Skip to main content

 

      ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะในชื่อใด มักมีเสียงหวั่นเกรงดังมาจากหลายภาคส่วนในสังคมไทยว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะเป็นการวางบันไดให้กับกลุ่มนักต่อสู้มลายูปาตานีบรรลุอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนของพวกเขา ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนหลายกลุ่ม ทำให้ผู้เขียนมองว่า ข้อกังวลดังกล่าวเป็นผลอย่างน้อย มาจาก 3 สาเหตุ อันใดอันหนึ่ง หรือทั้ง 3 สาเหตุรวมกัน ต่อไปนี้

 

              สาเหตุแรก คือ ความเชื่อที่ว่า การจะมีหรือไม่มีเขตปกครองพิเศษ ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดลงของระดับความรุนแรงในพื้นที่ แต่เป็นเพียงข้อเรียกร้องจากชนชั้นนำในพื้นที่บางกลุ่มที่พยายามกรุยทางเข้าถึงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ในพื้นที่ จึงไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะ 'หลงทาง' โดยการไปหนุนเสริมนโยบายใดใดที่จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน มีการสูญเสียทุกวัน ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เห็นด้วยส่วนหนึ่งว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อตัวปัญหา แต่เชื่อว่า การเกิดขึ้นของเขตปกครองพิเศษ หรืออะไรก็ตามที่จะสะท้อนอำนาจการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และบริหารกิจการท้องถิ่นโดยคนในพื้นที่เอง จะเป็นการปรับสภาพแวดล้อมและเปลี่ยนโครงสร้างที่เอื้อต่อการ ‘ทำงานลดความรุนแรง’ ได้ มากกว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่เป็นอยู่ และชะงักงัน

 

             สาเหตุที่สอง เวลาพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ หลายคนมักเข้าใจว่า กำลังพูดถึงการทำลายแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ทั้งที่เรากำลังพูดถึง 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยแต่ไม่ได้มีความหมายว่าจะไปทำลายหรือแบ่งแยก คือ

              (1)  เรื่องการออกแบบการใช้อำนาจ การจัดสรรอำนาจ และการจัดวางสัมพันธภาพใหม่ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในกรอบอำนาจอธิปไตยเดิม ขณะเดียวกัน การใช้อำนาจดังกล่าวในกรอบโครงสร้างเดิมในพื้นที่ชายแดนใต้ (และอาจจะรวมพื้นที่อื่นของประเทศด้วย) กำลงถูกตั้งคำถามอย่างมากเกี่ยวกับศักยภาพในการตอบโจทย์ของพื้นที่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถใช้แนวทางการแก้ปัญหารูปแบบใดเพียงรูปแบบเดียวแก้ปัญหาในทุกพื้นที่ได้อย่างสำเร็จรูป ? คำถามเกี่ยวกับการมีกลไกและระเบียบ ขั้นตอนการบริหารจัดการที่รวดเร็วทันท่วงที ? และคำถามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของพื้นที่/การกระจายผลประโยชน์สู่พื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นธรรม ? ด้วยเหตุนี้ การพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ ในมิติของการออกแบบโครงสร้างการใช้อำนาจดังกล่าวเสียใหม่ กลับจะช่วยธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรม (legitimacy) ในการดำรงอยู่ของอำนาจอธิปไตยเดิม มากกว่าจะทำลายแบ่งแยกมันด้วยซ้ำ

              (2) เรื่อง Autonomy และเรื่องการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (Self-Determination) ซึ่งคนจำนวนมากมองสองคำนี้ด้วยสายตาที่หวาดกลัว และเข้าใจไปว่า มันเป็นคำกบฏที่สะท้อนความพยายามปลดแอกแยกประเทศ แต่อันที่จริงแล้ว ทั้ง 2 คำนี้ เป็นฐานรากสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ในความหมายที่มันสะท้อนการมองธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีความปรารถนา และทางเดินชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย และเพราะเหตุนี้ การที่มนุษย์จะตัดสินชะตากรรมของตนเอง(self-determination) ครองชีวิตตนเองได้อย่างเป็นนายตนเอง (autonomy) แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนมนุษย์คนอื่น จึงเป็นเรื่องที่รัฐตามระบอบประชาธิปไตยควรวางหลักประกันไว้ให้ และรัฐที่ทำหน้าที่ได้เช่นนี้ จึงยังมีความชอบธรรมในการปกครองอยู่มาก กลับกัน รัฐที่ไม่สามารถสร้างประกันในเรื่องดังกล่าวและล้มเหลวในการเปิดพื้นที่ให้กับความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของสมาชิกได้มีที่ยืน พลเมืองส่วนที่ถูกกดทับทางเดินชีวิตเองก็คงไม่รับการประกันเช่นเดียวกันว่า จะยังมอบความชอบธรรมให้กับรัฐในการปกครองพวกเขาอยู่มากน้อยเพียงใด

           ถ้าท่าทีของสังคมใหญ่เป็นผลมาจากสาเหตุนี้ ก็แสดงว่า คนจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่าง sovereignty กับ autonomy ซึ่งแปลว่า การเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะวิชารัฐศาสตร์ในฐานะวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาคณะต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องเรียน ไม่สามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย อันเป็นพื้นฐานของการสอนวิชานี้ได้ แนะนำอย่างน้อยใจว่า ถ้าอาจารย์รัฐศาสตร์เปลี่ยนไปอธิบายในภาษาของสาขาวิชาอื่นที่เป็นที่นิยมศึกษาในสมัยนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะช่วยให้สังคมเข้าใจเรื่องเขตปกครองพิเศษได้ดีขึ้นก็ได้ เช่น การอธิบายในภาษาบริหารธุรกิจว่า เรากำลังพูดถึงการ Downsize ประชาธิปไตย ไม่ใช่พูดถึงการ Outsource อธิปไตยออกไปให้ใครข้างนอกทำการแทน แต่พยายามจัดสรร-มอบหมาย-แบ่งงานกันให้คนข้างในได้ดูแลท้องถิ่นตนเองอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อะไรทำนองนี้

 

             สาเหตุที่สาม ที่คนจำนวนมากมองเรื่องการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง อาจไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจเรื่อง sovereignty กับ autonomy (หรือพวกเขาอาจแยกไม่ออกจริง ทว่าไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้หวาดกลัวเรื่องเขตปกครองพิเศษ) แต่เป็นเพราะการพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษข้างต้น พูดภายใต้บริบทของการพิจารณาจัดสรรอำนาจบางส่วนให้ ‘คนอื่นที่แปลกต่างไปจากคนส่วนใหญ่’ ได้บริหารกิจการชีวิตของตนเอง  โลกทัศน์เช่นนี้เป็นผลมาจากกรอบคิดที่มองเรื่อง ‘ความแตกต่าง’ ว่าเป็นภัยคุกคาม และมองเรื่อง ‘ความเหมือนกัน’ เป็นเรื่องเอกภาพ ความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่น ซึ่งกรอบคิดเช่นนี้เกิดขึ้นจากอะไร เป็นเรื่องที่คงต้องศึกษากันต่อไป แต่ด้วยสาเหตุนี้ การพิจารณาจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย ฯลฯ จึงไม่ยุ่งยากเท่าการพิจารณาจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในความหมายที่มัน ‘กำลังจะ’ มอบและแบ่งปันอำนาจให้กับ “คนอื่น” ของสังคม“ไทย” (the others within)

            ...คงต้องร้องเพลงตัดพ้อต่อไปว่า “..ภาระในเขตอธิปไตย ..ไม่ใช่ ไทยทำแทนไม่ได้..”

            ถ้าท่าทีของสังคมใหญ่เป็นผลมาจากสาเหตุนี้ ก็แปลว่า การรับรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม โดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากตนเองเป็นไปอย่างเปราะบาง  ยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ความแตกต่างหลากหลายจะเป็นมิติที่ถูกขับเน้นออกมาอย่างแหลมชัด กระทั่งดูเหมือนจะเป็นภาพหลักของสังคมยุคปัจจุบัน มากกว่าภาพของความเหมือนกันที่สังคมไทยเคยตอกย้ำมาโดยตลอด ก็น่าสนใจจะติดตามดูต่อไปว่า สังคมเราจะไปต่อร่วมกันได้ไกลสักกี่น้ำ และในท้ายที่สุด เมื่อมองเฉพาะประเด็นของบทความนี้แล้ว คงไม่มีประโยคใดเหมาะสมจะวางไว้เป็นประโยคปิดท้ายได้มากกว่าการกล่าวว่า

          เขตปกครองพิเศษในตัวของมันเองเพียงลำพัง ไม่ได้มีพลังมากพอจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ แต่ทัศนคติและการรับรู้ที่แบ่งแยกเขา-เราต่างหาก เป็นปัจจัยที่มีพลังมหาศาลในการเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ไปสู่การแบ่งแยกทั้งดินแดน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน