ไชยยงค์ มณีพิลึก
หลังเสียง”คาร์บอมบ์”ที่ตลาดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ไม่กี่ชั่วโมง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้ซึ่งมีหน้าที่ รักความความสงบได้ออกมาให้ข่าวถึงสาเหตุของ”คาร์บอมบ์”ครั้งนี้ในลักษณะ”ฟันธง”ว่า เกิดจากการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จับกุมยาเสพติด ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ขบวนการค้ายาเสพติด จึงได้”ว่าจ้าง” ให้”แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อความไม่สงบ เพื่อเป็น ตอบโต้ เจ้าหน้าที่รัฐ
และก่อนหน้านี้ ในการทำ”คาร์บอมบ์” ในเขตเทศบาลนครยะลา พล.ท.อุดมชัย ก็ได้เคยให้ข่าวว่า “คาร์บอมบ์” ที่เกิดขึ้น มาจาก สาเหตุที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จับกุมผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยมีการระบุชัดเจนว่า การค้าน้ำมัน และ ยาเสพติด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภัย”ทับซ้อน” โดยคนในขบวนการ ค้ายาเสพติด น้ำมัน และ ของผิดกฎหมาย เป็นผู้สนับให้สนุนขบวนการ”แบ่งแยกดินแดน” และ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้การสนับสนุนและคุ้มครอง ขบวนการค้ายาเสพติด นำมันเถื่อน และ สิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ เป็นลักษณะ”ต่างตอบแทน” ดังนั้นการที่จะทำลาย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ อ่อนแอลง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องทำลาย ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และ ธุรกิจผิดกฎหมายเสียก่อน เพื่อปิด”กระเป๋าเงิน” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เพราะไม่ว่าจะเป็น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่จังหวัดอาเจ๊ะประเทศอินโดนีเซีย หรือกลุ่ม”โมโรฯ” ที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ตลอดถึง กลุ่มก่อการร้ายสากล”อัลเคด้า” ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ หรือ ไม่มีอุดมการ ต่างต้องขับเคลื่อนด้วย”เงิน” ทั้งสิ้น การก่อการร้ายจึงจะประสพความสำเร็จ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่มี”เม็ดเงิน”สนับสนุน เสียงระเบิด เสียงปืน และ คนตาย ก็จะลดน้อยลง การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยแนวคิดของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ในการปราบยาเสพติดและน้ำมันเถื่อน จึงเป็น แนวนนโยบายที่ ถูกต้อง ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
แต่เมื่อติดตามดูการปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต่อการภัย”ทับซ้อน”ที่ได้ทำงานตั้งแต่ต้นปี 2554 นั้น จะพบว่าวิธีการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่ถูกต้อง ยังมีอุปสรรคขัดขวางเช่น ยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงภัย”ทับซ้อน” ข้าราชการส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่กำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เช่น ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่มีหน้าที่โดยตรงกับภัย”ทับซ้อน” เช่น ศุลกากร สรรพสามิต ปปส. และ ฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจังกับ กอ.รมน.ภาคที่ 4 ส่วนหน้าในการแก้ปัญหา
โดยข้อเท็จจริง ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างกับปัญหายาเสพติดในภูมิภาคอื่นๆ ที่นี่มีปัญหาการค้าการเสพของยาเสพติด”ท้องถิ่นนิยม” และเป็นตลาดการค้ายาเสพติด”สมัยนิยม” อันดับใหญ่ เพราะมีพื้นที่ติดกับประเทศ มาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางการส่งออก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.สงขลา ,สตูล, นราธิวาส.ปัตตานี และ ยะลา จึงเป็นแหล่ง”เก็บกัก”ยาเสพติด และรอจำหน่ายในพื้นที่ และรอการ”ส่งออก”สู่ประเทศที่สาม จำนวนยาเสพติด และจำนวนผู้ค้ายาเสพติด จึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็น”เคือข่าย” เชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติดทั่วประเทศและต่างประเทศ
ยาเสพติด”ท้องถิ่นนิยม” คือยาเสพติดประเภท 4 คูณ ร้อย 800 คูณ 100 ซึ่งใช้ส่วนผสมด้วยใบกระท่อม ยาแก้ไอ น้ำอัดลม และสารอื่นๆ ที่เป็นการคิดค้นขึ้นเองของกลุ่มผู้เสพ เพื่อเพิ่มความ”มึนเมา”เพิ่มความ”เคลิมคลื้ม” โดยยาเสพติดแบบ”ท้องถิ่นนิยม”นี้ มีวัยร่น เยาวชน ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 70 เปอร์เซ็น ต่างเสพติด และผลิตกันเองในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตั้งแต่ในพื้นที่”ชายขอบ” จนถึง”เทศบาลนคร” ด้วยเหตุผลคือ ราคาถูก ผลิตได้เอง และเป็นการทำธุรกิจที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และที่สำคัญ โทษเมื่อถึงจับกุมเป็นเพียง”ลหุโทษ”เท่านั้น
ปัจจุบันการค้า”พืชกระท่อม” และการค้า”ยาแก้ไอ” กลายเป็นธุรกิจของ เยาวชน ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกวาดซื้อใบกระท่อม ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงมา และจากรัฐต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย ที่ติดกับชายแดนไทย ซึ่งวิธีการมีทั้งซุกซ่อนมากับรถยนต์ และว่าจ้างรถบรรทุกสินค้า และที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆคือ ส่งทางไปรษณียภัณฑ์ มายังจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ ทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด ต่างทราบดีว่าไปรษณียภัณฑ์จำนวนมาก เป็น”กระท่อม” แต่ไม่กล้าแจ้งเจ้าหน้าที่เพราะรู้ว่าถ้าแจ้งเจ้าหน้าที่ ก็จะไม่มี”ลมหายใจ”
ส่วนยาเสพติด”สมัยนิยม”คือ ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอิน แม้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ใช่แหล่งผลิต แต่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแหล่งจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น เป็น กลุ่ม ค้ายาเสพติด ทั้งจำหน่ายในพื้นที่ และ ส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เคยตรวจค้นได้เงินสด 40 กว่าล้านบาท ซุกอยู่ในท่อพิวีซี และฝังไว้ในดิน รวมทั้งการตรวจรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุและพบเงินสดซ่อนในเซฟที่ทำขึ้นพิเศษกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างเล็กเท่านั้น ส่วนขบวนการใหญ่ ที่มีอยู่ทุกอำเภอใน 5 จังหวัด ยังไม่ได้ถูกจับกุม และเงินที่กลุ่มค้ายาเสพติดเหล่านี้ได้มีก็จะถูก”ฟอก” โดยการทำไปซื้อ ที่ดิน สวนยาง สวนปาล์มบ้านพัก และมีอยู่จำนวนมากที่ใช้”แนวร่วม” ข่มขู่ และ ฆ่า เข้าของสวนยาง สวนปาล์ม เพื่อซื้อในราคาถูกๆ และธุรกิจที่ขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ 5 จังหวัดนิยมใช้บังหน้าเพื่อ”ฟอกเงิน” คือการทำ”เต็นท์รถ”มือสอง ซึ่งมีการตรวจสอบจากฝ่ายความมั่นคง พบว่า”เต็นท์รถ”มือสอง จำนวนหนึ่ง นอกจากพัวพันกับการค้ายาเสพติดแล้ว ยังเป็นที่มาของ”คาร์บอมบ์” ในหลายต่อหลายครั้ง
ดังนั้น นโยบาย การปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงเป็นนโยบายที่มีส่วนในการลดปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง เพราะเงินทุนส่วนหนึ่งที่”จ่าย” ให้กับ”แนวร่วม” ให้ วางระเบิด และ ฆ่ารายวัน หรือการก่อกวนในรูปแบบต่างๆ เป็นเงินที่มาจากการค้ายาเสพติด ถ้ายาเสพติดหมดไป หรือน้อยลง นั้นหมายถึงการน้อยลงของการก่อการร้าย และหากการปราบยาเสพติดแบบ”ท้องถิ่นนิยม” ได้ผล นั่นหมายถึงการดึงเอา เยาวชน ที่ด้อยคุณภาพชีวิต กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
แต่ปัญหาทั้งหมด จะฝากไว้กับ พล.ท.อุมมชัย ธรรมสาโรรัชน์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเพียงฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะงานปราบยาเสพติด ปราบน้ำมันเถื่อน ปราบของผิดกฎหมาย ล้วนเป็นงานที่ผู้อาศัย หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง และหน่วยงานเหล่านั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย รู้เรื่อง ป.วิอาญา เพื่อดำเนินคดี ดังนั้นการแก้ปัญหาจะได้ผล ต้องมีการทำงานแบบ”บูรณาการ” โดยหน่วยงานของรัฐทุกด้วย ต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่เรื่อง บูรณาการข้อมูล บูรณาการกำลังพล บูรณาการทุกสรรพสิ่ง ให้เป็นไปในจุดหมายเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา การปราบปรามที่ไม่เป็นผล และเผชิญกับการ”ตอบโต้” จาก”แนวร่วม “ ทุกครั้ง เป็นเพราะการใส่”เกียร์ว่าง” ของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง นั่นเอง
แต่ สิ่งที่ต้องระวังป้องกัน คือ ยิ่ง กอ.รมน.เปิดเกมรุก เรื่อง ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน และ การค้าของผิดกฎหมายมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องเผชิญการตอบโต้จาก”แนวร่วม”มากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องมีแผนในการพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการปล่อยให้ประชาชนในพื้นที่ต้องการเป็น”เหยื่อ”ของการแก้ปัญหา”ทับซ้อน” หลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้น คือความ”ล้มเหลว”ของการแก้ปัญหา นั่นคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้”การทหาร”แต่”เสียการเมือง”
และการ”เสียทางการเมือง” หมายถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังจะเกิดเหตุการณ์”คาร์บอมบ์” อย่างที่เกิดขึ้นใน อ.สุไหงโก-ลก อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเอง