มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ศูนย์ทนายความมุสลิม
สถานที่ : โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์ 073 335 093-4, 073 336 090-6
วันเวลา : 5 มีนาคม 2551 เวลา 09.00 -17.30 น.
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ
เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำรายงานคู่ขนานนำเสนอสถานการณ์
การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในประเทศไทย
กำหนดการ
09.00 น. ลงทะเบียน
09.30 น. วัตถุประสงค์ ความเป็นมาของการจัดประชุม และกล่าวเปิดการประชุม
โดย คุณสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
10.00 น. เนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ปรากฎในรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และข้อมูลที่ขาด
โดย คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
10.30 น. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ นิยาม สิทธิ และหน้าที่ของรัฐภาคีตามอนุสัญญาฯ และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ จากมุมมองของพันธกรณีระหว่างประเทศอื่น ๆ
โดย คุณกาลปาลาตา ดุสตา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
12.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.30 น. แนวทางการวิเคราะห์รายงานประเทศ และจัดทำรายงานคู่ขนาน
โดย ญาดา หัตถธรรมนูญ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
14.00 น. พัก น้ำชา/กาแฟ
14.15 น. ระดมสมองเพื่อรวบรวมข้อมูลในการจัดทำรายงานคู่ขนานตามประเด็นที่ได้แบ่งกลุ่มไว้ดังนี้ (โดยศึกษาจากร่างที่ 1 จากตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย ก่อนหน้าการประชุม)
1. เชื้อชาติ อัตลักษณ์ ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษา
2. กระบวนการยุติธรรม การทำให้บุคคลสูญหาย และการซ้อมทรมาน
3. การศึกษา
4. สุขภาพ คุณภาพชีวิต
5. เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่ง สิทธิที่ทำกิน
6. การเมืองการปกครอง
16.00 น. นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการระดมสมองโดยตัวแทนกลุ่มละ 15 นาที
17.30 น. สรุปการประชุม
โดย ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น
1. ความเป็นมาและสภาพของปัญหา
สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อันได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นั้น นอกจากความเชื่อมโยงกันกับบริบททางประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานีแล้ว รากเหง้าสำคัญของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คอยเป็นฟืนเติมให้ไฟใต้ปะทุคุกรุ่นอยู่เสมอก็คือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการไม่เคารพในความแตกต่าง อีกทั้งการปฎิเสธความหลากหลายทางเชื่อชาติ ศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ที่สะท้อนให้เห็นได้ตั้งแต่พัฒนาการการสร้างชาติในอดีตด้วยนโยบายรัฐนิยม 12 ฉบับ อันเป็นการบีบบังคับให้ประชาชนไทยเชื้อสายมาลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องดำเนินชีวิตประจำวันที่ขัดต่อหลักศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม ในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม จนกระทั่งปัจจุบันโดยแนวทางการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ที่สะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสาเหตุความแตกต่างทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง โดยเฉพะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยบุคคลเอกชนด้วยกันเอง หรือการเลือกปฏิบัติโดยนโยบาย กฎหมาย ระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติของรัฐ ซึ่งการไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติอันมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังเชื้อชาติที่แตกต่างนี่เองที่เป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อความพยายามในการดับไฟใต้ด้วยวิถีทางแห่งนิติธรรม และการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นวิถีซึ่งจะนำมาสู่สันติสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเหตุทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ค.ศ.1965 (International convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธุ์ 2546 ทั้งนี้ตามพันธกรณีข้อ 9 ของอนุสัญญาซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ทางด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระบวนการบริหารและอื่น ๆ ซึ่งรัฐภาคีได้จัดให้มีขึ้นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญานี้ สำหรับประเทศไทยมีกำหนดส่งรายงานฉบับแรกในปี 2547 และฉบับที่ 2 ในปี 2549 ซึ่งในขณะนี้อยู่ในการบวนการยกร่างรายงานฉบับรวมทั้งฉบับแรกและฉบับที่สอง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบได้ในปี 2551
อย่างไรก็ตามเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของข้อมูลเกี่ยวกับการปรับใช้อนุสัญญาต่อกฎหมายภายในประเทศ การปฎิบัติการต่าง ๆ ของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา รวมถึงสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติภายในประเทศ ภาคประชาสังคมในหลายประเทศจึงจัดให้มีขึ้นซึ่งรายงานคู่ขนานหรือรายงานเงา(Shadow Report) กับรายงานของรัฐภาคีเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย ทั้งนี้รายงานคู่ขนานหรือรายงานเงา(Shadow Report)เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มเติมข้อมูลจากรายงานประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคประชาสังคมที่จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลเพื่อให้เกินการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ นอกจากนี้รายงานคู่ขนานยังสามารถให้ขอมูลที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างกลยุทธให้แก่คณะกรรมการฯ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและเพื่อการสังเกตุการณ์มาตรการต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามอนุสัญญาของรัฐภาคีได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้รายงานคู่ขนานยังมีประโยชน์สำหรับการณรงค์ภายในประเทศเพื่อเสริมสร้างความตระหนักต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพื่อรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายที่เคารพสิทธิมนุษยชน
อนึ่ง เพื่อการนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพและถูกต้องเป็นจริงนั้น จำเป็นที่จต้องมีการศึกษา หารือ ทำความเข้าใจ ในปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยศึกษาถึงปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรค ปัญหาในการเข้าถึงและใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ และการแก้ไขเยียวยา ทั้งปัจจัยภายใน อันได้แก่ วิถีชีวิต ความเป็นชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรมและความเชื่อ เป็นต้น และปัจจัยภายนอก ได้แก่ ทัศนคติของสังคม และสถาบันต่างๆของสังคม รวมทั้งศึกษาถึงความหมายและคำจำกัดความของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในบริบทของสังคมไทย และกฏหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อันทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื่อชาติในสามจังหวัดชายแดนใต้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรจัดให้มีโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำรายงานคู่ขนานนำเสนอสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในประเทศไทย เพื่อเป็นการศึกษาร่วมกันของหุ้นส่วนของปัญหา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานองค์การพัฒนาเอกชน ทนายความ ชุมชนที่ถูกเลือกปฏิบัติ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายให้มีความรู้ความเข้าใจในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเพื่อศึกษาทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นปัญหา รวมถึงขั้นตอนวิธีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในสามจังหวัดชายแดนใต้
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนในการทำรายงานคู่ขนานมีรู้ความเข้าใจในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ทั้งนิยามและลักษณะการพฤติกรรมที่เป็นการเลือกปฏิบัติ สิทธิและหน้าที่ตามอนุสัญญาฯ
2. เพื่อร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจในเนื้อหาและประเด็นที่นำเสนอในรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาฯ เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางกรอบการเรียนรายงานคู่ขนาน
3. เพื่อร่วมกันจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อนำเสนอสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในกลุ่มมาลายูมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
4. เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนในการทำรายงานคู่ขนานมีความรู้ความเข้าใจตรงกันในสภาพของปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในกลุ่มเชื้อชาติมาลายูมุสลิม ทั้งจากมุมมองของอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ กฏหมายในประเทศ และความเป็นจริงในบริบทของสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
5. เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนในการทำรายงานเข้าใจถึงการจัดทำรายงานคู่ขนานในแง่ของวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำรายงานและการเผยแพร่รายงาน
4. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนร่วมโครงการและระบบการประสานงาน
3. ผู้เข้าร่วม
1. การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายงานคู่ขนานได้แก่ องค์กรเครือข่ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และตัวแทนจากองค์กรภาคีดังต่อไปนี้
- วิทยาลัยอิสลาม มอ. ปัตตานี
- มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
- ศูนย์ทนายความมุสลิม MAC
- ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย YMAT
- สมาคมจันทร์เสี้ยว
- คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- เครือข่ายองค์กรพลเมืองเพื่อท้องถิ่น
รวมประมาณ 30 คน โดยมีการจัดแบ่งหัวข้อให้ผู้เข้าร่วมบางส่วนรับผิดชอบ เป็นร่างที่ 1 ก่อนหน้าการประชุม ดังนี้ ทุกหัวข้อขอให้มีการศึกษาถึงการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็ก หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสซ้ำซ้อนด้วย
หัวข้อ*รายงานฉบับร่างที่ 1
|
กลุ่มผู้รับผิดชอบ
กำหนดการส่งร่างหรือประเด็นนำการพูดคุย
1.เรื่องเชื้อชาติ อัตลักษณ์ ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษา
อ.อุดม ปัตนวงศ์
พล.ต.ตรี จำรูญ เด่นอุดม
มันโซร์ สาและ
อิบราฮิม ยานยา
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
2. เรื่องกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน
ศูนย์ทนายความมุสลิม
สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
3. เรื่องการศึกษา
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
วิทยาลัยอิสลาม มอ. ปัตตานี
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
4. เรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต
สมาคมจันทร์เสี้ยว
สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
5. เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่ง สิทธิที่ทำกิน
เครือข่าย ดร.สุกรี ฮะยีสาแม
แวรอมลี บูละ
นายฮะซัน ภาลวัน
เครือข่ายสหกรณ์อิสลาม
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
6. การเมืองการปกครอง
ดร. สุริยะ สะนิวา
ดร. สุกรี หลังปูเต๊ะ
อดินันท์ ฮะซานี
1 มีนาคม พ.ศ. 2551
5. ผู้รับผิดชอบการจัดประชุม
• มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
• สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
• ศูนย์ทนายความมุสลิม
6. ติดต่อประสานงาน
คุณญาดา หัตถธรรมนูญ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
111 ซ.สิทธิชน ถ.สุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม. 10310
โทรศัพท์ 02-6934939, 02-6934831, 089-1309757
โทรสาร 02-2753954 e-mail [email protected]
7. วันที่ประชุม 5 มีนาคม 2551 เวลา 9.00 - 17.30 น. ณ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี
299 หมู่ 4 ถ.หนองจิก ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี
โทรศัพท์ 073 335093-4, 073 336090-6