Skip to main content


เมื่อคนธรรมดาต้องการอาวุธปืน และความปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังเพื่อ ป้องกันตน

  ใน The Order of Genocide: Race, Power, and War in Rwanda นักวิชาการด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Scott Straus พบว่าชาว Hutu ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว Tutsi ในรวันดาเมื่อปี 2537 (1994) เอาเข้าจริงแล้วเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ซึ่งให้เหตุผลในการฆ่า 3 ประการ คือ 1) แรงกดดันจากเพื่อนชาว Hutu ด้วยกันหากไม่สังหาร Tutsi (inter-Hutu coercion) 2) ความกลัวว่าจะแพ้สงครามต่อชาว Tutsi หลังจาก Rwanda Patriotic Front (RPF) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล Hutu ได้สังหารประธานาธิบดี Habyarimana ในคืนก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (war-related fear and combativeness) 3) ความกลัวว่าหากไม่ฆ่าจะผิดกฎหมาย (legal obedience)   Straus โต้เถียงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาว่า จริงอยู่ที่ความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์มีส่วนทำให้การฆ่าง่ายขึ้น (เพราะคิดว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์ หรือ dehumanization) ทว่าความเกลียดกัน หรือความชั่วร้ายในจิตใจมนุษย์กลับไม่ใช่สาเหตุหลักหากคือ ความกลัวต่อการตกเป็นเหยื่อ และการเชื่อฟังคำสั่งต่างหากที่นำไปสู่การเข่นฆ่าผู้ที่นิยามว่า ศัตรู


        เหตุที่ผู้เขียนหยิบยกงานข้างต้นมามิใช่เพราะต้องการเปรียบเทียบสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เพราะเห็นว่าความกลัวซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และเป็นปัจจัยพลัดดันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเกี่ยวข้องกับการติดอาวุธและการเปลี่ยนคนธรรมดาสามัญให้เป็นผู้ฆ่า ในบริบทความขัดแย้งรุนแรง (violent conflict context) กล่าวคือในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้

      ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทำให้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่ยอมรับการติดอาวุธ ตลอดจนสนับสนุนให้มีกองกำลังประชาชน หรือกระทั่งร่วมเป็นสมาชิก คือพลเรือนที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของฝ่ายก่อการเช่น ข้าราชการ และชาวไทยพุทธชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ คนกลุ่มนี้มักรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะอาจตกเป็น “เหยื่อ” ได้ตลอดเวลา พวกเขาเห็นว่ารัฐอ่อนแอ ทั้งในแง่การรักษาชีวิตประชาชนและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ในแง่นี้ “ความกลัวต่อการตกเป็นเหยื่อ” ได้ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ปืนกลายเป็นปัจจัยที่หกของกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าผู้คนซื้อหาหรือพกพาปืนมิใช่ผลสำเร็จในการรักษาชีวิตของมัน แต่เพราะการมีปืนไว้ “ทำให้อุ่นใจ” และหากพกปืนไว้ทำให้ข่มขวัญผู้ตั้งท่าว่าจะโจมตีว่าตนไม่ใช่หมูในอวยให้มายิงเอาง่ายๆ
นอกจากความกลัวปืนยังเกี่ยวพันกับวงจรธุรกิจและความหมายทางสังคม ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนมากยอมรับเชิงบ่นว่า ขณะนี้ปืน (ถูกกฎหมาย) ราคาแพงตกกระบองละถึง 40,000 – 50,000 บาท จนถึงราวแสนบาท กระนั้นก็ตามปืนยังเป็นที่ต้องการ ผู้ค้าหรือตัวแทนจำหน่ายยิ่งตอบสนองความต้องการนั้น ร้านค้าจากกรุงเทพฯ จำนวนมากต่างรอรับสัมปทานจากรัฐในโครงการปืนสวัสดิการ ธุรกิจภาคพลเรือน เช่น ตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ยังผันตัวเองมาเป็นตัวแทนรับซื้อปืนจากกรุงเทพมาขายในพื้นที่เพราะไม่มีร้านขายปืนโดยตรงใน 14 จังหวัดภาคใต้ ทั้งยังไม่ต้องเอ่ยถึงธุรกิจเบี้ยบ้ายรายทางที่เกี่ยวข้องกับปืนและอุปกรณ์ทางทหาร เช่น ทะเบียนปืน กระสุนปืน เสื้อเกราะกันกระสุน (ซึ่งขณะนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายเสื้อผ้าสตรีในตัวเมือง) เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (ที่ใช้ในโรงแรมและสถานที่ราชการ ตลอดจนสถานประกอบการธุรกิจอื่นๆของเอกชน) เป็นต้น ยิ่งความขัดแย้งรุ่นแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยาวนานเท่าไร วงจรเศษฐกิจของปืนก็ยิ่งขยายกว้าง จนกำไรรายได้ของคนจำนวนหนึ่งต้องพึ่งพาธุรกิจความมั่นคง ดังนั้น การยุติเหตุการณ์รุนแรงย่อมหมายความว่ากำไรของคนในวงจรดังกล่าวหดหายตามไปด้วย


         ไม่เพียงเท่านั้นปืนยังกลายเป็น “สินค้า” ยังให้ความหมายกับชีวิตของสังคมแก่เจ้าของปืนในการฝึกอบรมปฏิบัติการสันติวิธีให้แก่ข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยวิทยากร แว่วยินบทสนทนาว่าผู้เข้าร่วมอบรมท่านหนึ่งใช้ปืนเรือนแสนและนั่นบ่นบอกว่าเธอ “ฐานะดี” ระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในโครงการวิจัยนี้ เจ้าหน้าที่จากกองอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) รายหนึ่งคุยโตให้ฟังว่าปืน 0.45 มม. ยี่ห้อ Clog ที่ตนครอบครองนั้นราคาแพงเพียงใด ได้มายากลำบากแค่ไหนและมีไม่กี่คนในพื้นที่ที่มีรุ่นนี้ ซึ่งนำเข้าโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา สำหรับผู้เขียนแล้วเนื้อหาของเรื่องเล่าไม่น่าสนใจเท่ากับ “ชาย” ผู้นี้เล่าให้ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิจัย “ผู้หญิง” ฟังราวกับว่าการมีปืน ราคาแพง รุ่นดี เป็นตัวบ่งชี้ “ความเป็นชาย” (Masculinity) ที่ผู้หญิงทั่วไปน่าจะชื่นชม ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคุณค่าและความหมายของปืนได้แทรกซึมอยู่ในชุดความหมายอื่นๆของชีวิตประจำวัน เช่น ความมั่นคั่งหรือความเป็นชาย ดังนั้น จึงน่าแปลกใจหากบทสนทนาเกี่ยวกับปืนรุ่นต่างๆใครมีรุ่นอะไรบ้าง ไปซื้อหามาจากไหน ฯลฯ จะแทรกตัวอยู่ตามวงรับประทานอาหาร สภากาแฟ และในที่ทำงาน
         

           สำหรับการเข้าร่วมกองกำลังประชาชน ผู้เขียนพบเหตุผลต่างกันออกไปซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ หากพิจรณาจากมุมของชาวบ้านทั่วไปที่ใช้ชีวิตท่ามกลาง “สมรภูมิ” กล่าวคือ คนจำนวนมากเป็นทั้งชุดพัฒนาและรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ราษฏรอาสาคุ้มครองเมืองและหมู่บ้าน (อรม./อรบ.) และเจ้าหน้าที่พลเรือนรักษาความปลอดภัยในโครงการสร้างและจ้างงานเร่งด่วน(โครงการ 4,500) ในเวลาเดียวกันเพื่อให้มี “รายได้” จากหลายแหล่ง ซึ่งรวมกันแล้วสามารถช่วยเหลือครอบครัวจุนเจือกันได้ กระทั้งอาจเป็นรายได้หลักในยามที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ นอกจากนี้สมาชิกกองกำลังโดยเฉพาะชาวไทยพุทธยังเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนจำเป็นและสำคัญ เพราะไม่เพียงแค่การลาดตระเวรหรือการหาข่าวจะช่วยให้ชุมชนปลอดภัยมากขึ้น แต่ยังช่วยรักษา “ดินแดน” มิให้อีกฝ่ายยื้อแย่งแบ่งไปได้ เหตุผลชุดนี้สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า คนไทยพุทธในฐานะคนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกเข่นฆ่าและทำร้ายไล่ที่ นายทหารซึ่งดูแลโครงการราษฏรอาสาคุ้มครองเมืองและหมู่บ้านยืนยันว่า ขณะนี้ประชากรไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหลือเพียง 10 % ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงยอมให้สูญเสียประชากรชาวพุทธไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว คำกล่าวนี้ตรงกับคำขวัญของกลุ่มรวมไทยซึ่งเป็นกลุ่ม “ติดอาวุธเพื่อป้องกันตน” ที่ไม่สังกัดรัฐของชาวไทยพุทธในพื้นที่ว่า “เสียราษฎร์ เท่ากับเสียแผ่นดิน” และมโนมัศน์ที่ว่ากลุ่มเป็นดัง “ชาวบ้านบางระจัน” ซึ่งช่วยป้องกันไม่ไห้ข้าศึกรุกรานจนต้องเสียด้ามขวาน

        ดังที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้น ความต้องการปืนมาจากเหตุผลพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือ ความกลัว กลัวเพราะไม่รู้ว่าจะถูกโจมตีเมื่อไหร่ กลัวเพราะไม่แน่ใจว่าออกจากบ้านแล้วจะได้กลับมาอีกหรือไม่ กลัวเพราะไม่รู้ว่า ศัตรูเป็นใคร ดังนั้น ปืนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ยืนยันความมั่นคงในยามที่ไม่มั่นคงเป็นสิ่งจีรังของชีวิตในสมรภูมิ นอกจากนี้ ธุรกิจและความหมายทางสังคมของปืนยังช่วยหล่อเลี้ยงให้วงจรอาวุธดำรงอยู่ เมื่อปืนกลายเป็น ความจำเป็นหรือกระทั่งความหมายของผู้คนเช่นนี้แล้ว จะมีข้อวิพากษ์ใดที่ช่วยลดทอนความศักดิ์สิทธิ์และคุณค่าของมันได้บ้าง?

 

บทความจาก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ (Ph.D.)

 Political of science, Latrobe University, Australia 

ภาพจาก 

mso-bidi-font-family:"Angsana New";mso-ansi-language:EN-US;mso-fareast-language:
EN-US;mso-bidi-language:TH">http://thaifreenews.org
, mso-bidi-font-family:"Angsana New"">http://queenproject.com

โพสโดย : vjujur