Skip to main content
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
วินาศกรรมย่านเทศบาลนครยะลา และ เทศบาลเมืองนราธิวาส เมื่อหัวค่ำวันที่ 24 และ 26 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็น “นัยยะ” ของการก่อการร้าย เพื่อ “ตอกย้ำ” บาดแผลของการครบรอบปีของเหตุการณ์ “ตากใบทมิฬ” ซึ่งทำให้เกิดการตายหมู่ของชาวมุสลิมกว่า 70 คน แล้ว ยังเป็นการให้คำตอบกับรัฐบาลว่า ณ วันนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีขีดความสามารถในการ “ก่อการร้าย” ที่เหนือกว่าการป้องกันของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเหนืออื่นใด การก่อวินาศกรรมย่านเศรษฐกิจการค้าของทั้ง 2 จังหวัด เป็นไปตามแผนการของ “บีอาร์เอ็นฯ” ที่วางไว้ นั่นคือ การขับไล่คนไทยเชื้อสายจีน และ คนไทยพุทธ ออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เหตุผลที่ชัดเจน คือ “เป้าหมาย” ทั้งหมดเป็นกิจการของคนไทยเชื้อสายจีน และ คนไทยพุทธ ย่านที่ถูกกำหนดเป็น “โซนบอมบ์” เป็นย่านธุรกิจที่เป็นของคนทั้ง 2 กลุ่ม และจำนวนคนเจ็บ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน และ คนไทยพุทธ ส่วนผู้ที่เป็นมุสลิม เป็นผู้ที่ขับรถ จยย.บอม และถูกระเบิดของตนเองเสียชีวิต
 
แผนก่อวินาศกรรมในย่านเศรษฐกิจของ “บีอาร์เอ็นฯ” ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งที่ผ่านมามีการก่อวินาศกรรมในย่านเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เช่น การวางระเบิดย่านการค้าและธนาคารใน อ.เบตง จ.ยะลา การวางระเบิด วางเพลิง โชว์รูม โรงงานอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี การวางระเบิดโรงแรม สถานบันเทิงใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส การวางระเบิดย่านเศรษฐกิจเทศบาลนครยะลา ในหลายครั้งที่ผ่านมา และ การก่อวินาศกรรมสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และ ศูนย์การค้ากลางนครหาดใหญ่หลายต่อหลายครั้ง ล้วนแต่เป็นฝีมือของ “บีอาร์เอ็นฯ” เพื่อต้องการทำลายฐานเศรษฐกิจ การค้า และ การลงทุน ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
 
แผนการก่อการร้ายเพื่อทำลายฐานเศรษฐกิจ และเป็นการขับไล่คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยพุทธออกจากพื้นที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ หน่วยงานทุกหน่วย ต่างทราบถึงแผนการณ์ดังกล่าวดี มีการวางแผนป้องกันพื้นที่ “ไข่แดง”ในเขตเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่การป้องกันของทหาร ตำรวจ และ ปกครอง ไม่เคยประสบผลสำเร็จ ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ
จะเห็นได้ชัดว่า หลังจากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการปรับแผนป้องกันเขตเศรษฐกิจในนครยะลา ด้วยการกำหนดเป็น “เซฟตี้โซน” มีตำรวจ และ อาสาสมัครพลเรือน ของฝ่ายปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในตัวเมือง ส่วนกำลัง “ทหาร” รับผิดชอบรอบนอก มีการดึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ และ นายกเทศมนตรี มาร่วมรับผิดชอบ แต่สุดท้าย ปฏิบัติการ “ปิดไฟถล่มเมือง” ของ “บีอาร์เอ็นฯ” ที่เกิดขึ้น เป็นคำตอบที่ชัดเจนถึงความ “ล้มเหลว” ของระบบ “เซฟตี้โซน” ที่ตั้งขึ้น
 
สิ่งที่เป็นข้อสังเกตของการก่อวินาศกรรมของ “บีอาร์เอ็นฯ” ในทุกครั้ง คือ การก่อการร้ายจะทำเป็น “วงจร” เช่น ถ้าก่อเหตุที่ จ.นราธิวาส แล้ว รอบวงต่อมาต้องเป็นที่ จ.ปัตตานี หรือ จ.ยะลา ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นที่จังหวัดหนึ่งจังหวัดใด เจ้าหน้าที่ต้องวางแผน วางกำลัง และ หาข่าว เพื่อป้องกันพื้นที่ใน 2 จังหวัด ที่เหลือ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการป้องกันอย่างได้ผล
 
และอีกข้อสังเกตหนึ่ง คือ “บีอาร์เอ็นฯ” มีการปรับวิธีการการก่อการร้ายเพื่อให้ได้ผล เช่น ระเบิดที่วางของในศูนย์การค้าเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เป็นระเบิดที่ประกอบด้วยดินระเบิด และ น้ำมันเบนซิน เพื่อหวังผลในการวางเพลิง เพื่อสร้างความเสียหายในวงกว้าง ส่วนระเบิดที่เขตเทศบาลนครยะลาเป็นระเบิด จยย. บอม ทั้งหมด 18 จุด ซึ่งเป็นระเบิดที่ตั้งเวลาด้วยนาฬิกา เพื่อให้ระเบิดในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน การที่ “บีอาร์เอ็นฯ” ไม่ใช้สัญญาณโทรศัพท์เป็นตัวจุดชนวนระเบิด เพราะรู้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ “รีโมทคอนโทรล” ในการจุดระเบิด อาจไม่ได้ผล เพราะ เจ้าหน้าที่มีเครื่องตัดสัญญาณ รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ รีโมทฯ ต้องใช้ “แนวร่วม” เพิ่มขึ้นอีก 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ “กดสัญญาณฯ” ผิดกับการใช้นาฬิกาจุดระเบิด ที่ระเบิดจะระเบิดไปเรื่อยๆในทุกจุดที่ถูกกำหนด โดยที่เครื่องตัดสัญญาณไม่สามารถช่วยอะไรได้
 
วินาศกรรมกลางเมือง 2 ครั้ง ติดต่อกัน ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” จาก ภาณุ อุทัยรัตน์ เป็น “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” และอยู่ระหว่างที่ “กองทัพ” กำลังปรับลดบทบาทของ “ศอ.บต.” ให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เพื่อให้กองทัพมีอำนาจอย่าง “เบ็ดเสร็จ” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
 
โดยเฉพาะกับประเด็นที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ถูกย้ายมาเป็น เลขา ศอ.บต. ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ “บีอาร์เอ็นฯ” นำมาโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นแผนการเพื่อใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับการที่กองทัพกำลังเข้ามามีอำนาจเพียงผู้เดียวในการดับไฟใต้ การนำเอาเรื่องของ “กองทัพ” และ เรื่องของ “ศอ.บต.” มาโยงเข้ากับเรื่องสถานการณ์ของ “สงครามประชาชน” ในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความ “ตึงเครียด” ความขัดแย้งครั้งใหม่ และทำให้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
 
เมื่อนำเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศมาเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวนอกประเทศของขบวนการพูโล ที่มี “นายคัสตูรี มะโกตา” หัวหน้าขบวนการ ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ หลังการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย โดยพูโลมีการส่งจดหมายทางเว็บไซต์ถึงรัฐบาล 4 ครั้ง ซึ่งมีทั้งการโจมตีนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น รวมทั้งยืนยันว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบต้องจบลงที่การเจรจา รวมทั้งปฏิเสธการเคลื่อนไหวของ “นายยาเซร์ ปาต๊ะห์” แกนนำพูโลภาคพื้นยุโรป ที่ประกาศสลายกลุ่มพูโลภาคพื้นยุโรป และเดินทางกลับมายัง จ.ยะลา เพื่อร่วมกับ “กองทัพ” ในการ “ยุติ” การทำสงครามประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง นายคัสตูรี ได้ระบุว่า นายยาเซร์ ปาต๊ะห์ เป็นเพียงคนนอกขบวนการคนหนึ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการพูโลแต่อย่างใด
 
และหากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำของรัฐบาล ยังไม่เข้าใจกับปัญหา และ การ “จัดการ” กับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปล่อยให้มีความ “ขัดแย้ง” ทางนโยบายระหว่างหน่วยงานต่างๆเกือบ 20 หน่วย ในพื้นที่ ยึดผลประโยชน์ทาง “การเมือง” มากกว่า “เหตุผล” และ ข้อเท็จจริง เท่ากับว่า ต่อไปนี้สถานการณ์ความไม่สงบจะยิ่งเลวร้ายลง ประชาชนจะสูญเสียมากขึ้น ความแตกแยกระหว่างคนในพื้นที่จะขยายวงกว้างยิ่งขึ้น การอพยพของคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยพุทธจะเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายคน “มุสลิม” ในพื้นที่ คือ “เหยื่อ” ของสถานการณ์ที่จะถูกนำมา “สังเวย” ซึ่งเป็น “เกม” ที่ “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นผู้กำหนด เพื่อนำปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ “เวทีโลก” ในที่สุด