Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

          หากจะเรียกว่าเป็น "ผลงานชิ้นโบว์ดำ" ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล "ขิงแก่" นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่นโยบาย "ดับไฟใต้" คือหนึ่งในสองวาระแห่งชาติที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ประกาศเอาไว้เมื่อคราวรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารเมื่อ 16 เดือนก่อน

          แม้นายกฯ และขุนพลคู่กายจะพยายามนั่งยันนอนยันว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว และสถานการณ์ความรุนแรงเริ่มคลี่คลายลง แต่ความจริงในเชิงสถิติตัวเลขซึ่งหลอกกันไม่ได้ ย่อมหลีกหนีไปไม่พ้น

          ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ รายงานข้อมูลเชิงวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 เอาไว้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ความรุนแรงโดยรวมตลอด 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนทหารครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 กระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ดีขึ้นเลย !

          โดยเฉพาะสถิติการเกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสียในปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร พุ่งสูงขึ้นกว่าปี 2549 เสียอีก กล่าวคือมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,861 ครั้ง ขณะที่ในปี 2549 เกิดเหตุการณ์ 1,815 ครั้ง และแม้จำนวนเหตุการณ์จะลดต่ำกว่าเมื่อปี 2548 เล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาถึงยอดรวมของเหยื่อความรุนแรง ปรากฏว่าจำนวนคนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันในปี 2550 กลับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี คือมีคนเจ็บตายมากถึง 2,295 คน ในขณะที่ปี 2547-2549 มียอดอยู่ที่ 1,438 คน 1,643 คน และ 1,877 คนตามลำดับ

          ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ ให้คำนิยามสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างเจ็บปวดว่า "ความไม่มั่นคงอย่างมีเสถียรภาพ" หมายถึงสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของความไม่มั่นคงยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแรง และไม่มีสัญญาณการหยุดยั้งหรือชะลอความสูญเสียเลยแม้แต่น้อย

          นี่ย่อมเป็นบทสรุปแห่งความล้มเหลวที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) องค์กรส่วนยอดสุดของนายทหารที่ร่วมกันทำปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 และรับผิดชอบด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิอาจปฏิเสธได้

          ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ที่เปลี่ยนชื่อไปตามตำบลและอำเภอที่เปิดปฏิบัติการ ก็ถูกตบหน้าโดยศาลยุติธรรม เมื่อศาลมีคำสั่งลงวันที่ 30 ต.ค.2550 ให้ปล่อยตัวชาวไทยมุสลิม 384 คนที่ถูกคุมตัวไปฝึกอาชีพในค่ายทหารนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน

          และนั่นทำให้ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดทำโดยเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ออกมาว่า ประชาชนถึงร้อยละ 40 ไม่เชื่อมั่นกับมาตรการนี้!

          ที่หนักที่สุดคือข่าวร้าย 2 ข่าวอันได้แก่

          1.ข้อกล่าวหากำลังพลในหน่วยข่าวกรอง 251 ลอบขายข้อมูลลับทางทหารให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ กระทั่งนำไปสู่การควบคุมตัวนายทหารยศพันโท 1 นาย และจ่าสิบเอกอีก 1 นาย ตามมาด้วยคำสั่งยุบหน่วยข่าวฉาวดังกล่าวโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.

          2.เหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารชุด รปภ.ครู สังกัด ร้อย ร.2933 ในท้องที่หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ม.ค.2551 เป็นเหตุให้ทหารต้องพลีชีพในคราวเดียวกันถึง 8 นาย

          นับเป็น 2 ข่าวร้ายส่งท้ายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ยิ่งตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในดินแดนด้ามขวาน มิหนำซ้ำยังทิ้ง "โจทย์ใหม่" ให้กับรัฐบาลชุดต่อไปและสังคมไทยว่า สถานการณ์ร้ายแรงที่ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อนั้น แท้ที่จริงแล้วมี "คนใน" ของหน่วยงานด้านความมั่นคงเกี่ยวข้องอยู่ด้วยจริงๆ

          คำว่า "คนใน" ในที่นี้หมายรวมทั้งบุคคลที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือฝักใฝ่กลุ่มก่อความไม่สงบที่แฝงตัวแทรกซึมเข้ามาอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และกำลังพลของรัฐเองที่ทำตัวเป็น "หนอนบ่อนไส้" เพราะหวังผลประโยชน์ก้อนโต

          ข้อเท็จจริงที่ยืนยันสมมติฐานนี้ก็คือการจับกุมอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2549 ในข้อหาเป็น "สายโจร" โดย อ.ส.รายนี้ทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุของอำเภอ ทำให้รู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับในพื้นที่ และส่งข้อมูลเหล่านั้นให้กลุ่มก่อความไม่สงบ

          ต่อมาในช่วงต้นปี 2550 เกิดเหตุการณ์รุนแรงประเภท "ไม่รู้ใครทำ" (ปกติชาวบ้านในพื้นที่จะรู้ว่าใครทำ แต่ไม่บอกเจ้าหน้าที่) แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกวนสถานการณ์ให้ขุ่น และโหมไฟให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างไทยพุทธกับพี่น้องไทยมุสลิม อาทิ เหตุยิงถล่มหน้ามัสยิดหลายแห่ง หลังเกิดเหตุการณ์สังหารชาวไทยพุทธบนรถตู้ในท้องที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ฯลฯ

          ช่วงนั้นหน่วยข่าวสีกากีให้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า เหตุร้ายดังกล่าวเป็นฝีมือของ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ที่น่าเชื่อว่าจะเป็น "คนของรัฐ" แต่เป็นประเภท "นอกแถว" และเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ มีจุดหมายเพื่อปั่นสถานการณ์ให้หนักขึ้น หลังจากแนวโน้มไฟใต้เริ่มอ่อนแรงลงเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ ยอมเอ่ยคำ "ขอโทษ" กับพี่น้องมุสลิม และประกาศเดินหน้านโยบายสมานฉันท์ ยุติการใช้ความรุนแรง ซึ่งกระทบกับภารกิจ (รวมถึงงบประมาณ) ของหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยอย่างชัดเจน

          แต่ข้อมูลจากหน่วยข่าวสีกากี ไม่ได้รับการสนองตอบจากหน่วยอื่น ทั้งๆ ที่เหตุรุนแรงอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันล้วนส่งสัญญาณชัดว่า ฝ่ายตรงข้ามน่าจะล่วงรู้ "ข้อมูลภายใน" ของภาครัฐ ประกอบด้วย

          1.เหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารพรานชุดเฉพาะกิจที่ 4105 เสียชีวิต 11 นาย ที่หมู่ 5 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อค่ำวันที่ 31 มิ.ย.2550

          2.เหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารชุดคุ้มครองครู สังกัด ร้อย ร.2514 ค่ายวิภาวดีรังสิต เสียชีวิต 7 นาย ที่บ้านบือซู หมู่ 6 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 มิ.ย.2550

          3.เหตุการณ์ลอบวางระเบิดสังหาร นายชยพัทธ์ รักษายศ นายอำเภอไม้แก่น จ.ปัตตานี ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2550 ทำให้ฝ่ายปกครองต้องสูญเสียข้าราชการระดับนายอำเภอคนแรกในรอบ 4 ปีที่ไฟใต้คุโชน

          4.เหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถบัสที่เพิ่งพาทหารใหม่ลงพื้นที่เป็นวันแรกเพื่อสับเปลี่ยนกำลัง ในท้องที่ จ.ปัตตานี เมื่อปลายปี 2550

          และล่าสุดคือเหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารชุด รปภ.ครู เสียชีวิต 8 นาย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 ขณะออกลาดตระเวนไปตามท้องถนนหลังเสร็จภารกิจส่งครูเข้าโรงเรียน

          การซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนที่พยายามเปลี่ยนเส้นทางไม่ให้ซ้ำเดิมตามนโยบายของหน่วยเหนือ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา และน่าเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามต้องรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐอย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นทุกเหตุการณ์คนร้ายยังลอบฝังระเบิดแสวงเครื่องอานุภาพสูงไว้ใต้พื้นถนน ซึ่งต้องใช้เวลาในการขุดหลุมและต่อชนวนล่วงหน้า มิหนำซ้ำบางเหตุการณ์มีกองกำลังขนาดเล็ก 6-15 คน มาดักรอยิงซ้ำอีกด้วย

          ที่สำคัญทุกเหตุการณ์ คนร้ายสามารถหลบหนีเล็ดรอดหลังก่อเหตุร้ายไปได้อย่างลอยนวล !

          แน่นอนว่าการที่กลุ่มก่อความไม่สงบสามารถสร้างมวลชนแนวร่วมได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังช่ำชองภูมิประเทศมากกว่า ย่อมเป็นความได้เปรียบเหนือกองกำลังฝ่ายรัฐหลายก้าวอยู่แล้ว แต่จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมีเหตุรุนแรงจำนวนไม่น้อยที่กลุ่มคนร้ายสามารถสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายสำคัญอย่างแม่นยำเกินไป นั่นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาต้องมี "ข้อมูลภายใน" ในระดับที่รัฐเองก็คาดไม่ถึง

          อย่าลืมว่าช่วงที่ "ครู" ถูกยิงตายเป็นใบไม้ร่วง ทั้งๆ ที่หลายครั้งครูที่ตกเป็นเหยื่อไม่ได้กลับบ้านตามเวลาและเส้นทางประจำ ก็มีเสียงจากแกนนำ "แม่พิมพ์ของชาติ" ที่พยายามส่งสัญญาณว่า แม้แต่ในหมู่บุคลากรทางการศึกษาเองก็มี "หนอนบ่อนไส้" ซ่อนกายอยู่เช่นกัน

          นี่ยังไม่นับอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่มี "คนของรัฐ" เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ แล้วเกิด "พลาด" อย่างเช่นกรณีรถบรรทุกของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งพลิกคว่ำ แล้วปรากฏน้ำมันเชื้อเพลิงปริศนาที่ขนมาเต็มคันทะลักนองเต็มพื้นถนน ขณะที่ระดับปฏิบัติการที่นั่งมากับรถขอร้องไม่ให้สื่อมวลชนทำข่าว โดยอ้างว่า "นายขอ"

            ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ส่งเสียงเตือนเอาไว้อย่างแหลมคมด้วยมากประสบการณ์ในรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า ฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งตรวจสอบความเสียหายจากกรณี "ข่าวรั่ว" และรีบอุดช่องโหว่โดยเฉพาะเรื่องการ "รีครูท" คนเข้ามาทำงาน เพราะสัญญาณที่เห็นและเป็นอยู่น่าเชื่อว่า "เขา (หมายถึงกลุ่มโจร) รู้มากกว่าที่เรารู้เสียอีก"

          นี่คือปัญหาเก่าที่ทับซ้อนอยู่ใต้กองฟืนในสามจังหวัดชายแดนที่มีแสงเพลิงลุกโชนอยู่ด้านบน แต่ก็เป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐบาลใหม่และผู้รับผิดชอบหน่วยงานความมั่นคงจักต้องสะสางโดยพลัน !