Skip to main content

          บรรยากาศหน้าเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี เต็มไปด้วยญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำตามปกติ  หลักจากที่เกิดเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 54 ที่ทำให้มีนักโทษเสียชีวิต 1 ราย  หนึ่งวันถัดจากวันที่เกิดเหตุการณ์เป็นวันที่ 8 ของเดือนเซาวัล(เดือนหลังจากเดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลาม)  เป็นวันที่ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานีมีการเลี้ยงฉลองเมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจการถือศีลอด 6 วันในเดือนเซาวัล ซึ่งได้มีกำหนดให้หลังจากที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนครบ 1 เดือนแล้ว หากผู้ใดถือศีลอด 6 วันในเดือนเซาวัลจะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 1 ปี และในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้มีการกำหนดวันหลังจากถือศีลอดได้ครบ 6 วันแล้วให้เป็นวันฉลองและให้มีการเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน)

          สถานการณ์ที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีหลังจากเกิดเหตุ ในวันนี้มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะเข้าไปตรวจค้นภายในเรือนจำ แต่ด้วยการเรียกร้องของผู้ต้องขังให้เปิดการเยี่ยมผู้ต้องขังได้อย่างปกติ เนื่องจากในวันอังคารที่ 6 ก.ย. ตรงกับวันที่ 8 เซาวัล ซึ่งเป็นวัน “ฮารีรายอแน” ที่จะมีญาติมาเยี่ยมและนำเอาอาหารที่ได้เตรียมไว้มามอบให้ญาติพี่น้องที่ถูกขังในเรือนจำให้สามารถรับประทานอาหารได้อย่างที่คนภายนอกรับประทาน

          ในทัศนะอิสลามวันสำคัญในศาสนาอิสลาม วันอีฎ หรือวันเฉลิมฉลองในอิสลามมีเพียง 2 ช่วงเวลาเท่านั้น คือ วันอีฎิลฟิตรีย์ (วันฉลองหลังจากถือศีลอดเดือนรอมฎอน) และวันอีฎิลอัฎฮาย์ (วันฉลองตรงกับวันที่ประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ)

          ชาวมลายูมุสลิมปาตานีในพื้นที่เรียกว่า “ฮารีรายอแน” วันฉลอง 6 วัน  หมายถึงการฉลอง เลี้ยง สังสรรค์ หลังจากที่ประกอบภารกิจถือศีลอด 6 วันในเดือนเซาวัลเสร็จสิ้น 

      ดังนั้นฮารีรายอแน ไม่ได้เป็นประเพณีหรือวันสำคัญในอิสลามแต่อย่างใด

      แล้วรายอแนเกิดขึ้นเพื่ออะไร?

      รายอแน ไม่ได้มีกำหนดในตารางปฏิทินวันสำคัญในอิสลาม มีทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดวันดังกล่าว หรือเรียกรายอแนว่าเป็นสิ่งที่บิดอะห์(สิ่งที่อุตริขึ้น) แต่ “รายอแน”  ไม่ได้เป็นศาสนกิจที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้แต่อย่างใด   แต่เป็นกุศโลบายหนึ่งที่ผู้รู้ในอดีตได้กำหนดไว้เพื่อให้ใช้วันหลังจากถือศีลอด 6 วันในเดือนเซาวัล  เป็นวันที่จะให้ประชาชนร่วมกันออกไปเยี่ยมกูโบร์  โดยรูปแบบที่ออกมาเป็นการทำความสะอาดกูโบร์  เมื่อเราดูแล้วมันย่อมเป็นกิจกรรมสามารถทำได้ในวันปกติทั่วไป  แต่ด้วยแนวคิดของผู้รู้ในอดีตไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อทำความสะอาดแต่เพียงอย่างเดียว เราสามารถมองเห็นถึงความร่วมมือในการทำกิจกรรมร่วมในวันดังกล่าวด้วย

      การกำหนดในวันรายอแน เป็นกุศโลบายที่กำหนดเพื่อประชาชนมีความร่วมมือ แสดงให้เห็นว่าในอดีตความร่วมมือ ความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม ชุมชน ขาดหายไป  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหมดวันหนึ่งวันใดที่สามารถให้คนในชุมชนออกมาร่วมแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ซึ่งปัญหาการขาดความเป็นน้ำหนึ่งไม่ได้มีเฉพาะในอดีต หรือในประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว  ปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างแนวคิดลัทธิทางศาสนา  อำนาจ  การเมืองการปกครอง

      และ รายอแน คงไม่ใช่เฉพาะเพื่อการสนับสนุนให้ประชาชนออกมาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งเท่านั้น  แต่เมื่อได้ออกมาเยี่ยมกูโบร์แล้ว  ทำให้ผู้ที่ออกมาเยี่ยมได้รำลึกถึงความตาย  สิ่งที่มนุษย์ทุกคน และสิ่งมีชีวิตทุกประเภทต้องพบเจอกับวันดังกล่าวอย่างแน่นอน  นี่นับง่าเป็นสิ่งที่ผู้รู้ในอดีตให้ความสำคัญลำดับต้นๆ

      ในความเป็นอิสลามสังคมมลายูปาตานีเมื่ออดีต  ย่อมมิได้สมบูรณ์แบบตามต้นฉบับ  ส่งผลให้เหล่าอูลามา(ผู้รู้ในเรื่องศาสนาอิสลาม)  มีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสังคมมลายู  สังคมที่ในอดีตเมื่อมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา  อูลามา ผู้รู้จะเป็นที่พึ่งและทางออก  ผู้ซึ่งที่ชาวบ้านในสังคมมลายูมุสลิมให้ความเคารพนับถือ  และให้การยอมรับในคำตัดสินชี้ขาดในประเด็นปัญหาทางศาสนา

      ปัจจุบันการให้ความเคารพนับถือ และการกำหนดสถานะของเหล่าอูลามาในสังคมมลายูมุสลิม ถูกลดระดับลง เป็นเพียงผู้ที่คอยสอนอยู่ในรั่วสถานบันปอเนาะ  ออกมาละหมาดซานาซะห์(ละหมาดให้ผู้ที่เสียชีวิต)  แต่เพียงอย่างเดียว
 ผู้ที่สามารถชี้นำ หรือกำหนดทิศทาง ในสังคมมลายูมุสลิมในปัจจุบันนี้ได้ เป็นคนกลุ่มใด  การให้ความยอมรับของชาวบ้าน หรือประชาชนในพื้นที่มีมากน้อยแค่ไหนต่อกลุ่มที่ออกมาแสดงตนว่าเป็นผู้นำ

          การโยนโถ ด่าว่า กล่าวหาเหล่าอูลามา โดยขาดความนึกคิด ไตร่ตรองให้ดีถึงเป้าหมายที่แท้จริงของกิจการงานทางศาสนาที่มาจากการกำหนดของเหล่าอูลามาได้วางไว้นั้น  ท่านเองจะกลับเป็นผู้มาสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ความขัดแย้งในกลุ่มอิสลามิกชนกันเอง

          เราลองหันกลับไปมองในสิ่งที่ผู้รู้ในอดีตได้กำหนดและระบุไว้ ว่าเพื่อสิ่งใด  ที่ทำให้ท่านเหล่านี้ต้องคิดกุศโลบายต่างๆออกมา  ท่านทำเพื่อตนเอง หรือเพื่อสังคม ชุมชนมุสลิม
 แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ต้องขังในเรือนจำเรียกร้องให้ทางเรือนจำเปิดเยี่ยมในวันนี้ และญาติสามารถมาเยี่ยมได้ทันที่  ทั้งที่เมื่อวานเพิ่งเกิดเหตุรุนแรงขึ้นภายในเรือนจำ สะท้อนว่าวันรายอแน เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่  ขนาดที่ทำให้ “คนใน” เรือนจำต้องร้องขอให้เปิดเยี่ยม 

          “รายอแน”  เป็นวันสำคัญของมลายูมุสลิมปาตานี  
 

          และฝากไปยังผู้ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และกำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสังคมมลายูมุสลิมในพื้นแผ่นดินนี้ การหักดิบ จะทำให้ผู้ที่เสียมากที่สุดคือประชาชน และตัวท่านเองก็ คือ ประชาชน