ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีตัวเลขของการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้นรายวัน เกาะกลุ่มอยู่ที่ 3-5 ครั้ง ต่อหนึ่งวัน เป้าหมายของ”แนวร่วม” ยังอยู่ที่ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ครู พระ และ ประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็น”สายข่าว” ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนการก่อวินาศกรรม ด้วยการวางระเบิดเป้าหมายนอกจาก ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทาง เพื่อรักษาความปลอดภัยครู และประชาชน แล้ว เป้าหมายหลักของ “ระเบิด” คือ ย่านการค้า ย่านเศรษฐกิจในเขตเมือง ที่เป็นของชาวไทยเชื้อสายจีน และชุมชนชาวไทยพุทธ ซึ่งคงจะบรรยายได้ว่า 7 ปี ที่เกิดเหตุไม่สงบขึ้น ณ วันนี้ “สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังเลวร้ายเช่นเดิม”
ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของฝ่ายพลเรือน ที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในมิติของพลเรือน ควบคู่กับ กองอำนวยการรักษาความสงบภายใน หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบในด้าน”ยุทธการ” ตามภารกิจ คือ รักษาความสงบภายใน ดังนั้น ศอ.บต. ทั้งในอดีต และ ปัจจุบัน จึงเป็น”เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่ง ที่ประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่า จะสามารถใช้”ยุทธศาสตร์” นำความสงบมาสู่พื้นที่ 3 จังหวัด ได้
วันที่ 31 ธันวาคม 2553 คือ วันที่ พ.ร.บ.ศอ.บต. ประกาศใช้ตามกฎหมาย หลังจากที่ถูกยุบในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถูกตั้งขึ้นมาใหม่โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ จุลลานนท์ โดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และอยู่ภายใต้การสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยการคืนชีพของ ศอ.บต. ครั้งนี้ มีข้าราชการระดับ 11 ทำหน้าที่เลขาธิการ และมีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศอ.บต.
เลขาธิการคนแรกของ ศอ.บต. คือ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ศอ.บต. และถูกโยกย้ายตามความเปลี่ยนของการเมือง ไปทำหน้าที่ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา และ ครม. เห็นชอบให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกระทรวงยุติธรรม มาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นเลขาธิการคนที่ 2 ของหน่วยงาน และเป็นการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ด้วยการตั้งข้อสังเกตุ และ วิพากษ์ วิจารณ์ จาก “สาธารณะ” ว่า มาเพื่อเอาตำแหน่งระดับ 11 เพื่อโยกย้ายกลับไปเป็นปลัดกระทรวงฯ ที่ การเมือง ต้องการ และมีการมองว่า การส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่เป็น”มุสลิม” ซึ่งมักจะมอง”ตำรวจ” ในภาพลบมาโดยตลอด
หลังรับตำแหน่ง เลขาธิการ ศอ.บต. หลายคนได้เห็นถึงความ”ตั้งใจ”ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ร่วมกับ รองเลขาธิการ และ ที่ปรึกษา ตระเวนพบปะทำความเข้าใจ รับรู้เรื่องราวความรู้สึก ความต้องการของตัวแทนภาคประชาชน และ ผู้นำศาสนาในพื้นที่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์ให้เห็นว่า การมารับตำแหน่ง เลขาธิการ ศอ.บต. ในครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆจังๆ ไม่ได้มาเพื่อใช้ ศอ.บต. เป็น”บันได” ในการย้ายกลับไปเป็นปลัดกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์
โดย พ.ต.อ.ทวี ได้เปิดเผยว่า ปัญหาการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นปัญหาหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กลายเป็นเงื่อนไขของความไม่สงบ ผู้ถูกกล่าวหา และถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ได้รับความเดือดร้อน ความทุกข์ยากเป็นอย่างยิ่งในการต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา เพราะ คดีความมั่นคงประกันตัวยาก และหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวถูกตีราคาแพง แต่ละคดีใช้เวลา 2-3 ปี ในการพิจารณาคดี ทำให้ผู้ถูกตั้งข้อหาถูกคุมขังในเรือนจำได้รับความทุกข์ยาก เดือดร้อนทั้งตนเองและครอบครัว และคดีส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องร้อง สุดท้ายศาลยกฟ้องกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะ ขาดพยาน หลักฐาน โดยมีหลักฐานที่ปรากฎชัดว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฏีกาเพียงคดีเดียว และ ศาลฏีกายกฟ้อง ซึ่งกว่าคดีจะถูกศาลฏีกาตัดสินต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.5 แสนบาท
ปัญหานี้เป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่ต้องมีการประชุมพูดคุยกับหน่วยงาน 6 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีการให้เวลาพิจารณาคดีสั้นลง หาวิธีการในการให้ประกันตัว และการหาพยานหลักฐาน เพื่อให้ผู้ที่มีความผิดจริงได้รับโทษ และหาวิธีการที่จะไม่กล่าวหาผู้ที่ยังไม่มีหลักฐานในการทำผิด เนื่องจากที่ผ่านมาการตั้งข้อหาในความผิดมาจากการ”ซัดทอด” ของผู้ถูกจับกุม เป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายจึงทำให้ศาลไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ความเป็นธรรมมี 2 แบบ ด้วยกัน คือ ความเป็นธรรมทางกฎหมาย และ ความเป็นธรรมตามความรู้สึก สำหรับความเป็นธรรมทางกฎหมายนั้น ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะ เมื่อศาลตัดสินแล้ว อย่างไรเสียทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพราะ เป็นกฎหมาย เป็นกติกาของสังคม แต่ความเป็นธรรมในความรู้สึก ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ทำไมผู้ทำความผิดส่วนหนึ่งได้ประกันตัว ใส่เสื้อสูทไปขึ้นศาลในฐานะผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีเกียรติ ในขณะที่คนส่วนหนึ่งกลายเป็น”จำเลย” ที่ไม่มีสิทธิในการประกันตัว รวมทั้งสิทธิอื่นๆ ก็ยังเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ซึ่งความเป็นธรรมในความรู้สึกของประชาชนเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข และการเยียวยากับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
กรณี”กรือเซะ” กรณี”ตากใบ” และ ที่ สะบ้าย้อย ขณะนี้ยังไม่จบ เพราะ ยังเป็น”ปม” ที่ค้างคาในใจของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการนำความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นไปขยายผลในประเทศที่สาม ซึ่งจะได้นำเอากรณีเหล่านี้มาตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อที่จะให้สิ่งที่ยังค้างคาใจของคนในพื้นที่ได้หายข้องใจ และ สบายใจ เพราะ ที่ผ่านมาเขาเห็นว่า ยังไม่มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
แม้แต่ในเรื่องของการใช้ พรก.ฉุนเฉิน ในพื้นที่ ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เลิก เพราะ เห็นว่า ไม่เป็นธรรม ก็ต้องมีการร่วมหารือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น หากจะเลิก จะเลิกในพื้นที่ซึ่งมีความปลอดภัย ไม่มีการก่อความไม่สงบ ซึ่งจากการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นว่า สมควรเลิก พรก.ฉุนเฉิน ในพื้นที่ซึ่งไม่มีการก่อเหตุร้าย เนื่องจากยังมีกฎอัยการศึก และ กฎหมาย ป.วิอาญา อยู่ และยังสามารถประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง มาแทน พรก.ฉุนเฉิน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบได้
“ผมมีความตั้งใจที่จะมาเพื่อแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มาเพื่อเอาตำแหน่งระดับ 11 ผมไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจมานานแล้ว แต่ที่ยังมียศ พ.ต.อ. เพราะ เป็นยศพระราชทานที่ติดตัว ผมจะไม่ตอบโต้แก้ตัวในการวิพากษ์ วิจารณ์ ในเรื่องความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม แต่การทำงานของผม และผลงานที่จะเกิดขึ้น จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด”
แต่ที่แน่ๆ คือ พ.ต.อ.ทวี สองส่อง มารับตำแหน่ง เลาขาธิการ ศอ.บต. พร้อมๆกับที่ กอ.รมน. ได้เสนอโครงสร้างใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ให้ ศอ.บต. ในพื้นที่เป็น ศอ.บต. ส่วนแยก และขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เหมือนกับในอดีตอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เป็นด้วยของประชาชนในพื้นที่ และ องค์กรภาคเอกชน และนี่อาจจะเป็น งานแรก ที่จะพิสูจน์ฝีมือของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ว่า จะ ฝ่า”กระแสเชี่ยว” ของกองทัพ ในการรักษาโครงสร้าง ศอ.บต. ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต. ที่เป็นที่พึ่งของ ประชาชน ในพื้นที่ได้หรือไม่