Skip to main content

 
 
 
                                                    เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
                “แม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นเมื่อวานนี่เอง นี่เป็นความรู้สึกของผู้เป็นเหยื่อส่วนใหญ่จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร  หรือ สภ. ตากใบ อ.ตากใบ จ. นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คนและเสียชีวิตขณะขนย้ายอีก 78 คน รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บสาหัสร้อยกว่าคน  นอกจากนั้นมีกลุ่มที่ถูกทางการดำเนินคดีในฐานะแกนนำและมีส่วนร่วมวางแผนเพื่อก่อให้เกิดการชุมนุม 58 ราย แต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 อัยการสูงสุดได้สั่งถอนฟ้องคดีนี้  
แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาแล้ว 7 ปี แต่ครอบครัวผู้สูญเสีย และเหยื่อผู้บาดเจ็บ ยังคงต้องทุกข์ทรมานกับบาดแผลใจ และบาดแผลกาย ที่เกิดกับกลุ่มผู้พิการจากเหตุการณ์    นอกจากนั้นบางครอบครัวต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่อาจเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ตากใบ   ทำให้ความทรงจำของพวกเขาไม่เคยจางหายไป หรือบางคนก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่จนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยและต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ
                 อย่างไรก็ตามภายหลังจากเหตุการณ์วิปโยคนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็เข้าไปทำงานเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และในทางกฎหมาย ครอบครัวเหล่านี้ก็มีการฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องความเสียหายจนได้รับค่าชดเชยรวมทั้งหมดประมาณ 47 ล้านบาท แต่ที่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ และสังคมที่ติดตามเรื่องตากใบ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมคือ การไต่สวนการตาย ที่ศาลได้พิพากษาว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ  ทั้งที่มีหลักฐานการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่โดยตรง อีกทั้งมีผู้ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส และพิการ ในตอนสลายการชุมนุม
            เป็นเวลา7 ปีแล้วกับสภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ซึ่งต้องประสบกับชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตให้อยู่รอด นอกจากนั้นก็ยังมีครอบครัวที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ความไม่สงบเรื่อยมา
เหตุการณ์ซ้ำๆ
                 ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา “ตีเมาะ กาบากอ” หรือ “มะดอ” แม่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นกับลูกชายและญาติมิตร ทั้งเสียชีวิตบ้าง ถูกดำเนินคดีบ้าง
                “เรื่องมันก็หลายปีแล้ว ถ้าจะให้เล่าไม่รู้จะจำรายละเอียดได้หรือเปล่า ครั้งแรกก็สูญเสียลูกชาย” ไม่ทันที่เธอจะเอ่ยชื่อน้ำตาก็เริ่มไหลริน และไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ เพระเธอรู้สึกว่าเหตุการณ์วันนั้นมันเพิ่งผ่านไม่นาน  ปัญหาอื่นก็เข้ามารุมเร้า และความรู้สึกแย่ ๆ มันวนเวียนเข้ามาในหัวของเธออย่างไม่ขาดสาย เธอปาดน้ำตา ทำใจสักพัก และเล่าต่อให้ผู้มาเยือนคือสมาชิกในเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  ฟังว่า
                “หลังจากที่ช็อกกับเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งลูกชายคือ “อาบีดี กาบากอ” เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต และ มะมิง วัย 38 ปี ที่ต้องคดีในเหตุการณ์ตากใบแล้ว ต่อมาไม่นาน ปี 2548 (14 พฤศจิกายน 2548) “เจ๊ะรอฮิง” ลูกชาย และญาติอีกคนคือ “นายซู หะมะ” ก็ถูกจับในคดีก่อเหตุร้ายรายวัน   แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้
หลังจากนั้นช่วงเดือนกันยายน 2554 ลูกเขย “รูดิง” ทหารได้เชิญตัวไปอบรมโดยการออกดะวะห์ ...(ดะวะห์ คือ การเผยแพร่ศาสนา แต่ความหมายตรงนี้ คือ การไปขัดเกลาจิตใจของตัวเอง)  เนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถล่มที่ค่ายบ้านไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อกลับมาอยู่บ้านสักพัก ขณะที่กำลังเตรียมตัวไปออกดะวะห์อีกครั้ง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารออยู่ที่หน้าบ้านเพื่อมารับตัวไปที่สถานีตำรวจ  นายรูดิง และครอบครัวไม่ไว้ใจตำรวจ จึงหนีไปอยู่ที่อื่น ทำให้เจ้าหน้าที่ออกหมายจับ และหลังจากนั้นไม่นานลูกสาวคนเล็กของเธอวัย 16 ปี เสียชีวิตด้วยหัวใจอักเสบ เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่หดหู่
                 ความเศร้าโศกเสียใจที่มีมากมายทำให้เธอต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ !!!
                อาการช็อกที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งกับเธอได้เป็นตัวเร่งให้ร่างกายทรุดโทรม และมีภูมิต้านทานน้อยลง กระทั่งมีโรคหัวใจมาเยือนหา เธอต้องเผชิญกับอาการเหนื่อยง่าย แม้แต่จะไปเดินเล่นใกล้ๆ ก็ยังไม่ค่อยไหว และทำงานหนักไม่ได้ ประกอบกับอายุที่เกือบหกสิบปีแล้ว
                นอกจากเธอได้รับผลกระทบ จากการเสียชีวิตของลูกสาวอันเป็นที่รัก และวิตกกังวลกับคนในครอบครัวรวมสามคนที่ต้องเจอกับคดีความมั่นคงแล้ว  มากกว่านั้นลูกเขยที่มีหมายจับซึ่งหนีออกจากบ้านไปแล้ว  ก็ทิ้งภรรยา และ หลานเล็ก ๆ สองคน 2 คน อายุ 4 และ 5 ขวบ ซึ่ง “มะดอ” ผู้เป็นยาย   มิอาจทิ้งให้อยู่กันตามลำพัง จึงรับมาอยู่ด้วย ดูแลเรื่องอาหารการกิน  รวมทั้งค่าเล่าเรียนของหลานด้วย ในขณะที่เธอเองก็ทำงานไม่ได้ เหลือแต่สามีซึ่งอายุมากต้องทำงานคนเดียว  ไร่นาเธอก็จ้างให้เพื่อนบ้านทำ ผลผลิตที่ได้ เมื่อขายได้   รายได้ส่วนหนึ่งก็ต้องนำมาเป็นค่าจ้าง
                นอกจากนั้นเธอต้องสูญเสียทรัพย์สิน และค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้เพื่อประกันตัวและดำเนินคดีคนในครอบครัวเป็นจำนวนหลายแสนบาทก็ตาม แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองใคร เธอบอกว่า ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของพระองค์อัลลอฮ์  และเธอหวังว่าบททดสอบที่เผชิญอยู่นี้ จะได้รับการตอบแทนที่ดีจากพระองค์อัลลอฮ์ ไม่โลกนี้ก็โลกหน้า
                ในเหตุการณ์ตากใบ นอกจากมีแม่และภรรยาที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ยังคงตกอยู่ภายใต้ความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่  ยังมีเหยื่อที่พิการสาหัสจากเหตุการณ์ตากใบ  5 คน    2 คน ในนั้นมีนายมาลีกี ดอเลาะ ซึ่งสูญเสียขาข้างหนึ่ง และ แวดี มะโซ๊ะ  สูญเสียตาข้างซ้าย ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปรกติได้
ชีวิตใหม่ของมาลีกี
                “โชคดีที่ได้ภรรยาดี ทำกับข้าวให้เรากิน ซักผ้าให้เรา เธอไม่เคยบ่นเลย” มาลีกีเล่าชีวิตใหม่หลังจากที่ได้แต่งงานและมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นร้านขายของชำ  
                มาลีกี ดอเลาะ ชายหนุ่มวัย 35 ปีผู้สูญเสียขาข้างหนึ่งหลังจากที่ถูกซ้อนทับกัน 5 ชั้น ระหว่างที่ถูกขนย้ายจาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี กระทั่งเขาต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่นานถึง 2 เดือนโดยมีแม่และน้องสาวเป็นผู้ประคับประคองดูแล
                วันนี้ “มาลีกี” มีภรรยาเป็นผู้ร่วมชีวิต หลังจากที่แม่ของเขา “ยาเร๊าะ” เคยรับภาระดูแลลูกชายเพราะช่วงแรกมาลีกีมีสภาพร่างกายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ เนื่องจากแขนและขามีลักษณะฝ่อลีบ ไร้กำลัง มือทั้งสองข้างหงิกงอจนไม่สามารถจับอะไรได้ แม้แต่จะทาแป้ง แปรงฟัน หรือจับช้อนกินข้าว
วันนี้มาลีกีเริ่มมีสุขภาพแข็งแรง พึ่งตัวเองได้บ้าง แต่แม่ของเธอเริ่มแก่ลงไม่สามารถดูแลเขาอีกต่อไป ครอบครัวจึงหาภรรยาให้มาลีกีมาช่วยดูแลแทนแม่
                ระหว่างที่สนทนากับมาลีกี ภรรยาของเธอง่วนอยู่ในครัว และขายของอยู่หน้าบ้าน สักพักเธอก็มานั่งคุยด้วย ไม่นาน ฉันจึงถามภรรยาของเขาว่า เป็นอย่างไรบ้าง เธอก็ไม่ตอบแต่แอบยิ้มเหมือนพอใจกับชีวิตของเธอ เมื่อถามไปตรงๆ ว่า คิดนานหรือเปล่า กว่าจะตอบตกลงแต่งงานกับมาลีกี  เธอก็ไม่ตอบอีก เอาแต่เขินอาย ทันใดนั้นมาลีกี  จึงพูดด้วยคำตลกเหมือนจะกลบความอายของทั้งคู่
                “ไม่ได้คิดนานเลยใช่ไหม เพราะแบหล่อ(แบแปลว่า พี่ชาย หรือเป็นคำเรียกแทนสามี)
 “ภรรยาทำหน้าที่ได้ดี ไม่เคยบ่นอะไร และผมเองก็พยายามพูดอะไรขำๆ เพื่อไม่ให้เธอเครียด เพราะโดยปรกติเป็นคนตลกอยู่แล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่เพื่อน ๆ ชอบมาหาเราที่บ้าน” เขาเล่าพลางชี้ไปที่เพื่อนผู้ชาย ซึ่งนั่งและกำลังคุยอยู่หน้าบ้าน
                มาลีกีได้รับเงินจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีแพ่งในเหตุการณ์ตากใบ ประมาณหนึ่งล้านกว่าบาท เขานำเงินเหล่านั้นไปสร้างบ้านเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งนำเป็นต้นทุนเปิดกิจการขายของชำ และอีกส่วนหนึ่งใช้รับจำนำสวนยาง แล้วนำผลผลิตที่ได้จากสวนยาง ขายเป็นรายได้มาจุนเจือครอบครัว และยังเลี้ยงดูแม่ของเขาด้วย             
                “ตอนนี้เราก็พึ่งมาลีกีด้วย”  แม่ของเขาพูดแทรกด้วยเสียงที่เคอะเขิน แต่แอบภูมิใจในตัวลูกชายที่สามารถพึ่งตัวเองได้และยังรับภาระทางเศรษฐกิจ ดูแลเธออย่างเต็มใจ
                นอกจากเขาต้องดูแลกิจการนี้แล้ว เขาก็ยังซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสวนยาง  เขาเล่าว่า
                “ทุกเช้าก็ไปสวนกับภรรยา ช่วยกันปลูกสวนยาง ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เสร็จจากนั้นก็กลับมาขายของ” ทั้งนี้เนื่องจากบ้านของมาลีกีตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนิรันดร ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ทำให้ร้านค้าของเขา ก็พออยู่ได้
                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้เขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สภาพร่างกายของเขาก็เจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง เขาเพิ่งผ่านการผ่าตัดไส้ติ่ง และเผชิญกับโรคแทรกซ้อน  คือโรคไต และล่าสุด หมอบอกว่า เป็นไส้เลื่อนด้วย และเขาก็ยังมีอาการชาที่บริเวณหลัง และแขนทั้งสองข้าง บางวันเขาใช้รถ มอเตอร์ไซค์สี่ล้อ ที่ดัดแปลงสำหรับคนพิการ    ซึ่งเขาเพิ่งซื้อเมื่อสามเดือนที่แล้ว ขับออกไปข้างนอก เพราะถ้าถูกลมแรง ๆ อาการก็จะดีขึ้น ด้วยเหตุนี้เขาต้องออกไปทำสวน เพื่อเป็นการกายภาพบำบัดภายในตัว และพยายามนวดตัวเองบ่อย ๆ
                แม้ว่าชะตากรรมชีวิตของมาลีกี ยังคงต้องเผชิญกับความเจ็บปวด และความไม่ปรกติของร่างกายก็ตาม แต่เขาก็ยังคงยิ้มได้และไม่เคยย่อท้อกับการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก ในฐานะคนพิการไปตลอดชีวิต  แต่ชุมชนสังคม และหน่วยงานภาครัฐด้านความมั่นคง ควรเรียนรู้และใส่ใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น  เพื่อเป็นบทเรียนในการจัดการความขัดแย้ง การส่งเสริมสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา  และการควบคุมสถานการณ์ในอนาคต ไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาด ที่นำไปสู่การเจ็บ การตาย และพิการของประชาชนเป็นจำนวนมากเช่นนี้  อีกต่อไป
 
 ดวงตาที่หายไปกับชีวิตที่หมดหวัง
                “เขาทำงานหนักไม่ได้แล้ว วันก่อนชวนไปไถนา ไม่ทันไร ตาข้างซ้ายก็มีน้ำไหลออกมากลายเป็นสีแดงก่ำ และเขาก็ปวดหัวหนักมาก” พ่อของแวดีเล่าให้สมาชิกในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ที่ไปเยี่ยมเยือนได้ฟัง ขณะที่ทุกคนนั่งอยู่หน้าบ้าน ซึ่งอยู่ด้านหลังมัสยิดตากใบ อ.ตากใบ จ. นราธิวาส
                 “แวดี มะโซ๊ะ” มีคำนำหน้าเป็นเด็กชาย ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547  ตอนนั้นเขาเพิ่งอายุได้ 14 ปี และกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ “ปอเนาะกาปงดาแล” โรงเรียนสอนศาสนาดั้งเดิมพร้อมกับพี่ชาย  ซึ่งพี่ชายของเขาเป็นคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ  โดยวันเกิดเหตุเขากับเพื่อนชวนกันไปเที่ยวที่ตลาดตากใบ ทำให้เขาต้องอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แวดีเล่าว่า
                “ระหว่างที่มีการสลายการชุมนุม ตอนได้ยินเสียงปืน ผมและคนอื่นๆ หมอบราบกับพื้น แต่ด้วยความอยากรู้ของผมตามประสาเด็ก ผมก็เลยชะเง้อหน้า ทันใดนั้นกระสุนปืนก็วิ่งตรงมาที่หัวและเฉียดเข้าที่ลูกตาข้างซ้าย หลังจากนั้นผมก็สลบไม่รู้สึกตัวอีกเลย” ด้วยเวลาที่มันผ่านมานานหลายปี   ทำให้แวดี เล่าด้วยอารมณ์ที่ดูเหมือนนิ่งสงบ   แต่ฉันรู้ว่า ซ่อนด้วยอารมณ์น้อยใจ และรู้สึกหดหู่ในโชคชะตาของตนเอง
                แวดีได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 18 วัน ในวันนั้น  แม่ของเธอไม่อยากเชื่อสายตาตนเอง ที่เห็นสภาพลูกชาย ตาที่ถูกยิงนั้น ดวงตาหลุดออกมาอย่างน่ากลัว เธอนึกว่าอย่างไรเสีย ลูกชายก็คงไม่รอดแล้ว แต่ขอบคุณพระเจ้า ที่ทำให้ลูกชายเธอหายไว  นอกจากโดนยิงที่ตาแล้ว   ลูกชายยังมีแผลที่น่องข้างขวา ซึ่งคาดว่าน่าจะเฉียดกระสุนปืน
                 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  แวดีโดนแสงแดดจัดๆไม่ค่อยได้  และทำงานหนักก็ไม่ได้ เพราะจะมีอาการปวดหัว และน้ำตาไหล  ทำให้เขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติ แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาก็ไปช่วยพี่ชายขายของชำแถวบ้าน  แต่ร้านก็ได้ปิดลงเสียแล้ว เขาจึงไม่มีรายได้ ต้องอาศัยพ่อเป็นหลัก ซึ่งทำงานหาปลาในบึงขาย ส่งผลให้พ่อและแม่ของเขาเป็นห่วงว่าเขาจะใช้ชีวิตในอนาคตอย่างไร หากพ่อแม่ไม่อยู่!!
                เมื่อถามความรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน แวดีบอกว่า “แม้จะยังรู้สึกโกรธ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้” เมื่อถามต่อว่า เมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์ตากใบ จะเห็นภาพอะไร เขาก็บอกว่า “เขาเห็นเจ้าหน้าที่ที่กำลังเตะเขาและคนอื่น ๆ” เขาพูดพร้อมก้มหน้าด้วยบุคลิกปรกติของเขา ที่เขินอายและไม่พูดมาก
                อย่างไรก็ตามแวดีได้รับเงินช่วยเหลือ ภายหลังการฟ้องร้องในคดีแพ่งด้วยเงินประมาณ 6 แสนบาท และพ่อได้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นสวนมะพร้าว  ที่พอจะนำมาเป็นวัตถุดิบทำอาหารในแต่ละวันได้ และเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว
                แต่หลังจากเหตุการณ์ เขาก็ไม่ได้ไปเรียนต่ออีกเลย “จะไปเรียนได้ไง ตอนนั้นไม่มีเงิน” พ่อของเขาพูดแทรก แต่เมื่อถามเจ้าตัว ก็บอกว่า “ไม่อยากไปเรียนต่อเพราะโตแล้ว อายเพื่อนๆ” เขาบอกเหตุผล
                ด้วยครอบครัวที่มีฐานะยากจน และไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการเรียนหนังสือ ทำให้แวดีขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนไป เมื่อประกอบกับความพิการของเขา ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติ ฉันจึงจินตนาการต่อไม่ได้ว่าเขาจะมีชีวิตได้อย่างไร หากวันหนึ่งพ่อแม่เขาแก่ตัวลง
                นี่คือ สภาพชีวิตของผู้คนที่เหลืออยู่ จากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ ที่พวกเขาจำต้องดำเนินชีวิตต่อไป สังคมคงต้องช่วยกันประคับประคองชีวิตที่เหลืออยู่ ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ   เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว  และสังคม รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ คงต้องร่วมกันยุติความรุนแรง ส่งเสริมแนวทางสันติวิธี  และดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม
 ตระหนักถึงความสำคัญของชีวิต เคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน  เพื่อไม่ให้มีการละเมิดชีวิตเกิดขึ้นได้ง่ายๆอีก