Skip to main content
บัณฑิกา จารุมา นิลปัทม์ และ ปัทมา มูฮิตาปี ถอดความ
นักศึกษาชั้นปีที่  4 ของคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ศึกษาวิชา 870-421 “สัมมนาการสื่อสารมวลชน” ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อ “ณ รอยต่อสื่อเก่า–สื่อใหม่ รับมืออย่างไรในระยะเปลี่ยนผ่าน”นอกเหนือจากเป็นสนามทดลองของนักศึกษาเพื่อเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงด้วยแล้ว หัวข้อดังกล่าว มีนัยของการสะท้อนทิศทางของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมวลชน ที่ต้องการการรับมือกับอิทธิพลของสื่อใหม่อย่างเท่าทันและตระหนักถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ เมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา
งานสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วยวิทยากรทั้งหมด 6 ท่าน เพื่อพูดคุยเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คนแรก “สมัชชา นิลปัทม์” เขาเป็นครูการสื่อสารมวลชนที่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นอกเหนือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขายังเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของ “สื่อใหม่” ผ่านการเรียนการสอนและการสื่อสารภาคสนามครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
คนที่สอง “มูฮำมัดอายุบ ปาทาน” บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ประสบการณ์ของเขาเข้มข้นทั้งใน “สื่อเก่า” คือ การเป็นนักหนังสือพิมพ์และ “สื่อใหม่” ในฐานะอดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศราและบรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) นอกจากนี้ยังใช้ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการขับเคลื่อนเรื่องราวชายแดนภาคใต้ให้เป็นรู้จักของสาธารณะ ว่าไม่ใช่เรื่อง “ต้องห้าม” แต่อย่างใด
คนที่สาม “ฮัมเดีย มูดอ” ดุษฎีบัณฑิตด้าน Marketing ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประสบการณ์และความรู้ด้านการตลาดที่ร่ำเรียนมา จะมาช่วยสะท้อนมุมมองในมิติธุรกิจว่าจะรับมืออย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
คนที่สี่ “ฏาวิ กูลณรงค์” ผู้บริหารกลุ่มสื่อ “เกรทเตอร์ มัลติมีเดีย”ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของคลื่น FM ก่อนใครในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาร่วมสะท้อนมุมมองในฐานะผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับสังคมชายแดนใต้และมุมมองของผู้ประกอบการสื่อที่ยังเป็น “สื่อเก่า” ว่าอาจไม่น่าตระหนกจนเกินไปแบบที่นักวิชาการรู้สึก
อีกสองคนสุดท้าย “อามีเน๊าะ อารง”และ “อภิสิทธิ์ นาคนาวา” สองนักศึกษาที่แอคทีฟอย่างยิ่งในการใช้ “สื่อใหม่” การเป็นคนรุ่นใหม่ที่ “สื่อ” เข้ามามีความสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างเขาและเธอ จะมีมุมอย่างไรต่อ “รอยต่อ” ในระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ครั้งนี้ เชิญอ่าน

1.
“หากมีการเปลี่ยนแปลงจาก Paper Base ไปสู่ E- Base จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรตามมาบ้าง”
นายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงพัฒนาการของสื่อเก่า – สื่อใหม่ ว่า ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเรื่อง เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก่อน ว่าหากเมื่อใดที่เทคโนโลยีเปลี่ยนสภาพของสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หากสำรวจประวัติศาสตร์ของการสื่อสารจะพบว่ามี 2 ปรากฏการณ์ที่ถือว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของสังคมคือ การคิดค้นเครื่องพิมพ์ได้เป็นครั้งแรกของ “โยฮัน กูเตนเบิร์ก”ในศตวรรษที่ 14 การเกิดของสิ่งพิมพ์นั้นทำให้ความรู้เกิดการกระจายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การปฏิวัติครั้งที่สองคือ การกำเนิดขึ้น ระบบเว็บ 2.0 ที่ทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง โดยนัยของการปฏิวัติการสื่อสารก็คือ เมื่อรูปแบบของการสื่อสารเปลี่ยน สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
“นอกจากนี้ทิศทางที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ กระดาษกำลังจะหายไปและจะมีการใช้ E-base มาแทนที่อย่างแน่นอน โดยจะส่งผลกระทบในทุกมิติของรูปแบบและอุตสาหกรรมการสื่อสาร ทั้งการจัดการเชิงธุรกิจ กฎหมายและจริยธรรม รูปแบบการนำเสนอของเนื้อหา และบทบาทด้านพื้นที่สาธารณะ/สิทธิการนำเสนอสื่อต่างๆ หรือพลวัตรของการสื่อสารนั้น ก็จะมีลักษณะที่เปลี่ยนตามกาลเวลาไปด้วย”
2.
ใครจะชอบหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่มันเป็นแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ถ้าเราไม่สนใจก็จะตกขบวน”
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เราทั้งหลายจะรับมืออย่างไรเป็นเรื่องที่นักเรียนการสื่อสารต้องเอาไปขบคิด เรื่องพื้นฐานในเรื่องสิทธิทางการสื่อสาร เป็นสิทธิที่ไม่ต้องขออนุญาตจากบรรณาธิการ ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองว่าเรียนการสื่อสารมา ทุกคนก็สามารถใช้ช่องของสื่อใหม่ในการสื่อสารได้ จึงเป็นโอกาสที่ทุกคนควรจะช่วงชิงในการที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังฯ กล่าวต่อว่า สื่อใหม่ คือโลกอนาคต เป็นโลกอนาคตที่ใครมาผูกขาดความจริงไม่ได้ ความจริงบางเรื่องไม่ปรากฏในสื่อหลัก แต่สามารถไปโผล่ในสื่อทวิตเตอร์ หรือเฟสบุ๊คได้ แต่ทำอย่างไรที่คนใช้จะพัฒนาให้ใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก เน้นการสื่อสารที่อธิบายด้วยความรู้มากำกับด้วย นอกจากนี้ยังสามารถที่จะคนธรรมดาทั่วไปก็มีโอกาสที่จะสร้างวาระข่าวสารได้เอง อย่างประเด็นต้องห้ามเคยล่อแหลมว่าอาจเป็นภัยความมั่นคง เช่น ประเด็นกระจายอำนาจ จากเดิมไม่มีคนสนใจแต่สื่อทางเลือกและสื่อใหม่ทำให้เกิดการยอมรับและรู้จักจากสังคม นอกจากนั้นผู้รับสารยังสามารถตั้งคำถามกลับได้ สื่อสารสองทาง ซักถามได้นั่นคือสิ่งทีเป็นประโยชน์จากสื่อใหม่
“ใครจะชอบหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่มันเป็นแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ถ้าเราไม่สนใจมันก็จะตกขบวน โดยธรรมชาตินั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา มันจะเริ่มต้นจากน้อยๆ ก่อน ซึ่งถ้าเราเห็นทิศทางของมัน แม้จะแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ มันเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ”
3.
“นักการตลาดต้องสื่อสารออกไปว่า product ของเขาแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร มี brand positioning อย่างไร นั่นคือจะวางแผนสื่ออย่างไรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า
ดร.ฮัมเดีย มูดอ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ การสื่อสารการตลาด คณะวิทยาการสื่อสาร กล่าวถึงMarketing Communication ว่า การสื่อสารการตลาดที่สำคัญ คือ ตัวสาร (Message) การที่เราผลิตสารประกอบกับการโฆษณา สิ่งที่เราต้องคำนึงอันดับแรกคือ การเข้าถึงสารของกลุ่มเป้าหมาย แต่ สารของสื่อเก่าเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียวเท่านั้น กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถสะท้อนกลับได้ ดังนั้นเมื่อสื่อใหม่เข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง ระหว่าง ผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้เกิดความง่าย ประหยัดเวลาและสิ่งที่ตามมา คือ สะดวกสบาย ได้รับประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ถึงอย่างไรแล้ว การคำนึงถึงบริบททางสังคมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ผลิตหรือองค์กรไม่ควรละเลย เนื่องจากบริบททางสังคมเป็นตัวกำหนดช่องทางการรับรู้ที่เป็นตัวหนุนเสริมหลัก
4.
“เราต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องดูจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยแวดล้อม
นายฏาวิ กูลณรงค์ ผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัด เกรทเตอร์ มัลติมีเดีย กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของสถานีวิทยุ Fm คลื่นแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลายาวนาน สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่ควบคู่ไปกับกฎหมายและเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่พื้นที่แห่งนี้มีข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เท่าทันหลายๆพื้นที่ได้ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการสร้างการรับรู้ทางการตลาด แม้ว่า Social network จะสามารถนำผู้ประกอบการและผู้บริโภคมาพบกันได้ง่าย รวดเร็วและเพิ่มช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง แต่ก็มิใช่ว่าจะใช้ได้ผลกับทุกกลุ่มคนในพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ต้องใช้วิทยุชุมชนหรือเสียงตามสายในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการบางชนิด แต่สำหรับนักการตลาดนั้น การก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น สำคัญน้อยกว่าการรับรู้และการสร้างยอดขายให้กับกลุ่มเป้าหมายเสียอีก
5.
“ก่อนโพสคิดให้มากๆ ร้อยสี่สิบตัวอักษรทำลายอนาคตตัวเองได้เลย
นางสาวอามีเน๊าะ อารง นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์  เปิดเผยว่า ตนใช้ประโยชน์หลายอย่างจากสื่อใหม่ ในการเรียนวิชาวิทยุกระจายเสียงที่ต้องทำข่าวต้นชั่วโมงให้กับวิทยุ ม.อ. ปัตตานี ดังนั้นเมื่อตื่นเช้ามา ต้องเริ่มเช็คข่าวสารว่ามีอะไรบ้าง โดยตนมีการใช้ Social network เช่น Facebook Twitter และ Google+ ในการหาข้อมูล และอัพเดทข้อมูล เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องใช้สื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ในการหาข้อมูลควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นการเสพข่าวอย่างชาญฉลาด การใช้ สื่อใหม่ สามารถสอดรับกับการเรียนสาขาสื่อสารมวลชนได้เป็นอย่างดี
“ได้ฝึกทวีตข่าวเองล่าสุดได้ทวีต เรื่องการเลือกตั้งซ่อม ที่นราธิวาส ว่าใครได้ทำตำแหน่งไป มีคะแนนเสียงเท่าไหร่ โดยจะลิงค์กับ FB ทำให้มีการโต้ตอบเข้ามา ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งก็พบว่ามีคนสนใจมาตามข่าวที่เราเสนอได้เองด้วย”
6.
“การสื่อสารมีความสำคัญในการสื่อสารการตลาด พีอาร์ การตลาดทางตรงและการส่งเสริมการขาย เครื่องมือเหล่านี้จำเป็นต้องมีสื่อเก่าและสื่อใหม่มาใช้ด้วยกัน ต้องออกแบบให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มจะมีพฤติกรรมบริโภคแตกต่างกัน
นายอภิสิทธิ์ นาคนาวา นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ การสื่อสารการตลาด เปิดเผยว่า การสื่อสารนั้นมีความสำคัญในการสื่อสารการตลาด โดยใช้เครื่องมือ IMC (การโฆษณา PR การตลาดทางตรง การขายโดยบุคคลและการส่งเสริมการขาย) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จำเป็นต้องนำสื่อเก่าและสื่อใหม่ มาใช้ควบคู่ไปด้วยกัน โดยต้องออกแบบให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย และให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มจะมีพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่บริโภคสื่อ Social network เป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นผู้ผลิต จึงต้องใช้สื่อ Social network ในการขายสินค้าและบริการต่อกลุ่ม Gen Y โดยให้มีการสร้างแฟนเพจของคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รับการตอบสนองต่อความต้องการสูงสุดของผู้บริโภคกลุ่มนี้