Skip to main content

สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

 

วันเวลา : วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 9.30 - 15.00 น.
สถานที่ : มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย คลองตัน กรุงเทพฯ

 

โครงการเสวนาทางวิชาการ
เรื่อง "การพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย"

หลักการและเหตุผล

นิติศาสตร์อิสลามได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเป็นการนำหลักการของคัมภีร์อัลกุรอาน จากการบันทึกคำสอน และการพัฒนาหลักการตีความต่างๆ  ซึ่งกฎหมายอิสลามถือเป็นธรรมนูญทางศาสนาที่ใช้ควบคุมวิถีทางในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม ทั้งทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่แต่ละสังคมได้ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพของแต่ละสังคม ตามยุคสมัย เพื่อให้หลักคิดในด้านความเป็นธรรมในทางศาสนา คุณค่าทางประเพณีและวัฒนธรรม กับความเป็นธรรมในทางสังคมมีความสอดคล้องต้องกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการพัฒนาการใช้กฎหมายอิสลามมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในสี่จังหวัดภาคใต้ ที่มีชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่  อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากในปัจจุบัน วิชานิติศาสตร์อิสลามยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลาม มีผลทำให้เกิดปัญหาทั้งในแง่ของความเข้าใจของคนในสังคมในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทำให้เกิดข้อขัดข้องในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งผลให้เกิดอคติและความขัดแย้งซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เห็นได้จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาเรื่องการขาดแคลนความรู้ความเข้าใจในวิชานิติศาสตร์อิสลามนี้ ถือเป็นปัญหาสำคัญในต่างประเทศในปัจจุบันด้วย

ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามให้กว้างขวางและให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้วิธีคิด และนิติวิธีของระบบกฎหมายที่สำคัญของไทยและของโลกอีกระบบหนึ่ง เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการใช้กฎหมายอิสลามให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในทางสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนชาวไทยมุสลิม และจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่นักนิติศาสตร์จากระบบกฎหมายปัจจุบัน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์อิสลามมากขึ้น รวมทั้งเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของวิชานิติศาสตร์อย่างถูกต้องมากขึ้น

วัตถุประสงค์

- เพื่อทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นของนิติศาสตร์อิสลาม

- เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านนิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย

- เพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย

- เพื่อรวบรวมจัดทำระบบข้อมูลและสร้างเครือข่ายผู้สนใจ

 

วันและเวลา

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 9.30 - 15.00 น.

 

สถานที่

ห้องประชุม อาคารมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย  87/2 ซอยรามคำแหง 2 คลองตัน  ถนนรามคำแหง แวงสวนเตสวนหลวง กทม. 10250 โทรศัพท์ 02-3145638, 02-7198801

 

ประเด็นในการเสวนา

- เนื้อหา/หลักการของกฎหมายอิสลามในต่างประเทศและในประเทศไทย

- ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

- สถานะของการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทยในปัจจุบัน

- บุคลากรที่มีความสามารถทางการสอนวิชานิติศาสตร์อิสลาม

- แหล่งข้อมูลเรื่องนิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย

- สถาบันที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านนี้ในต่างประเทศ

- แนวทางในการพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย

  รวมทั้ง การจัดทำหลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัย

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

          สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

 

ผู้เข้าร่วม

- ผู้แทนองค์กรอิสลามต่างๆ

- นักวิชาการมหาวิทยาลัย

- นักกฎหมาย

- ตัวแทนองค์กรการศึกษาอื่นๆ

- หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สกว. ยธ. ฯลฯ

- ประชาชนผู้สนใจทั่วไป

 

กำหนดการ

09.30 น.   ลงทะเบียน

10.00 น.   พิธีเปิด โดย

               - กล่าวต้อนรับโดย ผู้แทนมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

               - รศ.สมยศ เชื้อไทย นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

               - ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10.30 น.   เสวนาทางวิชาการเรื่อง

              "การพัฒนาการศึกษาวิชานิติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย" โดย

              - ผู้แทนองค์กรอิสลามต่างๆ

              - นักวิชาการมหาวิทยาลัย/ตัวแทนองค์กรการศึกษาอื่นๆ

              - นักกฎหมาย

              - ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

              - ฯลฯ

              ดำเนินการเสวนา โดย

              ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12.00 น.   รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน พัก นมาซ

13.30 น.   เสวนา ตอบคำถาม

15.00 น.   ปิดการประชุม