1
“ อัสสลามูอาลัยกุมฯ...ฝากสลามถึงคนข้างนอกด้วยนะ ” ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หนึ่งในเก้าคน พูดกับฉันเป็นประโยคสุดท้ายก่อนที่จะลากัน เนื่องจากถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายไปยัง ที่ของตัวเอง ฉันกล่าวอินซาอัลลอฮฺ เป็นสัญญาณตอบรับการฝาก “สลาม” จากเขา แต่น้ำเสียงไม่สู้จะเต็มปากนัก เพราะขณะกล่าวไปนั้นมันเกิดคำถามในใจว่าจะส่งมอบสลาม นี้อย่างไรดี? หลังจากจบการสนทนาครบทุกคนแล้ว พวกเราทีมงานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและครอบครัวด้วย วันนี้พวกเรามากันเก้าชีวิตทุกคนทยอยกันเดินตามเจ้าหน้าที่สาวสวยก้าวเท้าข้ามผ่านประตูออกจากกำแพงยักษ์ไปอย่างสง่างาม และผู้ต้องหาจำนวนเดียวกันก็เดินตามผู้คุมเข้าไปยังแดนคุมขังของเรือนจำอย่างสง่างามเช่นกัน
ฉันรู้สึกหนักอึ้งกับ “สลาม” ที่เขาฝากมา เป็นหน้าที่ ที่ต้องนำ “สลาม” ส่งถึงผู้รับที่ไม่รู้ว่าควรจะเป็นใครบ้างและจะอธิบายอย่างไรว่า ใครฝากมา อีกใจหนึ่งรู้สึกสะท้อนใจ กับคำว่า “คนข้างนอก” ที่ผู้ฝากสลาม จ่าหน้าเป็นชื่อผู้รับสลาม ซึ่งก็มีนัยยะว่าผู้ฝาก คือ “คนข้างใน(เรือนจำ)” ยิ่งเพื่อนในทีมย้ำว่า การฝากสลามให้กันนั้นหมายถึงการบอกให้คนรับสลามรับรู้ว่า มีคนนึกถึงนะ ฉันไม่อยากจะคิดต่อเลยว่า ผู้รับสลาม(ถ้าอ่านจบ) มีใครบ้างที่เคยนึกถึง “คนข้างใน”
หากมีใครตะโกนว่า “ มุสลิมเป็นพี่น้องกัน ! ” ก็ไม่รู้ว่ามันจะดังก้องกังวานอยู่ในสำนึกของมุสลิม... สักกี่คน ???
2
เย็นวันที่ 27 กันยายน 2554 เพื่อนซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่ช่วยงานโครงการที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Support for detainees’s families in Songkla Province มาแต่แรกเริ่ม โทรมาชวนให้ไปร่วมงานสัมภาษณ์ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเพื่อตอบแบบประเมินเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในเรือนจำกลางสงขลา ก่อนหน้านี้เพื่อนเคยเล่าประสบการณ์การทำงานมาบ้าง รู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทายดี แต่สำหรับตัวเองก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องคอขาดบาดตาย จึงเป็นได้แค่ผู้รับการถ่ายทอดประสบการณ์เท่านั้น ฉันสะดุ้งที่เพื่อนถามว่า “ ไปได้ไหม? ” ใช้เวลาคิดสิบวินาที ก่อนตอบตกลง ทั้งที่ใจยังกล้าๆกลัวๆ
เช้าวันที่ 29 กันยายน 2554 ฉันออกเดินทางคนเดียวจากปัตตานีมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าครั้งหนึ่งในชีวิต จะได้บอกคนขับรถ ให้ไปส่งที่ “เรือนจำกลางสงขลา” ไปถึงที่หมายแล้ว ทำตัวไม่ถูก มองซ้ายมองขวาเหลือบไปเห็น ป้าย “เรือนจำกลางสงขลา” ฉุกคิดในใจ ใครกัน ตั้งชื่อ “เรือนจำ” แอบคิดแผลงๆคนเดียว บางที เขาอาจตั้งชื่อเพื่อปลอบใจคนที่อาศัยอยู่ข้างในก็ได้ว่า เรือนนี้อยู่แล้ว ไม่มีใคร “ถูกลืม” ไม่ว่าจะอยู่นานแค่ไหน ถ้าได้ออกไป คนก็ยังจำได้
เวลา 09.10 โดยประมาณ หลังจากที่เจ้าหน้าที่สาวสวยค้นตัวเรียบร้อยแล้ว ฉันและทีมงานกลุ่มด้วยใจเก้าชีวิตเดินเข้าไปใน เขตกักขังนักโทษและผู้ต้องหา ระหว่างก้าวข้ามกำแพงยักษ์ผ่านประตูแคบๆเข้าไป แวบแรกข้าพเจ้านึกถึงหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งที่ชื่นชอบ คือเรื่อง Prison Break ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งที่มีมนุษย์เหมือนเราอาศัยอยู่ พวกเราได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในห้องประชุม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากประตูทางเข้ามากนัก ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เห็นอะไรข้างในนี้มากนัก (ตอนแรกคิดว่าดีแล้วเพราะกลัวแต่ตอนนี้กลับรู้สึกเสียดายเพราะเดาว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คาดคิดไว้)
คนที่อยู่ข้างในนี้อาจจะมีทำผิดจริงบ้าง ถูกใส่ร้ายบ้าง แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ทุกคน มีมลทิน !!!
3
การสัมภาษณ์เริ่มต้นขึ้นในเช้านั้น ดำเนินไปอย่างราบรื่น ช่วงแรกพลังเหลือเฟือ แต่ค่อยๆ ลดลงและเกือบหมดเมื่อสิ้นสุดหน้าที่สัมภาษณ์ ซึ่งฉันมีเวลาให้เพียงสองวันเท่านั้นสำหรับงานนี้ เพราะมีงานประจำที่ต้องทำ สองวันที่ได้รับฟังเรื่องราวที่พรั่งพรูจากปากของผู้ต้องหา มันหลอมละลายจิตใจช้าๆ เมื่อรับรู้เรื่องราวที่พอรับได้ และสลายไปอย่างรวดเร็วเมื่อรับรู้ถึงประสบการณ์อันเลวร้ายของพวกเขา (และอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นพ่อเรา พี่เรา หรือน้องเราล่ะ ?) เช่น การซ้อมทรมานระหว่างการจับกุมจนถึงขั้นสลบไปในวันที่เขาถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การทารุณกรรมสารพัดวิธีแม้ว่าจะถูกปิดตา ถูกมัดมือมัดเท้าไร้หนทางสู้ การสอบสวน(และทรมาน)ข้ามวันข้ามคืน รวมถึงการข่มขู่ฆ่าแม่เพื่อให้ยอมรับสารภาพ การให้ลงลายมือชื่อรับสารภาพโดยไม่รู้ตัวและต้องถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา และ ฯลฯ ถึงอย่างนั้น บางทีผู้กระทำอาจจะยังเชื่อว่าตนมีความชอบธรรมในสายตาของสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะว่ามันเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ
เฉพาะที่เรือนจำกลางสงขลา มีผู้ต้องหาคดีความมั่นคง อาศัยอยู่จำนวนหนึ่งร้อยสิบแปดคน แม้ว่าทุกคนอาจจะไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด แต่ก็อาจจะไม่ใช่ผู้กระทำผิดจริงทั้งหมดเช่นกัน และเกือบทุกคนเข้าข่ายถูกซ้อมทรมานในระหว่างการจับกุมและระหว่างการสอบสวน หนักเบาไม่เท่ากัน แต่ประเด็น คือ การซ้อมทรมานนั้น เจ้าหน้าที่รัฐมีความชอบธรรมหรือไม่ !!!
.......จะเกิดอะไรหากผู้ถูกซ้อมทรมานเป็นผู้บริสุทธิ์
คงไม่มีผู้ถูกรังแกคนไหน ชื่นชมคนที่ทำร้ายตัวเองทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร???
.......จะเกิดอะไรหากผู้ถูกซ้อมทรมานเป็นผู้กระทำผิดจริง
ผู้ถูกกระทำสมควรโกรธแค้นผู้ปฏิบัติหน้าที่ ที่ใช้อำนาจเกินหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่???
และการใช้ศาลเตี้ยตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดด้วยอารมณ์นั้นเป็นพฤติกรรมที่น่าชื่นชมหรือไม่???
ปัญญาชนหลายคนยอมรับว่า การยุติความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง จะยิ่งเพิ่มความรุนแรง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลายด้ามขวานขณะนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเบื้องลึก เบื้องหลัง ของการแก้ปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ(ทหารตำรวจ) ยังมีการยุติความรุนแรงด้วยความรุนแรงที่เกินหน้าที่ ซึ่งอาจทำไปด้วยอารมณ์หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะแรงกดดันจากภาระหน้าที่ที่ต้องทำให้งานเกิดผลก็ตาม และนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า ทำไมสถานการณ์ความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงยังมีอยู่แม้ว่าจะใช้งบประมาณเป็นหมื่นเป็นแสนล้านทุ่มไปกับโครงการต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมาก็ตาม
การสัมภาษณ์จบลงตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้ แต่การปฏิบัติภารกิจเพื่อลดการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของกลุ่มด้วยใจคงยังไม่จบง่ายๆ และอาจจะไม่มีวันจบหากต่างคน ต่างมีเหตุผลที่ต้องใช้กำลังต่อสู้เพื่อบางสิ่งที่ต้องการโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับใครตราบใดที่ยังไม่ตายกันไปข้าง การต่อสู้ก็คงจะดำเนินต่อไปไร้วี่แววจะสิ้นสุด ระหว่างนี้ ผู้คนรอบข้างรวมถึงกลุ่มด้วยใจจึงต้องหาทางปกป้อง ดูแลตนเองและผู้บริสุทธิ์ให้ห่างไกลจากผลกระทบร้ายๆที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย
ขณะเดียวกัน การค้นหารูปแบบการต่อสู้ที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อที่จะสร้างความเจ็บปวดน้อยที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุดก็เป็นอีกภารกิจที่หลายฝ่ายต่างพยายามกันอย่างสุดความสามารถ
หรือบางทีหากทุกคนแค่เพียงคิดว่า “เขาก็เป็นคนเหมือนเรา” อะไรๆ ก็อาจจะง่ายขึ้น
4
เย็นวันที่ 30 กันยายน 2554 ขณะเดินทางกลับสู่ปัตตานี เหมือนกับการกลับสู่โลกของตัวเองอีกครั้ง ฉันกลับบ้านพร้อมกับบทเรียนที่มันยังฝังอยู่ในห้วงความคิด ห้วงความรู้สึก ในขณะนี้ บทเรียนที่ “คนข้างใน” สอนฉัน และฉันอยากเล่าสู่สาธารณชน....
...ชีวิตธรรมดาๆ กับกิจวัตรเดิมๆ มันมีค่ามากมาย ใครไม่เสียมันไป คงไม่รู้สึก
...อิสรภาพของแท้ ที่สุดยอดจริงๆ มันคือ อิสรภาพทางกาย หรือ อิสรภาพทางใจกันแน่
หากนิยามของ คำว่า “สุดยอดของความสำเร็จในชีวิต” คือความสุข แล้วละก็ อยากบอกว่า
“คนข้างใน” ที่ฉันสัมภาษณ์ทั้งสามคน เขามีอิสรภาพทางใจจนฉันสัมผัสได้ถึงความสงบในใจ
“เรือนจำ” กักขังอิสรภาพทางกายของเขาไว้ได้ แต่กักขังหัวใจให้เป็นทุกข์ไม่ได้
ตรงข้ามกับ “คนข้างนอก” ที่มีอิสรภาพทางกาย แต่หัวใจเล่า มีอิสรภาพหรือเปล่า???
และแล้ว“พัสดุเสียง” แผ่วๆแต่หนักอึ้ง ที่ดังก้องอยู่ในหัวของฉันตลอดเวลา ก็ทวงถามว่า เมื่อไหร่ไปรษณีย์จำเป็นอย่างฉันจะส่งมอบไปยังผู้รับเสียที คุณผู้อ่านค่ะ บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ฉันจะขอส่งมอบคำกล่าว “อัสสลามูอาลัยกุมฯ” จาก “คนข้างใน” แด่ท่านผู้อ่านที่เคารพรัก....
รับสลามแล้ว ว่างๆ อย่าลืมนึกถึงเขาบ้างนะค่ะ เพราะมุสลิมเป็นพี่น้องกัน ^_^