Skip to main content
ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
 
 
หลังจากพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นสู่อำนาจในการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล “ปู 1” ประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินปลายด้ามขวานที่ประชาชนทั่วประเทศ และในในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จับตามองด้วยความสนใจ มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ
 
หนึ่ง พรรคเพื่อไทย จะนำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี มาใช้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ และ สอง พรรคเพื่อไทย จะทำการยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จริงหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น พรรคเพื่อไทยได้ถือเป็นนโยบายของพรรค และใช้ในการ หาเสียง” กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ซึ่งกลุ่มคนและองค์กรที่สนับสนุนให้พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม และเป็นพันธกรณีที่พรรคเพื่อไทยต้องปฏิบัติ จึงไม่แปลกที่หลังเสร็จศึกการเลือกตั้ง กลุ่มคนและองค์กรที่สนับให้มีเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการขับเคลื่อนให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีในทันที
 
วันนี้ เรื่องร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี จึงกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ร้อนกว่าการ ยุบ หรือ ไม่ยุบ ศอ.บต. เนื่องจากการยุบ หรือ ไม่ยุบ ศอ.บต. มีผลกระทบที่น้อยกว่า เพราะ ศอ.บต. เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงไม่มี ศอ.บต. ก็ยังมีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่โดยตรงรองรับทุกเรื่องทุกปัญหาอยู่แล้ว
 
แต่เรื่องร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งหากดูร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทยก็ดี ของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งร่างของสถาบันพระปกเกล้าที่อ้างว่าได้ทำเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาแล้วอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จะเห็นว่าเป็นเขตปกครองพิเศษที่ไม่เหมือน กรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษรูปแบบใหม่ ที่ให้อำนาจการบริหารกับกลุ่มคนที่มาจากการเลือกตั้ง และกลุ่มคนที่มาจากการสรรหา ซึ่งสำหรับสังคมไทยและสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว คงยังมั่นใจไม่ได้ว่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่จริง
 
มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และขุนทหารที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย เขตปกครองพิเศษและการยุบ ศอ.บต. กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ในขณะที่คู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์เสนอนโนบายกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และผลจากการเลือกตั้ง คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 9 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ สูญพันธุ์” ทางการเมืองในปลายด้ามขวานไปเรียบร้อยแล้ว เพราะ ไม่ได้ สส. แม้แต่คนเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงน่าจะตอบโจทย์เรื่อง พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษ ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และไม่เอานโยบาย เขตปกครองพิเศษ นครปัตตานี ของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องการการบริหารพื้นที่แบบเดิมๆที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 
แต่ถ้าดูกันให้ละเอียดให้ลงลึก การที่คนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัด “เทใจ” ให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึง 9 ที่นั่ง อาจไม่ได้หมายถึงคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษ หรือนครปัตตานี เพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้สมัครของพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “เพื่อไทย” ที่ขายนโยบายเขตปกครองพิเศษ หรือ พรรคมาตุภูมิ ที่ขายนโยบายทบวง 3 จังหวัดชายแดน ต่างไม่ได้นำนโยบายเหล่านี้มาใช้ในการเปิดเวทีปราศรัยกับประชาชนในพื้นที่ แต่ขายตัวบุคคลผู้ลงรับเลือกตั้ง และใช้ “กระสุน” ในการหาคะแนนเสียง รวมทั้งชัยชนะของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ อาทิ “ฝนตกห่าใหญ่” และการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มร้อยในทุกพื้นที่ เห็นได้จาก สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ถาวร เสนเนียม ที่ขนสรรพกำลังและเสบียงกรังลงพื้นที่ รวมทั้ง ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ ที่ทั้งออดทั้งอ้อน เพื่อขอคะแนนเสียงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน
 
ดังนั้น วันนี้ ทุกฝ่าย ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี  จึงต้อง “ตั้งหลัก” กันให้มั่น โดยเฉพาะ ฝ่ายความมั่นคง อย่าได้ด่วนสรุปแบบ“ฟันธง” เพราะหากตั้งโจทย์ผิด จะกระทบถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วันนี้ยังมี “ปม” มากมายที่ยังไม่ได้แก้ ให้เกิด “ปม”ใหม่ขึ้นมาอีก
 
โดยข้อเท็จจริง ณ วันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานียังไม่ “ตกผลึก” ในความคิดความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากพรรคเพื่อไทยต้องการเดินหน้า “ผลักดัน” เขตปกครองพิเศษให้ได้จริง พรรคเพื่อไทยต้องมีขบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากผลจากการทำเวที รับฟังความคิดเห็นขององค์การต่างๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่ทำมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงเวทีเล็กๆ ที่ยังใช้ในการตัดสินไม่ได้ว่า เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และ เขตปกครองพิเศษ ก็ยังไม่ใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัด หลังจากเขตปกครองพิเศษกลายเป็นประเด็นร้อน คือ คนส่วนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคน “ไทยพุทธ” เริ่มวิตกกังวลกับคำว่า “เขตปกครองพิเศษ” ถึงกับ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เตรียมขยับขยาย เพื่อย้ายออกจากพื้นที่ในอนาคต เช่นเดียวกับคน“มุสลิม” ที่ต่างวิตกกังวลถึงความ “แตกแยก” ที่อาจขยายวงกว้างขึ้น จากความไม่เข้าใจในเรื่องเขตปกครองพิเศษที่ถูกนำมาเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่อยู่ในขณะนี้
 
ดังนั้น “เพื่อไทย” ต้องชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกับนโยบาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี และที่สำคัญต้อง “สื่อสาร” กับคนในพื้นที่ให้ “เข้าใจ” มิฉะนั้น เรื่องของ เขตปกครองพิเศษ อาจจะกลายเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปเป็นประโยชน์ในการแบ่งแยกดินแดนให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
 
สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำความเข้าใจ และรับรู้ คือ อย่าเพิ่งหวั่นวิตก และหวาดผวา กับคำว่าเขตปกครองพิเศษ หรือ นครปัตตานี เนื่องจากยังมีขบวนการและขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนในการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีที่สภาผู้แทน รัฐสภา คือ ด่านของ สส. และ สว. และด่านที่ “หิน” ที่สุด นั่นคือ “กองทัพ” ซึ่งยังไม่เห็นด้วยกับ เขตปกครองพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สุดท้าย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีของ “เพื่อไทย” จึงอาจเป็นเพียงนโยบายเฉพาะกิจ เพื่อการหาเสียง ที่เป็นได้แค่ “ความฝัน” เท่านั้น