‘ถอดรหัสไฟใต้' เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเล่มหนึ่งที่อวดโฉมอยู่บนแผงหนังสือขณะนี้ และเป็นอีกเล่มที่เป็นผลงานของ ‘คนข่าว' ที่เคยไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวอยู่ในสมรภูมิความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ปี
เป็นคนข่าวสาวแกร่งที่ชื่อ กิ่งอ้อ เล่าฮง เจ้าของรางวัลชมเชยข่าวยอดเยี่ยม อิศรา อมันตกุล ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อดีตเคยเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปัจจุบันไปปักหลักอยู่ที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษนาม ‘บางกอกโพสต์'
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ที่ปะทุขึ้นและรุนแรงอย่างยืดเยื้อมากว่า 4 ปีเต็มนั้น ส่งผลให้ปัญหาภาคใต้กลายเป็นหนึ่งใน ‘วาระแห่งชาติ' ที่ทุกรัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญสูงสุดเพื่อเร่งคลี่คลาย
ขณะที่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเอง ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อแทบทุกแขนงจนนับครั้งไม่ถ้วน หากนับเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน คะเนว่าน่าจะมีข่าวภาคใต้ปรากฏอยู่บนหน้า 1 ของแต่ละวันเกินกว่า 80% ในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งหนึ่งที่จำต้องยอมรับก็คือ สาระที่สื่อมวลชนนำเสนอ หรือการพุ่งเป้าความสนใจของภาครัฐ ตลอดจนผู้คนในสังคมเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ยังจำกัดอยู่เฉพาะความรุนแรงรายวัน และตัวเลขเชิงสถิติในการเกิดเหตุร้าย อันได้แก่การไล่ยิง ไล่ฆ่า ลอบวางระเบิด และเผาสถานที่ราชการเท่านั้น ส่วนการอธิบายปัญหาแต่ละปัญหาในเชิงองค์ความรู้ หรือการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบที่อยู่เบื้องหลังปัญหา เพื่อจัดการแก้ไขอย่างยั่งยืน...ยังมีอยู่น้อยเหลือเกิน
แต่หนังสือ ‘ถอดรหัสไฟใต้' ของ กิ่งอ้อ เล่าฮง ซึ่งดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเธอเอง ที่เสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดมุมมองและข้อมูลลึกๆ บางด้านเกี่ยวกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นความลับดำมืด และไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนให้สังคมได้รับรู้
ข้อมูลที่ กิ่งอ้อ ลงไปเสาะหาด้วยการฝังตัวอยู่ในพื้นที่สีแดงนานนับเดือนนั้น คือการไขปริศนาอันเป็นต้นเหตุของเรื่องราวร้ายๆ 2 เหตุการณ์ที่เคยเป็นข่าวครึกโครมและเขย่าขวัญสังคมไทย นั่นก็คือเหตุการณ์ ‘โจรนินจา' หรือการรุมประชาทัณฑ์ตำรวจพลร่ม 2 นายจนเสียชีวิต ที่บ้านบือนังกือเปาะ ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2546 กับเหตุการณ์สังหารนาวิกโยธิน 2 นายเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2548
สิ่งที่ กิ่งอ้อ ค้นพบและนำมาเรียงร้อยไว้ในหนังสือชื่อ ‘ถอดรหัสไฟใต้' เล่มนี้ ไม่ได้อธิบายเฉพาะเหตุการณ์ร้าย 2 เหตุการณ์ที่ยกมาเป็นกรณีตัวอย่างเท่านั้น แต่ยังเป็นการอธิบายสถานการณ์ไฟใต้ในมุมกว้าง โดยเฉพาะยุทธวิธีที่ฝ่ายตรงข้ามใช้เล่นงานรัฐไทย รวมถึงความอ่อนด้อยและอ่อนแอของเจ้าหน้าที่รัฐเองในการเข้าถึงพื้นที่ จนทำให้ปัญหารุนแรงบานปลายจนยากแก่การควบคุม
หนังสือเล่มนี้จึงควรค่าอย่างยิ่งสำหรับศึกษาปัญหาภาคใต้ทั้งในแง่มุมของสถานการณ์ปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ระยะไกล และความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องมุสลิมร่วมชาติที่สัมผัสได้ถึงความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับมาเนิ่นนาน จนทำให้หลายๆ ครั้งมันระเบิดออกมาเมื่อจังหวะและเวลาเอื้ออำนวย ซึ่งมีไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้ยินได้ฟังแบบตรงไปตรงมาจากปากของพวกเขา
นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่น่าอ่าน น่าศึกษา หากหวังว่าจะสร้างสันติสุขในชายแดนใต้อย่างยั่งยืน!