บทวิเคราะห์ของ พล.อ.ไวพจน์ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สมควรให้น้ำหนักและรับฟัง ไม่ใช่เพียงเพราะเขาคืออดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แกนหลักของทีมเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต หรือเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ร่วมยกร่างพิมพ์เขียวดับไฟใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับเท่านั้น
มิใช่แค่อดีตผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวต่อสู้มาหลายสิบปีเท่านั้นที่มองเห็นจุดอ่อนของรัฐไทยในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทว่าคนของรัฐเองอย่าง พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ก็มองเห็นจุดอ่อนนั้นเช่นกัน
เป็นจุดอ่อนที่ พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่ามีบ่อเกิดมาจากความผิดพลาดตั้งแต่ในขั้นของการกำหนดยุทธศาสตร์เลยทีเดียว และนั่นทำให้รัฐไทยดูประหนึ่งว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำใน ‘สงครามความรู้สึก' ที่ฉาบอยู่บนสมรภูมิแย่งชิงมวลชน ทั้งๆ ในความเป็นจริงไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นเลย
บทวิเคราะห์ของ พล.อ.ไวพจน์ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สมควรให้น้ำหนักและรับฟัง ไม่ใช่เพียงเพราะเขาคืออดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แกนหลักของทีมเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต หรือเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ร่วมยกร่างพิมพ์เขียวดับไฟใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับเท่านั้น
แต่คำออกตัวของเขาในช่วงหนึ่งของการพูดคุยที่ว่า "ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยตรงแล้ว ไม่ใช่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) หรือ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) สิ่งที่พูดเป็นแนวคิดหรือข้อมูลจากผู้ที่เคยปฏิบัติหรือติดตามอยู่ และเห็นปัญหาว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของเรามันเดินไปก็จริง เป็นการก้าวเดินที่แม้จะมีความก้าวหน้า แต่มันยังไม่ทันกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะมันยังไม่ใช่การวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง วิธีแก้ปัญหามันจึงยังไม่มี"
ตรงนี้ต่างหากคือปมเงื่อนสำคัญที่เป็นคำตอบว่า เหตุใดการถอดสลักทางความคิดเพื่อขจัดปัญหาความไม่สงบในดินแดนด้ามขวาน จึงต้องฟังประสบการณ์ของ พล.อ.ไวพจน์
นับจากบรรทัดนี้ไปคือสายธารความคิดที่หลั่งไหลจากเขา และทั้งหมดจะตอบคำถามที่เขาตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า การวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และวิธีแก้ควรจะเป็นอย่างไร
ยุทธศาสตร์หลงยุค
พล.อ.ไวพจน์ เริ่มต้นที่การอธิบายถึง ‘ภัยคุกคาม' ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน โดยปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นภัยคุกคามแบบหนึ่ง แต่เป็น ‘ภัยคุกคามรูปแบบใหม่' ทว่าผู้มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ในบ้านเรายังติดอยู่ในกรอบคิดของ ‘ภัยคุกคามรูปแบบเดิม' ทำให้วางยุทธศาสตร์การแก้ไขที่ไม่กลมกลืนกับปัญหา
"เมื่อก่อนประเทศเราเผชิญกับปัญหาหรือภัยคุกคามที่มีลักษณะเป็น Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบเดิม) เป็น Conventional Warfare (สงครามตามแบบ) แต่ปัจจุบันปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเป็น Non-Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบใหม่) หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ ยาเสพติด หรือก่อการร้าย แต่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กำหนดยุทธศาสตร์ยังใช้ factor (ปัจจัย) เดิมๆ ของ Traditional Threat มากำหนดยุทธศาสตร์ใน Non-Traditional Threat มันทำให้ไม่กลมกลืน"
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ มองว่า จริงๆ แล้วจากประสบการณ์การเรียนรู้ปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง 1-2 ปีแรกหลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ถูกต้องตรงกับปัญหาได้ในปัจจุบัน แต่อุปสรรคที่กางกั้นดูจะลึกกว่านั้น
"ประสบการณ์ในภาคใต้มันทำให้เห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของ Non-Traditional Threat มันมีแฟกเตอร์ใหม่ๆ สำคัญๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นยุทธศาสตร์จะไม่ลึกพอ ไม่เวิร์ค และจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่การเปลี่ยนวิธีคิดของพวกทหารหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งศึกษาด้านนี้มา 20-30 ปี มันก็มุ่งแต่ Traditional Threat มันจึงยังเปลี่ยนแปลงได้ช้า"
นายทหารที่เคยนั่งในตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงทั้ง ผบ.ศรภ.และ ผอ.สขช.ชี้ว่า ด้วยปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาในปัญหาภาคใต้นั่นเอง ทำให้ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ไขต้องเป็น ‘ยุทธศาสตร์แยกส่วน' เพราะไม่สามารถนำยุทธศาสตร์แบบ one size fit all (ยุทธศาสตร์เดียวใช้ได้กับทุกสถานการณ์) มาใช้ได้แบบเดิมอีกแล้ว
เขาอธิบายแนวคิดอันเป็นที่มาของยุทธศาสตร์แยกส่วนว่า จากการวิเคราะห์สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่เพราะความอยุติธรรม การไม่มีงานทำ หรือผลกระทบอื่นๆ เดิมๆ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้ใจรัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอยากใช้ความรุนแรง ฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่ใช้จะต้องแยกระหว่างประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์หนึ่ง กับผู้ใช้ความรุนแรงก็ต้องมีอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง
"ไม่ใช่คุณมียุทธศาสตร์เดียวแล้วใช้เหมารวมทั้งประชาชนและผู้ก่อความรุนแรง" เขาระบุ
และไม่เพียงต้องมียุทธศาสตร์แยกส่วนเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายังต้องแบ่งเป็นระยะ หรือ เฟส (phase) เพื่อให้สามารถใช้ยุทธศาสตร์ได้ตรงตามสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลาและพื้นที่ด้วย
"ถ้าเผื่อในพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ก็ต้องให้ทหารนำ เพราะทหารถูกฝึกมาสำหรับวางยุทธศาสตร์ในยามไม่ปกติ แล้วกระทรวงอื่นก็ต้องตาม คอยสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ของฝ่ายทหาร ไม่ใช่แยกไปกระทรวงใครกระทรวงมันแล้วก็มีเป้าหมายของตัวเอง"
"ส่วนในพื้นที่ที่ความรุนแรงเริ่มลดลง ก็ให้กระทรวงอื่นๆ เขานำ แล้วทหารก็ดูว่าจะสนับสนุนอะไรเขา ไม่ใช่ กอ.รมน.ภาค 4 ไปกวาดทุกพื้นที่ คุณต้องมาซอยแยกแต่ละส่วน"
รัฐบาลไม่เต็มร้อย
นอกจากการมองปัญหาที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ภัยคุกคาม จนนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดแล้ว พล.อ.ไวพจน์ ยังเห็นว่า ยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีที่ใช้ในภาคใต้ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ก็ยังเหลื่อมซ้อนกันมาก
เห็นได้จากในช่วงเริ่มต้นของการรับมือกับสถานการณ์ภาคใต้ ฝ่ายความมั่นคงยังแบ่งว่านี่คือยุทธศาสตร์ หน่วยในกรุงเทพฯ จะเป็นผู้กำหนด เมื่อทำยุทธศาสตร์เสร็จแล้วก็ส่งไปยังหน่วยปฏิบัติ คือ กอ.รมน.ภาค 4 จากนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ก็ไปแปรยุทธศาสตร์เป็นการปฏิบัติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้ ทำให้คิดในกรอบเก่าไม่ได้อีกต่อไป
"สมมติผมวางยุทธศาสตร์อยู่ในกรุงเทพฯ ผมรับข้อมูลจากในพื้นที่มา ผมก็อาจจะมีแฟกเตอร์ในการพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สัก 10 แฟกเตอร์ แต่เมื่อเอายุทธศาสตร์ที่ผมวางไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้แล้ว มันจะมีอีก 10-20 แฟกเตอร์เพิ่มขึ้นมา เพราะในพื้นที่มันมีปัญหาอะไรอีกเยอะแยะ"
"แล้วในภาคใต้มันก็ยังมีว่า เงื่อนไขในแต่ละหมู่บ้านก็ต่างกัน ฉะนั้นคุณจะมาใช้ one size fit all แบบเดิมไม่ได้ มันต้องเข้าใจพื้นที่ เข้าใจสภาพสังคมในภาคใต้ด้วย เหตุนี้เมื่อจะวางยุทธศาสตร์จึงต้องเข้าใจยุทธวิธี เพราะไม่อย่างนั้นความเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติจะไม่มีเลย"
ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องยังไม่เกิดขึ้น ก็คือเจตจำนงของรัฐบาล หรือ Political Will
"ในสถานการณ์ของ Non-Traditional Threat แฟกเตอร์อันหนึ่งคือ Political Will ของรัฐบาลต้อง 100% แต่ว่า Political Will ของรัฐบาลตอนนี้ อาจจะเนื่องจากต้องคำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก จึงมีเรื่องอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่า ทั้งๆ ที่ Political Will ในการแก้ไขปัญหาต้อง 100% ทั้งตัวรัฐบาลเองและทั้งผู้ปฏิบัติด้วย"
เมื่อเจตจำนงของรัฐบาลยังไม่เต็มร้อย ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การยอมรับในยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาก็จะไม่มี และนั่นทำให้ยุทธวิธีที่หน่วยงานความมั่นคงใช้ในพื้นที่ตลอดมาค่อนข้างสะเปะสะปะ
เอกภาพยังไม่เกิด
พล.อ.ไวพจน์ ขยายความว่า ขั้นตอนการทำยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมนั้นมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นที่หนึ่ง จะต้องมี Good Strategy (แผนการหรือยุทธวิธีที่ดี) เสียก่อน
"ผมเห็นว่าในภาคใต้เรายังไม่ Good Strategy สักเท่าไหร่ เนื่องจากวิธีคิดหรือกรอบคิดมันยังแคบอยู่ ถ้าคุณคิดจะแก้ปัญหาภาคใต้คุณต้องคิด beyond ปัญหา คิด beyond ภาคใต้ (คิดเกินกว่าขอบเขตปัญหาภาคใต้) มันจึงจะแก้ได้ เพราะปัญหามันเกี่ยวโยงกันเยอะมากในปัจจุบัน ถ้าคุณจะคิดแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยมองแค่ภาคใต้เท่านั้น คุณไม่มีทางแก้ได้" อดีต ผอ.สขช.ระบุ พร้อมอธิบายต่อ
ขั้นที่สอง คือต้องสร้างให้เกิดการยอมรับในยุทธศาสตร์ แต่จากประสบการณ์ของเขาเห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการยอมรับยุทธศาสตร์กันสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในภาพรวม (large scale)
"มันไม่เหมือนกับตอนทำนโยบาย 66/23" พล.อ.ไวพจน์ ยกตัวอย่างถึงการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในอดีต "ช่วงนั้นทุกคนก็งง...เอ๊ะมันอะไร แต่รัฐบาลได้จัดทีมออกไปทุกภาคทุกส่วน ไปอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 66/23 ใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี กว่าที่ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าเอาอันนี้นะ"
เขาชี้ว่า การจัดอบรมชี้แจง นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันแล้ว ยังทำให้เกิดการต่อยอดทางยุทธวิธีภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เดียวกัน
"มันจะมีความคิดริเริ่มในท้องถิ่นว่า ถ้าจะทำตามยุทธศาสตร์ 66/23 ที่ขอนแก่นทำอย่างไร ที่อุดรธานีทำอย่างไร เพราะมันไม่สามารถที่จะมีโมเดลเดียวแล้วใช้ได้ในทุกพื้นที่ เพียงแต่ทุกคนต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์มันเป็นแบบนี้ก่อน แล้วคุณไปต่อยอดเอาเองตามเงื่อนไขในพื้นที่ของตน แต่ปัญหาภาคใต้ในปัจจุบันเมื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ข้างล่างก็จะไม่สามารถแตกออกเป็นโครงการหรืออะไรที่เหมาะสมได้"
ในฐานะนายทหารนักยุทธศาสตร์ เขาย้ำว่าหากสร้างการยอมรับในยุทธศาสตร์ใหญ่ไม่ได้ จะทำให้ปัญหาบานปลาย และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
"การไม่สามารถทำให้ยุทธศาสตร์เป็นที่ยอมรับ มันทำให้การแปรนโยบายหรือยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่มันสะเปะสะปะ ประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด งบประมาณก็จำกัด เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ด้วยการลองผิดลองถูกได้มากมาย เพราะฉะนั้นการสร้างให้เกิดการยอมรับมันจะช่วยทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เขากล่าว พร้อมตั้งคำถามที่อาจทำให้ใครหลายคนสะอึกได้เหมือนกัน
"ดูสิเราทุ่มเงินไปเท่าไหร่ ทุ่มไปกี่หมื่นล้านแล้วในภาคใต้ แต่ว่ามีผลอะไรออกมาหรือไม่ คุณไม่ต้องไปใช้เครื่องมือประเมินผลที่ทันสมัยอะไรเลย วันนี้ก็เห็นอยู่ว่าประชาชนดีขึ้นไหม สถานการณ์ดีขึ้นไหม มันเห็นชัดๆ ว่ายุทธศาสตร์เรามันยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ การแปรนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติมันจึงยังไม่ดี"
ต้องมีทีมมอนิเตอร์
สำหรับขั้นตอนที่ 3 ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เป็นรูปธรรมได้ก็คือ การควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้รับผิดชอบทุกระดับ
"สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในเรื่อง Non-Traditional Threat" พล.อ.ไวพจน์ว่า "ฉะนั้นการกำกับดูแลเพื่อจะปรับยุทธศาสตร์ ปรับวิธีคิด มันจะต้องมี Monitoring Team (คณะทำงานที่คอยกำกับดูแล) จะมาใช้วิธีแบบเดิมที่ว่ารอให้มันสุกงอมก่อนแล้วค่อยไปปรับคงไม่ได้ มันต้องปรับเร็ว เพราะจะเห็นได้ว่าอีกฝ่ายเขาปรับของเขาตลอด แต่ของเรานี่ช้า ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องโครงสร้างของระบบราชการนี่แหละ"
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ซึ่งยังเป็นนายทหารประจำการอยู่ในปัจจุบัน ออกตัวว่า ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิหรือโทษกันเอง
"นี่ไม่ใช่การโทษกันนะ และที่พูดมาก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่รับผิดชอบเขาไม่ทำงานหรือเขาไม่พยายามปรับ เขาก็ทำ เขาก็ปรับ เพราะคนที่มีความคิดแบบผมเชื่อว่ายังมีอีกเยอะ แต่ว่ามันยังไม่สามารถนำไปสู่รูปธรรมในการปรับโครงสร้างใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นภาคใต้มันถึงยังเป็นอย่างนี้"
ยุทธศาสตร์ที่ขาด ‘ทางเลือก'
ด้วยความที่ศึกษาและค้นคว้าเรื่องการทำยุทธศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทำให้นายทหารผู้นี้เห็นว่า จุดอ่อนสำคัญของนักยุทธศาสตร์เมืองไทยคือ การไม่พยายาม ‘คิดต่าง' เพื่อสร้าง ‘ทางเลือก' ให้กับผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปใช้
"ต้องเข้าใจว่าเมื่อคุณอยู่ในจุดที่กำหนดยุทธศาสตร์หรือนโยบายในระดับชาติได้ คุณต้องพร้อมจะแตกต่างได้ ไม่อย่างนั้นมันก็ตามกระแสกันไปหมด ยุทธศาสตร์เมืองไทยมันตามกระแสกันหมด ฉะนั้นคุณต้องยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสร้าง option (ทางเลือก) ให้กับรัฐบาล ให้กับผู้นำยุทธศาสตร์ไปใช้"
พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของการสร้าง option ที่ดีที่สุด
"ฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่ดีจึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ตามกระแสแบบที่เราเป็นอยู่ ผมถึงบอกว่ามันไม่ Good Strategy ก็เพราะอย่างนี้ ยุทธศาสตร์เป็นเรื่อง option คุณไปประเทศไหนๆ เขาก็พยายามจะสร้าง option แล้วก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เหมาะกับห้วงเวลานั้นๆ"
"เพราะฉะนั้นคนที่กำหนดยุทธศาสตร์ คุณต้องยืนหยัดใน option ของตัวเอง และสามารถสร้าง option หลายๆ option ได้ เพื่อให้ทันเกมของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้มันมีทางเลือกหลากหลาย และผู้ใช้ยุทธศาสตร์ก็ต้องใจกว้างพอที่จะพิจารณา ไม่ใช่...อันนี้เอ็งคิดแตกต่างจากข้า ก็เลยไม่เอา...ถ้าอย่างนั้นประเทศเราก็เป็นอย่างนี้ คือไม่มี option ที่ดีพอ"
ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เปรียบ
จากปมปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมา ทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคงเสียเปรียบฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อการไม่เชิงว่าได้เปรียบรัฐสักเท่าไหร่
"ทางทหารเราพยายามใช้ Preventive (ยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน) เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกหรือป้องปรามก่อนที่เหตุการณ์จะเกิด ฉะนั้นเราก็จะวาดภาพว่า จากข้อมูลอย่างนี้ ฝ่ายตรงข้ามพยายามจะนำไปสู่อะไร และมันก็มีภาพหนึ่งที่พอจะนำมาพูดคุยได้ ก็คือว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วยการสร้างความรุนแรงรูปแบบต่างๆ"
"สาเหตุก็คือฝ่ายโน้นก็รู้ว่าเขาไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสร้างให้เห็นว่า รัฐบาลกดขี่ รัฐบาลไม่ยุติธรรม สร้างความขัดแย้งทางศาสนาว่าคนพุทธกดขี่ เพื่อให้องค์กรหรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศซึ่งเข้มแข็งมากในปัจจุบันเข้ามาสนับสนุน และมันก็มีกระแสเข้ามา"
จุดนี้เองที่ย้อนกลับมาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์แบบแยกส่วนดังที่เขาเสนอไว้ตอนต้น
"ผมถึงได้บอกว่าเราต้องมียุทธศาสตร์แยกส่วนทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ต่างประเทศก็คือไปทำความเข้าใจกับนานาชาติว่ารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายที่จะไปกดขี่คนสามจังหวัด รัฐบาลต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความแตกต่าง แต่ความก้าวหน้าของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มันค่อนข้างจะช้า ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายๆ ฝ่ายไม่เข้าใจได้"
"ยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อความไม่สงบก็คือทำอย่างไรที่จะสร้างความรุนแรงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ของเราก็ต้องเน้นสร้างความเข้าใจ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งที่สามารถหยุดความร่วมมือจากต่างประเทศได้"
รัฐพลาดในสงครามความรู้สึก
พล.อ.ไวพจน์ วิเคราะห์ว่า ความสำเร็จของการดำเนินยุทธศาสตร์นอกประเทศ ทำให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงหยุดชะงักเพื่อรอจังหวะ และนั่นคือคำตอบที่ว่า เหตุใดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สู่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช สถานการณ์ในพื้นที่จึงดูคลี่คลายลง
"ถ้าให้ผมวิเคราะห์ก็คือ ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงก็เห็นว่า ตอนนี้ไม่สามารถขยายงานได้ เขาก็แค่ maintain (รักษาสภาพ) ไปก่อน แล้วรอว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ทั้งในและต่างประเทศ คือเขาอาจจะได้รับการสนับสนุนอะไรกลับมาอีก หรือรัฐบาลก้าวพลาดบางอย่างที่ทำให้ต่างประเทศตำหนิ เช่น ไปทำอะไรให้รู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม แล้วการสนับสนุนก็จะกลับมา"
อดีต ผอ.สขช.ซึ่งเคยรับผิดชอบงานข่าวระดับประเทศ ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ในส่วนนี้ของกลุ่มก่อความไม่สงบ ก็คือการทำ ‘สงครามความรู้สึก' กับประชาชนในสามจังหวัด โดยใช้ ‘ปฏิบัติการข่าวสาร' หรือ ไอโอ (Information Operation: IO) เป็นเครื่องมือ วิธีการก็คือก่อเหตุรุนแรงรายวันในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ และหากสบช่องด้วยเงื่อนไขบางประการ ก็พยายามตอกลิ่มทางความรู้สึกให้ประชาชนเกลียดรัฐ
อย่างไรก็ดี แม้โดยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกำลังประสบชัยชนะใน ‘สงครามความรู้สึก' แต่ พล.อ.ไวพจน์ กลับเห็นว่า ความผิดพลาดในยุทธศาสตร์การใช้ ‘ไอโอ' ของภาครัฐต่างหากที่ทำให้สภาพการณ์ดูประหนึ่งว่ารัฐกำลังพ่ายแพ้
"ไอโอคือเครื่องมือที่ใช้โน้มน้าวหรือเปลี่ยนแนวคิดของอีกฝ่ายให้คล้อยตามแนวคิดของฝ่ายเรา ไอโอจะครอบคลุมทั้ง ปจว. (ปฏิบัติการทางจิตวิทยา) และการโน้มน้าวด้วยวิธีอื่นๆ จัดเป็นเครื่องมือลดขีดความสามารถในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม ลดการสนับสนุนที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับจากประชาชน สรุปแล้วไอโอเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐทำฝ่ายเดียว" เขาอธิบายในเชิงทฤษฎี และว่า
"จากแนวคิดที่ว่านี้ ถ้าโยงมาภาคใต้ ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ไม่ใช่ศัตรู ฉะนั้นคุณจะมาใช้ ‘ไอโอ' กวาดไปหมดแบบที่ใช้ๆ อยู่อย่างนี้ มันจะ backfire (ส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้) ทีหลัง นั่นคือคุณใช้ไอโอตามแนวคิดของตะวันตกไม่ได้ เพราะสถานการณ์ภาคใต้นั้น แม้จะมีความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัตรู ถ้าใช้ไอโอแบบภาพใหญ่ ประชาชนอาจเข้าใจผิดและหลงทางได้ และยิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยก"
ต้องให้ ‘ความจริง' กับประชาชน
พล.อ.ไวพจน์ ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่อิรัก เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงการทำไอโอตามทฤษฎีของตะวันตก ซึ่งใช้ไม่ได้กับภาคใต้ของไทย
"สหรัฐในอิรักเขาทำไอโอได้เต็มสเกล เพราะไม่ใช่ประชาชนของเขา เขาใช้เป็นแค่เครื่องมือให้หน่วยของเขาปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนอิรักมาทำร้ายทหารอเมริกัน ทำร้ายที่ตั้ง ไม่ให้มาเป็นปฏิปักษ์ แต่ไม่ใช่ทำไอโอแบบหวังดีกับคนอิรัก แต่ของเรานี่คือประชาชนของเรา ถ้าเราทำไอโอมันต้องทำอีกแบบหนึ่ง"
พล.อ.ไวพจน์ ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็ดี หรือคนภาคอื่นๆ ก็ดี ทิ้งภาคใต้มานาน มีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นเยอะมาก และรัฐก็เข้าไปแก้ไขปัญหาแบบให้ความสนใจน้อยในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดความรุนแรง เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้จะเกิดขึ้นโดยใครก็แล้วแต่ จึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นสิ่งบอกเหตุว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง สังคมในพื้นที่นี้ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องทำ ‘ไอโอ' ในอีกรูปแบบหนึ่ง
"ภาคใต้ต้องให้ความจริง ไม่ใช่มา ปจว. ไม่ใช่มาให้ข่าวสารในลักษณะที่ว่าลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องให้ความจริงเป็นหลัก เพราะเป็นประชาชนของเรากันเอง ต้องพยายามให้เขาเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจก็สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เข้าใจว่าถ้าประชาชนหันมาช่วยรัฐบาล ทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ มันก็เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เอง เป็นผลประโยชน์กับเด็กรุ่นหลังๆ ไม่อย่างนั้นมันก็คากันอย่างนี้ รบกันอยู่อย่างนี้ ก็เกิดความหวาดกลัว เกิดความไม่สงบ"
"เราสามารถอธิบายให้เห็นเป็น fact (ข้อเท็จจริง) ได้เลยว่า รัฐบาลตระหนักว่าต้องทำอะไรให้ดีขึ้น แต่โดยธรรมชาติของรัฐบาลก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามันไปได้ช้า มันไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่ทุกภาคก็เป็นอย่างนี้ ภาคอื่นตอนนี้ก็แย่ เจอราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่ทุกคนตระหนักว่าคุณภาพชีวิตกับความยุติธรรมในภาคใต้ต้องดีขึ้น เพียงแต่ยังไปได้ช้า แต่มันจะเร็วขึ้นได้ถ้าคนในพื้นที่มาร่วมมือกับรัฐบาล โดยจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบร่มเย็นในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เอง"
ในฐานะที่เป็นนายทหารเพียงไม่กี่คนที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เขาบอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับจุดยืนของอดีตประธาน กอส. อานันท์ ปันยารชุน ที่ย้ำอยู่เสมอว่าการพูดความจริงกับประชาชนในพื้นที่ จะทำให้ปัญหาภาคใต้คลี่คลายลง
"ผมเห็นด้วยกับท่านอานันท์ว่า การให้ fact ให้ความจริง และการทำความเข้าใจกับประชาชนส่วนใหญ่ จะทำให้การแก้ไขสถานการณ์มันยั่งยืน แต่ถ้าเผื่อเราไปเล่นกับความรู้สึกของประชาชนเหมือนกับที่ฝ่ายตรงข้ามเขาทำ มันก็ได้เหมือนกันสำหรับทหารรบกับทหารด้วยกัน คุณยิงมา เรายิงไป แต่นี่คุณกำลังเล่นกับประชาชน กับคนไทยด้วยกัน ผมว่าปัญหามันจะบานปลาย"
"ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้ใช้ ไอโอ เป็นเครื่องมือ แต่เราใช้เป็นเป้าหมาย เราต้องทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนก้าวไปพร้อมกับเรา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเล่นแบบฝ่ายตรงข้าม เพราะฝ่ายตรงข้ามเขาไม่ได้นึกเรื่องนี้ เขานึกเพียงว่าสร้างความรู้สึก แล้วเราจะไปทำอย่างนั้นหรือ อันนั้นมันไม่ยั่งยืน เราพยายามต่อต้านอันนั้น เราต้องใช้ fact และ understanding (ความจริงและการทำความเข้าใจ)"
แผนพิทักษ์แดนใต้ไปไม่สุด
เราซักว่า สถานการณ์ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐจะไม่ได้มุ่งให้ความจริงกับประชาชน แต่มุ่งสร้าง ‘ความกลัวยิ่งกว่า' เพื่อกดดันให้ชาวบ้านหันมาร่วมมือกับรัฐ เช่น การใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น ครอบคลุมแทบทุกอำเภอ และจับกุมผู้ต้องสงสัยแบบยกหมู่บ้าน ตามยุทธวิธีที่เรียกว่า ‘แผนพิทักษ์แดนใต้'
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในคำถามของเรา
"เขาอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะจับทั้งหมู่บ้าน แต่ตอนแรกที่ผมลงไป จะเห็นได้ว่าทหารมีการแบ่งเป็น ฉก. (หน่วยเฉพาะกิจ) ดูแลพื้นที่ต่างๆ แต่เดิมทุก ฉก.ก็เล่นยุทธวิธีของตัวเองในพื้นที่ของตัวเอง ผลในการรับสถานการณ์ในตอนนั้นมันก็เลยเป็นจุดๆ ไม่ได้เป็น large scale (ภาพใหญ่) ตรงนี้แตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามที่เขาทำทั้งจังหวัด วางระเบิดพร้อมๆ กัน 30-40 จุด แต่ทหารในช่วงต้นๆ ไม่มีเลย ทำทีละจุด ขึ้นอยู่กับแต่ละ ฉก."
"ตรงนี้จึงมีความคิดขึ้นมาว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ มันต้องทำในลักษณะที่ว่า across the board operation (ปฏิบัติการคลุมทุกพื้นที่ปัญหา) คือกองทัพภาคที่ 4 ต้องกำหนดว่าทุกๆ 2 อาทิตย์ต้องทำพร้อมๆ กันทุก ฉก.เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าทหารคุมสถานการณ์ได้ ไม่ใช่ให้ฝ่ายตรงข้ามทำอย่างเดียว 70 จุด 100 จุด แต่ทหารค่อยๆ ทำทีละจุดสองจุด ประชาชนก็ว่า...เฮ้ย!ไม่ได้ให้ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของเราเลยนี่หว่า มันจึงมียุทธวิธีนี้ขึ้นมา"
แม้ พล.อ.ไวพจน์ จะยืนยันว่ายุทธวิธีดังกล่าวเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ลืมที่จะเน้นว่า ปฏิบัติการลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากระดับนโยบาย
"มันต้องมี across the board operation บ้าง แต่ข้างบนต้องเป็นคนคุมด้วย และต้องดูให้ดีทั้งการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ การแยกแยะกลุ่มผู้ต้องสงสัย ไม่อย่างนั้นมันก็มี backfire กลับมา แต่ความมุ่งหมายของเขา เขาต้องการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน"
และแม้นายทหารผู้นี้จะไม่สรุปชัดๆ ว่า ผลของปฏิบัติการดังกล่าวได้ backfire หรือความมั่นใจจากประชาชนมากกว่ากัน แต่ประเด็นที่เขาฟันธงตรงๆ ก็คือ ยุทธวิธี across the board operation มันไปได้ไม่สุด เพราะไม่มียุทธวิธีอื่นๆ มารับไม้ต่อ
"ยุทธศาสตร์ในการรับสถานการณ์ Non- Traditional Threat มันไม่ใช่มีแค่ 1-2 ขั้นแล้วหยุด มันต้องมี 3-4-5 ต่อเนื่องไป แต่ที่มันหยุดก็เพราะมันไม่ Good Strategy มันไม่เข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อันนี้ มันก็เกิดต่อไม่ได้ มันน่าเสียดายที่ว่าเราทำ large scale มาสัก 3-4 เดือนแล้วได้ผล เขาชะงัก แต่พวกเรากลับเดินต่อไม่ได้เอง ตอนนี้มันก็เลยกลับมายันกันเหมือนเก่า"
ไม่จำเป็นต้องรู้ใครอยู่เบื้องหลัง
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นคำถามคาใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายความมั่นคงเอง นั่นก็คือ ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน เพราะฝ่ายผู้ก่อการก็ปิดตัวเองเป็นองค์กรลับ ไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนกลุ่มขบวนการอื่นๆ ในต่างประเทศ
แต่นายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ กลับเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นมากนักที่จะต้องรู้ตัวตนของฝ่ายตรงข้าม
"อันนั้นคือคอนเซปท์แบบ Traditional Threat ก็จะมองแบบต้องรู้ว่าใครเป็นเป้าหมาย ใครเป็นผู้นำ แต่ใน Non-Traditional Threat มันไม่มีความจำเป็น คือถ้าเผื่อรู้ได้ก็ดี แต่เมื่อไม่รู้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนิ่งอยู่กับที่ เพราะฝ่ายตรงข้ามเขาก็พยายามปกปิดอยู่แล้ว และเขาก็แฝงอยู่กับประชาชน"
"ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งมันมีเยอะมาก และปัญหาเดิมๆ ก็ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ ประเด็นก็คือเราเพียงแต่ทำยุทธศาสตร์แยกส่วน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ให้ประชาชนไม่ไปสนับสนุนฝ่ายโน้น คือเราควบคุมไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามขยายตัวได้ก็พอ"
พล.อ.ไวพจน์ ย้ำว่า กุญแจที่นำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้ ต้องไม่ทำเหมือนกับว่าประเทศ 2 ประเทศกำลังรบกัน หรือต้องทำลายล้าง เพราะคนในพื้นที่ก็คือคนไทยด้วยกัน
"เราต้องใช้วิธีควบคุม ลดเงื่อนไขต่างๆ พวกนี้มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หยุดไปเอง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มุ่งหาว่าใครเป็นผู้ก่อการหรืออยู่เบื้องหลังนะ เราก็มุ่งหาเพื่อเจรจาหรืออะไรก็ตาม แต่ว่ามันไม่จำเป็นในขั้นต้น"
"สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับก็คือ เราคงไม่สามารถไปยุติความรุนแรงได้ 100% ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็แค่ควบคุมไม่ให้ความรุนแรงมันขยายตัว ทำให้คนส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ ผมว่าแค่นั้นก็พอ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสงบ 100%"
"ในอังกฤษเมื่อก่อนก็มีไอร์แลนด์ แม้แต่ประเทศมุสลิมกันเองเขาก็บอกเขามี Extremists (พวกสุดขั้ว) ของเขา แต่เขาควบคุมเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องไปทำให้มันหมดไป แค่ควบคุมให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตปกติ และประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ก็พอ แล้วพวกนี้ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทไปเองเมื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร"
เสียดาย 'เจรจา' สะดุด
จากคำตอบของ พล.อ.ไวพจน์ เองที่ว่า แม้ไม่จำเป็นต้องรู้ในขั้นต้นว่าใครคือผู้กดปุ่มสร้างสถานการณ์รุนแรงอยู่ทุกวันนี้ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็จำเป็นต้องมุ่งหาบุคคลหรือองค์กรที่ยังเป็นปริศนาอยู่ในขั้นต่อไป เพื่อเปิดการเจรจา
ประเด็นดังกล่าวทำให้เราถามถึงความพยายามในการ ‘เปิดโต๊ะเจรจา' กับผู้นำขบวนการต่างๆ ซึ่งเขาเองเคยเป็นตัวจักรสำคัญในห้วงปี 2548-2549
"ผมเคยคุยกับพวกที่อยู่ในมาเลย์ กับแกนนำขบวนการทั้งเก่าและใหม่ โดยความร่วมมือของทางฝ่ายมาเลย์ที่ทางโน้นเขาเคารพนับถือ เช่น ท่านมหาธีร์ โมฮำมัด (อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ที่เคยช่วยหรืออะไรต่างๆ"
"ช่วงนั้นเรื่องการสร้างสมานฉันท์เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจในยุทธศาสตร์ ซึ่งมันไม่ใช่อันเดียว เป็นหนึ่งในแพ็คเกจ ตอนนั้นผมอาจจะโชคดีที่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงมีโอกาสไปคุย มันก็รู้ข้อมูล และเกิดประโยชน์มากในการวางยุทธศาสตร์เพิ่มเติม"
พล.อ.ไวพจน์ ยอมรับว่า การพูดคุยหรือไดอะล็อก (Dialogue) เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ช่วงนั้น และการพูดคุยก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ถูกต้องสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่
"กับ Non-Traditional Threat มันต้องมีไดอะล็อก แต่ไดอะล็อกจะเดินแบบไหน มันก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ที่จริงก็น่าเสียดายในช่วงนั้น บังเอิญเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน ทุกอย่างก็เลยต้องหยุด เพราะงานแบบนี้ Political Will ต้อง 100% ถ้ามันไม่ 100% หรือเราไม่มีอำนาจหน้าที่จริงๆ เสียแล้ว มันก็เดินต่อไปไม่ได้"
นายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ย้ำว่า ปัญหาภาคใต้นั้นหากมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มี Good Strategy และรัฐบาลมีเจตจำนงเต็มร้อยแล้วล่ะก็ จะไม่มีบานปลายยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้
"ผมว่าสถานการณ์มันไม่ไกลมาถึงนาดนี้หรอก รับรองได้เลย มันน่าจะจบเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว น่าเสียดายว่าเราปล่อยให้เป็นถึงขนาดนี้"
นอกจากการพูดคุยกับกลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างจากรัฐแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่ พล.อ.ไวพจน์ ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในการแสวงหาความร่วมมือ ก็คือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ
"เราวิเคราะห์กันว่า แนวโน้มสถานการณ์ของโลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เอ็นจีโอจะมีบทบาทกำหนดนโยบายในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ปัจจุบันรัฐกับเอ็นจีโอยังเดินคนละข้าง เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเรารู้แนวโน้มอันนี้แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลก ทำไมเราถึงไม่เริ่มจับมือกันเพื่อจะเดินไปด้วยกันตั้งแต่วันนี้"
"ในภาคใต้นั้นต้องยอมรับว่า เอ็นจีโอมีทุนทางสังคมกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าฝ่ายความมั่นคง ฉะนั้นถ้าเผื่อเอ็นจีโอเขาสนใจเรื่องอะไร เราต้องเรียนรู้คู่ขนานกันไป แล้วก็แลกเปลี่ยนอะไรกัน และเดินไปด้วยกัน ผมเชื่อว่ามันจะช่วยปัญหาภาคใต้ได้อีกทาง แต่ปัจจุบันพอมีเอ็นจีโอปั๊บ ต่างคนต่างตั้งป้อม เอ็นจีโอก็มองรัฐว่ากดขี่สิทธิเสรีภาพ รัฐก็บอกว่าพวกนี้พวกกวนเมือง หาเรื่องใส่รัฐอีกแล้ว ถ้าเรารู้ว่าอนาคตอีก 10 ปีอย่างไรเสียก็ต้องจับมือกับเขา แล้วทำไมไม่จับเสียตั้งแต่ตอนนี้เพื่อแก้ไขปัญหา"
ไฟใต้ยังดับได้ ถ้า...
เขาเน้นในช่วงท้ายอย่างเปี่ยมหวังว่า ปัญหาภาคใต้ยังสามารถแก้ไขได้ และไม่ใช่ปัญหาใหญ่เกินไปที่จะแก้ หากมีปัจจัยที่ดีทางยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด
"เรายังสามารถควบคุมปัญหาได้ หากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ คือต้องเข้าใจว่าปัญหาภาคใต้หรือปัญหาอื่นๆ ของประเทศ เมื่อก่อนมันก็มี แต่ที่มันมาขยายตัวเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีผลทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น เห็นที่อื่น เห็นอะไรต่างๆ มากขึ้น ปัญหาที่มันเคยเป็นแค่ปัญหาภายในประเทศ มันก็ไปทับซ้อนกับปัญหาสากลมากขึ้น มีการเชื่อมโยงกัน มีการรับทราบรับรู้"
แต่จากประสบการณ์ที