Skip to main content

 

ความเป็นมา
             ตลอดระยะกว่า 7-8 ปี ที่คลื่นความรุนแรงถาโถมทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกล่าวได้ว่าไม่มีใครที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้จะกลายเป็นความชาชินของผู้คนที่จำต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงอันตรายและบรรยากาศการระแวดระวังภัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตและความรู้สึก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ร่องรอยความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินยังคงปรากฎให้เห็น ความหวาดกลัวและหวาดระแวงยังคงซ่อนเร้นอยู่ในความรู้สึก ขณะที่สังคมนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงรับรู้ความเป็นไปของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ผ่านภาพความเลวร้ายจากการก่อเหตุความรุนแรง หรือไม่ก็เป็นภาพเชิงวัฒนธรรมความสวยงามที่ถูกขับเน้นขึ้นเพื่อประสงค์จะลดทอนบรรยากาศความไม่ปกติ ส่งผลให้ภาพวิถีชีวิตธรรมดาๆ ของผู้คนทั่วๆ ไปที่ดำรงอยู่ตามความสภาพเป็นจริงในมิติอื่นๆ เช่น เชิงสังคม สิ่งแวดล้อม ประเด็นทรัพยากร หรือคุณภาพชีวิตอื่นๆ ฯลฯ มักถูกมองผ่าน
             ‘เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้’ ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มกันของนักถ่ายภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ ช่างภาพอาสาสมัคร รวมไปถึงช่างภาพมือสมัครเล่น เชื่อว่า ‘ภาพถ่าย’ จะสามารถสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา และจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการชักชวนหรือกระตุ้นสังคมให้เกิดการสนทนาถึงแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งรวมถึงความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ร่วมกับ ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ เตรียมจะจัดงาน “มหกรรมภาพถ่ายชายแดนใต้” ขึ้นในช่วงปลายปี 2554 โดยจะเริ่มต้นจากการตระเวนบันทึกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นทั้งสามจังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เพื่อรวบรวมผลงานภาพถ่ายมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือและจัดแสดงนิทรรศการต่อสาธารณะต่อไป

กำหนดการลงพื้นที่ (นำร่อง)
             เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ จะมีการร่วมตัวกันเพื่อลงพื้นที่นำี้ร่องถ่ายภาพพร้อมประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้สาธารณะรับทราบ โดยในวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานแถลงข่าวพร้อมเปิดตัวหนังสือภาพฉบับแรก ‘In Between; Restive South’ ซึ่งรวบรวมผลงานภาพถ่ายและเรื่องราวการทำงานของเครือข่ายช่างภาพฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพภายในเขตเทศบาลนครยะลาเป็นพื้นที่แรก จากนั้น ในวันเสาร์ที่ 23 กรกฏาคม จะมีการร่วมตัวกันเพื่อถ่ายภาพในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม จะเป็นการร่วมตัวกันเพื่อลงพื้นที่ถ่ายภาพในเขตจังหวัดปัตตานี จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เปิดกว้างสำหรับผู้มีอุปกรณ์บันทึกภาพทุกรูปแบบ

รายละเอียดการส่งภาพ
            ส่งเป็นไฟล์นามสกุล .jpg ขนาดไม่ต่ำกว่า 8 x 10 นิ้ว 300 dpi ระบุชื่อ/นามสกุลผู้ถ่าย (ภาษาไทยและอังกฤษ), ข้อมูลที่อยู่ในการจะจัดส่งไปรษณีย์, หมายเลขโทรศัพท์, อีเมล์, เฟสบุ๊ก (ถ้ามี), พร้อมเขียนชื่อภาพและบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับภาพมาสั้นๆ โดยต้องระบุวันเวลาและสถานที่ที่ถ่ายภาพมาด้วย -- ส่งอีเมล์ไปที่ [email protected] 
            กรณีใช้กล้องฟิล์ม สามารถล้างอัดลงบนกระดาษขนาด 8 x 10 นิ้ว แล้วติดลงบนการ์ดแข็ง ส่งทางไปรษณีย์ไปที่ ตู้ ปณ.6 ปณฝ. รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 หรือไปส่งด้วยตนเองที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (บ้านพักรับรอง มอ.ปัตตานี) 073 312 302
            ทั้งนี้ ต้องเป็นผลงานภาพของตนเองและถ่ายในช่วงปี 2554 เท่านั้น -- เปิดรับผลงานภาพตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ** จำกัดท่านละไม่เกิน 10 ภาพ 
 
กำหนดการลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554
นัดรวมตัวกันที่ร้านอาหาร ‘ระเบียงไม้’ ใกล้สี่แยกสมาคมอิสลาม จ.นราธิวาส
09.30 น. ลงทะเบียน รับหนังสือภาพและของที่ระลึก (จำนวนจำกัด)
10.30 น. ลงพื้นที่ถ่ายภาพช่วงเช้าในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส
12.00 น. รับประทานอาหารเที่ยง ณ ร้านระเบียงไม้
13.30 น. ร่วมกันลงพื้นที่ถ่ายภาพในช่วงบ่าย
             (จะหารือเรื่องจุดลงพื้นที่ในระหว่างรับประทานอาหารอีกที)
16.00 น. สิ้นสุดกิจกรรม
 
กำหนดการลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2554
09.30 น. นัดรวมตัวกันที่ร้านน้ำชาหน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว
             - ลงทะเบียน                
             - รับหนังสือภาพ และของที่ระลึก
10.00 น. ลงพื้นที่ถ่ายภาพรอบตลาดพิธาน มุ่งหน้าตลาดนัดหน้ามัสยิดกลางปัตตานี
11.30 น. รับประทานอาหารตามอัธยาสัย 
12.30 น. นัดรวมตัวรอบบ่ายที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ 
13.00 น. ลงพื้นที่ตระเวณถ่ายภาพชุมชนริมอ่าวปัตตานี                  
             - บ้านดาโต๊ะ                                  
             - บ้านตะโล๊ะกาโปร์
15.00 น. - เดินทางกลับมารับประทานอาหารร่วมกันที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ                                          - ร่วมบันทึกภาพหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ 'เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้' 
16.00 น. สิ้นสุดกิจกรรม
 

 

ภาพบรรยากาศกิจกรรมร่วมตัวเพื่อลงพื้นที่ถ่ายภาพ (ทริปแรก) จังหวัดยะลา
วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

(ภาพโดยนูรยา เก็บบุญเกิด, ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้)