ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
www.deepsouthwatch.org
แม้ปรากฏการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่นานกว่า 4 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนการรับรู้ปัญหาในแง่มุมที่นอกเหนือจากความรุนแรงรายวันจะยังจำกัดอยู่ในวงแคบเหลือเกิน
ยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย พยายามปัดความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้ ‘ทหาร' ยิ่งทำให้เพดานการรับรู้ของสังคมบีบแคบลงไปอีก
กอรปกับสารพัดปัญหาในบ้านเมือง ทั้งวิกฤติน้ำมันแพง ข้าวของราคาพุ่งสูง วิกฤติรัฐธรรมนูญ และการห้ำหั่นกันทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วแยกข้างประชาชนออกเป็นสองกลุ่มจนเสี่ยงปะทะนองเลือดกันได้ทุกเมื่อ ยิ่งดึงความสนใจของสังคมและสื่อมวลชนที่มีต่อปัญหาภาคใต้ให้เบี่ยงเบนไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งๆ ที่ทางออกของปัญหาอันละเอียดอ่อนเช่นนี้ ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างสูงยิ่ง
วงสัมมนาเกี่ยวกับไฟใต้หลายวง หลายเวทีในระยะหลัง มีคนเข้าฟังน้อยนิดอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร จากรั้วจามจุรี เคยส่งสัญญาณเตือนว่า สถานการณ์ในดินแดนด้ามขวานคือ ‘สงคราม' ทั้งยังเป็นสงครามที่กลายเป็นโจทย์ด้านความมั่นคงข้อใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของรัฐไทยสมัยใหม่
และรัฐไทยก็เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้!
กระนั้นก็ตาม ยังมี ‘คนข่าว' กลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาคใต้ และได้ร่วมกันจัดทำหนังสือในลักษณะบุ๊กกาซีนราย 3 เดือน ชื่อ deepsouth bookazine : เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้ ปรากฏโฉมบนแผงอย่างต่อเนื่องมา 2 เล่มแล้ว
และ ‘ดีพเซาท์ฯ' ฉบับที่ 3 ก็กำลังจะออกสู่สายตาสาธารณะในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ภายใต้คอนเซปท์ ‘สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้'
ไฮไลท์ของดีพเซาท์ฉบับดังกล่าวอยู่ที่ ‘คัฟเวอร์สตอรี่' ว่าด้วยสงครามความรู้สึก ซึ่ง 2 ใน 3 ส่วนของเรื่องคือ บทสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจยิ่ง 2 คน
หนึ่งคือ แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต
และอีกหนึ่งคือ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล นักยุทธศาสตร์คนสำคัญของกองทัพ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สายธารความคิดที่ร้อยเรียงเป็นตัวอักษรของคนทั้งคู่ ซึ่งสาระสำคัญเป็นบทวิพากษ์ที่มีต่อยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ของ ‘รัฐไทย' กลับสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าที่มาของคนทั้งสองจะต่างกันอย่างสุดขั้ว เรียกว่ายืนกันอยู่คนละฝั่งของสมรภูมิรบเลยทีเดียว!
นโยบายไม่โดนใจ
ในบทสัมภาษณ์ที่ใช้ชื่อว่า ‘อ่านความคิดอดีตผู้นำแยกดินแดน...รัฐไทยต้องเอาชนะทางความรู้สึก' แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีตซึ่งไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อและภาพถ่าย แต่ยอมให้สัมภาษณ์ในสถานที่ปิดลับแห่งหนึ่งนอกประเทศไทย ระบุตอนหนึ่งว่า จากการที่เขาได้สื่อสารกับ ‘นับรบกลุ่มใหม่' หลายคนที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่กลายเป็นแรงขับดันของการต่อสู้โดยเลือกใช้ความรุนแรง
"มีหลายคนเคยมาหาผม ผมถามเขาว่าจะสู้ไปทำไม เราสู้มานานก็ยังไม่ชนะ สยามมีกองทัพมหาศาล สู้ไปเราก็ตาย แต่เขาบอกกับผมว่า ถ้าไม่สู้เราก็ตาย แต่หากเลือกแนวทางต่อสู้ถึงตายก็มีเกียรติ"
อดีตผู้นำขบวนการแยกดินแดน วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้เกิด ‘นับรบกลุ่มใหม่' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีแนวคิดรุนแรง ก็คือนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ในอดีต และยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกระทั่งถึงปัจจุบัน
"ผมขอพูดตรงๆ ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่โดนใจพี่น้องมลายูในสามจังหวัด ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามจึงไม่ใช่ทางออก แต่รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายใหม่ๆ ที่โดนใจพี่น้องมลายู หากทำได้ก็จะแก้ปัญหาได้เอง"
‘ดีพเซาท์ฯ' ถามว่า ในช่วงหลายปีมานี้รัฐบาลไทยก็ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ส่งผลต่อคนในสามจังหวัดหลายประการ เหตุใดความรุนแรงจึงยังไม่ทุเลา แต่แกนนำขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในอดีต กลับย้อนถามยิ้มๆ ว่า ก็เพราะเกิดความรุนแรงใช่หรือไม่ รัฐบาลไทยถึงยอมปรับท่าที
"การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลไทยมีขึ้นหลังเกิดความรุนแรงอย่างหนักในช่วงหลัง ทำให้กลุ่มใหม่ที่เคลื่อนไหวทุกวันนี้ยังอยู่ได้ ทั้งๆ ที่พี่น้องมลายูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรง" เขาสรุป
‘เขตปกครองพิเศษ' ไม่แก้ปัญหา
‘ดีพเซาท์ฯ' ตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษตามที่รัฐมนตรีมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นำเสนอ ก็น่าจะเป็นทางออกที่สามารถแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เหมือนกัน แต่ ‘แกนนำขบวนการในอดีต' ที่วันนี้อยู่ในวัยล่วงเลย 60 ปี กลับปฏิเสธด้วยน้ำเสียงไร้เยื่อใย
"เขตปกครองพิเศษแก้ไม่ได้ ซ้ำจะยิ่งสร้างปัญหาตามมา"
เขาอธิบายประเด็นนี้โดยแยกเป็น 2 มิติ คือหนึ่ง เป็นที่รู้กันดีว่า ‘นักรบกลุ่มใหม่' ที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อแยกดินแดนตั้งรัฐอิสระ การอนุญาตให้มีเขตปกครองพิเศษจึงเท่ากับเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการจัดตั้งรัฐใหม่ ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่มีวันยอม
กับสอง เขตปกครองพิเศษไม่ใช่สิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการ เพราะการบริหารจัดการเขตปกครองพิเศษไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญหากมีเขตปกครองพิเศษเกิดขึ้นจริง ก็จะต้องมีการเลือกตัวผู้นำขึ้นมาบริหาร และนั่นอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวมลายู ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องในสามจังหวัดไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
"ทางออกที่แท้จริงคือรัฐบาลไทยต้องทำนโยบายให้ถูกใจประชาชนในพื้นที่" เขาเน้นข้อเสนอเดิมของตัวเอง
ต้องจัดการความรู้สึก
‘ดีพเซาท์ฯ' ซักว่า อะไรคือนโยบายที่ถูกใจคนมลายูในสามจังหวัด ‘ผู้นำขบวนการในอดีต' ซึ่งต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปี ตอบว่า จะต้องเป็นนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในความรู้สึกของพี่น้องชาวมลายู
"ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลอาจจะบอกว่าให้เยอะแล้ว แต่คนในสามจังหวัดบอกยังไม่ได้ให้อะไรเลย จริงหรือไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขาพูดกันมาอย่างนี้ อย่างเรื่องการพัฒนาอะไรต่างๆ รัฐอาจจะบอกว่าทำตั้งเยอะแล้ว แต่คนในพื้นที่บอกว่ายังไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูรู้สึกแบบนั้น รัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เขาเลิกรู้สึกแบบนั้น"
อดีตนักสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ยังอธิบายว่า ความเท่าเทียมคือสิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการมากที่สุด มันคือความเท่าเทียมที่เทียบเท่ากับคนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ไม่ใช่ความรู้สึกแบบพลเมืองชั้นสอง หรือถูกมองในลักษณะเป็น ‘อาณานิคม'
"ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูเขารู้สึกแบบนี้ ฉะนั้นรัฐต้องจัดการเรื่องความรู้สึก" เขาระบุ
รัฐพลาดในสงครามความรู้สึก
ในแง่ปัญหาการจัดการความรู้สึกของพี่น้องมลายูมุสลิม พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งว่า กลุ่มก่อความไม่สงบทำ ‘สงครามความรู้สึก' กับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ ‘ปฏิบัติการข่าวสาร' หรือ ไอโอ (IO : Information Operation) เป็นเครื่องมือ วิธีการก็คือก่อเหตุรุนแรงรายวันในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ และหากสบช่องด้วยเงื่อนไขบางประการ ก็พยายามตอกลิ่มทางความรู้สึกให้ประชาชนเกลียดรัฐ
อย่างไรก็ดี แม้โดยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกำลังประสบชัยชนะใน ‘สงครามความรู้สึก' แต่ พล.อ.ไวพจน์ กลับเห็นว่า ความผิดพลาดในยุทธศาสตร์การใช้ ไอโอ ของภาครัฐต่างหากที่ทำให้สภาพการณ์ดูประหนึ่งว่ารัฐกำลังพ่ายแพ้
"ไอโอคือเครื่องมือที่ใช้โน้มน้าวหรือเปลี่ยนแนวคิดของอีกฝ่ายให้คล้อยตามแนวคิดของฝ่ายเรา ไอโอจะครอบคลุมทั้ง ปจว. (ปฏิบัติการทางจิตวิทยา) และการโน้มน้าวด้วยวิธีอื่นๆ จัดเป็นเครื่องมือลดขีดความสามารถในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม ลดการสนับสนุนที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับจากประชาชน สรุปแล้วไอโอเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐทำฝ่ายเดียว" เขาอธิบายในเชิงทฤษฎี และว่า
"จากแนวคิดที่ว่านี้ ถ้าโยงมาภาคใต้ ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ไม่ใช่ศัตรู ฉะนั้นคุณจะมาใช้ ไอโอ กวาดไปหมดแบบที่ใช้ๆ อยู่อย่างนี้ มันจะ backfire (ส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้) ทีหลัง นั่นคือคุณใช้ไอโอตามแนวคิดของตะวันตกไม่ได้ เพราะสถานการณ์ภาคใต้นั้นแม้จะมีความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัตรู ถ้าใช้ไอโอแบบภาพใหญ่ ประชาชนอาจเข้าใจผิดและหลงทางได้ และยิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยก"
ยุทธศาสตร์ที่ดีดับไฟใต้
ไม่เพียงแต่ยุทธศาสตร์ของรัฐไทยที่ใช้ต่อสู้ใน ‘สงครามความรู้สึก' เท่านั้นที่ พล.อ.ไวพจน์ มองว่าผิดพลาด แต่ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ในภาพรวมก็ยังไม่ถูกต้องด้วย
"เมื่อก่อนประเทศเราเผชิญกับปัญหาหรือภัยคุกคามที่มีลักษณะเป็น Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบเดิม) เป็น Conventional Warfare (สงครามตามแบบ) แต่ปัจจุบันปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเป็น Non-Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบใหม่) หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ ยาเสพติด หรือก่อการร้าย แต่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กำหนดยุทธศาสตร์ยังใช้แฟคเตอร์ (factor : ปัจจัย) เดิมๆ ของ Traditional Threat มากำหนดยุทธศาสตร์ใน Non-Traditional Threat มันทำให้ไม่กลมกลืน"
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ มองว่า จริงๆ แล้วจากประสบการณ์การเรียนรู้ปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง 1-2 ปีแรกหลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ถูกต้องตรงกับปัญหาได้ในปัจจุบัน แต่อุปสรรคที่กางกั้นดูจะลึกกว่านั้น
"ประสบการณ์ในภาคใต้มันทำให้เห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของ Non-Traditional Threat มันมีแฟคเตอร์ใหม่ๆ สำคัญๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นยุทธศาสตร์จะไม่ลึกพอ ไม่เวิร์ค และจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่การเปลี่ยนวิธีคิดของพวกทหารหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งศึกษาด้านนี้มา 20-30 ปี มันก็มุ่งแต่ Traditional Threat มันจึงยังเปลี่ยนแปลงได้ช้า"
นายทหารที่เคยนั่งในตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงทั้งผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ผบ.ศรภ.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ผอ.สขช.) ชี้ว่า ด้วยปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาในปัญหาภาคใต้นั่นเอง ทำให้ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ไขต้องเป็น ‘ยุทธศาสตร์แยกส่วน' เพราะไม่สามารถนำยุทธศาสตร์แบบ one size fit all (ยุทธศาสตร์เดียวใช้ได้กับทุกสถานการณ์) มาใช้ได้แบบเดิมอีกแล้ว
เขาอธิบายแนวคิดอันเป็นที่มาของยุทธศาสตร์แยกส่วนว่า จากการวิเคราะห์สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่เพราะความอยุติธรรม การไม่มีงานทำ หรือผลกระทบอื่นๆ เดิมๆ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้ใจรัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอยากใช้ความรุนแรง ฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่ใช้จะต้องแยกระหว่างประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์หนึ่ง กับผู้ใช้ความรุนแรงก็ต้องมีอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง
"ไม่ใช่คุณมียุทธศาสตร์เดียวแล้วใช้เหมารวมทั้งประชาชนและผู้ก่อความรุนแรง" เขาระบุ
และไม่เพียงต้องมียุทธศาสตร์แยกส่วนเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายังต้องแบ่งเป็นระยะ หรือ เฟส (phase) เพื่อให้สามารถใช้ยุทธศาสตร์ได้ตรงตามสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลาและพื้นที่ด้วย
"ถ้าเผื่อในพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ก็ต้องให้ทหารนำ เพราะทหารถูกฝึกมาสำหรับวางยุทธศาสตร์ในยามไม่ปกติ แล้วกระทรวงอื่นก็ต้องตาม คอยสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ของฝ่ายทหาร ไม่ใช่แยกไปกระทรวงใครกระทรวงมันแล้วก็มีเป้าหมายของตัวเอง ส่วนในพื้นที่ที่ความรุนแรงเริ่มลดลง ก็ให้กระทรวงอื่นๆ เขานำ แล้วทหารก็ดูว่าจะสนับสนุนอะไรเขา ไม่ใช่ กอ.รมน.ภาค 4 ไปกวาดทุกพื้นที่ คุณต้องมาซอยแยกแต่ละส่วน"
นายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ย้ำว่า ปัญหาภาคใต้นั้นยังสามารถแก้ไขได้ หากมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มียุทธวิธีที่ดี หรือ Good Strategy และรัฐบาลจะต้องมีเจตน์จำนงเต็มร้อย
บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
- อ่านความคิด ‘อดีตผู้นำแยกดินแดน' รัฐไทยต้องเอาชนะทางความรู้สึก
- ‘พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล' ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้...ในวันที่ยังไร้ยุทธศาสตร์
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ทั้ง 2 ชิ้นนี้ คัดจากวารสารดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน ฉบับล่าสุด ‘สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้'