Skip to main content
แถลงการณ์ฉบับที่ 2
17เครือข่ายประชาสังคมใต้ค้านพ.ร.ก.
ให้เวลารัฐ30วัน แจงยกเลิกพ.ร.ก.ฉฉ.
 
เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2เพื่อทวงถามตามข้อเรียกร้องข้อแรกข้อฉบับที่ 1 หลังจากปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยไม่ได้แสดงหมายใดๆ เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงถึงเหตุผลของการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ ว่าควบคุมตัวด้วยข้อมูลหลักฐานใด หลังจากแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ถูกเผยแพร่สู่สังคมสาธารณะ 3 วัน พร้อมเรียกร้องให้ภายใน30 วันรัฐบาลต้องแสดงชัดเจนต่อการยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 2
เรื่อง ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา       
กรณี ทวงถามข้อเรียกร้องต่อแถลงการณ์ฉบับที่ 1
อ้างถึง กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมนายนิเซ๊ะ นิฮะ โดยไม่ได้แสดงหมาย แล้วได้ควบคุมตัวไปยังค่ายทหารบริเวณโรงไฟฟ้าปัตตานี ต่อมาได้ควบคุมตัวไปซักถามยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กระทั่งถึงวันที่ 22 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ยื่นคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมิได้แจ้งเหตุความจำเป็นใดๆ และในวันที่ 25 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นำผลการซักถามให้ผู้ถูกควบคุมตัวลงลายมือชื่อในเอกสาร ครั้นต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวในวันที่ 26 กันยายน 2554 และย้ายสถานที่ควบคุมตัวไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่สวน โดยศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้าน ในวันวันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 09.30 นาฬิกา นั้น
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 17 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ในกรณีข้างต้น 3 ข้อ คือ
1.หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้( ฉบับที่ 1)ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขอให้รัฐปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และให้มีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ
2.ให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามสมควรแก่กรณี
3. ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายใน 30 วัน ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ อย่างเงียบๆ โดยมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงจากการนัดของศาลเพื่อไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 หรือไม่
เพื่อความชัดเจนในเจตนาของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมตัวและการปล่อยตัว นายนิเซ๊ะ นิฮะ ให้สังคมสาธารณะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อการเรียกร้องความยุติธรรมต่อประชาชนของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอเรียกร้องเพิ่มเติมดังนี้.-
1.ขอให้รัฐบาลชี้แจงถึงเหตุผลของการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ด้วยข้อมูลหลักฐานใด/และ การที่เจ้าหน้าที่ ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ก่อนถึงวันกำหนดนัดไต่สวนของศาล ด้วยเหตุผลใด?โดยให้ชี้แจงภายในเวลา 3 วัน หลังจากที่แถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่สู่สังคมสาธารณะ
2.ขอให้รัฐบาลแสดงท่าทีให้ชัดเจนต่อมาตรการการเยียวยาผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ โดยยึดกรณีของนายนิเซ๊ะ นิฮะ เป็นบรรทัดฐาน
3.ขอให้รัฐบาลมีคำตอบชัดเจนต่อกรณีการเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภายในระยะเวลา 30 วัน
อนึ่ง ภายใน ระยะเวลา 30 วัน หากรัฐบาลไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ เราเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล
 
 
ลงชื่อองค์กรภาคี
                                              เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก. ฉุกเฉิน
                                   สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)
  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
  ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้(BOMAS)
  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
 องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
  สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)
  มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS)
  ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD)
ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS)
  สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA)
  สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE)
  สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.)
  เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(SPAN)
เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้(INSOUTH)
กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง(PNYS)