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้มีการประสานการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน รวมทั้งพัฒนา การใช้สันติวิธีและกระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม

                        วิธีการหนึ่งที่ควรนำมาดำเนินการคือ การบูรณาการยุทธศาสตร์และยุทธวิธีระหว่างฝ่ายกระบวนการยุติธรรมและฝ่ายความมั่นคง เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและให้การดำเนินการของแต่ละฝ่ายเกื้อหนุนกัน ไม่ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อกัน

                        สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และจัดวางความสมดุลในทุกมิติทั้งด้านความมั่นคง สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  การส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของกลไกลภาคประชาชนในการที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบและการอำนวยความยุติธรรม งานยุติธรรมชุมชน รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การส่งเสริม
การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางสันติวิธี
ของภาคประชาชนการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการใช้สันติวิธี เพื่อปรับกระบวนทัศน์ใหม่และให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

                        ติดตาม ประสาน และประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี รวมถึงจัดทำรายงานผลการดำเนินงานความยุติธรรมและสันติวิธีต่อรัฐบาล รัฐสภา และสาธารณชนเป็นประจำทุกปี

               ๒.      สภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นองค์กรชุมชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อเสริมสร้างความรู้และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อนำ ไปสู่การเตรียมความพร้อมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถวางแผนการพัฒนาการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองของชุมชนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน การอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม การบำรุง รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและกระบวนการยุติธรรมชุมชน

 

                        สภาประชาชนฯ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการอย่างเพียงพอจากรัฐบาล มีสมาชิกมาจากภาคประชาชนทั้งหมดประกอบด้วย กลุ่มพลังทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ได้แก่ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น นักการศึกษา ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน องค์กรเอกชนและสื่อมวลชน มีภารกิจสำคัญ คือ

                        กำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชนในทุกด้าน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเต็มรูปแบบ อาทิ การศึกษา การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองและอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดสรรการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น

                        เสนอแนะและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของท้องถิ่น อาทิ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนและระหว่างชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของท้องถิ่น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เข้าใจและเรียนรู้ปัญหา ความจริงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทัน การส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนเข้าใจในสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ยึดถือแนวคิดและแนวทางสันติวิธีเป็นหลักการสำคัญในการเรียกร้องและจัดการความขัดแย้ง

                        สนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถวิจัยและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาของท้องถิ่น โดยใช้ภูมิปัญญาของคนในชุมชนเอง การติดตามเร่งรัดและประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอของสภาประชาชน

                        ในการดำเนินการของสภาประชาชนฯ อาจพิจารณาให้มีกลไกขับเคลื่อนการทำงานเฉพาะเรื่อง เช่น ศูนย์พัฒนาการศึกษาของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการรับฟังและแก้ไขปัญหากรณีพิพาทต่อการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  และสภานักปราชญ์ เป็นต้น

 

               การประสานงาน ติดตาม และประเมินผล

               เพื่อให้ระบบบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง จะต้องมีกลไกการประสานงาน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยองค์กรหรือทีมงานอิสระ มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้ของประชาชนในเชิงบวกและสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมทั้งความโปร่งใสในการดำเนินการของภาครัฐ โดยจะ ต้องติดตามและประเมินผล ๒ ระดับ กล่าวคือในระดับชุมชนและระดับภาพรวม โดย

               ระดับชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่สามารถติดตามและประเมินผล เรื่องราว กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ด้วยตัวของชุมชนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอด ภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การใช้สันติวิธีเพื่อสร้างสันติสุขร่วมกัน เรื่องของสุขภาวะ การศึกษา เศรษฐกิจและการก่อร่างสร้างตัวของคนในชุมชน ตลอดจนผลกระทบจากโครงการที่รัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในชุมชน จะมีผลประโยชน์เกิดขึ้นมากน้อยเช่นไรกับชุมชน

               ทั้งนี้การจะได้มาซึ่งขีดความสามารถในการติดตามและประเมินผลชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง จะต้องสร้างความเข้าใจเบื้องต้นในวิธีการดำเนินการ ผ่านกลไกที่ชุมชนศรัทธาและไว้วางใจ เช่น ผู้นำศาสนา แพทย์และครูในพื้นที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า ทำไม่ต้องทำ ทำแล้วได้อะไร และจะทำอย่างไร โดยใช้เครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม และริเริ่มทดสอบการติดตามประเมิน ผลในระดับชุมชน เป็นโครงการนำร่องก่อนที่จะขยายผลให้กว้างขวางออกไป

               ระดับภาพรวม เป็นเรื่องที่กลไกระดับชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาควิชาการ รัฐสภา องค์กรอิสระ และองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านการวิจัย รวมทั้งภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน จะต้องผลักดันให้มีการติดตามและประเมินผลตามข้อเสนอจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยให้ความสำคัญกับการแปลงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสรุปการประเมินผลให้รัฐบาลและรัฐสภาทราบเมื่อครบกำหนด ๑ ปี เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแผนในการปฏิบัติการในระยะต่อไป

               เพื่อให้เกิดระบบการติดตามประเมินผลที่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงสมควรจัดทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ

               การพัฒนายุทธศาสตร์การแก้ไขความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

               รัฐบาลควรนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ถูกบรรจุไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๔ เพื่อให้มีการบูรณาการแผนงานและโครงการอย่างเป็นระบบ มีตัวชี้วัดการประเมินผลความสำเร็จ และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ตัดวงจรไฟใต้ - ขจัดเงื่อนไขความรุนแรง : ทางออกของปัญหา

               ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำรงอยู่ภายใต้พื้นฐานและเงื่อนไขความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับ ๓ ประเด็นสำคัญคือ ๑) กระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และการเยียวยากับผลกระทบต่อความรุนแรงต่อเนื่อง  ๒) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และ ๓) การสื่อสารความเข้าใจและการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ที่ยึดโยงกันเป็นเหตุแห่งปัจจัยของสภาวะความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจและหวาดระแวง ทั้งสั่งสมอยู่ในระดับที่ทำให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแก้ไขได้ยาก

               ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญให้ตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน ๓ ประเด็นหลัก อันนำไปสู่การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริงนั้น อยู่บนฐานคิดที่ว่า รัฐควรมีนโยบายที่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่มีที่ยืนในสังคมบนกติการ่วมกันคือ รัฐธรรมนูญ และทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงหรือการคิดแบ่งแยก รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันบนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

               ทั้งนี้รัฐต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้กับ "กลุ่มคน"มาเป็นการต่อสู้กับ "แนวทางการใช้ความรุนแรง" ซึ่งมุ่งแก้ไขที่สาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหามากกว่าอาการของปัญหา รวมทั้งการตระหนักว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงล้วนเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกันที่มีความคิด ความเชื่อจากแรงจูงใจของเงื่อนไข ความอยุติธรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะประเด็นความขัดเขินและหวาดระแวง เนื่องจากอิทธิพลของงานการข่าวที่ไม่แม่นยำของภาครัฐ ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองที่ประชากรมุสลิมส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างขาดความเคารพในอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น และพยายามเปลี่ยนให้เหมือนชนส่วนใหญ่ของประเทศ สถานการณ์ที่มีอยู่เดิมดังกล่าวมิได้คลี่คลายไปในทางที่ดีเพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาโดยการปรับเทคนิคงานการข่าวโดยยังมิได้ใช้ความพยายามทำความเข้าใจและเข้าให้ถึงความคิดความต้องการและความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ด้วยเป็นสำคัญ         

               นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนปัจจัยจากแนวคิด ความมั่นคง ในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายฉบับ โดยเฉพาะก่อนการปรับมาใช้แนวคิดยุทธศาสตร์สันติวิธีในฐานะยุทธศาสตร์ความมั่นคงในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่าเป็น การรักษาอำนาจรัฐหรือการสามารถควบคุมระดับความรุนแรงได้ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะรักษาอำนาจรัฐแทนที่จะเป็นการรักษาความมั่นคงในชีวิตของคนในพื้นที่ และ นโยบายเดิมถูกกำหนดจากส่วนกลางโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่

               แม้จะมีการปรับมาใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธีในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๖  แล้ว ก็ยังพบว่า มีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของเจ้าหน้าที่ปฏิบัตินโยบายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งการที่รัฐบาลใช้มาตรการความรุนแรงจัดการกับปัญหา อาทิเรื่องยาเสพติด โดยไม่สนใจว่า จะก่อให้เกิดสังคมที่ใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมได้ ประกอบกับคนในสังคมส่วนหนึ่งยังมีทัศนคติไม่ยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย ทำให้เกิดมุมมองว่า ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพวกอื่นไม่ใช่พวกเรา และมีผลอย่างเป็นนัยสำคัญต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

               ขณะที่ความรุนแรงในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งถือว่า เป็นจุดสูงสุดของความรุนแรงและมีการใช้การต่อสู้ในหลายรูปแบบ อาทิ การลอบยิง การวางระเบิด การวางเพลิง การปะทะด้วยกำลัง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายขยายวงกว้าง เป็นผลจากการที่รัฐตั้งโจทย์ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะสงคราม จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณ กำลังทหารจำนวนมากหมุนเวียนลงไปปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยต่อสถานที่ราชการและบุคลากรภาครัฐ  ขณะที่ปมเงื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ อาทิ ความไม่เป็นธรรมและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ไม่ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นในลำดับที่มีความสำคัญ ทำให้เกิดช่องว่างความไม่ไว้วางใจระหว่างภาครัฐกับชาวไทยเชื้อสายมลายู

 

ข้อค้นพบจากการศึกษาและสอบสวนปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                   การใช้มาตรการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเหตุการณ์ไม่มีความโปร่งใสและเป็นข้อกังขาในความรู้สึกของประชาชน

                   ประชาชนเห็นว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้ง  ฝ่าย คือ จากขบวนการก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน และผู้ตกเป็นเหยื่อคือประชาชน  ผลที่ตามมาคือประชาชนไม่ร่วมมือหรือยอมบอกข่าวสารความเป็นจริงกับเจ้าหน้าที่รัฐ

                   ประชาชนยอมรับว่ามีการปรากฏอยู่จริงของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแต่เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กและส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นผลจากเงื่อนไขความอยุติธรรมที่ผ่านมา

                   สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยพุทธและไทยมุสลิมที่เคยมั่นคง กำลังเปราะบางและมีสิ่งบ่งชี้ถึงความบาดหมางใจต่อกันมากขึ้น 

                   การจัดการกับปัญหาการใช้ความรุนแรงโดยใช้การปราบปรามควบคู่กับสันติวิธีที่ไม่เต็มรูปแบบ ทำให้ด้อยประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติมักเห็นว่าสันติวิธีเป็นอุปสรรคต่อการปราบปราม

                   ประเด็นความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนเข้าใจว่าไม่โปร่งใสและเลือกปฏิบัติ 

                   ปัญหาการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่อันเป็นผลจากความรุนแรง ที่สร้างบรรยากาศของความหวาดระแวงปะปนกับความหวาดกลัว  

                   ประชาชนส่วนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขาดการสร้างเสริมความเข้าใจว่าวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ภาครัฐยึดถือรัฐธรรมนูญโดยไม่เข้าใจว่า มีความสอดคล้องกับหลักการศาสนา

 

               นอกจากผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว กรรมาธิการวิสามัญฯ ยังพบว่า การดำเนินงานของรัฐทั้งในระดับภาพรวม นโยบายและระดับพื้นที่ ยังขาดระบบการติดตามประเมินผล อันเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งนอกจากบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวในการดำเนินหรือไม่ดำเนินการของภาครัฐแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานที่ครบวงจร สร้างความโปร่งใสและความเชื่อ มั่นให้กับภาคประชาชนด้วยด้วย

               ขณะที่ภาคประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มพลังทางวัฒนธรรมอาทิ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนท้องถิ่น นักการศึกษา ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน องค์กรเอกชนและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรจะมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมเสนอแนะแนวทางหรือร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แต่เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาชนขาดโอกาสและความพร้อมในการเข้าสู่เวทีการมีส่วนร่วม ประกอบกับความหวาดกลัวจากความไม่รู้หรือรู้ความจริงคนละชุด ทำให้ภาคประชาชนโดยเฉพาะผู้นำฯ ถูกเพ่งเล็งและตกเป็นเป้าทั้งจากภาครัฐและกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยไม่มีช่องทางตอบโต้แต่ประการใด

               นอกจากนั้นปมเงื่อนความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสัมพันธ์กับความคิดและความรู้สึกถูกกดดันจากความไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดปฏิกิริยาใน ๒ ลักษณะคือ อดทนและวางเฉย และออกมาต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ระดับของการใช้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ซึ่งสภาวะความรุนแรงในปัจจุบันเกิดจาก จุดอ่อนในการจัดการของภาครัฐในห้วงก่อนปี ๒๕๔๗ และการจัดตั้งที่เข้มแข็งของกลุ่มฯ ซึ่งถูกบ่มเพาะจากกระแสชาติพันธุ์ การรับรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักศาสนาที่บิดเบือน เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง

               กล่าวโดยสรุป  สถานการณ์ไฟใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีรากเหง้าของปัญหาที่เชื่อมโยงกับความอยุติธรรมที่สะสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐเพียงด้านเดียว โดยไม่ได้เปิดช่องให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่และปัญหาการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ซึ่งบ่มเพาะความไม่ไว้วางใจต่อรัฐอีกชั้นหนึ่ง

 

               ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาความรุนแรงจะต้องเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจ ความเป็นจริงของสถานการณ์ที่ถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่าวที่มีประสิทธิภาพ  ปราศจากอคติทางวัฒนธรรม อีกทั้งเร่งฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อรัฐและระหว่างประชาชน การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมแก้ไขทุกปัญหาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนพัฒนาเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับชุมชน เหล่านี้ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแกะปมปัญหาความรุนแรงที่เป็นอยู่ และก็จะสามารถหาทางออกในการจัดการกับปัญหาให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนถาวร อันจะนำไปสู่การยังประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติในที่สุด