Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน  

 

          ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเสนอแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อเสนอทางการเมืองที่ถือว่า "ใหม่" ที่หลุดออกมาจากความเห็นของคนในระดับนโยบายของรัฐบาล มีวงเสวนาเล็กๆ ที่ข้องเกี่ยวปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่เมื่อต้นสัปดาห์ ที่ว่าด้วยปัญหาการอุ้มหาย และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องเก่าที่คาใจเป็นเงื่อนไขความคับข้องใจของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้

          ที่จริงแล้ว การบังคับให้ไปเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่นั่น หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ กรณีศึกษาที่อยู่ในวงสัมมนาอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ฉายภาพรวมของกรณีต่างๆ พร้อมกับรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว ด้วยหวังว่าจะเป็นเงื่อนไขให้มีการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้ยุติปรากฏการณ์ดังกล่าว  

          ในรอบ 5 ปี ของความรุนแรง ซึ่งจริงๆ แล้วนับตั้งแต่ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย มีกรณีการหายตัวไปแล้วจากการรวบรวมข้อมูลของอนุกรรมการชุดหนึ่งของ กสม. ระบุว่ามีจำนวนถึง 29 คน อิสมาแอล สาและ รองเลขาธิการสมาคมยุวมุสลิมไทยแห่งประเทศไทย (ยมท.) ซึ่งเป็นคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ระบุว่า จริงๆ แล้วเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่องจากญาติของผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเปิดเผยและให้ข้อมูลในรายละเอียด

          ลักษณะการหายไปในชายแดนใต้ มีตั้งแต่พยานคนสุดท้ายพบเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาตัวไปสอบปากคำในคดีสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วหายตัวไป การหายไประหว่างทางกลับบ้าน หรือแม้แต่การบุกจับตัวโดยกลุ่มชายชุดดำกลางตลาด แต่ทั้งหมด อิสมาแอล สรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รัฐไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้ การตรวจสอบศพนิรนาม ในสุสานจีนและสุสานของมุสลิมบางแห่งก็ยังไม่มีการดำเนินการ นอกจากนี้ คณะทำงานรวบรวมข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ในพื้นที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงในการทำงาน

          ในขณะที่ นพ.อนันตชัย ไทยประทาน อนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน กสม. อดีต กอส. ชี้ให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ชายแดนใต้ในปัจจุบันที่ขณะนี้มีอัตราผู้เสียชีวิต 3 คนต่อวัน

          นอกจากจะมีข้อมูลคนหายแล้ว ยังมีข้อมูลการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 30 ราย ในกรณีคนหายสามารถแบ่งช่วงเวลาเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ก่อนเหตุการณ์ปล้นปืน 2547 มีประมาณ 2 -3 ราย หลังปล้นปืนจนถึงช่วงที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ประมาณ 10 กว่าคน ช่วงที่สาม คือ หลังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อกลางปี 2548 และช่วงหลังรัฐประหารที่มีการประกาศกฎอัยการศึก

          นพ.อนันตชัย ระบุด้วยว่า การซ้อมทรมานในระหว่างการสอบปากคำมีส่วนที่ทำให้หลายคนหายไป ในกรณีที่บางราย หนักเกินไป พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะหลังมีการพัฒนาเทคนิควิธีการในการซ้อมทรมานมากขึ้นในทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การใช้ของแข็งพันด้วยผ้า เป็นต้น เพื่อปกปิดร่องรอยการซ้อมทรมาน

          ในขณะที่กรณีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย เองก็เป็นหลักหมุดสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบนี้ แม้ว่าในขณะนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสืบสวนคดีพิเศษ แต่ก็ยังดำเนินการรวบรวมข้อมูลอย่างล่าช้า เพราะต้องเงื่อนไขของกฎหมายไทยไม่ได้ระบุความผิดในการบังคับให้หายตัวไป จึงต้องค้นหาร่างเพื่อให้คล้องกับคดีฆาตกรรมทั่วไป

          ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ จังหวัดที่มีการประกาศชัยชนะเหนือยาเสพติดและผู้มีอิทธิพลเป็นจังหวัดแรกในระหว่างการทำสงครามของรัฐบาลทักษิณ เมื่อ 5 ปีก่อน แต่สิ่งที่ตามมาคือการตายและหายไปของประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยรุ่น ในจำนวนนี้ทางองค์กรเอกชนอย่างกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) มีข้อมูลว่ามีการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย 8 ราย

          นายธนพลพล อนุพันธ์ คณะทำงานของ AHRC ให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมักได้รับคำตอบในลักษณะว่าหากไม่เจอศพก็จะหาผู้ร้ายไม่ได้ ในจำนวน 8 รายดังกล่าวแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีประวัติลักเล็กขโมยน้อยหรือไม่ก็เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าสมควรแล้วที่ต้องเจอแบบนี้เพราะเป็นเด็กเกเร กับอีกกลุ่มที่ค่อนข้างมีฐานะ มักหายไปทั้งคนทั้งรถ ก่อนหายมีพยานชี้ว่าเคยมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

          นายธนพลพล ชี้ให้เห็นว่า ในมุมมองของชาวบ้านซึ่งเป็นญาติในแต่ละกรณี จะมองว่าตำรวจทำงานล่าช้า ในขณะที่พยานหลักฐานก็มักจะหายไปด้วย เจ้าหน้าที่จะเลิกสืบสวนโดยอ้างอำนาจในกฎหมายอาญาในกรณีที่ไม่รู้ผู้กระทำผิด แต่ถ้ารู้ตัวก็มักอ้างว่าไม่มีพยานหลักฐาน ในกรณีที่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่ก็ว่าน้อยเกินไป ครั้นหากหลักฐานน่าจะเพียงพอ แต่ก็ติดที่มักอ้างว่าผู้ใหญ่ไม่ได้สั่งให้ดำเนินการ ในขณะที่มุมมองของบางหน่วยงานระบุว่า อุปสรรคสำคัญคือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำคดี หลักฐานมีน้อย เพราะในคดีอุ้มหายเช่นนี้หากปล่อยเวลาเดินไป หลักฐานร่องรอยก็จะหายไปด้วย

          "ทั้งๆ ที่หมดช่วงการทำสงครามกับยาเสพติดแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำได้ คนก็ยังต้องหายไปแบบนี้ต่อไป"

          เหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็เป็นกรณีหนึ่ง ที่มีคนหายไปในระหว่างการสลายการชุมนุมจำนวนมาก กรองกาญจน์ สืบสายหาญ เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 2535 ระบุว่า มีผู้สูญหายตามคำสั่งศาล 38 คน เนื่องจากมีภาพบันทึก แต่การรวบรวมของคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ชี้ว่ามีรายชื่อ 300 กว่าคนที่หายไปในช่วงนั้น ข้อมูลทั้งหมดรวบรวมมาด้วยความยากลำบาก ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจ คณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาสมัยรัฐบาลทักษิณเพื่อตรวจสอบก็เท่านั้น ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อสร้างความกระจ่าง

          "เราไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออะไรมาก แค่อยากรู้ว่าหายหรือไม่อย่างไร หากเสียชีวิตแล้วจะได้ทำบุญให้เขา"

          พ.อ.ปิยวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ ระบุว่า กว่าที่คดีคนหายจะเข้าสู่กระบวนการของคดีพิเศษก็ต้องใช้เวลานาน ถึงแม้ว่าดีเอสไอจะเข้าดำเนินการแล้วแต่ด้วยกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นระบบกล่าวหา จึงต้องอาศัยหลักฐานพยานที่มีแน่นหนาเพียงพอ แต่ปัญหาที่พบในกรณีคดีเช่นนี้ คือ ประชาชนไม่กล้าที่จะให้ความร่วมมือ เพราะกลัวการข่มขู่

          พ.อ.ปิยวัฒก์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีคนหายคือปัญหาพื้นฐานที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ในระดับปฏิบัติก็ยากที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน ในขณะที่มาตรการคุ้มครองพยานก็มีกำลังคนที่ไม่เพียงพอและไม่มีองค์กรกลางที่สร้างความไว้วางใจให้แก่พยานได้ ที่สำคัญคือไม่มีกฎหมายที่บัญญัติความผิดเป็นการเฉพาะ ดังกรณีทนายสมชาย เจ้าหน้าทีก็ทำได้เพียงแจ้งข้อหาอื่น นอกจากนี้ กลไกการร้องเรียนก็มีปัญหา เพราะหากเป็นกรณีที่ต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ประชาชนก็ไม่กล้าแจ้งเบาะแส

         พ.อ.ปิยวัฒก์ได้ย้ำด้วยว่า ปัญหาการบังคับให้หายตัวไปเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ นอกเหนือจากคดีสมชายซึ่งเป็นคดีใหญ่ และอยู่ในระหว่างการค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม ดีเอสไอยังเข้าทำคดีใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งในกรณีที่เสียชีวิตและกรณีที่หายตัวไป ซึ่งผู้ต้องหาในคดียาเสพติดบางคนบอกว่าอยู่ในเรือนจำยังรู้สึกปลอดภัยกว่า

          ในขณะที่ในภาคกลาง อย่างกรณีอุ้มผู้ใหญ่บ้านที่ จ.ราชบุรี ซึ่งญาติเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่ภาคเหนือ พบว่าในเขต อ.แม่สอด มีสถานที่ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ทุ่งสังหาร ที่ไว้สำหรับการทำลายศพเป็นการเฉพาะ

          อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปิยะวัฒ์ เห็นพ้องว่ารัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องลงนามในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว เพราะจะเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทยมีการพัฒนากฎหมายอาญาเพื่อรองรับความผิด เพื่อช่วยให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนได้ผลมากขึ้น มีมาตรการเยียวยาญาติและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการคุ้มครองพยานที่ดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น

          ในกรณีความไม่สงบในชายแดนใต้ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการบ่มเพาะความรุนแรง ทั้งโดยรัฐและปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายขบวนการใต้ดิน ผลสรุปที่เดาไม่ยากคือความรุนแรงที่ยืดเยื้อไม่เห็นวันจบง่ายๆ ในขณะที่กรณีอุ้มหายและซ้อมทรมานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศก็เท่ากับเป็นการทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐโดยตัวของมันเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หากรัฐบาลควรต้องไขความกระจ่างในกรณีต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะต้องจำใจเชือดเฉือนกลไกบางส่วนของตัวก็ตาม