Skip to main content
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
เผยแพร่วันที่ 22 ตุลาคม 2554
 
คดีนักศึกษายะลาถูกซ้อมทรมาน ศาลปกครองกำหนดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก
ผู้ฟ้องคดีเตรียมแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลก่อนตุลาการผู้แถลงคดีจะอ่านคำแถลงการณ์คดี
 
ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 เวลา 11.00 น. ศาลปกครองสงขลากำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 187,188 / 2552 ที่นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณีที่มีการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำรับสารภาพ หลังจากแสวงหาพยานหลักฐานครบถ้วนเพียงพอพิพากษาคดีแล้ว    ในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกตุลาการผู้แถลงคดีจะอ่านแถลงการณ์ว่าคดีนี้จะพิพากษาคดีอย่างไร   โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีแถลงต่อศาลด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อศาลก่อน    เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลจะกำหนดนัดวันฟังคำพิพากษาต่อไป  
 
โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลก่อนนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนคดี   กล่าวคือ ฟ้องคดีทั้งสองได้นำเสนอพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีการกระทำตามคำฟ้องจริง ในส่วนของการควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ปรากฏตามใบรับรองแพทย์และเวชระเบียนการตรวจรักษาของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ภาพถ่ายบาดแผล และพยานหลักฐานอื่นๆ   ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโดยไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญแห่งคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโดยตลอด แล้วเกิดอันตรายแก่ร่างกายขึ้นในระหว่างการควบคุมตัว   และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ญาติของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เห็นร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย   ซึ่งถือเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   ศาลจังหวัดปัตตานีได้รับคำร้องดังกล่าวไว้ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมตัวนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551   ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะได้แสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลและข้อกฎหมายตามที่ได้ให้การต่อศาลในคดีนี้ เพื่อยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกในระหว่างควบคุมตัวแต่อย่างใด   แต่เจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวกลับปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกไปในยามวิกาล และไม่ได้มาศาลตามหมายเรียกของศาลจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ศาลยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกได้รับการปล่อยตัว จึงไม่มีเหตุให้ศาลวินิจฉัยคำร้อง
 
และคำแถลงเป็นหนังสือดังกล่าวยังได้ขอนำพยานที่เห็นสภาพร่างกายที่บอบช้ำจากการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว เข้าแถลงต่อศาลปกครองด้วยวาจา และขอส่งแผ่นบึกทึกภาพและเสียง (VCD) ของกลุ่ม IN SOUTH ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาและผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่อศาล นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยังมีความประสงค์ขออนุญาตเปิด VCD ดังกล่าวในศาลด้วย
 
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2551 และผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2554 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี และนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 นี้    ระยะเวลานับแต่วันฟ้องถึงวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเกือบ 3 ปี
 
คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ (กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539   ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องอาศัยความกล้าหาญและเข้มแข็งอย่างมากในการตัดสินใจฟ้องและดำเนินคดีถามหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำละเมิด โดยหวังว่าการใช้สิทธิตามระบบกระบวนการยุติธรรมนี้จะส่งผลให้หน่วยงานแก้ไขปรับปรุงบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เพื่อดำรงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่ และหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 นี้ จะได้ทราบแนวคำพิพากษาของคดีนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป