Skip to main content
 
โครงการสันติอาสาสักขีพยาน
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

"Food Not Bomb" อาหารไม่ใช่ลูกระเบิด

คำสั้นๆ ที่แสดงถึงความต้องการมีชีวิตที่ไร้ความรุนแรงได้อย่างชัดเจน เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษยชาติ เป็นความต้องการของทุกคนในจังหวัดชายแดนใต้ ภาวะความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้นั้น ทำให้คนขาดแคลนมากกว่าคนอื่นๆในประเทศเดียวกัน ขณะที่ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เจอกับ 2 วิกฤตการณ์ คือข้าวแพงกับน้ำมันแพง คนในพื้นที่แห่งนี้กลับต้องเจอถึง 3 วิกฤติการณ์ ข้าวแพง น้ำมันแพง และชีวิตราคาถูกอันเป็นภัยจากความรุนแรงระหว่างมนุษย์ กระสุนปืนหรือระเบิดเพียงลูกละไม่กี่บาท ก็ฆ่าชีวิตและเปลี่ยนชีวิตคนไปทั้งชีวิต

Food Not Bomb จึงเป็นเหมือนเสียงร่ำร้อง ของคนในสี่จังหวัดชายแดนใต้ และ Food Not Bomb เป็นชื่อกลุ่มนักศึกษาอิสระกลุ่มหนึ่ง ที่มีจิตใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ ทั้งจากกรุงเทพฯ จังหวัดต่างๆ และในพื้นที่ เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา ได้รวมตัวกันจัด โครงการค่ายสร้างสุขให้น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาเห็นว่าความรุนแรงในพื้นที่ความขัดแย้งทำให้เด็กๆตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดดัน และขาดการใช้ชีวิตอย่างที่เด็กควรจะได้รับ เช่น ได้รับการศึกษาไม่เต็มที่ เพราะโรงเรียนเปิดสอนได้เพียงวันละ 4 ชั่วโมงครึ่ง (8.30-14.00) ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความทุกข์ ความสูญเสีย ส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนจากครอบครัวอย่างเต็มที่เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจทำให้เด็กขาดความอบอุ่นจากครอบครัว

นอกจากนั้นการที่เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแห่งความรุนแรง พบเห็นแต่ภาพการใช้ความรุนแรงจะทำให้เด็กเคยชินกับสิ่งเหล่านั้นโดยหารู้ไม่ว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดแต่ผลเสียแก่ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง อีกทั้งบางครั้ง เด็กเองตกเป็นเหยื่อโดยตรงของความรุนแรง ตลอดปี 2550 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิต 113 คน ส่วนปี 2551 เดือนมกราคม - มีนาคม 14 คน (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) และปี 2548-2551 เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมมารดา 11 คน (สถิติรวบรวมโดย โครงการสันติอาสาสักขีพยาน, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล)

โครงการสร้างสุขให้น้องฯ ได้จัดขึ้นช่วงปิดเทอม 2551 ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แบ่งเป็นพื้นที่ละ 5 วัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทำกิจกรรมเสริมสร้างจริยธรรม เสริมความรู้ และสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก (พื้นที่สีแดง) เพื่อให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย และได้มีความสุขอย่างเต็มที่อย่างน้อย 4-5 วัน โดยไม่ต้องกังวลกับความรุนแรงที่อาจจะเกิดกับพวกเขาเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างน้อยพวกเขาได้มาอยู่รวมกันตามประสาเด็กๆ ได้รู้จักเรียนรู้การทำงานร่วมกัน การดูแลซึ่งกันและกัน และรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น เมื่อไม่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องคอยให้ความช่วยเหลือ  

ความร่วมมือระหว่างนักศึกษาในพื้นที่กับนักศึกษาจากกรุงเทพ ทำให้ความรู้และกิจกรรมที่จัดนั้นสอดรับกับวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ได้อย่างลงตัว ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาในพื้นที่จะเป็นคนจัดกิจกรรมด้านจริยธรรม มีตั้งแต่ฝึกการละหมาด สอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน สอนการแต่งกาย กิริยา มารยาทตามประเพณีวัฒนธรรมทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย โดยที่พี่ๆ จะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่น้องๆ ก่อน ซึ่งพี่ๆ เองก็น่าชื่นชมในความขยันและสามารถรักษาระเบียบวินัยให้น้องๆ เห็นเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ในส่วนของนักศึกษาส่วนกลางจะช่วยจัดกิจกรรมที่เป็นเกมส์ใหม่ๆ หรือ เกมส์ที่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมทั้งกิจกรรมสอนภาษาไทย กับ ภาษาอังกฤษ แน่นอนมีความยากลำบากในการสื่อสารกับเด็กๆ ที่มักจะไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย รวมทั้ง นักศึกษาจากส่วนกลางเองก็ต้องปรับกิจกรรมให้เข้ากับวัฒนธรรม ประเพณี ของเด็กๆในพื้นที่ด้วย แม้จะมีอุปสรรคแต่เราได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาในพื้นที่กับส่วนกลาง มีการประชุมปรึกษาหารือถึงความเหมาะสมของกิจกรรมที่จะจัดให้แก่น้องๆก่อน และพยายามที่จะปรับรูปแบบโดยต้องสามารถคงเนื้อหาหลักๆของกิจกรรมที่จะสอนให้แก่น้องๆไว้ได้มากที่สุด ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ แม้จะไม่ตรงตามเป้าหมายเป๊ะๆ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเคารพและเข้าใจระหว่าง ผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กๆเห็นนักศึกษาชาวพุทธและมุสลิมอยู่รวมกันได้ พวกเขาก็อาจจะลดอคติที่เคยมีให้ลดลงได้เช่นกัน

น่าเสียดายอยู่ตรงที่ นักศึกษากลุ่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองด้วยอคติมากกว่าประชาชนในพื้นที่เสียอีก ไม่แน่ใจนักว่าอาจเป็นเพราะนักศึกษาบางส่วนมาจากสถาบันการศึกษาที่เจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็งอยู่แล้ว เช่น ม.รามคำแหง ม.ราชภัฎยะลา หรือแม้กระทั้ง ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในขณะที่นักศึกษาเล่นอยู่กับเด็กๆ มีเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมอาวุธครบมือ เข้ามาเยี่ยมเยียนดูแลการทำกิจกรรม ซึ่งการเยี่ยมนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ที่ไม่ดีนักคือ เด็กๆ เห็นผู้ใหญ่เดินถือปืนเข้ามาดูพวกเขา ขณะที่พี่ๆกำลังสอนให้พวกเขาเข้าใจความขัดแย้งและการไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา

พวกเขาคงตั้งคำถามว่า เมื่อพวกเขาไม่ใช้ความรุนแรง เหตุใด เจ้าหน้าที่บ้านเมือง จึงจัดการปัญหาด้วยอาวุธและใช้ความรุนแรงตลอดเวลา แบบนี้ก็คงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม เราเห็นความพยายามของ นักศึกษาที่พยามยามเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ และขอร้องไม่ให้นำอาวุธเข้ามาในเขตของการทำกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เด็ก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ทว่า ก็ยังน่าเป็นห่วงว่าเมื่อค่ายฯ นี้สิ้นสุดลงแล้วพวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งต้องพบเจอกับอาวุธและการใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ พวกเขาจะยังเชื่อในสิ่งที่พี่ๆสอนเขาไหม?

เขตพื้นที่สีแดง ที่ได้ชื่อว่าสีแดง เพราะมีเหตุความรุนแรงบ่อย ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ จึงถูกจับตาเป็นพิเศษ และรวมถึงการจับและการกวาดจับชาวบ้านไปคราวละจำนวนมาก 30-70 คน เพื่อไปสอบหาคนผิดทีหลัง ชาวบ้านไม่รู้กฏหมายจึงตกอยู่ในความวิตกกังวลและหวาดกลัว เมื่อมีโอกาสได้มาจัดกิจกรรมกับเด็กในพื้นที่สีแดง เป็นเวลาหลายวัน นักศึกษาจึงจัดกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ด้วยการออกเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน รับฟังความทุกข์ที่เขาได้รับและบางครั้งต้องช่วยเหลือพาไปพบกับทนายความ หรือพาไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของญาติพี่น้องของตนที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านเหล่านี้มีความจำเป็นต้องรู้กฎหมายเฉพาะ เช่น กฎอัยการศึก, พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคง นักศึกษาจึงประสานวิทยากรนักกฎหมายจากศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เข้ามาให้ความรู้ด้านกฎหมายกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้รู้ว่าสามารถแสวงหาความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรง

ทุกคืนสุดท้ายของการจัดโครงการในแต่ละพื้นที่ จะมีการจัดกิจกรรมช่วงเวลากลางคืน หรือ "งานตาดีกา" เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและนักศึกษา โดยจะเป็นการแสดงบนเวทีของชาวบ้าน เด็กๆที่มาเข้าค่าย ทีมนักศึกษาพี่เลี้ยง นักศึกษาในพื้นที่ และนักศึกษาส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นละคร ร้องเพลงอานาซีด พูดปาฐกถา หรือ การแสดงล้อเลียนต่างๆ ช่วงก่อนที่จะเกิดเกตุการณ์ความไม่สงบ กิจกรรมกลางคืนลักษณะนี้จะจัดกันเป็นประจำ แต่เนื่องจากเกรงกลัวอันตรายจากสถานการณ์ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะจัดกิจกรรมในเวลากลางคืนอีก เมื่อนักศึกษามาทำกิจกรรมจึงอยากให้มีการจัดงานเช่นนี้ขึ้นอีก ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านมีความกระตือรือร้นที่จะจัดงานกันอย่างแข็งขัน ช่วยกันหาอุปกรณ์เวที เครื่องเสียง และเตรียมการแสดงของชาวบ้านเองอย่างตั้งใจ หลายคนแสดงให้เห็นถึงอาการดีใจและมีความสุขที่หมู่บ้านมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศงานรื่นเริงแบบนี้อีกครั้ง หลังจากหายไปนานถึง 3 ปี นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวว่า "นี่แหละเป็นค่ายสร้างสุขจริงๆ"

"เหนื่อยแต่ภูมิใจ ดีใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน เพราะปกติจะเห็นแต่ใบหน้าที่เศร้าและกังวล" - นักศึกษาในพื้นที่ ที่ร่วมจัดทำโครงการ

"ประทับใจที่ชาวบ้านให้การตอบรับและไว้ใจเรา ส่วนเด็กๆก็พร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งที่พวกเราอยากมอบให้ ประทับใจที่สุดกับความเป็นเพื่อนของทุกคนที่เข้ามาร่วมจัดโครงการฯ" - นักศึกษาสาวจากนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นประธานโครงการฯ 

ท้ายที่สุด กิจกรรมที่นักศึกษาตั้งใจจะมาสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆน้องๆในพื้นที่ความขัดแย้ง กลับเป็นการสร้างสุขให้กับคนทั้งหมู่บ้าน และรวมถึงนักศึกษาคนทำงานด้วยกันเองด้วย เราได้เห็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้าน นักศึกษา ทั้งจากในพื้นที่และส่วนกลาง ซึ่งมีความแตกต่างทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา โดยที่มองข้ามอคติทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้น ภาพเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เราได้ตระหนักว่า ความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรคของการอยู่ร่วมกัน ตราบใดที่แต่ละฝ่ายได้รับการเคารพในสิ่งที่ตนเป็นและอยู่ โดยไม่มีการละเมิดกันและกัน ความยุติธรรมและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ทุกคนเพรียกหา เพราะนั่นคือพื้นฐานของสันติภาพที่แท้จริง   

 


 

"Food Not Bomb"  อาหารไม่ใช่ลูกระเบิด คำสั้นๆ ที่แสดงถึงความต้องการมีชีวิตที่ไร้ความรุนแรงได้อย่างชัดเจน เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษยชาติ เป็นความต้องการของทุกคนในจังหวัดชายแดนใต้ ภาวะความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้นั้น ทำให้คนขาดแคลนมากกว่าคนอื่นๆในประเทศเดียวกัน ขณะที่ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เจอกับ 2 วิกฤตการณ์ คือข้าวแพงกับน้ำมันแพง คนในพื้นที่แห่งนี้กลับต้องเจอถึง 3 วิกฤติการณ์ ข้าวแพง น้ำมันแพง และชีวิตราคาถูกอันเป็นภัยจากความรุนแรงระหว่างมนุษย์ กระสุนปืนหรือระเบิดเพียงลูกละไม่กี่บาท ก็ฆ่าชีวิตและเปลี่ยนชีวิตคนไปทั้งชีวิต