เผยแพร่วันที่ 19 กรกฎาคม 2554
ความคืบหน้าคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง
คดีแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งวันที่ 20 กรกฎาคม 2554
คดีอาญา ภรรยาซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
ที่วินิจฉัยว่าคดีต้องฟ้องที่ศาลทหาร เกรงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องศาลทหารเองไม่ได้ ส่วนคดีที่ส่งไป ป.ป.ช. สอบสวนสามปีไม่ชี้มูล ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน
คดีแพ่ง ในวันพรุ่งนี้ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 9.00 น. บุตรธิดาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง จะเดินทางมาศาลแพ่ง กรุงเทพฯ โจทก์ในคดีมาศาลตามวันนัดไกล่เกลี่ยของศาลแพ่งอีกครั้ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1086/2552 เพื่อไกล่เกลี่ยกับผู้แทนของกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยา และบุตรหญิงชายรวม 4 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกรณีที่อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกควบคุม นำไปแถลงข่าว และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต หลังจากเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2554 ญาติและจำเลยไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลแพ่ง เพราะติดขัดในเรื่องคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้หน่วยงานของจำเลยประกาศหนังสือพิมพ์และส่งหนังสือถึงหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงขอโทษครอบครัวอิหม่ามยะผา ทั้งค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยเสนอมาก็ค่อนข้างต่ำ
กรณีนายยะผา กาเซ็ง ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และมีคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่าผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่
สำหรับคดีอาญา (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) เมื่อวันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา ซึ่งเป็นโจทก์ ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่ร่วมกันกระทำความผิดอาญาต่อนายยะผา ได้ยื่นฎีกา โดยนายปรีดา นาคผิว ในนามทนายความโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคดีนี้ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ดำเนินการยื่นคำขอรับรองฎีกาพร้อมกับฎีกา ต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาสหรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งพิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษา ของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เซ็นชื่อรับรองฎีกา เพื่อส่งฎีกาให้ศาลสูงสุดคือศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาต่อไป
รายละเอียดในคำขอรับรองฎีกาของโจทก์นั้นได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ประทับรับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 – 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีดังกล่าวต้องนำไปฟ้องร้องต่อศาลทหาร ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของทั้งสองศาลดังกล่าว ด้วยเห็นว่าอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ได้เสียชีวิตภายใต้การปฏิบัติการของทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สนธิกำลังร่วมกันจับกุม ควบคุมตัว นำไปแถลงข่าว และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายจนอิหม่ามยะผาเสียชีวิต จึงเป็นคดีอาญาในเรื่องเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อเสรีภาพ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพลเรือนร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร อีกทั้งหากกรณีคดีต้องฟ้องต่อศาลทหารนั้น ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์คดีนี้ ก็ไม่สามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทหารได้และไม่สามารถแต่งตั้งทนายความของตนเพื่อดำเนินคดีในศาลทหารได้ เนื่องจากมีกฎหมายเรื่องศาลทหารห้ามไว้ จึงเห็นว่าการการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารยังทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498กำหนดให้อัยการทหารเท่านั้นเป็นโจทก์ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีเองหรือจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้เลย
นอกจากนี้ คดีอาญาดังกล่าวเป็นเรื่องการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พนักงาน สอบสวน สภ.รือเสาะได้ส่งสำนวนคดีไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2551 นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่การสอบสวนของ ป.ป.ช. ก็ยังไม่แล้วเสร็จและไม่มีใครทราบความคืบหน้าใด ๆ จึงไม่มีท่าทีว่าจะสามารถอำนวยความยุติธรรมต่ออิหม่ามยะผาผู้เสียชีวิตและครอบครัวได้แต่อย่างไร จนกระทั่งนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา ต้องเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังกล่าวแล้วข้างต้น ญาติและทนายความยังมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพิจารณาของศาลพลเรือน(ศาลยุติธรรม) ที่จะสามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นนี้ได้ เนื่องจากผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือผู้เสียหายสามารถเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีได้ทุกขั้นตอนและต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมแม้จะอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกก็ตาม