Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
การแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเป็นไปตามความคาดหมายของผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “ฟันธง” ไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า หลังพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ต้องมีการเปลี่ยนตัวบุคคลอย่างแน่นอน เพียงแต่คนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มั่นใจว่า เลขาธิการ ศอ.บต. จะเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เพราะ ก่อนหน้านี้ หลังจากรัฐบาล “โยนหินถามทาง” ด้วยการเปิดชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาธิการ ศอ.บต. กระแสสังคมในพื้นที่มีการแสดงความไม่เห็นด้วยในเกือบทุกสาขาอาชีพ
 
โดยผู้ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่างห่วงใยว่า พ.ต.อ.ทวี ไม่ใช่ “ลูกหม้อ” ของกรมการปกครอง ไม่รู้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีพอ อาจต้องใช้เวลาในการศึกษาความ “ซับซ้อน” ของปัญญา และเป็นห่วงความรู้สึกของประชาชนที่เป็น “มุสลิม” กว่าร้อยละ 80 ที่มีความรู้สึกไม่ดีนักต่อภาพพจน์ของ “ตำรวจ” แม้ว่าวันนี้ พ.ต.อ.ทวี ไม่ได้รับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่คำนำหน้าชื่อยังเป็น “พ.ต.อ.” อยู่
 
และที่สำคัญ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี มาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีข่าวออกมาก่อนหน้านั้นว่า การย้าย พ.ต.อ.ทวี มาเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. ไม่ได้มาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มาเพื่อที่จะครองตำแหน่ง “11” ซึ่งเทียบเท่ากับปลัดกระทรวง เพื่อรอโอกาสที่จะย้ายกลับไปเป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในปีหน้า หลังการเกษียณอายุราชการของ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ความเข้าใจดังกล่าวจึงกลายเป็น “ภาพลบ” ในตัวของ พ.ต.อ.ทวี ในความรู้สึกของประชาชน ซึ่งคน “มุสลิม” ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่น และมีความคาดหวังใน ศอ.บต. มากว่า 20 ปี ว่า เป็นหน่วยงานที่พวกเขา “พึ่งได้” มากกว่า ตำรวจ และ ทหาร
 
การตัดสินใจให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ในครั้งนี้ จึงเป็นคำตอบจากพรรคเพื่อไทย ที่ส่งถึงประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้ความสนใจต่อความรู้สึก และความคิดเห็น รวมทั้งความต้องการของประชาชนในการมี “ส่วนร่วม” เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทุกอย่างของการตัดสินใจยืนอยู่บนหลักการความต้องการของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
 
และชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย โดยนายกรัฐมนตรี “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เห็นชอบให้ กอ.รมน. ปรับแผนการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการปรับบทบาทของ ศอ.บต. ในพื้นที่ ให้เป็น “ศอ.บต.ส่วนหน้า” เพื่อให้อยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่ คือ ศูนย์บูรณาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศบก.จชต.” ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ที่อยู่ใน “อาณัติ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้อำนาจ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้สั่งการเด็ดขาดเพียงแต่เพียงผู้เดียว
 
ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ได้รับการไม่เห็นด้วยจากหน่วยงานของพลเรือน และประชาชนในพื้นที่  เพราะ เห็นว่า การให้ “กองทัพ” เป็น “พระเอก” เพียงผู้เดียวในการดับ “ไฟใต้” เป็นการไม่ตอบ “โจทย์” ความไม่สงบ เนื่องจาก 7 ปี ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “ล้มเหลว” กับการแก้ปัญหาความไม่สงบมาโดยตลอด หากการแก้ปัญหาของ “กองทัพ” ภายใต้การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ผล ทำไมสถานการณ์การก่อความไม่สงบจึงไม่ยุติ และนับวันกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
และ “พรบ.ศอ.บต.” เป็น พรบ. ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เป็น พรบ. ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะเป็น พรบ. และประกาศใช้ โดยต้องการที่จะแยกงานด้านพัฒนา ด้านยุติธรรม ด้านสิทธิมนุษย์ชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชนออกมา เพื่อให้ “พลเรือน” สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง ศอ.บต. ที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ เพื่อ “ขับเคลื่อน” นโยบายที่ต้องการ จึงสวนทางกับการที่ กอ.รมน. เสนอให้ปรับบทบาทของ ศอ.บต. ให้เล็กลง เพื่อให้อยู่ภายใต้การสั่งการของ กอ .รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เหมือนในอดีต โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงาน ศอ.บต. ที่ตั้งขึ้นใหญ่ และเป็นหน่วยงานที่ “ซ้ำซ้อน” กับ กอ.รมน. ทำให้ไม่มี “เอกภาพ” ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  การกล่าวอ้างของ กอ.รมน. จึงน่าจะฟังไม่ขึ้น แต่ที่ฟังขึ้นมีเพียงเหตุผลเดียว คือ กอ.รมน. ต้องการได้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการควบคุมงบประมาณ และการสั่งการกับทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน่วยงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แต่ในเมื่อทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป และรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการปรับเปลี่ยนนโยบาย และการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตัวบุคคล โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน และไม่ต้องคำนึงว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบที่อาจจะเลวร้ายยิ่งขึ้นหรือไม่
 
ดังนั้น สิ่งที่ “พ.ต.อ.ทวี” จะต้องเร่งดำเนินการในฐานะที่เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่ คือ การสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงการปรับโครงสร้าง ปรับบทบาท ของ “ศอ.บต.” ให้ประชาชนได้รับทราบว่า จะเกิดผลดีอย่างไรกับการแก้ปัญหาความไม่สงบ เกิดผลดีอย่างไรกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเข้าใจต่อทุกองค์กร ทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องชี้แจงในข้อกล่าวหาที่ว่า มาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ครั้งนี้ มาเพื่อต้องการเป็นตำแหน่งระดับ “11” ไม่ใช่มาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องดำเนินการโดยเร็ว ก่อนที่ความเชื่ออย่างนี้จะแพร่สะพัดไปอย่างถ้วนทั่ว และก่อนที่ “แนวร่วม” จะหยิบประเด็นไปไปโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อผลของ “สงครามประชาชน”
 
เช่นเดียวกับที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งกำลังถูกสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่า เป็นตัวแทนของ “กองทัพ” ที่ต้องการใช้ความเป็น “เผด็จการ” ควบคุมงบประมาณ และ อำนาจ ไว้เพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่ได้สนใจต่อความสูญเสียของประชาชนที่ยังเป็น “เหยื่อ” ของความขัดแย้ง ซึ่งต้อง “ชี้ชัด” ให้กับประชาชนได้เห็นว่า การที่ กอ.รมน. อ้างว่า ถ้ามี ศอ.บต. ตาม พรบ.ศอ.บต. ทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบไม่มี “เอกภาพ” อย่างไร และหากทำให้ ศอ.บต. เป็น “นิ้วที่ 11” แล้ว จะทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบ จะหยุดความตายรายวัน หยุดเสียงระเบิด เสียงปืน ได้อย่างไร โดยประชาชนจะได้รับ “อานิสงส์” อะไร จากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว
 
โดยข้อเท็จจริง ถ้า “รัฐบาล” หรือ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า “ศอ.บต.” ไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน “มิติ” ของฝ่ายพลเรือน และเห็นว่า “กอ.รมน.” คือ หน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการดับ “ไฟใต้” ได้อย่างที่กองทัพเสนอ รัฐบาลไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ หรือหวั่นไหวต่อความรู้สึกของประชาชน ต้อง “ยุบ” ศอ.บต. และมอบอำนาจหน้าที่ให้ “กอ.รมน.” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ เพราะ การคง “ศอ.บต.” เอาไว้โดย “ไร้” ประโยชน์ นอกจากรัฐบาลจะสูญเสียงบประมาณแผ่นดินแล้ว “ศอ.บต.” ยังจะกลายเป็น “จำเลย” ของประชาชนในพื้นที่ เพราะ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และ กลายเป็น “กาฝาก” ที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลอีกด้วย