Skip to main content

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก. โดย มีองค์กรภาคประชาสังคมร่วมภาคีทั้งหมด 17 องค์กร ออกหนังสือแถลงการณ์ ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา

โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐ 3 ข้อดังต่อไปนี้

1. หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขอให้รัฐปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และให้มีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

2. ให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามสมควรแก่กรณี

3. ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายใน 30 วัน ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

 

แถลงการณ์

กรณี/เรื่อง ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา

         เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ได้มีใบแจ้งข่าวจากศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งว่าศาลจังหวัดปัตตานีเรียกเจ้าหน้าที่ไต่สวนการควบคุมตัวไม่ชอบ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมนายนิเซ๊ะ นิฮะ ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี ในวันที่16 กันยายน 2554 เวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา โดยไม่ได้แสดงหมายแต่อย่างใด และควบคุมตัวไปยังค่ายทหารบริเวณโรงไฟฟ้าปัตตานี  ต่อมาเวลาประมาณ09.00 นาฬิกา วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และทำการซักถามโดยมิได้แจ้งว่าการควบคุมตัวและการซักถามดังกล่าว เป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ระหว่างการซักถามเจ้าหน้าที่สอบถามถึงประวัติส่วนตัว โดยมิได้มีการซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหารฯ แจ้งกับนายนิเซ๊ะ นิฮะ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ยื่นคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  โดยมิได้แจ้งว่าเหตุที่ขอออกหมายควบคุมตัวดังกล่าวเป็นไปด้วยความจำเป็นใด และในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นำผลการซักถามให้ผู้ถูกควบคุมตัวลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว โดยในเอกสารดังกล่าวผู้ถูกควบคุมตัวให้การปฏิเสธและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบใดๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ และย้ายสถานที่ควบคุมตัวไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา จึงเป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    ภายหลังจากที่ผู้ร้องคัดค้านได้ยื่นคำร้องแล้วนั้น ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านและนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัว ในวันวันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา

  ทั้งนี้นายนิเซ๊ะ นิฮะ นั้นปัจจุบันเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนตามวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น อดีตเป็นนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงสมัยที่มีการชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี2535 ร่วมกับพรรคสานแสงทองซึ่งเป็นพรรคการเมืองนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคมและชุมชนมาโดยตลอด อาทิเช่นงานค่ายอาสาพัฒนาชนบท หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน กระทั่งได้รับเลือกเป็นประธาน PNYS (กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เมื่อปี 2537 และต่อมาได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง 

ด้วยตระหนักถึงมาตรฐานแห่งหลักนิติรัฐที่มีเจตนารมณ์จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะผดุงซึ่งความยุติธรรมในสังคม  ถ้าพิจารณาถึงประโยชน์ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ โดยยึดหลักเจตนารมณ์แห่งหลักนิติรัฐข้างต้นแล้ว

  คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีเหตุผลแห่งตรรกะใด ที่จะยอมรับได้ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอ้างอำนาจพรก.ฯฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในขณะควบคุมตัวประชาชนที่ถูกสงสัย และตามอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนไม่มีสิทธิจะทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่ อาทิเช่น กรณีมีการซ้อมทรมานผู้ถูกสงสัยขณะควบคุมตัว โดยเฉพาะที่เป็นข่าวครึกโครม นั่นคือ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีนักศึกษาราชภัฎยะลา  

 เพื่อไม่ให้เป็นแค่น้ำผึ้งเพียงหยดเดียว ที่เป็นเหตุให้ต้องเกิดการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชน ที่ยกระดับมากกว่านี้ และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศต้องเสียชื่อเสียงต่ออานารยะประเทศที่เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากลนั้น เครือข่ายประสังคมคัดค้านพรก.ฉุกเฉิน จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐ ดังต่อไปนี้

1. หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขอให้รัฐปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และให้มีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

2. ให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามสมควรแก่กรณี

3. ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายใน 30 วัน ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

                                                                           ลงชื่อองค์กรภาคี

                                              เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก. ฉุกเฉิน

                                   สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)

  ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้(BOMAS)

  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

 องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

  สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)

  มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS)

  ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD)

ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS)

  สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA)

  สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE)

  สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.)

  เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(SPAN)

เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้(INSOUTH)

กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง(PNYS)