Skip to main content

เสียงสะท้อนจากคนมลายู...ในกรุงเทพ

เรื่องโดย

suara Keadilan

            ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครรู้เบื้องลึกว่า  การจับผิด  จับไปขังแล้วซ้อม  ขังลืมเป็นปีๆ  และในที่สุดพบว่าผิดตัวต้องปล่อยกลับบ้าน  เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา  จนชาวบ้านทนไม่ไหวอีกแล้ว  ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อ  นับวันยิ่งเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมไม่ได้

 

            ทำอย่างไร  ระบบการกลั่นกรองก่อนการจับกุม  หรือตั้งข้อหาจะละเอียดรอบคอบกว่านี้  การจับผิด  หรือ ”แพะ”  เป็นหนึ่งในวิกฤตที่น่ากลัวเหลือเกิน  มันทำให้ทัศนคติที่มีต่อภาครัฐเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ  ในนามของกฎหมายผมคิดว่ารัฐต้องมีความรู้ลึก  รู้รอบกว่าที่เป็นอยู่ทุกข่าวสารข้อมูลต้องการการตรวจสอบอย่างเป็นธรรมที่สุด  ก่อนจะสั่งจับใครสักคน  ก่อนจะเหนี่ยวไกปืนฆ่าประชาชน(ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์)

 

            เพียงจับผิดเราก็เห็นกันอยู่ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมากมายแค่ไหน  ยิ่งในมิติทางอารมณ์และผลพวงที่กระทบกระแทกความรู้สึก  แล้วถ้ายิงผิด  คิดดูว่าความตายอยุติธรรมนั้นจะเกิดแรงเหวี่ยงทางความอาฆาตกว้างไกลเพียงไร  ใช่หรือไม่ว่าข้อบกพร่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้สะสมบ่มเพาะจนเป็นปรากฏการณ์ “ตายสิบ เกิดแสน” ซึ่งหมุนกลับมาเป็นชนวนในหลายๆเหตุการณ์ที่ผ่านมา  และขยายวงไปสู่สงครามรายวันที่รัฐหาทางออกไม่เจออยู่จนทุกวันนี้

 

            ทางฝ่ายรัฐเองเคยมีข้อมูลหรือรับผิดชอบบ้างไหมว่าสถานภาพหรือความเชื่อมั่นทางสังคมของเขาจะเป็นอย่างไร  เหนืออื่นใดเวลาที่สูญหายไป  การงานหรือเงินทองที่เคยมีสภาพคล่องย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง  นี่คือผลพวงแห่งความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโดยแท้    ในทัศนคติของผม  ผมคิดว่า “ถ้ารัฐไม่แก้ความรุนแรงด้วยความยุติธรรม ให้แก้อีกร้อยปี ก็อย่าหวังว่าจะหยุดความรุนแรงนั้นได้”