Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554
 
ศาลจังหวัดยะลาสั่งให้สหกรณ์ครูยะลารับนายมะยาเต็ง มะรานอ
กลับเป็นสมาชิกจ่ายเงินตามสิทธิฯ
คดีแรกที่ผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้รับสิทธิคุ้มครอง
 
ศาลจังหวัดยะลาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.865/2554 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้สหกรณ์ครูจังหวัดยะลารับนายมะยาเต็ง มะรานอกลับเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา และให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน และจ่ายเงินตามสิทธิในฐานะสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ร่วมทั้งจ่ายเงินเรือนหุ้นคืน ทั้งนี้ทางโจทก์ต้องชำระค่าหุ้นของนายมะยะเต็งเดือนละ 500 บาทตั่งแต่เดือนเดือน กรกฎาคม 2550 – เดือนกันยายน 2552 รวมเป็นเงินจำนวน 13,500 บาท สรุปสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลามีหน้าที่ชำระเงินคืนทั้งสิ้นไม่เกินจำนวน 967,250 บาทแก่โจทก์ผู้ฟ้องซึ่งเป็นภรรยาและบุตรสองคนของนายมะยาเต็ง มะรานอ
 
คดีนี้มีนางซูมะอิเด๊าะ มะรานอ ภรรยาและบุตร ของนายมะยาเต็ง มะรานอ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา กรณีคณะอนุกรรมการติดตามหนี้สหกรณ์ครูยะลาได้มีมติ ครั้งที่ 11/2550 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ให้นายมะยาเต็งออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยอ้างว่านายมะยาเต็งในฐานะสมาชิกของสหกรณ์ยะลาได้ผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันที่นายมะยาเต็งหายตัวไปและให้ยึดเอาทุนเรือนหุ้นบังคับชำระหนี้กู้ยืม แม้ว่าเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ศาลจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งให้นายมะยาเต็งเป็นบุคคลสาบสูญตามกฎหมาย อันทำให้สิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ผู้ตายจะต้องได้รับนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ แต่โจทก์ในฐานะทายาทตามกฎหมายยังไม่ได้รับสิทธิในการรับเงินปันผลจากหุ้นและเงินเฉลี่ยคืนเมื่อนายมะยาเต็งเสียชีวิต รวมทั้งเงินจากกองทุนสงเคราะห์สมาชิกผู้เสียชีวิต รวมถึงสิทธิอื่นๆตามข้อบังคับหรือระเบียบของสหกรณ์ครูยะลา
 
พิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วศาลจังหวัดยะลาจึงได้มีคำสั่ง ดังนี้
 
1. ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา ดำเนินการเพิกถอนมติคณะอนุกรรมการที่ให้นายมะยาเต็ง มะรานอก ผู้สูญหาย ออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550
 
2. ให้นางซูมะอิเด๊าะชำระค่าหุ้นของนายมะยะเต็งเดือนละ 500 บาทตั่งแต่เดือนเดือน กรกฎาคม 2550 – เดือนกันยายน 2552 รวมเป็นเงินจำนวน 13,500 บาทโดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาใช้วิธีหักกลบลบหนี้
 
3. ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาดำเนินการจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้นายมะยาเต็ง เป็นบุคคลสาบสูญ
 
4. ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาจ่ายเงินตามสิทธิจากการเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตและทุพลภาพ ทั้งนี้ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ของนายมะยาเต็งยังคงค้างทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นไป
 
5. ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาจ่ายเงินค่าทุนเรือนหุ้นคืนที่ชำระมาจนถึงเดือนกันยายน 2552
 
6. ทั้งนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลามีหน้าที่ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามไม่เกินจำนวน 967,250 บาท
 
ส่วนคดีนี้ หากฝ่ายสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ถือได้ว่าคดีถึงเป็นอันที่สุด โจทก์และจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
 
คดีนี้สืบเนื่องจาก นางซูมะอิเด๊าะ มะรานอ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตาว่า นายมะยาเต็ง มะรานอ ภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหลายนายใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ทำการปิดล้อม ตรวจค้นและควบคุมตัวนายมะยาเต็งพร้อมกับรถยนต์ของนายมะยาเต็งไปต่อหน้าภรรยาและบุตรของนายมะยาเต็ง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 จากนั้นก็ไม่ปรากฎว่านายมะยาเต็งยังมีชีวิตอยู่หรือไม่และญาติของผู้สูญหายได้เห็นนายมะยาเต็งครั้งสุดท้ายขณะที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายหทาร เหตุการณ์นี้นอกจากครอบครัวจะไม่รู้ว่านายมะยาเต็งจะมีชีวิตอยู่หรือไม่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้สูญหายและภาวะทางจิตใจของครอบครัวนายมะยาเต็ง สุดท้ายครอบครัว ได้ฝากความหวังกับกระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งการยื่นเป็นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน และเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อศาล และได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายมะยาเต็ง มะรานอเป็นผู้สาบสูญ และศาลได้มีคำสั่งตามคำขอของครอบครัวให้นายมะยาเต็งเป็นผู้สาบสูญตามกฎหมาย และยังมีคดีที่ครอบครัวนายมะยาเต็งได้ยื่นไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้นายมะยาเต็งให้สูญหายยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่าสามปีแล้วต่อการดำเนินขั้นตอนการค้นหาความจริงดังกล่าว
 
ในส่วนคดีผู้บริโภคคดีนี้ เป็นคดีที่เรียกร้องสิทธิในฐานะสมาชิกสหกรณ์ เพราะเป็นข้อปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ค่อยมีเกิดขึ้น จากการที่ครอบครัวผู้สาบสูญออกมาเรียกร้องสิทธิของตน เนื่องจากข้อระเบียบบางอย่างไม่ครอบคลุมถึงกรณีบุคคลสาบสูญ หรืออาจมีช่องว่างที่ง่ายต่อการเสียสิทธิฯ
 
นางซูมะอิเด๊าะ ภรรยาผู้สูญหาย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก หลังศาลพิพากษาให้ตนและครอบครัวได้รับสิทธิดังกล่าว เพราะลดปัญหาเรื่องหนี้สินเดิมของครอบครัวที่ตนต้องแบกภาระชำระหนี้มาเป็นเวลายาวนานนับแต่นายมะยาเต็งสูญหาย
 
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คำสั่งของศาลจังหวัดยะลาครั้งนี้ถือได้ว่าศาลได้สร้างบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกบังคับให้สูญหายอันเป็นการเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายตามกระบวนการยุติธรรม ทั่วประเทศไทยยังมีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจำนวนมากที่ยังขาดการตรวจสอบและญาติยังไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้ และศาลยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้
 
จากการติดตามกลไกตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมและให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระหว่างปีพ.ศ. 2545-2551จำนวน 30 ราย ในปีพ.ศ. 2552 จำนวนสองราย ในปีพ.ศ. 2553 หนึ่งราย และล่าสุดในปีพ.ศ. 2554 จำนวน สองราย รวมที่รวบรวมและบันทึกไว้จำนวน 38 ราย พบว่า รัฐยังไม่สามารถจัดสรรความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ครอบครัวของผู้สูญหาย และญาติผู้สูญหายไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอนแทนผู้เสียหายในคดีอาญา และเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แม้จะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษภายใต้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และยังไม่มีการตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงกรณีการสูญหาย ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีการกำหนดให้การบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา แม้ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2554 รัฐบาลไทยจะได้ประกาศว่าจะพิจารณาลงนามในอนุสัญญาขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่รัฐบาลไทยยังมิได้แสดงเจตจำนงค์ให้สาธารณะชนได้รับทราบว่าจะดำเนินการให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าวเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้จริงอย่างไร ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาคุ้มครองการบังคับบุคคลให้สูญหายในทันที เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่ารัฐบาลไทยคำนึงถึงการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหายและพร้อมจะแก้ไขปัญหาการละเมิดสทิธิมนุษยชนที่ร้ายแรงนี้อย่างจริงจัง ด้วยการเยียวยาและช่วยเหลือให้ญาติได้รับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เบอร์ติดต่อ 02-693-4939