Skip to main content
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
 
 
ตั้งแต่เกิดการสู้รบในรูปแบบกองโจรหรือจรยุทธ์จนถึงปัจจุบัน ที่เริ่มด้วยการจุดพลุของกองกำลังติดอาวุธใต้ดินไม่ทราบฝ่ายและไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการก่อเหตุในวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งได้เกิดเหตุคนร้ายหลายสิบคน (ข่าวบางกระแสเชื่อว่าจะมีเป็นร้อยคน) บุกเข้าโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบตก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส สังหารเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าเวรอยู่ไป 5 นาย และปล้นอาวุธปืนไปทั้งหมด 413 กระบอก)
 
คงไม่มีใครรู้สึกยอมรับกับตัวเองว่า ณ เวลานี้ ตัวเองปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศของการสู้รบแบบนี้ได้แล้ว “ไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว ใครจะเข่นจะฆ่าก็ช่างมัน” ผมคนหนึ่งเคยบอกกับตัวเองอยู่เสมอมาตั้งนานแล้วว่า ปรากฏการณ์ความขัดแย้งจนมีการสู้รบกันระหว่าง ‘รัฐชาติไทย’ (ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากทุกสายตาไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ) กับ ‘ขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติปาตานี’ (ได้ยินจากหลายๆ เวทีทางวิชาการเขาเรียกกัน)
 
“เราต้องปรับตัวให้ได้ ต้องปรับตัวกับภาวะสงครามแบบนี้ให้ได้ ไม่นานเราก็คงปรับตัวอยู่กับมันได้เองแหละ เพราะเราจะไปปรับเปลี่ยนภาวะปรากฏการณ์แบบนี้ คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นทางออกเพื่อให้อยู่กับมันได้ โดยที่ไม่ต้องทุรนทุรายจนเกินไป เราก็ต้องมาปรับเปลี่ยนที่ตัวเรา”
 
 
สุดท้าย ท้ายสุด จนทำให้ผมต้องเขียนบทความชิ้นนี้ คือ “ความจริงความทุรนทุรายในใจและความคิดผม ไม่เคยจางหายเลยแม้แต่นิดเดียว ในทางกลับกันมันยิ่งเพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ ตามสถิติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น แต่ที่ผมอยู่ได้ โดยไม่ต้องหนีไปไหน ก็เพราะผมสะกดจิตและความคิดของผมเอง ให้เชื่อตามการหลอกตัวเองของผม ที่เป็นผลมาจากความเสื่อมทางด้านประสิทธิภาพในตัวเองต่อการที่จะกำหนดบทบาทในการยุติความรุนแรงหรือยุติการสู้รบเพื่อสันติภาพที่แท้จริงได้อย่างไร”
 
ผมคิดว่าคงไม่ใช่ผมคนเดียวแน่นอน ที่สะกดจิตและความคิดตัวเองให้ห่างไกลจากความขมขื่นของความจริงที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักนั่นคือ รัฐชาติไทย กับ ขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติปาตานี เชื่อว่าที่ผ่านมาและปัจจุบันก็อยู่ในภาวะทางจิตเหมือนผม เพราะอะไร? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
 
ในมุมมองของผม ผมคิดว่า คำตอบสำหรับคำถามที่ไม่ค่อยมีใครถามและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ยังไม่มีความชัดเจน คือ ทำไมความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยจึงยืดเยื้อ?
 
ถ้าถามฝ่ายรัฐ รัฐก็โยนไปที่ขบวนการฯ “เพราะขบวนการฯไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองออกมาให้ชัดเจน ว่าต้องการอะไร แล้วจะให้คลี่คลายปัญหาได้อย่างไร”
 
ถ้าถามฝ่ายขบวนการฯ ขบวนการฯ ก็โยนไปที่รัฐ “เพราะรัฐไทยไม่ยอมรับสถานะทางการเมืองที่ชอบธรรมด้วยหลักสิทธิมนุษยชนสากล แล้วจะให้เปิดเผยตัวเองได้อย่างไร ใครจะรับประกันว่าประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย”
 
ถ้าถามไปยังสากลที่อาจหมายถึงกลไกรัฐหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (UN, OIC เป็นต้น) สากลก็จะตอบกลับมาว่า “เรื่องปัญหาภายในประเทศพวกคุณแก้กันเอาเองดีกว่า เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศของคนอื่นหรือไม่ก็เขาจะหาว่าผมไปช่วยเหลือให้สนับสนุนพวกก่อการร้ายที่ไร้มนุษยธรรม”
 
อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่มีความชัดเจนต่อการยุติวงจรความยืดเยื้อของความรุนแรงจากทั้งรัฐ ขบวนการฯ และประชาชน เพราะสังคมไทยและสังคมมลายูปาตานี ต่างก็มีวัฒนธรรมในวิธีคิดการมองปัญหาที่เหมือนกัน คือ ไม่ชอบตั้งคำถามกับปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยคำว่าทำไม? แต่กลับชอบตั้งคำถามว่า อะไร? แล้วอย่างไร?
 
นัยยะของคำว่าอะไร? กับ แล้วอย่างไร? แสดงถึงว่าคนที่ถามนั้นต้องการอยากรู้แค่เพียง สิ่งที่เกิดขึ้นเขาเรียกว่าอะไร? เป็นโจรกระจอกหรือนักรบเพื่ออุดมการณ์หรือขบวนการค้ายาเสพติดหรือขบวนการค้าของเถื่อนหนีภาษีหรือต่างนานาจนเป็นที่ถูกใจโดยใช้หลักการของความน่าจะเป็นไปได้มาสรุป
 
แล้วอย่างไร? นั้นแสดงถึงว่าคนที่ถามต้องการอยากรู้วิธีการแก้ปัญหาจากคนอื่น ที่ตนเองคิดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นก็จะนำไปปฏิบัติตาม โดยที่ตัวเองก็ไม่ตกผลึกทางความคิดว่ามันจะมีโอกาสเกิดความสัมฤทธิ์ผลได้มากน้อยเพียงใด
 
ส่วนคำว่าทำไม? นั้น แสดงว่าคนที่ถามนั้นต้องการอยากรู้ว่า อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยหรือแรงขับเคลื่อนหรือแรงบั่นทอนที่มีผลต่อปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือไม่ได้มองแบบแยกส่วน แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิงระหว่างปัจจัยกับปรากฏการณ์ และแม้กระทั่งระหว่างปัจจัยกับแต่ละปัจจัยกันเอง ทุกปัจจัยมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และส่งผลต่อกันทั้งผลักดันและฉุดดึงต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเกิดขึ้นแบบแปรผันโดยตรงกับปรากฏการณ์ใดๆ ก็ตาม
 
กล่าวคือ อะไร? อย่างไร? หมายถึงการที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่า แต่เป็นการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปเรียกร้องจากคนอื่นมากกว่าเรียกร้องจากตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก แน่นอนไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากปัจจัยภายในที่มีประสิทธิผล แล้วส่งผลให้ปัจจัยภายนอกมีแรงจูงใจที่ชอบธรรม เข้ามาหนุนเสริมให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วาดหวังไว้
 
ถ้าถอดเอาจากการวิเคราะห์ของผมข้างต้น ที่ประมวลข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนของหลายๆ ภาคส่วนในเวทีทางวิชาการต่างๆ โดยสรุปแล้วปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยที่ยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันและแทบไม่มีสัญญาณทางบวกเลยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอีกไม่กี่ปีนี้ แม้กระทั่ง 10 หรือ 20 ปี ก็ยังไม่มีใครออกมาการันตีนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ
 
          1. รัฐชาติไทยไม่ยอมรับสถานะทางการเมืองที่ชอบธรรมด้วยหลักสิทธิมนุษยชนของขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติปาตานี (เห็นได้ชัดจากทุกเวทีที่มีการพูดคุยเจรจา กบทางตัวแทนกลุ่มขบวนการฯ ไม่เคยเป็นที่เปิดเผยต่อสังคมสาธารณะ ไม่มีตัวแทนจากประเทศที่ 3 ที่มีอำนาจไกล่เกลี่ยได้ และตัวแทนของรัฐไทยนั้นไม่มีอำนาจการตัดสินใจตามข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องจากฝ่ายขบวนการฯ ในขณะเดียวกันระหว่างที่มีการพูดคุยนั้น สื่อของรัฐนั้นประโคมข่าวอยู่ตลอดว่า ขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติปาตานี คือขบวนการก่อการร้ายบ้าง โจรแบ่งแยกดินแดนบ้าง)
 
          2. ขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติปาตานีไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน (เห็นได้ชัดจากการก่อเหตุรุนแรงที่ถูกพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่มีฝ่ายการเมืองที่เปิดเผย และไม่มีการสื่อสารที่มาจากตัวขบวนการฯเองไปยังสังคมสาธารณะว่าต้องการอะไร ที่นอกเหนือจากสีสเปรย์ที่เขียนว่า “PATANI MERDEKA” ซึ่งแปลว่า “ปาตานีเอกราช” ที่อยู่ตามท้องถนน และตามป้ายริมถนน)
 
          3. กลไกรัฐและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (UN หรือ OIC เป็นต้น) ยังสงวนท่าที (เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์กรือเซะ เหตุกาณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอร์ปาแย และเหตุการณ์ซ้อมทรมานอิหม่ามยะผาและครอบครัว เป็นต้น UN หรือ OIC ก็ไม่ท่าทีใดๆ แสดงออกมาชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและพร้อมที่จะกดดันให้รัฐแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ใช่แค่การเยียวยา เพราะประเด็นไม่ได้อยู่แค่การก่ออาชญากรรมโดยรัฐต่อประชาชน “แต่ประเด็นที่แท้จริงคือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและการไม่สามารถจัดการของประเทศไทยต่อความสมดุลทางโครงสร้างอำนาจเพื่อรองรับความต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในความเป็นรัฐชาติไทยกับความเป็นชาติพันธุ์ชาติปาตานีที่ไร้รัฐ ซึ่งเป็นผลพวงของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมบริทิชหรืออังกฤษกับความเป็นจักรวรรดินิยมสยาม ผสานผลประโยชน์กันลงตัวในเรื่องดินแดนส่วนหนึ่งของชาติมลายู (Anglo-Siamese Treaty ค.ศ.1909)”)  
 
ทั้งสามปัจจัยข้างต้น ล้วนแล้วเป็นท่าทีที่ถูกขับออกมาผ่านจุดยืนของแต่ละฝ่าย คือ รัฐชาติไทย ขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยชาติชาติปาตานี และสากล ตราบใดที่ตัวแสดงหลักทั้งสามนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหล่อเลี้ยงวงจรการสู้รบในแบบฉบับของชายแดนใต้หรือปาตานี ไม่สามารถแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างในจุดยืน หรือเป้าหมาย ต่อปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาย่างเข้าปีที่แปดแล้วนั้น ผมเชื่อว่าสถานการณ์ความขัดแย้งหรือความรุนแรงในการสู้รบที่เดิมพันด้วยชะตาชีวิตประชาชนและรอคอยการตัดสินเพื่อยุติการสู้รบด้วยกลไกที่คาดว่าจะสามารถให้ความเป็นธรรมได้นั้น จะยังคงยืดเยื้อไม่มีสิ้นสุดต่อไป จนกว่าชาติใดชาติหนึ่งจะสูญพันธุ์