Skip to main content
 
สมัชชา นิลปัทม์

 

วิชาการด้าน "อาณาบริเวณศึกษา" (Area Studies) ถือกำเนิดขึ้นและเติบโตท่ามกลางกระแสของลัทธิล่าอาณานิคมที่กำลังสยายปีกเข้าปกคลุมไปทั่วโลก ความรู้จำเพาะที่เกี่ยวข้องของประเทศอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฐานทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆ ล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปกครองและผลประโยชน์ของของเจ้าอาณานิคม

ความก้าวหน้าของสำนักคิดอย่าง "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ" (Ecole Française d'Extrême-Orient) คือผลผลิตที่สำคัญในการสร้างความรู้มากมายมหาศาลด้านอินโดจีน ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในขณะนั้นมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

"อาณาบริเวณศึกษา" ยังได้หยั่งรากลึกอย่างมั่นคงในโลกของวิชาการอีกครั้ง เมื่อการขับเคี่ยวระหว่างโซเวียตและสหรัฐอเมริกาสองมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นเป็นไปอย่างเข้มข้น สำนัก East - West Center แห่งฮาวาอิ ได้ถือกำเนิดและดำเนินไปอย่างก้าวหน้าโดยไม่ต่างจากสำนักแรกและถือได้ว่ายุคหนึ่งคือแหล่งชุมนุมผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันเฉียงใต้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ไม่แปลกหากเจ้าของประเทศซึ่งเคยเป็นอาณานิคมต้องการจะศึกษาเรื่องราวของประเทศตนเองในระดับสูง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินทางไปศึกษายังสำนักเหล่านั้น หาใช่ศึกษาในประเทศแม่ของเขาไม่

ทั้งสองบริบทที่ได้กล่าวข้างต้น บอกอะไรกับเราได้บ้างในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่าง "อำนาจ" กับ "ความรู้"

อาจเพราะปรัชญาของความรู้มีรากฐานมาจากการทำความกระจ่างต่อธรรมชาติของสรรพสิ่ง การรู้จักองค์ประกอบ ส่วนประกอบและคุณลักษณะ จะนำไปสู่การ "การจัดการ" นั่นจึงทำให้ความรู้สัมพันธ์กับการจัดการในหลายระดับ

"รู้น้อย"   คือการรู้ด้วยว่าสัมพันธ์ด้วยอย่างไรดีหรือ "เข้าถึง" (Deal With) เมื่อ "รู้จักมากขึ้น" ก็จะสามารถควบคุมได้ (Control) และถ้าหาก "รู้จักอย่างดีมาก" ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Change) ความรู้ในขั้นสุดท้ายจึงเป็นความรู้ในระดับที่สำคัญ เพราะหากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นั่นก็หมายถึงการพัฒนา (Development)

สังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรอคอยความรู้ความเข้าใจ "คุณลักษณะ" ทางสังคมทั้งสามระดับ บทบาทของการผลิตความรู้ด้าน "มลายูศึกษา" จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและสถานภาพองค์ความรู้ด้าน "มลายูศึกษา" ของเราก้าวหน้าไปได้เพียงใดมีใครจะให้คำตอบได้บ้าง

๕ ทศวรรษ ของสังคมมลายูปัตตานีได้ผ่านกระแสของการเปลี่ยนแปลงมาหลายวิกฤติการณ์ นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านการเมืองการปกครองของสยาม เข้าสู่ยุค "รัฐนิยม" ภายใต้การปะทะต่อรองกันของอุดมการณ์ชาตินิยมที่เข้มข้น การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญของบรรดาชุมชนมุสลิมทั่วโลกและการรุกคืบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของยุคทุนนิยมอันมีโลกาภิวัฒน์เป็นปัจจัยเร่ง

เราจะอธิบายลักษณะที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างไร มีบางหัวข้อที่อยากหยิบยกมาเพื่อเป็นตัวอย่างในการร่วมขบคิด

๑. เราจะให้นิยามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับปัตตานี ด้านการเมืองการปกครองในปัจจุบันว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร

๒. เราได้ทำเข้าใจระบบชนชั้นและโครงสร้างทางสังคมของมลายูปัตตานี รวมไปถึงขบวนการต่อต้านรัฐไทยอย่างถ่องแท้แล้วหรือไม่

๓. เราจะทำความเข้าใจลักษณะทางประชากรนปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เช่น เรามองเห็นปรากฏการณ์ของประชากรมลายูมุสลิม ๑ ล้านสี่แสนคน ที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนกว่า ๓ แสนคน ในพื้นที่โดย ๑ แสนคน อยู่ภายใต้การศึกษาในระบบขณะที่เหลืออยู่นอกระบบการศึกษา เราจะตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเช่นไร

ประเด็นตัวอย่างนี้ต่างรอคอยการค้นคว้าหาคำตอบ ซึ่งความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอาจลบล้างความเชื่อแต่เดิมที่เคยสมาทานอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้

ถึงที่สุด "ความรู้"ของสังคมมลายูปัตตานียังต้องการนิยามลักษณะสังคมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพราะการเข้าใจลักษณะสังคมที่ถ่องแท้นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์เฉพาะ เพื่อสร้างเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องจนนำไปสู่การกำหนดยุทธวิธีที่เหมาะสม

แต่ไม่ว่าการอ่านลักษณะทางสังคมจะถูกกำหนดนิยามไปในลักษณะเช่นใดก็ตาม "ความรู้" ที่ผลิตขึ้นต้องไม่เป็นไปเพื่อครอบงำอย่างลัทธิอาณานิคม แต่เพื่อรัฐไทยจะได้โน้มนำเข้าหาอย่างถูกต้องและถ่อมตน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจและเพื่อการพัฒนาที่สร้างสรรค์ต่างหากคือเป้าหมายอันสำคัญ