มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
เผยแพร่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นจดหมายเปิดผนึก
ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิจารณาการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จังหวัดชายแดนใต้ครั้งหน้า
ทบทวนที่มาของกฎหมาย แก้มาตราที่ละเมิดสิทธิฯ ยกเลิกมาตราที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน เป็นครั้งที่ 25 ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2554 รวมเป็นระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 6 ปี โดยมีเหตุผลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาทำงานจริงเพียง 1 เดือน จึงขอเวลาในการวิเคราะห์สถานการณ์
ตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการต่ออายุการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาลต่างได้อ้างเหตุจำเป็นด้านการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคง โดยมิได้พิจารณาที่มาของกฎหมาย บทบัญญัติและระเบียบที่อาจละเมิดสิทธิฯขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นกฎหมายทั่วไปหลายบทเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกันนั้น พรก.ฉุกเฉินมีเจตนารมณ์มุ่งให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเป็นการชั่วคราวอย่างชัดเจนเพียงครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และจะประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จะยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนที่มาของกฎหมายและการประกาศขยายระเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งต่อไป ดังนี้
1. รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติโดยพลัน
2. ต้องแก้ไขมาตราและระเบียบการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินที่มีข้อบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ และทำให้มีการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก เช่น การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยเพียงเหตุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย 30 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องนำตัวมาแสดงต่อศาล การไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุที่ใช้ในการควบคุมตัว การไม่มีทนายความอยู่ร่วมในระหว่างการซักถาม เป็นต้น
3. แก้ไขกฎหมายพรก. โดยยกเลิกมาตรา 16 ที่กำหนดว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพรก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
4. ทบทวนที่มาของพรก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกระบวนการจัดทำพรก.ฉุกเฉินฯ เมื่อปีพ.ศ. 2548 เกิดจากการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ แม้หลังจากประกาศใช้จะได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาในภายหลัง แต่ก็มิได้มีกระบวนการศึกษาและอภิปรายเนื้อหาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วน และโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
พิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ในการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินฯจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินฯเพื่อซักถามให้ได้รับคำสารภาพและคำซัดทอด และมีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเพียงคำรับสารภาพที่ได้ในชั้นซักถามเท่านั้น จากสถิติมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือคดีความมั่นคงมากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำนวน 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด
โดยตัวแทนของมูลินิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในวันพุธที่ 15 กันยายนพ.ศ. 2554 ที่สำนักนายกรัฐมนตรี เวลา 9.30 น. โดยสำเนาจดหมายดังกล่าวจะส่งให้ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาความมั่นคงเพื่อพิจารณา
เอกสารประกอบ: สำเนา จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554