Skip to main content

 
คำแถลงข่าว
หวังรัฐบาลตระหนักผลกระทบ
ของการละเมิดสิทธิฯ จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
วันที่ 5 ตุลาคม 2554
 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเผยแพร่ให้ความรู้ทางกฎหมาย และช่วยเหลือคดีความแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม โดยมีพันธกิจในการพัฒนาและสร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายอาสาสมัคร ผู้ช่วยทนายความรวมถึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เพื่อผดุงความยุติธรรมนำสันติสุขสู่สังคม
 
จากกรณีการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 และต่อด้วยควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554
 
ต่อมา ญาติของนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ว่าการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ นั้น เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
 
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาลจังหวัดปัตตานี เป็นหมายเลขคดีดำที่ ฉฉ.47/2554 และศาลจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งเรียกเจ้าพนักงานตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ร้อง พร้อมทั้งให้นำตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวมาเพื่อไต่สวน ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 09.30 น.
 
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เวลา ประมาณ14.30 น. เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ก่อนวันนัดไต่สวนไปแล้ว ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไต่สวนต่อไป ศาลจึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคดีดังกล่าว
 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรหนึ่งในการที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยในมาตรา 11 (1) เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำเข้าสู่กระบวนการซักถามโดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิในการพบหรือปรึกษาทนายความเฉกเช่นผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ทั้งนี้มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อทบทวนการประกาศต่ออายุพรก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รายละเอียดตามสำเนาจดหมายเปิดผนึก ฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2554 – คลิกดูที่นี่)
 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2554 รวมเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,338 เรื่องร้องเรียน โดยในเรื่องร้องเรียนดังกล่าวนั้น ปรากฎว่าชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิประชาชน โดยการซ้อมทรมาน จำนวน 282 เรื่องร้องเรียน
 
และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ปรากฎว่ามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงสืบเนื่องจากบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน 495 เรื่องร้องเรียน โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 122 เรื่องร้องเรียน ศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 33 เรื่องร้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 27.04 และศาลพิพากษายกฟ้องมากถึงจำนวน 87 เรื่องร้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 72.95 มูลนิธิศูนย์ทนายความจึงเห็นว่า การใช้พยานหลักฐานในการซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ศาลได้ไต่สวน นำเสนอข้อเท็จจริงในชั้นศาลมาโดยตลอดเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งกรณีการซ้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กรณีลูกชายของอีหม่ามยะผา กาเซ็งและผู้ถูกควบคุมตัวร่วมกับอีหม่ามยะผา กาเซ็ง กรณีที่ควบคุมตัวราษฎรในพื้นจังหวัดสงขลา เป็นต้น
 
ศูนย์ทนายความมุสลิมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้นำเสนอ ทั้งตัวอย่างที่นำเสนอมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางรัฐบาลได้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิโดยการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไป
 
 
 
 
หมายเหตุ: ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://th.macmuslim.com/