Skip to main content

อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
 

ผู้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ต้องประหลาดใจไปตามๆ กันเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จุดประเด็น 'เขตปกครองพิเศษ' ขึ้นมา ก่อนการร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้

ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า กำลังศึกษารูปแบบเขตปกครองพิเศษในมณฑลซินเกียงของประเทศจีนและเยอรมนี ซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในพื้นที่มาก โดยทั้งสองแห่งนี้แก้ปัญหาด้วยการยกเป็นเขตพื้นที่ปกครองพิเศษมีการเลือกตั้งและปกครองตนเองได้ เป็นแนวคิดหนึ่งที่อาจจะนำมาผสมผสานในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ข้อเสนอในประเด็นนี้ ถือเป็นแนวทางที่ ก้าวหน้า' อย่างมาก ไม่น่าแปลกใจที่จะมีกระแสสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกลุ่มชนชั้นกลางมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และภาคประชาสังคม

เสียงสนับสนุนเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันถึงการกระจายอำนาจ กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของพื้นที่และรัฐบาล เพื่อบริหารจัดการให้สอดคล้องกับพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา

แต่สำหรับฟากอำนาจรัฐ เสียงที่ออกมากลับเป็นการทัดทานและท้วงติง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ควรพูดถึงประเด็นนี้ แต่ควรมีการหารือกันในวงเล็กให้ชัดเจนก่อน ส่วนผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก หน่วยปฏิบัติหลักในการแก้ไขปัญหา ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ แต่พร้อมจะให้ข้อมูลหากรัฐบาลขอความเห็นในเรื่องนี้

ขณะที่นายนิพนธ์ บุญญามณี กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ ส.ส.ภาคใต้ เห็นว่า รัฐมนตรีมหาดไทยพูดถึงเรื่องนี้เร็วเกินไป ในขณะที่ยังไม่มีการเสนอนโยบายที่เป็นภาพรวมของรัฐบาล เพราะหากพูดไปแล้วทำไม่ได้ก็จะเกิดความเสียหายขึ้นมาได้

ประเด็นร่วมกันของเสียงท้วงติงทัดทานเหล่านี้ คือ ความเหมาะสมในเรื่องกาลเทศะ

          และในวันต่อมา แนวคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษของ ร.ต.อ.เฉลิม จากที่เคยยกตัวอย่างถึง การจัดโครงสร้างอำนาจ' ระหว่างรัฐบาลกลางและการปกครองท้องถิ่น กรณีการเลือกตั้งและปกครองตนเองในซินเกียง จึงลดระดับลงมาเหลือแค่เพียง เมืองศาสนา' ปลอดอบายมุข ซึ่งเป็น การจัดการในเชิงวัฒนธรรม'

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเด็นเขตปกครองพิเศษ จบลงแบบแห้งๆ

โดยก่อนหน้านี้มีบุคคลระดับรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงแล้วหลายต่อหลายครั้ง อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึงรูปแบบ มหานครปัตตานี' ในปี 2547 พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล ขิงแก่' กระทั่งมาถึง ร.ต.อ.เฉลิม

ท่าทีการปรามของนายกรัฐมนตรี การปฏิเสธจะให้ความเห็นของ ผบ.ทบ. รวมทั้งข้อท้วงติงจากฝ่ายค้าน มิได้แสดงออกในลักษณะว่า ไม่เห็นด้วย' แต่ยึดมั่นอยู่บนหลักที่ว่า ต้องรอบคอบ'

การจุดพลุของ ร.ต.อ.เฉลิม จึงอาจไม่เข้ากับห้วงเวลา หากมองถึงความพร้อมของฟากอำนาจรัฐ ซึ่งมาจากปัจจัยหลายด้าน

ข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคง จากการสอบสวน รวบรวมเอกสารปลุกระดมของขบวนการก่อความไม่สงบ ระบุว่า ยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ในการปลุกระดมนั้นชัดเจนอย่างยิ่ง จนสรุปแบบรวบรัดได้ว่า 1 ต้อง 6 ไม่ และ 3 ผล

1 ต้อง คือ ต้องใช้ญิฮาด เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้ปลดปล่อยปัตตานี         

6 ไม่คือ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา ไม่หนี ไม่มอบตัว ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ และ ไม่ยอมรับระบบรัฐสภาซึ่งหมายถึงการใช้กฎหมายอิสลามเท่านั้น

และ 3 ผลคือ การต่อสู้ครั้งนี้จะเกิดผล 3 ประการ คือชัยชนะ พ่ายแพ้ และส่งมอบภารกิจให้ชนรุ่นต่อไปเพื่อดำรงการต่อสู้ปลดปล่อยตัวเองต่อไป

ดังนั้นเขตปกครองพิเศษจึงอาจจะไม่ใช่สิ่งจูงใจต่อกลุ่มติดอาวุธ

ขณะเดียวกันมาตรการด้านการทหารที่เข้มข้นขึ้น อาจทำให้ฝ่ายอำนาจรัฐ มั่นใจถึงการร่นเวลาสงครามให้ยุติลงได้โดยเร็ว

แต่ครั้งนี้กระแส เขตปกครองพิเศษ' อาจไม่เงียบไปอย่างเคย

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ข้อเรียกร้องเรื่องการจัดสรรอำนาจ ทั้งจากกลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่กำลังพุ่งสูง ซึ่งปรากฏครั้งแรกในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการนำเสนอในประเด็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ การที่กลุ่มปัญญาชนมุสลิมรุ่นใหม่ ซึ่งเคยเป็นนักกิจกรรมทางสังคมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หันมาให้ความสนใจการเมืองในระบบรัฐสภา ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งกันค่อนข้างหนาตา ซึ่งเป็นผลพวงจากความถดถอยของกลุ่มวาดะห์ และความไม่เชื่อมั่นต่อการที่พรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

โดยก่อนการเลือกตั้ง หากดูแนวทางของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งตัวแทนชิงชัยในพื้นที่ ทั้งพลังประชาชน ประชาธิปัตย์ เพื่อแผ่นดิน ชาติไทย ล้วนไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรต้องมีการปรับปรุงรูปแบบองค์กรในการแก้ปัญหา แม้จะแตกต่างกันไปในแนวทางปฏิบัติของแต่ละพรรค

บทบาทของกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาครั้งนี้ สอดประสานเข้ากับบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าล้วนมีพื้นฐานที่มาเดียวกัน ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็คือ การจัดการปกครองท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม' แม้จะไม่พูดออกมาอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา แต่การปกครองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ก็ชวนให้คิดไปถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ องค์กรใหม่

ในระยะนี้ แนวทางทั้งการเมืองในเชิงการจัดสรรอำนาจ โดยองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ และแนวทางการทหารด้วยการสกัดกั้น ทำลายโครงข่ายขบวนการใต้ดิน และการปราบปราม โดยฝ่ายรัฐ จึงเดินหน้าควบคู่กันไป ช่วงชิงจังหวะการนำ

คุณูปการสำคัญจากวาทกรรม เขตปกครองพิเศษ' ของร.ต.อ.เฉลิมครั้งนี้ก็คือ การตระหนักในความอ่อนไหวเรื่องความรู้สึกของมวลชน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามข่าวสารที่รัฐแพ้ทางขบวนการใต้ดินมาโดยตลอด

การเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญในเรื่องเขตปกครองพิเศษแบบวันต่อวัน จากประเด็นเชิงอำนาจไปสู่ประเด็นในเชิงวัฒนธรรม ทำให้เห็นถึงการไม่ตกผลึกทางความคิด ประเด็นที่พลิกไปเปลี่ยนมา ยิ่งตอกย้ำข้อกล่าวหาเรื่องความไม่จริงใจของรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์เก็บคะแนนกินเปล่าจากความผิดพลาดของรัฐไปเต็มๆ ก็คือขบวนการใต้ดินนั่นเอง

แต่หากมองถึงการออกมาพูดในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือศอ.บต.เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหา แต่ด้วยฐานะที่ศอ.บต.อยู่ภายใต้ร่มเงาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 หรือกอ.รมน.ภาค 4 การจุดประเด็นตั้งเขตปกครองพิเศษ อาจส่งสัญญาณให้เห็นว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยต้องการให้ศอ.บต.พ้นออกมาจากร่มเงาของกอ.รมน. ซึ่งผูกโยงถึงอำนาจ บทบาทในการแก้ปัญหา และงบประมาณอีกจำนวนมหาศาล