Skip to main content
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2555
 
โดย ปริญญา ชูเลขา
 
          สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นมันสมองภาครัฐมีหน้าที่ผลิตนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นภัยที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง
 
          พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรีอดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการ สมช.คนใหม่ เปิดเผยผ่าน "โพสต์ทูเดย์"ถึงยุทธศาสตร์การดับไฟใต้เพื่อนำสันติสุขสู่ดินแดนด้ามขวานแห่งนี้
 
          พล.ต.อ.วิเชียร บอกว่า การจัดทำนโยบายระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2558 เป็นการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม เพราะสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดประเด็นปัญหาและแนวโน้มสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ไม่ให้ผิดทาง ใน 3 ปีข้างหน้าจะมีเงื่อนไข 3 เรื่อง ที่ยังมีความรุนแรงอยู่คือ 1.เงื่อนไขระดับบุคคลที่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่มองเห็นได้ 3 เรื่อง 
 
          1) การใช้อำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ที่ไม่สนใจความละเอียดอ่อนด้านสิทธิมนุษยชนวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ 2) ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มุ่งหมายแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังคงดำรงอยู่ 3) ความรุนแรงที่เกิดจากปัญหาแทรกซ้อน หรือแรงจูงใจอื่นๆ เช่นอิทธิพลค้าของเถื่อน อำนาจมืด และยาเสพติดเป็นต้น และ 4) ความรุนแรงที่เกิดจากอารมณ์โกรธแค้นเกลียดชังพ่อแม่พี่น้องถูกฆ่าตาย คาดว่าในปีหน้าเงื่อนไขเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่
 
          2.เงื่อนไขระดับโครงสร้างที่เป็นความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับพื้นที่ ทั้งสองยังไม่มีความสมดุลระหว่างกันหลายๆ เรื่อง 3.เงื่อนไขทางวัฒนธรรมและความรู้สึกที่คิดว่าถูกเลือกปฏิบัติ และความแตกต่างทางอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
 
          "ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ชัดเจนขึ้นมาว่าเงื่อนไขระดับบุคคลเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาแทรกซ้อน อิทธิพล อำนาจมืดและยาเสพติดเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุมากกว่าการแบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำไป ส่วนเรื่องความแค้นส่วนตัวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าประเด็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน"
 
          "สำหรับแรงจูงใจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นไม่ได้นำมารวมด้วย แต่เป็นการสรุปคลุมว่าเป็นแรงจูงใจอื่นๆ ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพราะการแข่งขันการเมืองในท้องถิ่นรุนแรงย่อมมีส่วนในการใช้ความรุนแรง"
 
          พล.ต.อ.วิเชียร ระบุอีกว่า สิ่งสำคัญในการจัดทำนโยบายได้ศึกษารากเหง้าของปัญหาก่อนเพราะที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งไปแก้การก่อเหตุรุนแรงรายวันเพื่อตรึงสถานการณ์ให้สงบ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า ซึ่งปัญหารากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ด้วยกัน 3 เงื่อนไข หรือ 3 ชั้น 
 
          1.ชั้นส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยเงื่อนไข 4 เรื่อง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว 2.ชั้นเชิงโครงสร้างที่เป็นเรื่องทางการเมืองและการปกครอง เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นที่ไม่สมดุลกัน จึงไม่เกิดการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่และ 3.ชั้นวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องจิตวิญญาณชั้นลึกสุดนั่นหมายถึง การยอมรับอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
 
          "หากยังไม่ปลดหรือลดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างก็จะยังมีความรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะประเด็นการก่อเหตุอิทธิพล อำนาจมืด ค้าของเถื่อน ยาเสพติดจะยังดำเนินการไปได้ด้วยดีในสถานการณ์เช่นนี้สำหรับเรื่องความแค้นส่วนตัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และที่ผ่านมาปัจจัยความรุนแรงที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มก่อการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน"
 
          "เนื่องจากตัวชี้วัดความรุนแรงที่เป็นคดีความมั่นคงมีเพียง 11% แต่อีก 89% เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติดอิทธิพลมืด ค้าของเถื่อน หรือแม้แต่ความแค้นส่วนตัว ฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ในการสืบสวนสอบสวนต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามต้องการสร้างสถานการณ์หรือไม่ เพราะบางคดีไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำไป" อดีตผบ.ตร. ระบุ
 
          สำหรับเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ผ่านมามีการเสนอหลายโมเดล เช่น "นครปัตตานี"ที่น่าสนใจเป็นข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้าของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นเฉพาะที่สนองต่อความต้องการและอัตลักษณ์ของพื้นที่ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้
 
          "เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่มีการขับเคลื่อนเรื่องรูปแบบการปกครอง เพราะ 2-3 ปีก่อนถ้าพูดถึงเขตปกครองพิเศษจะเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก จึงไม่มีพื้นที่พูดคุยแต่ระยะหลังมานี้สามารถพูดคุยกันได้เพราะมีการให้การศึกษาหรือการพูดคุยกันมากในสังคมได้ดียิ่งขึ้น และมีความเข้าใจจากประชาชนที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหา จึงไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่นี่คือหัวใจหลักที่เป็นรากเหง้าของปัญหา"
 
          พล.ต.อ.วิเชียร มองว่า การเปิดพื้นที่การพูดคุยกันและหารูปแบบการกระจายอำนาจ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องที่ดี แม้ไม่ทราบว่าปลายทางจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะต้องมีการพูดกันอีกกันอีกมาก แต่หากในท้ายที่สุดแล้วมีการปรับระดับความสัมพันธ์กันได้ระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ก็จะเกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นก็จะหมดเงื่อนไขการก่อความรุนแรง เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอะไรอีกแล้วเนื่องจากได้มีการปลดเงื่อนไขที่รากเหง้าออกไปแล้ว
 
          ดังนั้น นโยบายและยุทธศาสตร์ สมช. จึงมุ่งหมายปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ที่ไม่เลือกใช้ความรุนแรงและหันมาใช้แนวทางสันติวิธีแทน ถ้ากลุ่มก่อความไม่สงบเข้ามาเล่นบทบาทอย่างนี้ได้ ไม่เล่นบทบาทใต้ดินและใช้ความรุนแรง จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะขัดขวางรูปแบบการปกครองต่างๆ
 
          "ส่วนตัวผมสนใจแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกองทัพสาธารณรัฐไอริช (Irish Republican Army) หรือไออาร์เอ ที่สู้รบกันมากว่าสามสิบปีแต่ท้ายที่สุดต้องมาตกลงกันทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การเลือกตั้งมีที่นั่งในสภา แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจรจาสงบศึกแต่หมายถึงการเปิดโอกาสที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในพื้นที่" เลขาธิการ สมช. กล่าว