Skip to main content

นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า การเปิดตัวศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ เป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 31สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อทำงานเกาะติดอยู่กับสถานการณ์ภาคใต้มายาวนานหนึ่งปีเต็ม การตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ ก่อให้เกิดการสะสมองค์ความรู้ต่างๆไว้มากมาย เพียงแต่ไม่ได้มีการสังเคราะห์ข้อมูลซึ่งยังไม่สามารถนำไปใช้ได้

 

“เพราะฉะนั้นหลังจากได้รับความร่วมมือจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ข้อมูลที่เก็บไว้ได้รับการสังเคราะห์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหาภาคใต้เปรียบเสมือนคนเป็นโรค ดังนั้นเหตุผลที่ก่อตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ ก็คือ ต้องการให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลจากพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่ขัดแย้งกับพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งที่มีคนในพื้นที่นำเสนอข่าว ดังนั้นจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้าใจ และนำเสนอความถูกต้องมากยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากเปิดศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้แล้ว ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหารวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลงในที่สุด” นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าว

 

ครึ่งปี 49 เหตุรุนแรงคงที่ –แนวโน้มขยายความรุนแรง 

 

หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ทางด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ได้เปิดเผยข้อมูลที่ได้สังเคราะห์ร่วมกันกับศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ว่า จากสถิติที่ได้รวบรวมไว้และนำมาศึกษาวิเคราะห์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547-เดือนสิงหาคม 2549 พบว่าสถิติต่างๆในภาพรวมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

“เป็นความรุนแรงต่อเนื่อง 2 ปีกับ 8 เดือน ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่ามันจะหยุด คำถามที่น่าคิดคือเหตุการณ์ในปี 2549 มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่อาจตีความได้ 2 แนวทางคือ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งจังหวัดสงขลาบางส่วน ในรอบ 8 เดือนแรกของปี2549 หากจะกล่าวเฉพาะความถี่หรือจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบมีระดับคงที่หรืออาจจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2548 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระดับความรุนแรงในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2548กับปี 2549 ปรากกฎว่าในปี 2548 มีเหตุการณ์จำนวน 1,849 ครั้งเทียบช่วงเวลา 8 เดือนเช่นกันในปี 2549 มีเหตุการณ์ 1,202 ครั้ง เหตุการณ์เกิดขึ้นน้อยลงประมาณ 647 ครั้ง” รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีระบุ

 

32 เดือน สูญเสียมหาศาล –นราฯสถิติพุ่ง

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า “เมื่อมองตัวเลขการก่อเหตุในรอบ 32 เดือนพบว่ามีการก่อเหตุจำนวน 5,460 ครั้งเป็นความรุนแรงที่มีความต่อเนื่อง เมื่อแยกแต่ละพื้นที่จะพบว่าจังหวัดนราธิวาสมีตัวเลขของการก่อเหตุจำนวนมากที่สุดจำนวน 2,074 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 1,656 ครั้ง ส่วนยะลาเกิดเหตุจำนวน 1,412 ครั้ง ขณะที่ตัวเลขของผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต 32 เดือน รวมกันกว่า 4,243 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 1,730 ราย และบาดเจ็บ 2,513 ราย แต่มีผู้ได้รับผลกระทบนับหมื่นคน”

 

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าวว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงรวม 1,281 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิต 418 ราย และบาดเจ็บ 863 ราย ส่วนใน 8 เดือนแรกของปี 2549 พบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 1,160 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 422 รายและบาดเจ็บ 684 ราย แม้จำนวนครั้งของเหตุการณ์จะต่างกันอยู่ 647 ครั้ง แต่ในแง่ของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2549 กลับมีจำนวนมากกว่าเล็กน้อย

 

 “แสดงให้เห็นถึงระดับความเข้มข้นของความรุนแรงในแต่ละครั้งของเหตุการณ์ในปี 2549 ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียในจำนวนที่มากกว่า โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดธนาคารที่เพิ่งเกิดขึ้นในจังหวัดยะลา ซึ่งนอกจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดไม่น้อยเลยทีเดียว” ผศ.ดร.ศรีสมภพระบุ

 

ลอบยิง-วางระเบิด ยุทธวิธีสัมฤทธิ์ผลฝ่ายแนวร่วม

 

 “ประเด็นที่ผมต้องการย้ำให้ทุกคนเห็นคือ วิธีการในแง่ของการดำเนินการของฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ ที่ใช้ยุทธวิธีซึ่งหวังผลให้เกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่เป็นการยิง จำนวน 2,087 ครั้ง หรือจำนวนร้อยละ 40 ของเหตุการณ์ รองลงมาคือการวางระเบิดหรือโจมตีด้วยระเบิดมีจำนวน 967 ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของเหตุการณ์ อันดับ 3 คือการวางเพลิงจำนวน 721 ครั้งหรือร้อยละ 14 นอกจากนั้นเป็นการก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆ เช่นเผายางรถยนต์หรือใช้ตะปูเรือใบโปรยตามถนน เป็นต้น การก่อกวนมีประมาณ 701 ครั้งหรือร้อยละ 14 เช่นเดียวกัน” ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าว

 

นอกจากนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพยังเปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อมองจากเส้นทางของการใช้ยุทธวิธีการก่อเหตุในรอบ 32เดือนหรือ 2 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า มีการใช้ยุทธวิธีการก่อเหตุโดยใช้การยิงเป็นวิธีหลักตลอดมา ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะการยิงรายวันตามพื้นที่ต่างๆกระจายไปในวงกว้างทุกพื้นที่ ส่วนการวางเพลิงเป็นอันดับ 2 ในช่วงปี 2547 นับแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา การใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุมีระดับสูงขึ้นมากอย่างผิดสังเกต โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนในปีดังกล่าวเป็นต้นมา คลื่นการใช้ระเบิดโจมตีสูงสุดอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2549 มีการใช้ระเบิดมากที่สุดจนทำสถิติสูงกว่าระดับความรุนแรงชนิดอื่นๆในเดือนเดียวกัน และเป็นการก่อเหตุโดยใช้ระเบิดมากที่สุดในรอบ 3 ปีสูงถึง 88 ครั้งในเดือนเดียว

 

ครึ่งปี 49 แนวโน้มไทยพุทธตกเป็นเหยื่อเหตุรุนแรง

 

 รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าวว่า จากข้อมูลที่มีการสำรวจกันก่อหน้านี้จะพบว่าคนมุสลิมสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากกว่า แต่จากข้อมูลในครึ่งปีแรกของปี 2549 พบว่า จำนวนคนไทยพุทธตกเป็นเหยื่อของเหตุรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

 “ตั้งแต่ปี 2547 ข้อมูลระบุว่า คนมุสลิมเสียชีวิตจำนวน 924 ราย คนไทยพุทธ 697 รายข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าจะขัดแย้งกับความรู้สึกของคนไทยพุทธทั่วไปที่รู้สึกว่าตนเองตกเป็นเป้ามากกว่า แท้จริงแล้วคนมุสลิมกลับเป็นผู้ที่ได้รับความสูญเสียในชีวิตมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าสนใจและพิจารณาด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในรอบ 6 เดือนแรกระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายนของปี 2548 และปี 2549 มีผู้เสียชีวิตที่เป็นคนไทยพุทธมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ใน 6 เดือนแรกของปี 2548 คนพุทธเสียชีวิต 111 คน

 

ขณะที่ปี 2549 ในรอบ 6 เดือนแรกคนพุทธเสียชีวิตจำนวน 141 คนอีกด้านหนึ่งผู้ที่เสียชีวิตที่เป็นมุสลิมใน 6 เดือนแรกของปี 2548 มีจำนวน 208 คนในขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2549 มุสลิมเสียชีวิต 183 คนแสดงว่าในปีปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนมุสลิมมีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าในภาพรวมคนมุสลิมจะยังคงเสียชีวิตจำนวนมากกว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าจับตาในบางพื้นที่ที่มีข่าวการกำหนดเป้าหมายการโจมตีคนไทยพุทธจากฝ่ายแนวร่วม” ผศ.ดร.ศรีสมภพเผย

ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์คือเหยื่ออันดับ 1

 

จากการรวบรวมสถิติของผู้ตกเป็นเหยื่อเหตุรุนแรง ผศ.ดร.ศรีสมภพเปิดเผยตัวเลขว่า เป้าหมายของการก่อความรุนแรงในอีกด้านหนึ่งที่เห็นได้อย่างชันเจนก็คือ ราษฎรโดยทั่วไป ข้อมูลปี 2547 ถึงปี 2549 แสดงให้เห็นว่ามีราษฎรที่เป็นเหยื่อหรือเป้าหมายของการทำร้ายสูงมากถึง 1,462 คนหรือร้อยละ 47 ของเหยื่อแห่งความรุนแรงทั้งหมด รองลงมาคือ ตำรวจ/ตชด/นปพ.481 คน หรือร้อยละ 16, ทหารเสียชีวิต 373 นาย คิดเป็นร้อยละ 12,คนงานหรือลูกจ้างทางราชการเสียชีวิต 226 หรือร้อยละ 7 ส่วนกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต 185 คน คิดเป็นร้อยละ 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด

 

ระวัง! คลื่นการโจมตี ขยายความรุนแรงวงกว้าง

 

 รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าวว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2547- เดือนสิงหาคม 2549 เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะแบบแผนของฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ มี 2ประการคือ 1.การก่อเหตุรายวัน ที่ยังดำเนินอยู่โดยไม่มีทีว่าจะหยุด และ 2. คือคลื่นของความรุนแรงซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการและการประสานงานค่อนข้างเป็นระบบซึ่งจะมีผลต่อการได้เปรียบทางการเมืองด้วย เพราะการโจมตีและปฏิบัติการสามารถกระทำในวงกว้างในหลายๆพื้นที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

 

“ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ซึ่งเกิดเหตุระเบิดพร้อมกันในหลายๆจุด เราจะเห็นว่ามันเป็นลักษณะคลื่นของความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในหลายพื้นที่ ล่าสุดคือการวางระเบิดธนาคารต่างๆในจังหวัดยะลา ซึ่งน่ากลัวมาก” ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าว

ข้อมูลชี้ 2 ปีรัฐแก้ไฟใต้ล้มเหลว-ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

 

รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามว่ารัฐไทยล้มเหลวในการแก้ปัญหาหรือไม่ หรือขาดความชอบธรรมในการจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทางการเมืองและความมั่นคงหรือไม่รัฐได้ใช้มาตรการความมั่นคงโดยการส่งกองกำลังทหารลงมาเป็นจำนวนมากและสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนนับหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)เพื่อศึกษาและแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้งด้วย

 

 “ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้จัดเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่อง “ค่านิยมประชาธิปไตย” เป็นความร่วมมือระหว่างนักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซปปี้ สหรัฐอเมริกา กับนักรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี การสุ่มตัวอย่างประชากร 1,500 คนใน 3 จังหวัดพบว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวนายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง ศาล รัฐสภา ส่วนสถาบันฝ่ายข้าราชการนั้น ประชาชนไม่ไว้ใจข้าราชการตำรวจมากที่สุด สถาบันทางด้านยุติธรรมเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองได้รับความไว้วางใจสูงที่สุด

 

น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่า ชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ข้าราชการพลเรือนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน บทบาทของนักการเมืองระดับชาติก็ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมองว่ารัฐไม่ได้ล้มเหลว แต่รัฐก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก

 

วิชาชีพครูถูกคุกคามมากที่สุดในโลก

 

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสหพันธ์ครู จ.ยะลา  กล่าวว่า ในฐานะของตัวแทนผู้ที่อยู่ในวิชาชีพครู และทำงานอยู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาถือว่าอาชีพครูเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นมากพอสมควร โดยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจ.สงขลาบางส่วน วันที่ 4 ม.ค.47 จนถึงปัจจุบัน บุคลากรในวิชาชีพ ข้าราชการครู ข้าราชการประจำสำนักงานในสังกัดการศึกษา ลูกจ้างเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งหมด 50 ราย บาดเจ็บ 47 ราย เป็นระดับผู้บริหารสถานศึกษาถึง 5 รายที่เสียชีวิต นักเรียนเสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 32 ราย คิดเป็นเปอร์เซนต์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ นราธิวาส 29 เปอร์เซ็นต์ ปัตตานี 28 เปอร์เซ็นต์  และยะลา  41 เปอร์เซ็นต์

 

 “ครูใน 3 จังหวัดจะไปสอนหนังสือลำบากมาก เกิดความกลัว ความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา หากขวัญกำลังใจในการสอนของครูตกอยู่ในสภาพนี้ ทุกอย่างกระทบกันไปหมดทั้งหลักสูตร ไปจนถึงนโยบายการศึกษา มันเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน คุณภาพของเด็กนักเรียน อนาคตของเด็กในพื้นที่แย่ลงอย่างแน่นอนหากเป็นอยู่เช่นนี้” ที่ปรึกษาองค์กรครู 3 จังหวัดเผย

ฟันธง! ฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดน

 

 ที่ปรึกษาสหพันธ์ครู จ.ยะลา กล่าวอีกว่า บุคลากรครูในพื้นที่เข้าใจสถานการณ์อย่างไร ส่วนมากจะสังเกตุจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ได้พบเห็น อย่างกรณีของผมเองรับราชการเป็นครูอยู่ในพื้นที่ 30 กว่าปี เหตุการณ์เกิดขึ้นมาตลอด  ครั้งแรกที่เจอคือครูถูกจับเป็นตัวประกัน  จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีเหตุการณ์เช่นนี้มาตลอด ในส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องมายาวนาน  ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเป็นเงื่อนไขและบทบาทหลัก  ส่วนในอื่นๆ ที่เข้าใจกันว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดความไม่สงบอย่าง ยาเสพติด คอรัปชั่น และอาชญากรรม เป็นเพียงเงื่อนไขย่อย

 

“ในทัศนะของครูคนหนึ่งที่ติดตามสถานการณ์ตามโครงสร้างที่เกิดขึ้นพอจับเค้าได้ว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอุดมการณ์ เพื่อต้องการที่จะปลดปล่อยพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นอิสระการปกครองของรัฐไทยหรือสยาม อย่างที่เป็นการสั่งสมและสอนกันมาต่อเนื่องยาวนาน โดยกลุ่มองค์กรเหล่านี้พยายามหยิบยกเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากฝีมือของคนของรัฐเพื่อชักจูงในประชาชนในพื้นที่สนับสนุนความรู้สึกนี้ จะเห็นได้จากเจ้าหน้าที่ที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือข้าราชการตำรวจ เพราะเป็นอาชีพที่ประชาชนไม่ค่อยจะชอบในการปฏิบัติ”

 

รัฐต้องหยุดความคิดแบ่งแยก-อย่าเอาคนนอกมาแก้ปัญหา

 

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จุดมุ่งหมายและยุทธศาสตร์ที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ใช้ อย่างแรกคือพยายามแยกคนไทยพุทธและมุสลิมออกจากกัน อย่างเช่นในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา ที่ยิงคนไทยพุทธในพื้นที่ โดยเอาความกลัวไปใช้ให้คนหนี มีการย้ายออกจากพื้นที่ของคนไปเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้คนไทยพุทธในพื้นที่เหลืออยู่เพียง 8 – 9  หมื่นคน จากเดิมที่มีอยู่ 3 แสนกว่าคน  ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องแนวความคิดแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตามที่พูดไปแล้วว่า  เรื่องของการแบ่งแยกดินแดนได้ถุกปลูกฝั่งและสั่งสอนกันมายาวนานในพื้นที่ หากยังเป็นเช่นนี้อยู่ เป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน รัฐต้องพยายามทำอย่างไรให้คนคิดเช่นนี้น้อยลง รวมไปถึงรัฐต้องไว้ใจคนในพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา แต่ไม่เป็นเช่นนั้น รัฐกลับเอาคนจากที่อื่นลงแก้ไขปัญหา หากยังเป็นเช่นนี้พื้นที่ 3 จังหวัดคงลำบากแน่

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตาย-เจ็บอื้อ

 

 นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา จ.สงขลา ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันสถานบริการสุขภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีก 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป  4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 26 แห่ง และสถานีอนามัย 323 แห่ง  ซึ่งทุกแห่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมด

 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา จ.สงขลาเปิดเผยว่า ข้อมูลทั้ง 32 เดือน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับบาดเจ็บรวมทั้งหมด 15 คน และเสียชีวิตทั้งหมด 7 คน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะการให้บริการเชิงรุก การลงพื้นที่ให้บริการและเยี่ยมเยียนชาวบ้านไม่ค่อยมีเหมือนในอดีต แต่จะมีบ้างก็เฉพาะ อสม.ที่ทำหน้าที่ให้บริการแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เนื่องด้วยเพราะเป็นคนในพื้นที่และใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด แต่ก็ยังมี อสม.ได้รับผลกระทบด้วย มีอสม.เสียชีวิตแล้วรวม 23 คน บาดเจ็บ 8 คน

 

 “ผลกระทบต่อบุคลากรนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความไม่สบายใจของคนในครอบครัวและการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน ส่วนผลกระทบต่อระบบบริการระดับสถานีอนามัยนั้น จะเป็นเรื่องของจำนวนผู้รับบริการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยมีแนวโน้มลดลง ในปี 2545 มี 3.42 ลดลงเหลือ 3.26 ในปี 2547 ทำให้ สถานีอนามัยมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการ มีการเปิดให้บริการช้าและปิดเร็ว การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ และยังมีการปิดบริการเป็นบางช่วง”นายแพทย์สุวัฒน์กล่าว

 

แพทย์/พยาบาลลด-แนะกล้าสวนโยบายรัฐเพื่อความอยู่รอด

 

ในส่วนของผลกระทบที่มีต่อการจัดบริการของโรงพยาบาลนั้น นายแพทย์สุวัฒน์เปิดเผยต่อไปว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก  โดยเฉพาะการให้บริการเชิงรุก ด้านทันตกรรมลดลงถึง 50% ด้านการเยี่ยมบ้านลดลง 60 % ด้านการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมโรคลดลง 70% และด้านการรักษาพยาบาลลดลง 25% ปัจจุบันหมอที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นหมอที่เป็นคนพื้นที่ถึง 66.7% และส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่กลับมาทำงานใช้ทุน หลังจากใช้ทุนครบก็ผลัดเปลี่ยนโยกย้ายกันไปตามที่ต่างๆ ทำให้แพทย์ในพื้นที่ขาดแคลนคือแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรม ขณะนี้กรมการแพทย์ทหารบกได้ส่งแพทย์ศัลกรรมมาอยู่ในพื้นที่ 3 คน

 

 “การที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ด้านนี้อยู่ได้ แต่ละพื้นที่ก็มีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป เช่น โรงพยาบาลรามัน ถึงแม้บางเรื่องจะต้องสวนกระแสกับนโยบายของรัฐ แต่เพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของบุคลากรและชาวบ้าน โรงพยาบาลก็จำเป็นต้องทำ” ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทกล่าวทิ้งท้าย.

 

ที่มา: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง