ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
เช้าวันพืชมงคลที่ผ่านมา (2551) ผู้เขียนกำลังเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวหัวหินกับเพื่อนๆ เพื่อนคนหนึ่งที่ร่วมทางไปด้วยเป็นคนมุสลิม เมื่อเพื่อนมารวมตัวกันที่บ้านของผู้เขียน น้าของผู้เขียนได้นำอาหารเช้าซึ่งเป็นขนมที่เพื่อนบ้านนำไปไหว้เจ้าในพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ตามประเพณีของคนจีนมาให้ทุกคนรับประทาน แม่ของผู้เขียนหันไปเห็นเข้าจึงบอกน้าว่าขนมไหว้เจ้าเอามาให้เพื่อนมุสลิมทานได้อย่างไร น้าใช่ว่าไม่รู้ข้อห้ามอันนี้ แต่ในบางเวลาก็หลงลืมไปบ้าง จึงนำขนมไหว้เจ้านั้นออกไปจากโต๊ะอาหาร
ระหว่างที่เรารับประทานอาหารเช้ากัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเริ่มถ่ายทอดสดพิธีกรรมแรกนาขวัญจากท้องสนามหลวง แม่ของผู้เขียนปรารภขึ้นมาว่า ปีนี้ลืมฝากเพื่อนที่เป็นข้าราชการดูแลพิธีกรรมแรกนาขวัญเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ประกอบพิธีมาให้ "น้าฟาริค" เพื่อนบ้านมุสลิมที่ประกอบอาชีพทำนา อยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเอาไปผสมพันธุ์ข้าวของเขาให้เป็น "มงคล" ผู้เขียนไม่แปลกใจกับการนึกถึงเพื่อนบ้านในวาระนี้ เพราะทุกปีแม่ของผู้เขียนก็นำพันธุ์ข้าวไปให้เพื่อนบ้านคนนี้ และเขาไม่เคยปฎิเสธไม่ว่าเขาจะนำไปใช้หรือไม่ก็ตาม
วันพืชมงคลปีนี้ตรงกับวันศุกร์เพื่อนมุสลิมของผู้เขียนได้ขอไว้ว่า เมื่อไปถึงหัวหินขอเวลาไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดก่อน เราไปถึงหัวหินในเวลาเกือบเที่ยงจึงลองขับรถวนหามัสยิดกันดูก่อน แต่เมื่อไม่พบจึงตัดสินใจถามผู้คน คนแรกที่เราแวะถามคือแม่ค้าขายข้าวแกง เพื่อนของผู้เขียนถามว่า "แถวนี้มีมัสยิดที่ไหนบ้าง" แม่ค้าทำหน้างุนงงและถามซ้ำว่า "อะไรนะ" เพื่อนยังคงถามคำถามเดิม แม่ค้ายังทำหน้างุนงงเช่นเดิม ผู้เขียนจึงบอกว่า "มัสยิดที่คนมุสลิมไปทำพิธีทางศาสนากัน" แม่ค้ายังคงทำหน้างุนงงและตอบว่า "ไม่รู้สิ ไม่เคยเห็นเลย"
เรายังไม่ละความพยายามขับรถเจอมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เพื่อนมุสลิมลงไปถามหามัสยิดอยู่นาน แล้วเดินกลับมาบอกว่าคนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างไม่รู้จักมัสยิด ผู้เขียนนึกได้ว่าควรกลับไปถามร้านอาหารมุสลิมที่เราผ่านมา ในตัวเมืองหัวหินมีอยู่ 2 ร้านข้างทางรถไฟ เมื่อไปถึงร้านเป็นเวลาเที่ยงกว่าแล้ว เพื่อนลงไปถามและเดินกลับมาบอกว่า มัสยิดที่อยู่ใกล้สุด ห่างจากที่นี่ไป 10 กิโลเมตร...
เรื่องราวนี้สะท้อนการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมหลากหลายวัฒนธรรมหลายอย่าง แรกทีเดียวพื้นเพเดิมของครอบครัวผู้เขียนมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราทุกคนในบ้านล้วนมีเพื่อนเป็นมลายูมุสลิม ไทยมุสลิมมาตลอดชีวิต ดังนั้น จึงรู้จักข้อห้ามบางอย่างของศาสนาอิสลามอยู่บ้าง บางอย่างเท่านั้น สิ่งที่เห็นต่อมาคือมุสลิมในแต่ละที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนา แตกต่างกัน พันธุ์ข้าวที่ผ่านพิธีกรรมอาจถูกปฏิเสธจากเพื่อนมุสลิมบางคนหรือในบางพื้นที่ แต่ไม่ใช่เพื่อนบ้านที่บางน้ำเปรี้ยว เพราะพันธุ์ข้าวไม่ได้เป็นเพียงพันธุ์ข้าว แต่เป็นมิตรภาพและน้ำใจจากเพื่อนต่างศาสนา
มองดูอย่างผิวเผินจะคิดว่าแม่ของผู้เขียนคงไม่ได้เข้าใจหลักการอิสลามอย่างแท้จริง หากเป็นคนอื่นมุสลิมที่ไหนเวลาใดก็ไม่สามารถรับอาหารที่ผ่านพิธีกรรมศาสนาอื่นได้ ซึ่งก็จริงเช่นนั้น แม่ไม่ได้ใช้หลักการศาสนามาปฏิสัมพันธ์กับคนมุสลิม แต่ใช้ประสบการณ์และเข้าใจว่ามุสลิมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เพื่อนของผู้เขียนมาจากภาคใต้รับประทานอาหารที่บ้านของเราได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องเนื้อหมู สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและอาหารที่ผ่านพิธีกรรมต่างๆ แม่รู้ว่าเพื่อนมลายูมุสลิมของผู้เขียนเกือบทุกคนจะไม่ทานอาหารที่บ้านเราเลยนอกจากน้ำและผลไม้ แม่ก็จะจัดไว้ให้ตามนั้นหากเขามาเยี่ยมเยือน
สุดท้ายเรื่องราวที่หัวหินบอกอะไรแก่ผู้เขียน ไม่ว่าวงวิชาการหรือวงการสื่อสารมวลชนจะสร้างองค์ความรู้ ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับอิสลาม มุสลิมมามากมายแค่ไหน กลับไม่ได้ทำให้ผู้คนในสังคมไทยรู้จักมุสลิมมากขึ้นเลย ไม่ต้องคาดหวังไปถึงการทำความรู้จักและเข้าใจคนมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำรงอยู่ร่วมอาณาบริเวณแผ่นดินอันมีจินตนาการคำว่าไทยแทรกอยู่ทุกอณูนี้แลย