www.deepsouthwatch.org
เมื่อกล่าวชื่อ ‘ตนกูบีรอ กอตอนีลอ' อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของผู้คนทั่วไปมากเท่ากับชื่อ ‘พูโล' ตลอดช่วงเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา "พูโล" ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในขบวนการที่มีบทบาทอย่างสูงในการต่อต้านรัฐไทย และอาจเรียกได้ว่าเป็นองค์ต่อสู้เพื่อปัตตานีซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากที่สุด โดยเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พูโลพยายามผลักดันให้ตัวเองได้ชื่อว่ามีบทบาทการนำในการประสานกับองค์กรระดับโลกต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ของพูโลดำเนินการโดยแกนนำรุ่นใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2528 เป็นต้นมา จึงปรากฎชื่อของ ‘ลุกมาน บินลีมา' รองประธานพูโลใหม่ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหว เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกับสำนักข่าวตะวันตก หลังพูโล หรือ 'ขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี' หรือ PULO (Patani United Liberation Organization) แตกออกเป็น 2 กลุ่มใหม่คือพูโลเก่ากลุ่มของตนกูบีรอและพูโลใหม่ ซึ่งนำโดยดร.อารง มูเล็ง
ตนกูบีรอ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานของพูโล โดยประกาศจัดตั้งองค์กรที่ประเทศซาอุดิอารเบียเมื่อปี 2511 ตนกูบีรอ หรือ กาบีร์ อับดุล รามาน บางครั้งก็ใช้ชื่อจัดตั้งไทยว่า นายวีระ ณ วังคราม (มีบางรายงานระบุว่าชื่อ อดุลย์) พื้นเพเป็นคน อ. ยี่งอ จ.นราธิวาส จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ภายหลังจากการศึกษาจากอินเดียตนกูบีรอ มองเห็นปัญหาที่เขาถือว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพของบรรดาขบวนการต่อต้านของมาเลย์ จึงเริ่มดึงเอานักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เข้าร่วม หลายคนในกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในต่างประเทศ พูโลต่อสู้ด้วยอาวุธเช่นเดียวกับพยายามยกระดับการศึกษาและสำนึกทางการเมือง โดยในสายการบังคับบัญชาจะมีผู้นำระดับอาวุโสของพูโลอยู่ในนครเมกกะ มีศูนย์บัญชาการด้านการเมืองการทหารในตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย การหาสมาชิกใหม่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักศึกษาจากปัตตานีที่ไปเล่าเรียนในมาเลเซียและตะวันออกกลาง รวมทั้งครูสอนศาสนาในภาคใต้ของไทย สำนักงานในเมกกะ ยังทำหน้าที่จัดหาสมาชิกใหม่จากคนที่ไปประกอบพิธีฮัจน์ที่นั่นด้วย
นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่มีความสามารถมากในการเผยแพร่ความคิดและหาทุนสนับสนุน สามารถระดมทุนหลายล้านดอลลาร์ได้จากผู้นำอาหรับ โดยเฉพาะประเทศลิเบียและซีเรีย ทำให้สามารถซื้อหุ้นในโรงแรมฮัมเบอร์กในประเทศเยอรมนีได้และกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ในเวลาต่อมา
ในอดีตนั้น ‘พูโล' ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างการจัดตั้งและโครงสร้างองค์กรที่สมบูณ์อย่างยิ่ง โดยการรวมตัวกันของปัญญาชนรุ่นใหม่ซึ่งผ่านการศึกษาทางโลกและศาสนามาอย่างเข้มข้น มีการขยายสาขา วางเครือข่ายในหลายประเทศ อาทิ ซาอุดิอารเบีย อียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมนี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะประเทศสวีเดน
สมาชิกของพูโลถือได้ว่าได้รับการฝึกอบรมมา รวมทั้งมีอาวุธดีกว่ากลุ่มอื่นๆ สามารถเคลื่อนไหวปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ในสี่จังหวัดรวมทั้งพื้นที่บางส่วนของสงขลา อย่างไรก็ตามฐานที่มั่นสำคัญของพูโลคือนราธิวาส ในพื้นที่อำเภอระแงะ บาเจาะ ยี่งอและรือเสาะ รวมทั้งบางอำเภอในจ.ปัตตานี
ความเฟื่องฟูจากการสนับสนุนนี้เอง กลายมาเป็นข้อครหาการบริหารงานของตนกูบีรอ เกี่ยวกับความโปร่งใสด้านการเงิน และทำให้กลุ่มของดร.อารง แยกตัวออกมาเป็นพูโลใหม่ ขณะที่แกนนำด้านการทหารแยกไปตั้งกลุ่มใหม่ซึ่งเรียกตัวเองว่าคัสดานอาร์มี่ ซึ่งแม้จะยังให้ความนับถือดร.อารงอยู่ แต่ก็เคลื่อนไหวปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ ขณะที่กลุ่มพูโลใหม่เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศโดยพาะมาเลเซียและสวีเดน
หลังเกิดความแตกแยกหลายครั้งภายในกลุ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมาทำให้การสนับสนุนที่เคยได้รับลดน้อยลง จนทำให้การเคลื่อนไหวดำเนินการของแต่ละกลุ่มขาดพลัง กระทั่งเดือนปลายเดือนเมษายน 2548 แกนนำของแต่ละกลุ่มได้ประชุมหารือกันที่ประเทศซีเรีย ขณะนั้นตนกูบีรอซึ่งมีสูงอายุมากแล้ว ประกอบกับมีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งโรคเบาหวาน และถุงลมโป่งพอง จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม
ข่าวลือเบื้องหลังการประชุมกันครั้งนั้นก็คือ แกนนำทั้งพูโลเก่าและใหม่ เริ่มไม่พอใจบทบาทของลุกมาน บิน ลีมา ซึ่งใช้ชื่อองค์กรพูโลในการเคลื่อนไหว แต่ทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มิได้ทำเพื่ออุดมการณ์ขององค์กร การประชุมที่ซีเรียครั้งนั้น ลุกมานจึงมิได้รับเชิญให้ร่วมประชุม และภายหลังการประชุมครั้งนั้นแกนนำทั้งสองกลุ่มได้ทำข้อตกลงที่จะรวมตัวกันใหม่ภายใต้ชื่อ พูโลเบอร์ซาตู โดยเชิญตนกูบีรอมาเป็นประธาน หลังจากนั้นชื่อของ ‘ลุกมาน บิน ลีมา' ก็หายไป โดยมี ชื่อใหม่ ‘กัสตูรี มะกอตอ' เข้ามารับผิดชอบด้านการต่างประเทศ ประสานงานและสื่อสารกับสื่อมวลชนและองค์กรต่างๆ แทน และเริ่มเป็นที่มาของบทบาทในการประสานให้มีการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งพูโลเองก็ถูกตั้งคำถามว่า ฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์ หรือมีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบจริง
นับแต่ช่วงปี 2540 ที่พูโลได้เข้ารวมเป็นพันธมิตรกับแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือเบอร์ซาตู (BERSATU) แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ขององค์กรในปัจจุบันเน้นงานด้านการเมืองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนกองกำลังของกลุ่มใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีน้อยมาก และแทบไม่พบความเคลื่อนไหวในด้านการใช้กำลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา
รายงานด้านความมั่นคงหลายชิ้นระบุว่า ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ‘พูโล' ได้กลายเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่ทำงานได้ผลมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ โดยในทางการเมือง พูโลอยู่ตรงกลางระหว่าง BRN กับ BNPP และไม่แนบแน่นกับหลักการอิสลามแบบอนุรักษ์หรือสังคมนิยมหรือกลุ่มผู้ปกครองเดิม อุดมการณ์ทางการที่กลุ่มเผยแพร่คือ ‘ศาสนา ชาติพันธุ์ มาตุภูมิ มนุษยธรรม' แม้ว่ากลุ่มจะระบุเป้าหมายว่าเพื่อต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอิสระ ขณะเดียวกันก็มีลักษณะเป็นกลุ่มชาตินิยมยึดโยงกับเรื่องเชื้อชาติมากกว่ากลุ่มอิสลาม อย่างไรก็ตาม ‘พูโล' มักอิงบริบทในคัมภีร์กุรอ่านเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง
การกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของพูโล จะละเลยกล่าวถึงตนกูบีรอในฐานะผู้ก่อตั้งมิได้ หลังจากการแตกแยกของพูโล ตนกูบีรอถูกตั้งแง่สงสัยในเรื่องเงินสนับสนุน เขาค่อยๆ หมดบทบาทลง และใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศซีเรียตั้งแต่ช่วงปี 2535 เป็นต้นมา กระทั่งวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา เวลา ประมาณ 16.45 ตามเวลาท้องถิ่น ตนกูบีรอสิ้นลมอย่างสงบ ณ บ้านพักในเมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย ขณะอายุได้ประมาณ 80 ปี
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ประสานงานของขบวนการฯ เปิดเผยว่า ศพของประธานและผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ได้ถูกนำไปฝังไว้ ณ สุสานแห่งหนึ่ง ย่าน ‘ตาล์' (Tal) เมื่อเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยสุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองดามัสกัส อันเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
ขณะที่เวบไซต์ http://www.puloinfo.net/ ของขบวนการนั้นได้แสดงสาส์นไว้อาลัยต่อตัวเขา โดยระบุว่า เขาคือผู้ที่อุทิศชีวิตให้แก่การเรียกร้องเอกราชอันเป็นมาตุภูมิมาตลอดทั้งชีวิต การตายของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญต่อผู้ที่จะต่อต้านรัฐสยามและการตายครั้งในครั้งนี้จะนำพาเขาเข้ากลับคืนสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้า
ผู้ประสานงานของขบวนการฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ภายหลังจากการเสียชีวิตของประธานพูโลในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ‘นายกาเม ยูโซะ' รองประธานขององค์กร ซึ่งได้รักษาการแทนตำแหน่งประธานในระหว่างที่ตนกูบีรอ เจ็บป่วยมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าจะมีการคัดสรรผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานขององค์กรใหม่ในราวกลางปี 2552 ที่เป็นไปตามวาระของการเลือกตั้งสรรหาประธานใหม่ในทุกๆ 4 ปี ส่วนแนวทางการดำเนินงานนั้นคาดว่าน่าจะยังคงดำรงทิศทางเอาไว้เช่นเดิม
จากการสูญเสียของประธานและผู้ก่อตั้งองค์กรพูโลในครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าในช่วงรอยต่อดังกล่าวการดำเนินการขององค์กรต่อต้านรัฐสยามนี้จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด