Skip to main content
 
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
 
แถลงการณ์
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตามคำแนะนำของผู้แทนประเทศต่างๆ
ที่เข้าร่วมประชุมในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) 
ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้
 
วันที่ 11 ตุลาคม 2554 
ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
 
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยเป็นครั้งแรก โดยกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน มีที่มาจากที่ประชุมสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 60/251 เมื่อวันที่  15 มีนาคม 2549 ในการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (United Nations Human Rights Council-HRC) เพื่อทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยจะพิจารณาถึงการดำเนินงานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีความสอดคล้องต่อความรับผิดระหว่างประเทศในการปกป้องและส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน
 
การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาการส่งเสริมงานด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเคารพต่อหลักการนิติรัฐ โดยมีการนำเสนอรายงานจากสามฝ่าย อันได้แก่ รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เสนอโดยรัฐบาลไทย รายงานที่เสนอโดยสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติที่ได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญจากกลไกขององค์การสหประชาชาติ และรายงานของสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ได้รวบรวมข้อเสนอจากองค์กรภาคประชาสังคมรวมทั้งรายงานข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554  ณ กรุงเจนีวา คณะผู้แทนจากรัฐบาลไทยได้อ่านแถลงการณ์เปิดแสดงความยินดีต่อการมีเวทีทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับระหว่างประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการส่งเสริมและคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ประเทศไทยได้แถลงถึงความก้าวหน้าในการมุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่ว่าจะเป็นการร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลักจำนวน 7 ฉบับ และความสำเร็จในการพัฒนาด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามรัฐบาลเห็นว่ามีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านอื่นที่ยังมีความท้าทาย ได้แก่ สถานการณ์ด้านความขัดแย้งทางด้านการเมือง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีการเข้าเมืองและปัญหาการค้ามนุษย์
 
สำหรับข้อท้าทายของรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  รัฐบาลไทยมองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เป็นความขัดแย้งทางอาวุธ รัฐบาลมีความจริงจังที่จะแก้ไขการสืบสวนสอบสวนนำเจ้าหน้าที่กระทำความผิดแล้วมาลงโทษ และตระหนักว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการแก้ไขในหลายประการไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้ตั้งข้อสังเกต ข้อกังวล คำถาม และคำแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2554 สรุปได้ ดังนี้
 
·        ข้อแนะนำให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบรวมถึงการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การส่งเสริม การติดตาม และประเมินผลตามแผนแม่บทของการบริหารความยุติธรรมและแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
·        การปรับปรุงให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางสังคมอันเป็นที่มาของความขัดแย้งในพื้นที่
 
·        ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และยกเลิกมาตรา 17 ของพรก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เป็นการละเว้นความรับผิดไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญาของเจ้าหน้าที่
 
·        ยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทุกฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทันที
 
·        การดำเนินการตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงกรณีการควบคุมตัวเด็กจะต้องมีการแยกการควบคุมตัวออกจากผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้ใหญ่อย่างเด็ดขาด
 
·        ทบทวนกฎหมายด้านความมั่นคงทุกฉบับที่กระทบต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อรับประกันว่ากฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กและเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
 
·        การมีมาตรการเพื่อเป็นหลักประกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงฝ่ายพลเรือน จะได้รับการสอบสวนอย่างจริงจัง และนำผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยคดีวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในรอบสิบปีที่ผ่านมาจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังเพื่อนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
·        ยุติการคัดเลือกเด็กเข้าสู่ในกองกำลังติดอาวุธและการอบรมใช้อาวุธทุกรูปแบบ
 
·        การดำเนินการปรับปรุงกฎหมายอาญาให้มีการกำหนดบทนิยามของคำว่าซ้อมทรมานให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานฯ รวมถึงข้อบัญญัติอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว
 
·        การให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ
 
·        การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ  การให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองทั้งสองฉบับ
 
·        การเปิดโอกาสให้ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานภายใต้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้าเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ร่วมกันจัดทำรายงาน UPR ต่อสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 ซึ่งท่านสามารถเข้าไปอ่านในรายงานของมูลนิธิฯได้ที่เว็บไซด์ www.macmuslim.org ในรายงานฉบับนี้ได้เน้นไปที่สถานการณ์ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและนำไปสู่ข้อเสนอให้มีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การแจ้งการประกาศให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินต่อเลขาธิการองค์กรสหประชาชาติในฐานะที่รัฐไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  การออกกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน และการลงนามในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ได้มีการอ่านคำแนะนำของประเทศสมาชิกสภาคณะมนตรีความมั่นคงจำนวนทั้งสิ้น 172 ข้อ โดยผู้แทนรัฐบาลไทยได้แถลงต่อคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนที่จะรับดำเนินการตามคำแนะนำของประเทศสมาชิกจำนวน 100 ข้อ  รวมถึงคำแนะนำที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายกำหนดให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดอาญา และกฎหมายอื่นๆ ให้สอดคล้องตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  ส่วนข้อเสนออื่นๆ อีก 72 ข้อ เช่นการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  รัฐบาลไทยแถลงว่าจะรับไว้เพื่อพิจารณาและแจ้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนภายในเดือนมีนาคม 2555 
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประสานงานสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  และยอมรับเพื่อสร้างมาตรการและกลไกส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามคำแนะนำของประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง เพื่อนำไปสู่การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคอื่นๆของประเทศไทยอย่างแท้จริง
 
ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะเข้าร่วมเวทีการพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิเด็กที่คณะกรรมการสิทธิเด็กในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่กรุงเจนีวา ซึ่งจะมีการนำเสนอรายงานสถานการณ์การคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กใน Pre-session ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ด้วย