Skip to main content
 

Deep South Bookazine : มิถุนายน 52, Volume 4
สัมภาษณ์พิเศษ โดยกองบรรณาธิการ




ชายคนนี้เคยถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏแห่งรัฐไทย !    
  
เมื่อพ่วงฐานความผิดอื่นๆ ศาลชั้นต้นเคยตัดสินจำคุกนาน 31 ปี แต่เขาถูกจองจำในเรือนจำเป็นเวลากว่า 7 ปี ก่อนได้รับอภัยโทษเมื่อปี 2543

ชื่อของเขาแทบจะไม่ได้รับการถูกบันทึกหรือจดจำมากนัก แม้ว่าก่อนหน้านี้ “หมอดิง – สรยุทธ สกุลนาสันติศาสน์” จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมชายแดนใต้ในกรณีการนำประท้วงให้ถอนการขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถานในห้วงปี 2530 – 2533

 

ด้วยฝีปากคมกล้าและปราศรัยได้ใจมวลชน ทำให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักปลุกระดมขั้นห้เทพที่สามารถชี้นำมวลชนเคลื่อนไหวท้าทายทางการได้อย่างมีพลัง ในขณะที่นักรบมลายูใต้ดินหลากหลายหัวชื่อขบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อกู้เอกราชรัฐปาตานีในสมัยนั้น ได้แต่มองตาปริบๆ

หมอดิงในวันนี้อยู่ในวัยชราภาพและมีอาการป่วยจากโรคเบาหวานรุมเร้า แต่ก็ยังติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอยู่บ้าง แม้จะไม่ได้ถึงกับเกาะติด เรามีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์ตลอดทั้งวันว่างจากการทำสวนของเขาที่จังหวัดยะลา และเราก็ได้พบว่าเรื่องเล่าในอดีตผ่านน้ำเสียงและแววตาที่ร่าเริงนั้นมีคุณค่าต่อคนที่คลำทางออกในปัจจุบันยิ่งนัก

ถึงแม้จะออกตัวว่าห่างหายจากข้อมูลไปมากนับตั้งแต่ติดคุก ทว่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเฒ่าวัย 66 ปี ผู้เป็น “ปฏิกิริยา” ต่อทุกฝ่ายคนนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญในการแกะรหัสหนทางที่นำไปสู่ “แนวทางการเมือง” เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แม้ว่าบทเรียนเหล่านี้จะต้องแลกกับการสร้างศัตรูนับไม่ถ้วนจากหลายฟากหลากกลุ่มก็ตาม


๐ ประท้วงกรือเซะ : บทเรียนในอดีต

“ที่ผมทำนั้นเพราะหวังดีต่อประเทศไทยและสังคมมุสลิม เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขสงครามผมชิงตัดหน้าพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องฮิญาบหรือเรื่องกรือเซะ เราตัดหน้าก่อน ตอนนั้น พวกขบวนการไม่พอใจผมอย่างมาก...แต่ตอนหลังก็มาเกิดขึ้นที่ตากใบ มันเข้าเป้าเขาพอดี” หมอดิงกล่าวกับเราในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อสรุปต่อประสบการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า “เงื่อนไข” ต่างในพื้นที่นั้นพร้อมจะก่อ “สงคราม” ได้ง่ายนัก

ในทศวรรษที่ 2530 ชุมชนมุสลิมชายแดนใต้อยู่บรรยากาศที่ไม่แตกต่างกับสังคมมุสลิมในที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่กระแสการตื่นตัวเรียกร้องให้ย้อนกลับคืนสู่หลักการศาสนาอิสลามพุ่งสู่องศาสูง อาจเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิมหลายจังหวะเหตุการณ์ โดยเฉพาะการปฏิวัติอิหร่านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2522 และกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อการฟื้นฟูอิสลามก่อนหน้านั้นในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ที่ส่งผลกระทบสำคัญกระทั่งถึงปัจจุบัน

หลังจากขัดแย้งทางความคิดกับกลุ่มเพื่อนฝูงที่ย่านตลาดเก่ากลางเมืองยะลา เนื่องจากเขาเริ่มหันไปนิยมแนวความคิดนิกายชีอะห์ หมอดิงและพรรคพวกจำนวนหนึ่งพยายามแสวงหาฐานที่มั่นใหม่ในการทำกิจกรรมเรียกร้องเชิญชวนสู่แนวทางของศาสนา เขามองเห็นว่ามัสยิดกรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่ในพื้นที่ ซึ่งขณะนั้นถูกกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีข้อห้ามในการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ พร้อมกับมีการโปรโมทตำนานเกี่ยวกับอภินิหารเกี่ยวกับเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวที่สาปแช่งไม่ให้มัสยิดดังกล่าวก่อสร้างสำเร็จเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว

“อย่างเรื่องกรือเซะที่ว่าสร้างไม่ได้เพราะว่าเจ้าแม่สาปไว้นั้น ผมอยากพิสูจน์ให้ดู กูจะไปสร้างเอง ใครคิดว่าจะมาตายไม่ต้องมา ให้ฟ้ามาผ่ากูนี่ ดูซิว่าจริงอย่างเขาว่ามั้ย พอไปดูก็รู้ว่าสร้างไม่ได้ เพราะติดกฎหมายโบราณสถาน ใครฝ่าฝืนก็ติดคุกสองปี พอเรารู้แล้วก็เลยว่าไม่เกี่ยวกับเจ้าแม่โกวเนี้ยว แต่เกี่ยวกับกฎหมายก็เลยว่าจะสร้างให้ดู ก็ถอนออกมาสิ จะได้สร้างใหม่เพื่อลบล้างคำสาป จริงๆ แล้วไม่เกี่ยว เพราะมันเกิดจากการรบราสมัยก่อน แล้วมันก็พังไป แต่ทางการท่องเที่ยวต้องการที่จะหาประโยชน์ เพื่อบูมเจ้าแม่ แล้วเอาคนจีนมาเที่ยว เราก็เคารพเขานะ แต่ว่าวิธีเคารพของเขาไม่ค่อยดี เพราะว่ามาดูถูกของฉัน แสดงว่าเจ้าแม่ของคุณมาเหนือกว่าอัลเลาะห์ของฉันสิ แค่สาปแช่งก็ฟ้าผ่าแล้ว”

“เราก็ว่าพิสูจน์ดีกว่า เดี๋ยวกูสร้างเอง จะให้ขึ้นโบราณสถานไม่ว่า แต่ต้องให้เราสร้างได้ ไม่มีหลังคาจะละหมาดได้ไง เราก็ต้องต่อเติม กฎหมายที่ห้ามมันคือกฎหมายลูก แต่ตัวแม่คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายไงที่ไปงัดกับรัฐธรรมนูญ ที่จริงน่าจะชนะมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ทนายพวกเราไม่สนใจ”

“ชาวบ้านบอกกลัวถูกจับ ผมว่าไม่ต้องกลัว แค่สองปีเอง ถ้าไม่เคยติดคุกก็ให้รับเลย เหลือปีเดียวหรือไม่ก็ลงอาญา จะเป็นอะไรไป ก็เลยระดมให้ได้ 1 ล้านคน วันนั้นเราจะสร้าง เพราะถ้าเอามาได้นะ สร้างได้แน่ ตำรวจที่ไหนจะเอาคุกมาขัง คุกไทยขังได้แค่สองแสนคน เงินก็ไม่ต้องไปขอซาอุฯ หรืออิหร่าน เพราะเราจะสร้างสุเหร่าเอาบุญก็ออกเงินกันเองสิ คนละบาท ล้านคนก็ล้านบาท ให้มากก็ทวีคูณ ข้างบนก็ทำไปเถอะ ประชาชนก็เริ่มมองเห็น ตอนแรกมีแต่คนว่าอย่าไปเชื่อหมอ หาว่าเอาเงินอิหร่านมาสร้าง เดี๋ยวคนแถวนี้จะเป็นชิอะห์ไปหมด ซุนนีก็หายหมด”

หมอดิงและพวกจึงเริ่มต้นทำกิจกรรมดื้อแพ่งโดยการเข้าไปละหมาด ณ มัสยิดแห่งนั้นไปพร้อมๆ กับการจัดพูดคุยปราศรัยถึงเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐปาตานี ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากการกระทำของภาครัฐ ตลอดจนแนวคิดการรับใช้สังคมตามแนวทางของอิสลาม เริ่มต้นจากการละหมาดญุมอัตในทุกวันศุกร์และจัดชุมนุมตามวาระวันสำคัญๆ โดยมีข้อเรียกร้องให้มีการถอนทะเบียนโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ กระทั่งกระแสตอบรับสนับสนุนทำให้เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมเรียกร้องหลั่งไหลจำนวนมาก กลางปี 2533 เหตุการณ์การชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะสุกงอม หลังมีเกิดเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่ชุมนุม มีการออกหมายจับตั้งข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำ หมอดิงและแกนนำบางส่วนจึงแยกย้ายหลบหนีลี้ภัย ในขณะที่ท้ายสุดแล้ว ทางการไทยก็ได้อนุโลมให้มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในมัสยิดโบราณแห่งนี้ได้ตามสภาพ

“ผมก็ถือว่ามาตรา 25 มาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามรัฐรอนสิทธิ โดยเฉพาะในวรรคสองที่บอกว่า ห้ามรัฐรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ แต่ทีนี้สุเหร่าของมุสลิมเปิดดูตามอัลกุรอานเอาไว้ทำอะไร แล้วมาทำอย่างนี้ เราก็ต้องถามว่าเอาไว้ทำอะไร เขาบอกว่าเก่า แล้วบัยตุลลอฮ์ (อาคารทรงลูกบาศก์ที่เมืองมักกะฮ์ - กองบรรณาธิการ) ไม่เก่ากว่าหรือ? ความหมายของชื่อบัยตุลลอฮ์ มีตั้งแต่บ้านของอัลลอฮ์ บ้านของมนุษย์ และบ้านโบราณ แล้วตรงนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสุเหร่าโบราณ แล้วทำไมจะซ่อมไม่ได้ พอสร้างแล้วจับเราเข้าคุก ที่ผิดก็กฎหมายลูก แล้วกฎหมายแม่ให้เรา แล้วทำไมกฎหมายลูกมาดันกฎหมายแม่ได้ เราก็ชี้ให้คนเข้าใจ”

มีเรื่องที่ควรต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ในห้วงเวลาแห่งความไม่พอใจของประชาชนต่อภาครัฐในกรณีกรือเซะนั่นเอง วิกฤตการณ์อีกแห่งก็เกิดขึ้นขนานกันไป นั่นคือกรณีเจ้าหน้าที่ทหารพรานสังหารชาวบ้านที่อำเภอยะหาตอนต้นปี 2533 เป็นเหตุให้มีการลุกขึ้นประท้วงขับไล่ทหารพรานออกจากพื้นที่ หมอดิงได้เข้าไปมีส่วนการนำการประท้วงครั้งดังกล่าวเช่นกัน ด้วยฐานคิดเดียวกันคือการต่อสู้ที่ไม่ติดอาวุธที่ได้ผลสำเร็จ จะทำให้ผู้คนไม่ถูกกดดันจนต้องใช้วิธีการที่ใช้ความรุนแรงในการต่อรองกับอำนาจรัฐ

“เป้าหมายที่เราทำที่ยะหาก็คือ เราไม่ต้องการให้ทหารพรานกับชาวบ้านที่นั่นฆ่ากัน เพราะถ้าฆ่ากันปั๊บ ชาวบ้านที่ตกกระไดพลอยโจนจะหนีไปเป็นโจรอีกเยอะ พูโลจะได้แนวร่วม เมื่อผมทำอย่างนี้ทหารพรานยอมรับเงื่อนไข ก็เท่ากับว่าไม่มีการฆ่า ชาวบ้านก็ไม่ต้องตกกระไดพลอยโจน ส่วนพูโลเองก็อยากจะได้สมาชิกเข้าป่าอยู่แล้ว หากตามแผนมันจะต้องมียิงกับทหารพราน ทหารพรานก็ต้องยิงตอบใช่มั้ย? ทหารพรานหมดกองร้อย เขาก็ส่งมาอีก แล้วชาวบ้านจะอยู่ได้ไง? ก็ต้องหนีเข้าป่า เท่ากับพูโลได้สมาชิกไป แบบเดียวกับคอมมิวนิสต์ที่ได้พวกจากเหตุการณ์หกตุลา แต่เป้าผมไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงวางแผนนี้เพื่อระบายออกทางปากให้หมด ให้ความแค้นของชาวบ้านออกทางปาก คนเขาไม่ค่อยรู้หรอกเป้าของเรา”

หลังจากทหารพรานย้ายกรมออกจากฐานที่ตั้งเนื่องจากวิกฤตดังกล่าว ประชาชนก็แห่หลั่งไหลไปร่วมชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามเป้าประสงค์อีกประการของหมอดิง

“ที่กรือเซะเขาก็จะให้ตายเหมือนกัน นี่คือแผนของขบวนการที่ต้องให้มีตาย ทุกกลุ่มนั่นแหละที่จะให้ตาย ถ้าตายเขาจะเล่นผม เรื่องมันจะได้จบไง ผมอยู่ไม่ได้จะได้หนีเข้าป่า เขาก็เตรียมรับอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่าผมแก้ทัน เบื้องหลังขบวนการก็ไม่ได้ทำ เพราะเขาอยากจะได้ตัวผม ถ้าทำแล้วผมจะอยู่ได้ไง ผมต้องหนี หนีแล้วก็ต้องไปอาศัยเขา เขาก็สบายซิ เขาก็ใช้เรานี่แหละ เพราะว่าเรามีมวลชนเยอะ”

ในมุมของแกนนำการชุมนุม เขามองเห็นว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวใต้ดินเองก็นึกไม่ถึงว่ากรณีกรือเซะจะทำให้มีคนเข้าร่วมขนาดนั้น

“ถ้าพวกนี้รู้สึกคงเดินขบวนก่อนผมแล้วเมื่อตอนโน้น พวกนี้ไม่ได้สนใจหรอก แต่พอผมไปทำ เรียกว่าพอขัดๆ แววๆ หน่อยก็อยากได้ ตอนแรกไม่มีใครสน มัสยิดก็ขึ้นราอยู่นั่นแหละ แต่พอขัดๆ หน่อย ใครๆ ก็อยากได้ พวกขบวนการก็เห็นว่าเข้าล็อคพอดี ได้ทั้งศาสนา ได้ทั้งมลายู แต่ไอ้เราก็มองว่าตรงนี้มันจะเป็นเงื่อนไข เราก็ตัดหน้าเสียก่อน โจรมันจะปล้นไม่ได้ เพราะเรามาปล้นดักหน้าไว้แล้ว”

จุดหักเหสำคัญคือการที่หมอดิงห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าทำร้าย พ.ต.ท.ประเสริฐ สัสดีพันธุ์ รองผู้กำกับฯ ภูธร จ.ปัตตานี ในระหว่างการชุมนุม ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนมีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

“ผมมารู้ทีหลังว่าพวกขบวนการต้องการให้มีการปราบหนัก เพราะถ้าปราบก็เข้าล็อคพอดี เขาต้องการให้ผมหนี เพราะว่าผมนำคนอยู่แล้ว ถ้าผมหนีไปอยู่กับเขา พวกนี้ก็หนีตามผม อย่างน้อยก็ต้องหนีตามผม แต่ผมก็เบรกไว้ก่อน เพราะคนละเป้ากัน แต่คนที่ยุจะให้ตีกันไม่ใช่แค่คนของขบวนการ ฝ่ายทหารก็ยุให้ตีด้วย เพราะว่าจะได้จบง่าย ถ้าไม่ทำอย่างนี้ การชุมนุมโดยความสงบรัฐธรรมนูญเขาประกันไว้ ถ้าเกิดมันไม่สงบ เขาก็มีสิทธิที่จะละเลงได้แล้ว เขาก็อยากให้จบ เพราะว่าถึงเอาอย่างไรผมก็ยังไม่หยุด เขาจึงต้องใช้วิธีนี้ ทีนี้ขบวนการก็เข้าเป้าเขาเลย ผลประโยชน์อันนี้ทางการก็ได้ ขบวนการก็ได้ แล้วผมทำไง? ผมก็เลยช่วยประเสิรฐไว้ได้ไง ซึ่งก็เท่ากับช่วยพวกนี้ให้ไม่ต้องเข้าไปในขบวนการ สองก็เพื่อสลายม็อบ ก็สลายได้อยู่แล้ว พอเลิก ผมก็หยุด พอมีหมายจับก็ต้องหนี เพราะถ้าอยู่ที่นี่จะโดนวิสามัญฯ”

หลังจากนั้น หมอดิงหลบหนีเข้าชายป่าที่ยะหาซึ่งเป็นรอยต่อกับมาเลเซียในเขตอิทธิพลของ “บีอาร์เอ็น” ปีกหนึ่งนานหลายเดือน แต่พบในภายหลังว่าคนในขบวนการต้องการ “ขาย” เขาให้กับทางการเพื่อแลกกับค่าหัวห้าแสนบาท เขาและพวกจึงหนีข้ามฟากไปอยู่ในการคุ้มครองของ “พูโล” ที่ฝั่งกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีพร้อมกับยื่นข้อเสนอไม่ต่างกับบีอาร์เอ็นให้เข้าร่วมขบวน แต่หมอดิงก็ปฏิเสธเช่นเคย

“หลังจากถูกบีอาร์เอ็นฉะ พูโลก็ดึงไปบอกให้เข้าขบวนการ ยังไงๆ ผมก็บอกว่าไม่เอาหรอกวิธีนี้ เขาก็บอกไม่เอาไม่เป็นไร แต่ก็เอาตัวไปขังไว้ที่บ้าน จริงๆ เตรียมชุดไว้ให้แล้ว แต่ผมไม่เอาด้วย เขาก็ไม่ว่าไง ทำเป็นใจเย็น ผมรู้ว่าเขากำลังติดต่อตำรวจไทยเพื่อจะขาย จึงใช้วิทยายุทธของเราหนีออกจากบ้านนั้น ไปอยู่เคดาห์ หลบๆ ซ่อนๆ อยู่เกือบปีกว่าจะถูกจับ”

สุดท้ายหมอดิงก็ถูกจับที่เคดาห์ หลังตำรวจควานหาตัวนานนับปี ตอนแรกเป็นการประสานงานระหว่างตำรวจสันติบาลไทยและมาเลเซียโดยอ้างกับตำรวจท้องถิ่นเคดาห์ว่าเขามีคดีค้ายาเสพติดที่ฝั่งไทย แต่เขาปฏิเสธทันควันและยืนยันว่าเขามีคดีเนื่องจากการประท้วงกรณีมัสยิดกรือเซะ ด้วยไหวพริบปฏิภาณเขานำภาพข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ “อุตุซาน มาเลเซีย” มายืนยันกับตำรวจท้องถิ่น

“พอเห็นหนังสือพิมพ์ ตำรวจท้องที่ก็ทะเลาะกับตำรวจสันติบาลมาเลเซีย บอกว่าจับผมทำไม ก็นี่เขาสู้เพื่ออิสลาม ก็หนังสือพิมพ์บอก Pejuang Islam หรือ นักต่อสู้เพื่ออิสลาม ไม่ได้เกี่ยวกับมลายู และก็ไม่ใช่พวกยาเสพติด หนังสือพิมพ์อุตุซันฯ ซึ่งใหญ่เหมือนกันไทยรัฐนี่แหละลง มีภาพผมอยู่ข้างหน้า และก็มีภาพเดินขบวนกรือเซะ บอกว่านักต่อสู้เพื่ออิสลาม ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ไอ้ตัวที่มาก็หนีไปเลย ตำรวจที่เคดาห์บอกผมไม่ส่งกลับหรอก แบบนี้เหมือนกับต้มเขา ตำรวจไทยก็เสียศักดิ์ศรี มาหลอกกันได้อย่างไร ผมก็ว่าดีไม่ต้องส่งกลับ เราก็ไม่อยากกลับ มันก็เอาไปแอบไว้ก่อน”

ท้ายที่สุด การส่งตัวหมอดิงกลับประเทศไทยต้องใช้แรงผลักดันในระดับผู้ใหญ่ของทั้งสองรัฐบาล แต่ในความทรงจำของหมอดิงแล้ว เรียกได้ว่าเกมนี้รัฐบาลไทยเสียรู้ให้กับผู้นำมาเลเซียอย่างจัง

“ทางมาเลเซียก็ออกข่าวว่าหมอนี่ส่งให้ไม่ได้เพราะว่าจับกุมตัวได้พร้อมอาวุธ ทั้งปืนทั้งระเบิด ต้องให้ขึ้นศาลที่โน้นก่อน เพราะคดีหนัก จริงๆ เขาหลอกทางไทย เพราะเห็นว่าตอนแรกไทยไปหลอกเขาก่อน ทางนี้บิ๊กจ๊อด (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส.ในขณะนั้น) ก็ติดต่อไปที่มหาเธร์ เพราะรู้จักกับ ผบ.สูงสุดซึ่งเป็นน้องเขยของมหาเธร์ว่าต้องการตัวมาขึ้นศาลไทย อ้างว่ายังไงก็ต้องประหารอยู่แล้ว เพราะโทษของผมที่ฟ้องไปสูงสุดก็สองประหาร มหาเธร์ก็ทำทีเป็นให้ แต่บอกว่าต้องส่งอัชอารี กลุ่มอัรกอมมาให้ด้วย”

รูปการณ์เลยเป็นว่าทางการไทยติดหนี้ทางการมาเลเซีย และต้องตามจับกุมตัวอัชอารี มูฮัมหมัด หัวหน้ากลุ่มอัรกอม ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวส่งกลับเพื่อแลกเปลี่ยนตัวกับ “หมอดิง” กลุ่มอัรกอมซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาในตอนนั้นมีเครือข่ายในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ทางการมาเลเซียอ้างว่าเป็นกลุ่มที่เผยแพร่แนวความคิดที่บิดเบือนหลักการศาสนาและเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของมาเลเซีย

“ผลสุดท้ายไทยก็แพ้มาเลเซีย เพราะจริงๆ ผมก็ไม่ใช่เสือ สิงห์ กระทิง แรดที่ไหน เป็นแค่แมวธรรมดา แต่ฝ่ายไทยก็เข้าใจว่าผมเป็นเสือ ลากไปลากมาเป็นแมวธรรมดา มาเลเซียก็ได้กำไร เพราะต้องจับอัรกอมส่งกลับมา ทั้งที่มีเครือข่ายใหญ่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผมแค่ผิดกับการเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น 15 วันก็ปล่อยตัวได้แล้ว แต่ที่บอกว่ามีปืนก็เพราะมาเลเซียมันโกรธไทยที่ไปหลอกว่าผมมีคดียาเสพติด ไม่บอกว่าผมเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสลาม”

เราคิดคำถามเล่นๆ ว่า ตัวหมอดิงเหมือนลูกบอลที่โยนกันไปมาอย่างนี้ รู้สึกเคืองฝ่ายไหนมากที่สุด

“จริงๆ ผมไม่ได้โกรธใครนะ เพราะว่าที่เราทำนี่ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว เราทำเพื่ออัลเลาะห์ จะไปโกรธมันทำไม เขาก็ต้องเดินไปตามเกมของเขา ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ไม่ได้โกรธเขานะ สงสารเขาด้วยเพราะกำลังหลงทางอยู่ เรื่องโกรธแค้นไม่มี เราก็เรียนรู้อยู่ว่าเรื่องโกรธแค้นไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่อิสลาม ความโกรธมันมีได้ แต่อย่าทำออกไป ให้มันหยุดเสีย ให้อภัยเสีย เรามีหลักของเรา ผลสุดท้ายเขาก็ส่งผมกลับมา ก็จบแค่นั้น”

ในขั้นตอนการต่อสู้ชั้นศาล หมอดิงถูกตั้งข้อหา 5 กระทง ซึ่งท้ายศาลฎีกาตัดสินลงโทษจำคุก 12 ปี โดยละฐานความผิดกบฏแบ่งแยกดินแดนไว้

“ทีผมทำ ชาวบ้านไม่เดือนร้อน มีแต่พวกแกนนำ 4 – 5 คนที่จับ ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ ถือว่าเป็นแกนนำ ก็ต้องยอมรับ แกนนำมันต้องอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ทำแล้วแกนนำสบาย สรุปความว่าที่ทำๆ เรื่องกรือเซะนั้น จริงๆ ก็เพื่อช่วยบ้านเมือง ช่วยประชาชนที่ยังคิดต่อสู้แบ่งแยกดินแดนให้กลับมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิดีกว่า คุยเป็นล้านปีก็คุยไม่รู้เรื่องแบ่งแยกดินแดน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเป็นแบบโคโซโว ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันแบบนั้น แล้วมีประโยชน์อะไร? แล้วเป็นอิสลามหรือเปล่า?”

แม้จะจบไม่ค่อยสวยนัก แต่การเคลื่อนไหวครั้งดังกล่าวก็ทิ้งบทเรียนสำคัญให้ทั้งต่อสังคมมลายูเองและต่อรัฐไทย เว้นเสียแต่ว่าบทเรียนเหล่านี้จะไม่มีใครเก็บรับมากนัก ทว่าดูเหมือนฟากฝั่งของขบวนการใต้ดินในปัจจุบันจะปรับตัวเรียนรู้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นไม่มากก็น้อย ทั้งการชุมนุมประท้วง การใช้สถานที่ในเชิงสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การตัดต้นไม้ขวางทางเพื่อกดดัน ฯลฯ ซึ่งหมอดิงวิจารณ์ว่าเป็นการนำไป “ต่อยอด” แล้วเละเทะ เนื่องจากใช้ในหนทางที่ขัดกับเป้าหมายของอิสลาม

๐ บีอาร์เอ็นและการเปลี่ยนแปลง

 ดูเหมือนว่าบทบาทของ “หมอดิง” ในอดีตล้วนแล้วแต่ต้องต่อรองกับตัวละครในชายแดนใต้อันหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ทางการไทยที่มุ่งหมายหัวเขาเป็นภัยคุกคามเท่านั้น หากแต่ปฏิสัมพันธ์กับนักชาตินิยมมลายูใน “ขบวนการ” ก็มีทั้งด้านที่งดงามและข่มขื่น อาจเป็นเพราะจุดยืนที่มั่นหนักว่าเขาปฏิเสธแนวความคิดชาตินิยมและเป้าหมายของการ “แบ่งแยกดินแดน” และว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับ “อิสลาม” อย่างยากประนีประนอม นอกจากนี้เขายังเป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้ามองและวิจารณ์ “ขบวนการ” ได้อย่างเจ็บแสบนัก

เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้าห้วงแห่งการชุมนุมกรณีกรือเซะ หมอดิงเป็นหนึ่งในปัญญาชนชายแดนใต้ที่ได้หมายเทียบเชิญจากรัฐบาลอิหร่านให้ไปเยือนหลังการปฏิวัติ เขาเดินทางไปไปยัง “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” หลังก่อตั้งได้ราว 4 ปี มีโอกาสได้พบกับอิหม่ามโคมัยนี ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขาจนถึงบัดนี้ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้หมอดิงละทิ้งวีรบุรุษเช่นคาร์ล มาร์กซ์, เช กูวารา และเหมา เจ๋อ ตุงไปอย่างสิ้นเชิง

“หลังผมกลับมาจากอิหร่าน ก็เอาแล้ว ไอ้พวกขบวนการก็เล่นกับเขา เราก็อยู่ตรงกลาง จริงๆ ก็ไม่ได้ตรงกลาง เราไม่ได้เอากับเขาเท่าไหร่ แต่บางอย่างที่เขาถูก เราก็เอา แต่ไม่ถูก เราก็ไม่เอา ถ้าจะให้เอาหมดก็ไม่ได้ เราก็ถือว่าเพื่อนกันทั้งนั้น พอสุดท้ายก็คิดว่าแนวการต่อสู้ไม่มีอะไรแล้ว พอเข้าใจอิสลามแล้ว แบ่งแยกดินแดนมันก็จะจางไป แต่ที่นี้มันกลายเป็นว่า ไปๆ มาๆ เข้าใจอิสลามแล้วจะแบ่งแยกง่ายขึ้น มันกลับหัวกัน ทั้งๆ ที่ ทฤษฎีการแบ่งแยกมันไม่มีในศาสนาอิสลาม”

“จุดอ่อนของพวกขบวนการทั้งหมดนี้ พวกนี้มันไม่เล่นประชาชน มันเอาอย่างเดียวคือจับประชาชน เหยียบคอ มึงจ่ายมา ไม่จ่ายกูยิง ลูกสาวมึงเอามาให้กู ไม่ให้กู กูฆ่า นี่พฤติกรรมของพวกขบวนการข้างบนมันเป็นอย่างนั้น แล้วใครจะมาร่วมมือกับมันล่ะ แล้วก็ประชาชนจะไปทำอะไร พอมันมีอำนาจปั๊บ มันลุยเลย ในอดีตก็เป็นโจรดีๆ นี่แหละ ปัจจุบันก็เชื่อว่ายังไม่ทิ้งสันดาน ตอนนี้ก็เอาอัลกรุอานมาเป็นปุ๋ยใส่เข้าไปอีก”

“ขบวนการแรกที่ตั้งเป้าหมายคือจะตั้งอาณาจักรมลายูรายอโดยรวมอินโดฯ มาเลฯ บรูไน และบางส่วนฟิลิปปินส์ไว้ทั้งหมด ซึ่งแนวคิดนี้ได้สลายไปเพราะเป็นไปไม่ได้ มายุคหลังพวกเจ้าเมืองก็ตั้ง BNPP โดยตนกูมูไฮยิดดีนและตนกูยะลานาเซร์ที่เอาชาติขึ้นมา ไม่ใช่เอาอิสลาม แนวนี้เป็นแนวศักดินา เดิมพวกนี้ไม่ต้องการแยกดินแดน แค่กดดันให้รัฐบาลไทยยกเขาเป็นสุลต่าน แยกเป็นรัฐเหมือนมาเลเซีย แต่ขึ้นกับประเทศไทยแค่นั้นเอง เพราะแต่เดิมเขาเป็นมาแบบนั้น ดันไปดันมาไทยไม่เอา ไม่ตั้งให้ อังกฤษก็ไม่ช่วย”

“แม่ทัพใหญ่สมัยนั้นคือเปาะเยะ ใช้รูปหนุมานเป็นสัญลักษณ์ของกองกำลัง เพราะเจ้าเมืองถือว่าเป็นพระราม ตัวเองเป็นทหารก็ต้องใช้รูปหนุมาน ก็เป็นลักษณะความเชื่อของฮินดูไป พวกเจ้าเมืองเก่าๆ ล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลแบบฮินดู ที่ต่างไปก็แค่เป็นมลายูและศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่อิสลามก็ใช่ว่าจะซึมซับรู้จริง แค่ไม่กินหมู ไม่ไหว้พระเท่านั้น แนวคิดอิสลามมาทีหลัง”

“ไปๆ มาๆ พวกที่ไปเรียนอาหรับ ไปเรียนตะวันออกกลางมาก็ไปเรียนศาสนามากขึ้น ก็รู้สึกว่าแนวนี้มันไปไม่รอด เอาหนุมานมาเล่น เพราะมันเลิกดูหนังตะลุงแล้ว คนสมัยใหม่มันต้องเอาอิสลามมาแล้ว ทีแรก BNPP ตอนหลังก็เปลี่ยนเป็น BIBP” โดยที่ตัว N ที่เปลี่ยนเป็น I นั้น พัฒนาจาก Nasional มาเป็น Islam

นอกจากแนวปะทะระหว่างแนวคิดชาตินิยมกับอิสลามแล้ว ในห้วงแห่งสงครามเย็น ข้อถกเถียงภายในขบวนการปฏิวัติเหล่านี้ก็มีแนวคิดสังคมนิยมที่นักต่อสู้มลายูบางคนเลื่อมใสเช่นเดียวกัน

“เพราะตอนนั้นในบีเอ็นพีพีมีคนรู้สึกว่าจะมีศักดินา มีหนุมาน พวกนี้ไม่เอา เอาแนวอิสลามดีกว่า พอบีอาร์เอ็นมาเป็นอิสลามก็เอามาผสมกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ บีเอ็นบีพีก็บอกกูไม่เอาบีอาร์เอ็น เพราะพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ไม่ใช่อิสลาม ก็ทะเลาะกันเอง พวกบีอาร์เอ็นก็บอกพวกบีเอ็นบีพีไม่ใช่อิสลาม เป็นพวกฮินดู”

“สุดท้ายแทนที่จะจับมือกัน มันก็เถียงเรื่องพวกนี้อยู่ เพราะทางโน้นหัวจักรใหญ่ก็พวกเจ้า พวกเจ้านี่เขาสัมพันธ์ไปถึงพระราม พวกไปเรียนแนวใหม่ก็ไม่เอา บอกว่าพวกนี้มันเป็นพวกศักดินาเก่าของพวกลัทธิตกขอบไปแล้ว ก็ตั้งบีอาร์เอ็น บีอาร์เอ็นก็คือแนวของเช แนวของเหมา เจ๋อ ตุง แนวของสตาลิน นี่แหละแนวนี้หมดเลย พอเป็นแนวนี้ก็ตั้งเป็นบีอาร์เอ็นขึ้นมา พอตั้งองค์กรขึ้นมาทีนี้ก็แตกกันกับบีเอ็นบีพี”

หมอดิงเป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงภายในแวดวงของ “ขบวนการ” โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความทรงจำของเขาเกี่ยวกับ “อาเยาะห์การิม” หรือ “อับดุลการิม บินฮัซซัน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้นำทางความคิด - จิตวิญญาณของบีอาร์เอ็นที่เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดหลังจากวิกฤตภายในองค์กรบีอาร์เอ็น

เขาเล่าว่า ระหว่างการชุมนุมประท้วงกรือเซะ อาเยาะห์การิมหรืออุซตาสการิมคนนี้ส่งคนมาติดต่อเขา เนื่องจากคงเห็นว่าเป็นผู้นำมวลชน และที่สำคัญเป้าหมายของอาเยาะห์การิมในขณะนั้นมองว่าการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนต้องมีผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ โดยตอนแรกรับแนวคิดคอมมิวนิสต์และหวังพึ่งเวียดนามและจีนแดงให้ช่วยเหลือ แต่ก็ไร้ผล จึงหันมาติดต่อกับคนที่เชื่อว่าสามารถติดต่อกับอิหร่านได้ ซึ่งในขณะนั้นเข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นตัวเขานั่นเอง

นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะความพยายามแสวงหา “ฐานสนับสนุน” ใหม่ของอาเยะห์การิม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังความขัดแย้งภายในบีอาร์เอ็นอย่างรุนแรงขั้นแตกหัก เพราะอาเยาะห์การิมกับแกนนำระดับสูงคนอื่นขัดแย้งเรื่องแนวทางและเป้าหมายในการต่อสู้

“ที่แตกกันก็เพราะอาเยาะห์การิมบอกว่าเราไม่เอากับไทยเลย ปฏิวัติลูกเดียว ย้ำว่า Revolusi (‘Revolution’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ ในภาษาอินโดนีเซีย) ที่มาจาก BRN R คือ Revolusi คือปฏิวัติเลย ไม่ประนีประนอม แต่อีกสายหนึ่งบอกไม่เอา เราต้องเอา Autonomy (ปกครองตนเอง) จึงแตกกัน บีอาร์เอ็นก็แตก หลังจากนั้นกองกำลังก็แตก แต่ว่าฝ่ายของอาเยาะห์การิมนี้กองกำลังแตกออกเป็น 3 พวกอีก แตกเป็นโคออร์ดิเนต (BRN-Coordinate) ทีหลัง แตกไปอีก เพราะว่าแนวคิดที่ต่างกัน อาเยาะห์ก็ถูกลอยตัวขึ้น พูดง่ายๆ ถูกเพื่อนปฏิวัติ ตัวแกก็ลอย ไม่มีพวก”

“บีอาร์เอ็นเกิดจากอุสตาซการิม แกไปเรียนอียิปต์ในช่วงที่ประธานาธิบดีนัสเซอร์ยิ่งใหญ่ นัสเซอร์คนนี้เขาได้ฉายาว่า Hitler of Niles มีแนวคิดที่เอาสังคมนิยมมาผสมกับอิสลาม นัสเซอร์นี่แหละเป็นตัวเอามาปฏิบัติ เพราะแกเป็นพันเอกตอนปฏิวัติกษัตริย์ฟารุค ตัวเองก็เลยใช้ระบบคอมมิวนิสต์ผสมกับอิสลาม”

“งานแรกของนัสเซอร์คือฆ่าซัยยิด กุฎฏุบ ทีเขียนอรรถาธิบายอัลกุรอาน (‘ฟีซิลาลิลกรุอาน’ หรือ ‘ใต้ร่มเงาแห่งอัลกุรอาน’ กุฏฏุบเป็นนักคิดคนสำคัญของขบวนการภราดรภาพมุสลิมหรือกลุ่มอิควานในอียิปต์ – กองบรรณาธิการ) นั่นเพราะอะไร เพราะนัสเซอร์เอาระบบที่เรียกว่า Socialist Islam หรืออิสลามสังคมนิยม หรือเอาอิสลามมาผสมกับคอมมิวนิสต์ เชื่อว่าอัลเลาะห์และนบีเป็นของเรา แต่วิถีปฏิบัติเอาคอมมิวนิสต์มาเล่น ซึ่งนี่คือก็บีอาร์เอ็น”

“อาเยาะห์การิมก็ไปเรียน แล้วได้แนวคิดนี้มา แล้วก็มีคนที่แนวคิดแรงๆ เช่น เลาะห์ เหมา (นามเรียกขานผู้นำศาสนาคนหนึ่งชื่ออับดุลเลาะห์ ที่นิยมแนวความคิดของเหมา เจ๋อ ตุง - กองบรรณาธิการ) อันนี้ก็ไปเรียนทางโน้นมาเหมือนกัน อยู่ที่ปอเนาะเปาะเส็ง ปอเนาะข้างในปอเส้ง เลาะห์ เหมาเป็นคนตั้งปอเนาะนั้นและเป็นคนแรกที่ตั้งโรงเรียนตาดีกาขึ้นมาในสามจังหวัด เพราะว่าแกศึกษาทางแนวสังคมนิยม เขาบอกว่าแกนี่เป็นเหมาได้เลย ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขบวนการบีอาร์เอ็น”

“แต่ถ้าพูดถึงแนวคิดสังคมนิยม คนที่มีชื่อที่สุดคืออาเยาะห์การิม เพราะแกไม่ใช่แค่ว่าเชี่ยวชาญ แต่เขาเรียกว่าสร้างองค์กรขึ้นมา สร้างโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่ง แถวรือเสาะ คนรือเสาะทำไมจึงมีแรง ก็เพราะอุซตาซการิมนี้ใส่เชื้ออันนี้ไว้ เพราะนักต่อสู้ของแบบคอมมิวนิสต์นี่แรง บางทีก็แรงตกขอบไปเลย”

ทว่าหลังความขัดแย้งในแนวทางการต่อสู้ภายในบีอาร์เอ็น อาเยาะห์การิมได้แสวงหา “ฐานที่มั่น” ใหม่ไปพร้อมๆ กับการทบทวนแนวทางที่ผ่านมาอย่างจริงจัง และนั่นทำให้ผู้ก่อตั้งองค์กรปฏิวัติผู้นี้ได้หันกลับมาวิพากษ์การต่อสู้ที่เขามีส่วนร่วมก่อร่างสำคัญในอดีต หมอดิงอ้างว่าเขามีบทบาทอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “อัลมีซาน” หนังสือตัฟซีร (อรรถาธิบายอัลกุรอาน) ของปราชญ์ชาวอิหร่านที่เขาให้อาเยาะห์การิมยืมอ่าน

“แนวคิดทั้งหมดก็มาจากอุสตาซการิม แต่หลังจากได้ตำราจากผมคือหนังสือแปลอัลกุรอานมาจากอิหร่านของชีอะห์ แกก็อยากจะได้ ที่อยากจะได้ จิตจริงๆ ของแกก็ไม่ได้คิดอะไร แกอยากจะแปะว่าต่อไปนี้ต้องให้อิหร่านหนุนเราแล้วจะแยกสามจังหวัดได้ ทีแรกก็จะเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อจะให้เวียดนามและจีนมาช่วย พอไม่ช่วยก็เปลี่ยนมาเป็นชีอะห์เผื่ออิหร่านจะได้ช่วย แต่เขาไม่เอาชีอะห์ แต่เอาวิธีของชีอะห์ อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องความเชื่อเพราะเรื่องระหว่างชีอะห์กับซุนนีเป็นเรื่องลึกซึ้ง ตอนหลังแกมาศึกษา แกประกาศเลิก พอไปอ่านตัฟซีรอัลมีซาน ของตาบีตาบีอี (อัลลามาฮ์ ฏอบาฏอบาอี ปราชญ์เลื่องชื่อชาวอิหร่าน – กองบรรณาธิการ) ก็ประกาศเลิก และบอกว่าที่ทำมาทั้งหมดไม่ถูกต้อง ผมเองหลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อแกอีกเลย ติดคุกอยู่ 6 – 7 ปีด้วย แต่รู้ว่าอุซตาสการิมแกประกาศว่าที่ต่อสู้มาผิด” 

“ตอนนั้นแกโดนโดดเดี่ยวไปแล้ว พอแกแตกจากบีอาร์เอ็นก็โดดเดี่ยวทันที แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งแนวทาง เพราะความคิดมันขัดกัน แกก็จะหาสมาชิกใหม่ ก็มองเห็นผมเพราะผมกำลังพาคนเยอะไง มองภาพถ้าได้หมอนี้กูก็ได้ลูกน้องเป็นพันเป็นหมื่น จริงๆ ไอ้พวกที่มาก็ไม่ได้รู้จักผมนะ มันมาเพราะผมเปิดกินเหนียว เป้าหมายของเราคือเอากรือเซะ ผมบอกกรือเซะไม่ใช่ของพ่อผมแต่เป็นของพ่อคุณด้วย เราเปิดเคลื่อนไหวเรื่องกรือเซะก็คือแสวงจุดร่วม จุดต่างก็สงวนไว้ แต่ก็มีพวกชอบขโมยมวลชน ไม่สร้างมวลชแต่อยากจะได้มวลชนของเพื่อน พวกใต้ดินทำไม่เป็นหรอก เพิ่งจะมาฉลาด ก็เลียนแบบอาหรับอย่างพวกอัลกออิดะฮ์”

แม้จะมีความพยายามก่อร่างขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ แต่คำบอกเล่าของหมอดิงก็ระบุว่าอาเยาะห์การิมเองก็หมดแรง ซ้ำยังป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ลูกศิษย์หลายคนก็ไม่ได้เห็นพ้อง ความตั้งใจดังกล่าวจึงล้มไปพร้อมๆ กับการสิ้นลมของอาเยาะห์การิมในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

 
 ภาพโดย นครินทร์ ชินวรโกมล (วารสารดีพเซาท์บุ๊กกาซีน ฉบับที่ 4 มิถุนายน 2552)
 
๐ ชาตินิยมและอิสลาม  

สำหรับสถานการณ์ร่วมสมัยที่ความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้ได้ปะทุขึ้นด้วยความรุนแรงที่แปลกแปร่งออกไปจากในอดีต หมอดิงยังไม่ทิ้งสมมติฐานที่เชื่อมั่นว่าบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่มีเป้าหมายในการทำลายศาสนาอิสลามยังคงดำเนินอยู่ไม่ต่างกับก่อนหน้านี้ และก่อรูปเป็นความขัดแย้งดังที่ได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นปัญหาสำคัญคือความอ่อนด้อยของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะสังคมมลายูมุสลิมชายแดนใต้ก็มีส่วนที่ทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม

“มันอยู่ที่ ‘โรค’ อยู่ที่หมอว่าจะรักษาเป็นหรือไม่เป็น วินิจฉัยถูกหรือไม่? วางยาถูกรึเปล่า? โรคที่สามจังหวัดเป็นนี่มันเป็นหลายโรค ถ้าดู ‘แบ่งแยกดินแดน’ นี่ก็ร้ายแรงที่สุด เรื่องอื่นๆ ก็วางรองๆ ลงมา ต้องดูว่า เงื่อนไขที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนนั้นสำเร็จหรือไม่ มันอยู่โรคตัวไหนที่จะส่งเสริมให้สำเร็จ”

แต่ถึงกระนั้น การลุกฮือรอบใหม่นี้ก็แตกต่างกับในอดีตที่ผ่านมา ในความเห็นของหมอดิง เขาคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตีความอัลกุรอานที่เถรตรงเกินไป

“พูดถึงคนที่มีแนวความคิดแบบนี้ เท่าที่ผมทราบ เขาเชื่อว่าใครต่อสู้ในแนวทางของอัลเลาะห์ ตายไปแล้วไม่บาป ฉะนั้นก่อนที่เราจะตาย เราสมัครเป็นนักต่อสู้ ก่อนหน้านั้นจะทำชั่วอะไรก็ได้ รีบทำไปเลย เพราะว่าคนที่เข้ามาเป็นพวกอาร์เคเคส่วนมากเป็นคนชั่ว ทีนี้เขาก็บอกว่า ถ้าเอ็งไม่มาทางนี้ ไม่ตายก็ลงนรก เพราะฉะนั้นสมัครมาเป็นทหารของเราดีกว่า เพราะว่าได้ทำชั่วไปด้วย ฆ่าคนที่หัวหน้าสั่งไปด้วย พอสุดท้ายเวลาแกตายเขาจะอภัยบาปให้หมด”

สำหรับหมอดิงแล้ว การให้ความหมายต่อการญิฮาดหรือการต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสลามนั้นแตกต่างออกไป ในสำนักคิดของนิกายชีอะห์จะต้องพิจารณาว่ามีมุจญ์ตาฮิดหรือนักตีความที่จะมองเงื่อนไขของการญิฮาดอย่างไร แต่ปรากฏว่าภาพที่เขาเห็นคือในชายแดนภาคใต้มีการตีความกันไปเองถึงเงื่อนไขต่างๆ นี้อย่างอิสระ

“การญิฮาดไม่มีการรุกราน มีแต่ป้องกันตัว เขาก็บอกว่ากำลังป้องกันตัวเพราะรัฐบาลไทยมายึดเรา แต่เราสู้ในบ้านเรา ไม่ได้สู้นอกเขต แค่สามจังหวัดและอีกสี่อำเภอของสงขลา เราก็ไม่ได้ล้ำไปในเขตเขานะ ฉะนั้นเราป้องกันตัว อยู่ในเขตเราก็ต้องไล่เขาออกไปไง แต่ถามว่าเงื่อนไขการยึดเล่า อย่าไปแปลอัลกุรอานตรงๆ อย่างนั้น แต่ต้องมองให้ลึก หากเขามายึด เขาไล่เราออกหรือเปล่า เอาเงื่อนไขนี้ เอามลายูไปอยู่มาเลย์ให้หมด เอาคนอีสานคนไทยมาอยู่ ยึดบ้านช่อง เผาสุเหร่า ศาสนาอิสลามไม่ให้อยู่ตรงนี้ ไทยทำอย่างนี้หรือเปล่า?”

ถึงที่สุดแล้ว นักเคลื่อนไหวที่ผ่านคุกมาอย่างเขาฟันธงว่าขบวนการที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้อิงแนวคิดชาตินิยมเป็นด้านหลัก

“แนวคิดชาตินิยมนี่ เดินตามตะวันตก หลังจากที่ฝรั่งทำลายอุสมานียะห์ (อาณาจักรออตโตมาน) ที่ไหนที่มีธงดาวเดือนก็แสดงว่ามีอุสมานียะห์เป็นคอลีฟะห์ (ผู้นำ) แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ตุรกีแพ้ พวกตะวันตกมันก็คิดจะแบ่งแยกแล้วปกครอง เพราะตุรกีเป็นนักรบจะตัดขาอย่างไร ขั้นแรกคือ ยุให้ พ.อ.เคมาล อตาเติร์ก ล้มระบอบคอลีฟะห์ และให้เปลี่ยนคนในสังคมตุรกีให้นิยมตะวันตก ไม่ต้องคลุมฮิญาบ ละหมาดก็ไม่ต้องท่องแบบอาหรับให้ใช้ภาษาตุรกีแทนไปเลย นี่คือการปฏิวัติของยังเติร์กซึ่งปฏิวัติกษัตริย์อับดุลฮามิดที่ 2 พอกษัตริย์แพ้อำนาจก็อ่อน ก็ยุให้ทหารล้มกษัตริย์”

หลังจากนั้นก็สนับสนุนชาติต่างๆ ในโลกอาหรับที่เคยอยู่ใต้ร่มของอาณาจักรออตโตมานให้ประกาศตัวเป็นประเทศต่างๆ โดยมีชาติตะวันตกสนับสนุน

“ทีนี้ทางซาอุดิฯ ก็แยกให้อาหรับแต่ละชาติ มึงจะเป็นอียิปต์ เป็นลิเบีย แต่ละชาติพยายามตั้งตัวเองขึ้นมา นั่นคือ Nationalism คือระบบชาตินิยม”

“เรื่องชาตินิยมมลายูไปลอกแบบเขา ก็เพราะมลายูมันปกครองมาเลย์ ทฤษฎีของอังกฤษก็คือการ Divide and Rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง) การจะแบ่งแยกได้ก็ต้องเอาชาตินิยมเข้ามาเล่น แต่ในอัลกุรอานบอกว่าชาตินี่ไม่เกี่ยว จะเอาชาติมาใหญ่มันผิดหลักการอิสลาม เป็น ‘อัซซอบียะห์’ เพราะฉะนั้นมลายูที่เอาชาติมาเป็นใหญ่พวกนี้ตกขอบไปตั้งนานแล้ว แล้วเอามาอิงศาสนา ทีนี้คนมลายูไม่เข้าใจ คนมลายูความรู้ทางศาสนาก็พอไปได้ แต่ที่นี่เขาจะถือว่าถ้ามลายูก็คืออิสลาม คนที่ไม่ใช่อิสลามเข้ารับอิสลามเขาจะเรียกว่าเข้ามลายูไม่ใช่เข้าอิสลาม”

“ความรู้สึกที่ว่ามลายูกับอิสลามคือสิ่งเดียวกัน ความเข้าใจผิดอันนี้มีมานานแล้ว เมื่อคนศาสนาอื่นเข้ารับอิสลาม จะไม่เรียกว่าเข้าอิสลาม แต่เรียกว่าเข้ามลายู สมัยใหม่นี่เองที่เพิ่งมาพูดว่าเข้ารับอิสลาม สมัยก่อนเขาไม่พูดอย่างนี้ นี่คือการแยกไม่ออกระหว่างมลายูและอิสลาม จริงๆ แล้ว มลายูคือชาติ อิสลามคือศาสนา นำศาสนากับชาติมาผนวกเป็นเนื้อเดียวกัน เลยทำให้ฝ่ายที่อยากแสวงอำนาจใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือ ดึงคนมาเป็นเครื่องมือ”

“ปัตตานีสมัยโบราณที่มีเจ้าเมืองเก่าๆ ที่เสียอำนาจไป เขาก็ยังหวงอำนาจอยู่ อยากให้อิสลามกับมลายูเป็นตัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าทำเพื่อมลายูก็คือทำเพื่ออิสลาม นี่คือประเด็นที่ทำให้เราเบลอ เอาชาตินิยมมาผสมกับศาสนา”

“คนที่นี่รู้จักแต่อ่านอัลกุรอาน แต่ไม่รู้ความหมาย ขบวนการปฏิวัติมีความรู้ศาสนาน้อยมาก พวกที่ไปอยู่มักกะห์เห็นว่าเมื่อก่อนมักกะห์เคยขึ้นกับตุรกี แต่ต่อมาซาอุดิอารเบียตั้งขึ้นเป็นประเทศได้ แยกดินแดนนี่แหละ อูลามะอ์ที่ไปอยู่ก็ไปดูภาพเหล่านี้มา เอาแนวคิดครึ่งๆ กลางๆ มา ก็คิดว่าปัตตานีต้องเป็นรัฐอิสลาม แต่ความหมายของรัฐอิสลามนี่ต้องมีหลายอย่าง ไม่ใช่มั่วกันอย่างนี้”

แต่หมอดิงย้ำว่า กรอบการมองเช่นนี้จะแตกต่างอย่างสำคัญการมองกรณีปัญหาปาเลสไตน์ ซึ่งโลกมุสลิมล้วนแล้วแต่สนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล

“ปาเลสไตน์เข้าหลักของอัลกุรอาน เมื่อเขามาขับไล่เจ้าจากแผ่นดินของเจ้าและทำลายบ้านเรือนของเจ้า ทำลายศาสนาของเจ้า และยิวที่ทำลายในปาเลสไตน์เข้าหลักอัลกุรอานคือไล่จากที่เดิมไปเลย จะเอาที่ บ้านช่องก็รื้อ มันเอาหมดเลย แล้วเจ้าของเดิมอยู่ไม่ได้ ไปอยู่จอร์แดน ไปอยู่ทั่วไปหมด มันไล่เจ้าของเดิมไปหมด อัลกุรอานบอกว่า ถ้าอย่างนี้ ให้สู้เลย นี่คือเงื่อนไขอัลกุรอาน”

“แต่ประเทศไทยเงื่อนไขมันต่าง ประเทศไทยมายึดเอาคนที่นี่ไปอยู่กรุงเทพฯ แต่ทำลายศาสนาหรือเปล่า? ก็เปล่า สร้างสุเหร่าไม่รู้กี่ร้อยหลัง กี่พันหลัง แล้วเอาไปอยู่กรุงเทพ แล้วเอาที่หรือเปล่า ที่ก็ลูกหลานเรานี่ไงที่อยู่ ไม่ได้ไล่ไปอยู่มาเลย์ ก็อยู่ตรงนี้แหละ เอาโฉนดเท่าไร มึงมีปัญญาจะเอากี่หมื่นไร่ก็ได้ แล้วตรงไหนเงื่อนไขอัลกุรอานที่ว่าเขาเอาแผ่นดินเรา เพียงแต่ว่าเขาเอาอำนาจการปกครอง ซึ่งนั่นเขาเอาได้ ในเมื่อเราโง่กว่าเขา ให้เราปกครองนะบ้าเลย ให้เขาปกครองน่ะดีแล้ว ก็เมื่อก่อนนี้เจ้าเมืองมลายูปกครองก็บ้าเหมือนกัน พ่อผมเป็นพยาน ผมถามพ่อตอนที่ทางการเขายุบเจ้าเมือง พ่อก็บอกว่าดีแล้ว ตอนนั้นเจ้าเมืองก็เหมือนเจ้าพ่อมุสลิมปัจจุบันนี้ เป็นกำนันยิ่งใหญ่ นับถืออิสลามเหมือนกัน แต่แค่เขาไม่กินหมู ไม่ไหว้พระเท่านั้น แต่อย่างอื่นเอาหมด”

“เป้าหมายของสยามในตอนนั้นก็คือจะรวบรวมให้เป็นหนึ่ง มลายูเราก็เป็นแบบนั้น เพราะว่าคนที่มีอำนาจ มีปัญญากว่า ก็ย่อมเป็นสิทธิของเขาที่เขาจะเป็นผู้ปกครอง เพราะเราอ่อนแอ เขาแข็งเขาก็ต้องเอา เอาเราแล้วเอาไปไหน ร้อยเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบนั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา”

“ถ้าจะเอาความแค้นมันก็พูดได้ แต่สัจธรรมพูดไม่ได้ เพราะมันเป็นสัจธรรม สงครามสมัยนั้น เราเล่นกันอย่างนั้น พม่าก็ต้อนไปเยอะแยะ ไอ้ไทยชนะก็ต้อนมาทางนี้ เอาเชลยมาเป็นแรงงาน ให้ทำมาหากิน ไม่ใช่ให้เอาไปฆ่าไปแกง สมัยนั้นระบบก็ธรรมดา ถือว่าเป็นการกำลังพัฒนา ไปสู่กระบวนการรวมกลุ่มคน แล้วการรวมกลุ่มคน เราอย่าไปเอาชาตินิยมเป็นใหญ่ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปัญญาดีกว่า เข้มแข็งกว่า ก็ต้องยอมเขา ไม่ใช่ว่ามลายูโง่เง่าอย่างไร แต่จะเป็นใหญ่ได้อย่างไรก็พาไปไม่รอด คนที่ไม่ใช่มลายูแต่เก่งกว่าจะเป็นไรไป เพราะเรามองที่มนุษย์ เป้าหมายเราไม่ได้อยู่ที่ชาติพันธุ์ มันอยู่ที่อิสลาม การต้อนไปเป็นเงื่อนไขของความแค้นก็จริง แต่ไม่ใช่เงื่อนไขอิสลาม เพราะเขาต้อนไปเป็นทาส สมัยนั้นอย่าว่าแต่มลายูเลยที่เป็นทาส ไทยก็เป็นทาสเหมือนกัน ร.5 เพิ่งมาปล่อย ฉะนั้นเรื่องนี้ เราถือว่าต้องอภัยให้กับระบบ ไปที่โน้นเขารังแกมุสลิมหรือเปล่า สร้างสุเหร่าได้ไหม ก็สร้างเยอะแยะ”

“อิสลามมิได้เผยแพร่โดยยึดเชื้อชาติ แต่ใช้ศาสนานำ ชาติเป็นปลีกย่อย การนำไปสู่ศาสนาขั้นแรกต้องไม่ดูถูกชาติของใคร ไม่แบ่งเรื่องชาติ นำมาปนกันศาสนาจะไม่สะอาดแบบปัจจุบันที่เป็นอยู่ เพราะมีทัศนะผิด”

เราถามต่อว่า แล้วเหตุใดแนวความคิดต่อสู้เพื่อตั้งรัฐปาตานียังดำรงอยู่กระทั่งถึงปัจจุบันเล่า? ซ้ำร้ายขบวนการเคลื่อนไหวในระลอกใหม่นี้ยังสามารถยึดกุมความคิดของประชาชนในระดับหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี โดยที่ทางการทำได้เพียงแต่ใช้กำลังและกฎหมายกด ทว่ายังคงพ่ายแพ้ที่หมู่บ้านอยู่ดี?

“เพราะเขาเริ่มจัดตั้งมาหลังจาก ‘เลาะห์ เหมา’ สร้างโรงเรียนตาดีกาขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่ พอสร้างปุ๊ปก็ใส่เลย เสร็จแล้วพอตอนหลังมาต่ออย่างโรงเรียนธรรมวิทยาฯ เป็นแม่แบบ และโรงเรียนอื่นๆ มีโรงเรียนธรรมฯ เป็นโมเดลเลย พอชั้นสูงก็ให้แนวคิดการต่อสู้เลย การต่อสู้ก็เหมือนตั้งโรงเรียนทหาร ฝึกการเป็นทหาร มีเป้าหมายที่จะเป็นทหาร ยุทธศาสตร์ก็คือการแบ่งแยกดินแดน บนพื้นฐานที่ว่าที่นี้เป็นประเทศมุสลิม ไทยเอาไปแล้วต้องเอาคืน นี่คือสโลแกนที่รู้กัน แต่ไม่ได้เอาเนื้อหาของศาสนามาว่ากัน เอาแค่ปลีกย่อยของศาสนา เหมือนทองชุบไม่ใช่ทองจริง ที่นี้คนไม่รู้ว่านี่ทองชุบ ก็ใส่จนมันลอก”

“ผู้ปกครองไทยก็ต้องยอมรับไม่ว่าที่ไหนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลมุสลิม หรือรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ คนปกครองกดขี่คนถูกปกครองเป็นธรรมดา มันเป็นสัจธรรม ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วประชาชนที่จะต่อสู้กับผู้ปกครองก็เป็นสัจธรรม อาเยาะห์การิมอบรบเด็ก เรียกว่าเริ่มขุนตั้งแต่เด็ก แล้วก็ให้ครูตาดีกาไปสอนแทรกแนวคิดนี้เข้าไป พอถึงระดับสูงก็ให้แนวคิดนี้ ฝึกเป็นทหารก็ให้แนวคิด ประวัติศาสตร์ก็บิดเบือนมาตลอด ก็ไม่พูดของจริงเพราะว่าเวลาสอนประวัติศาสตร์ไม่ได้อิงศาสนา เอาศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เราเป็นเครื่องมือให้ศาสนา มันผิดเป้าหมายตรงนั้น เพราะโดยหลักแล้ว เราจะต้องเป็นเครื่องมือให้ศาสนา ไม่ใช่เราเอาศาสนาเป็นเครื่องมือให้เรา”

“ยุทธศาสตร์ของศาสนาเราไม่เข้าใจ เราเอาศาสนามาเป็นยุทธวิธีเพื่อยุทธศาสตร์ของเรา มันก็เลยกลับหัวกลับหาง สุดท้ายก็เป็นผลอย่างที่เป็นอยู่นี่แหละ ไม่ใช่แค่บ้านเราหรอก แต่โลกอาหรับก็เหมือนกัน ในโลกมุสลิมเป็นอย่างนี้เหมือนกัน เพียงแต่สิ่งแวดล้อมใครจะหนักเบากว่ากัน”

“ในบ้านเราแนวคิดนี้มันกระจายอยู่ไปทั่ว เพราะโดยพื้นฐานของมลายูนั่นแตกต่างกับไทย แต่ก็มีส่วนที่เข้าใจกันก็มี เราก็ไม่โทษมลายู คนไทยบางพวกก็ดูถูกเรา บอกว่าไอ้แขกอย่างนี้ หาว่าเราอาศัยเขา อันนี้มันเป็นเรื่องทะเลาะกันระหว่างบ้านใกล้กัน แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่าว่าแต่ไทยพุทธกับมุสลิมเลย ระหว่างมุสลิมกับมุสลิมบ้านใกล้กันก็ทะเลาะกัน บังเอิญไอ้นี้มันศาสนาเดียวกันก็ไม่หนัก พอต่างศาสนามันเลยลามไปเรื่องอื่น”

แต่ถึงกระนั้น หมอดิงพอสรุปว่า สถานการณ์ต่อจากนี้อาจจะยังตรึงอยู่ที่ความสูญเสียไม่ต่างจากเดิม เนื่องจากแนวความคิดของการแบ่งแยกดินแดนจะยังคงดำรงอยู่ เว้นเสียแต่ว่าความเข้าใจต่อหลักการของศาสนาอิสลามในประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดจะแจ่มชัด

“พวกนี้จะหมดความคิดไปเอง ต้องให้ศึกษาอิสลามให้ถึงจุด จึงจะหมดความคิดแบ่งแยกดินแดน ถึงจะเป็นความคิดอิสลาม เพราะความคิดแบ่งแยกดินแดนอยู่บนพื้นฐานของชาตินิยม ทีนี่เมื่อไม่เข้าใจเรื่องชาตินิยมแล้ว มาผสมกับอิสลามอย่างนี้ จะทำยังไง”

“ไม่ใช่ผมเข้าข้างไทยนะ แต่เข้าข้างถูก ถ้าไทยถูกก็ถูก ถ้าเราผิดก็ผิด เพราะอัลกุรอานไม่ได้เกี่ยวกับไทย ไม่ได้เกี่ยวกับมลายู มันเกี่ยวกับถูกกับผิด แล้วเงื่อนไขที่อัลกุรอานบอก ถ้าเขาขับไล่สูเจ้าออกไปจากบ้านของสูเจ้า ออกไปจากแผ่นดินของสูเจ้า และสกัดศาสนาของสูเจ้า แล้วไทยสกัดมั้ย? เอาง่ายๆ เลย คุณยังมีสุเหร่ากี่ร้อยสุเหร่าเอาไปซิ ถ้ามาเลเซียลองดูซิ จะสร้างสุเหร่าหลังหนึ่งถ้าไม่ขออนุญาตรัฐบาลไม่ได้นะ แต่เมืองไทยไม่ต้องขอก็ได้ แล้วใครจะถือบวช ไปมักกะห์ ให้หรือเปล่า? แล้วไหนล่ะ? กาเฟรที่เราต้องญิฮาดหรือป้องกันตัว แต่ไทยก็ไม่ได้มาเอาแผ่นดิน เราก็อยู่ที่นี่”

“เงื่อนไขหนึ่งก็คือ เราจะต้องตัดสินให้ได้ว่า ประเทศไทยนี้ เป็นเงื่อนไขแบบปาเลสไตน์มั้ย เข้ากับอายะห์ (บท) ไหนในอัลกุรอาน? พูดให้ชัดว่าแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ แล้วถูกต้องตามอิสลามรึเปล่า? ใครกล้าเล่นมั้ย? พวกโต๊ะครูทั้งหลายนี่กล้าเล่นมั้ย? พอพูดเรื่องนี้กลัวตายกันทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองชอบ อยากแยกเหมือนกัน แต่ไม่กล้า คิดว่าให้ฆ่ากันให้ตาย แล้วกูจะได้เป็นสุลต่าน ล้วนแต่มีนัยอยู่ทั้งนั้น โต๊ะครูคนนี้ก็แผนสูง”

“แต่ไม่รู้ว่าทหารเขาเข้าใจลึกแค่ไหนนะ ว่าประเด็นจริงๆ จะต้องแก้ความเข้าใจผิดเรื่องอัลกุรอานให้ได้ ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ก็ฉีดยา ให้น้ำเกลือกันหมดโรงพยาบาลก็ไม่รู้ผลกันหรอก มันจะเหมือนกับทศกัณฐ์ หัวใจเก็บไว้ในขวด ตัดหัวแล้วก็ไม่ตาย เพราะเอาขวดไปซ่อนไว้ แล้วอยู่ทีไหน ก็อยู่ที่อัลกุรอาน วิธีที่จะต่อสู้จริงๆ ก็คือการเอาอุลามะอ์ขุดเรื่องพวกนี้ออกมา จะเจาะเรื่องอัลกุรอานให้ชัดในประเด็นไปว่า การต่อสู้ของปาเลสไตน์กับการต่อสู้ของปาตานีนั้นไม่เหมือนกัน แต่หากรัฐบาลไทยต้องการแค่ความสงบ เราเองก็ต้องรับกรรมกันไป ใครอายุยืนก็อยู่ไป อายุสั้นก็ว่าไป ยกตัวอย่างผมวันนี้คุยเสร็จแล้ว กลับไปอาจจะเสร็จก็ได้”

หมอดิงย้ำว่าความจริงจังของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ หากจะมาใช้ยานี้แต่ไม่ศึกษารายละเอียดของโรคก็คงไร้ประโยชน์ แต่หากว่ากันตามจริงแล้วเขาเองก็ไม่มั่นใจนักว่าผู้ที่รับผิดชอบจะหนักใจกับการแก้ปัญหาจริงหรือไม่

“เพราะว่า งบเขาก็มี เวลาตายพวกเราก็ตาย เขาไม่ค่อยตายเท่าไหร่หรอก เขาก็อยู่ห่างๆ พอตายทีก็ให้เป็นล้าน ตำรวจ ทหารตายก็ให้เป็นล้าน ชาวบ้านตายก็ให้แสนสองแสน เอาเงินมาโปะอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่าเราใจร้อน ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะแก้ปัญหาจริงๆ พวกขบวนการจับฉ่ายอยู่แล้ว แต่พวกเราเองก็จับฉ่ายด้วย ทหารก็พวกนึง ตำรวจก็พวกนึง ปกครองก็พวกนึง”

“คนที่น่าสงสารคือชาวบ้าน คนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพราะพวกก่อการมันกำลังจะสร้างหลักเดียว คือ เมื่อเราจูงมันไม่ได้ก็ให้มันกลัวไว้ ใช้วิธีบังคับ ทีแรกก็ไปด้วยกัน แต่เมื่อบอกว่าฉันไม่เห็นด้วยวิธีนี้ ก็ฆ่าให้ดู ตกลงที่ไปก็ด้วยความจำยอม”

เรื่องเล่าผ่านประสบการณ์ของหมอดิงย้อนความให้เรามองเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการต่อรองกับอำนาจรัฐไทยด้วยวิธีการที่ความหลากลายของคนมลายูมุสลิม ซึ่งอันที่จริงแล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ระยะใกล้เหล่านี้นี่เองที่อาจให้บทเรียนในการคลี่คลายหาทางออกของความขัดแย้งได้ง่ายกว่าการมองย้อนไปไกลถึงประวัติศาสตร์นครรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าใครและฝ่ายใดจะเก็บรับเรื่องราวเหล่านี้นำมาวิจารณ์ตัวเองและปรับท่าทีในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันได้เท่าทันและรวดเร็วกว่า

กระแสอิสลามานุวัตน์กำลังเดินไปข้างหน้า สังคมมลายูกำลังอยู่ในห้วงแห่งความขัดแย้งใหม่ที่ไม่จำกัดเฉพาะระหว่างรัฐกับประชาชน หากแต่เป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองและต่อรองกันเองภายในผู้คนในสังคมมลายูด้วยกัน ในขณะที่รัฐไทยกำลังเผชิญหน้ากับโจทย์ของความหลากหลายเหล่านี้ ที่ดูเหมือนว่าจะใช้กำลังและกฎหมายเพียงถ่ายเดียวไม่ได้เสียแล้ว