Skip to main content

 สัมภาษณ์พิเศษ  
แพทย์หญิงเพชรดาว  โต๊ะมีนา  เจาะลึกสถิติ  "ฆ่าตัวตาย" ที่ชายแดนใต้

 

 

 ความรุนแรงรายวันที่ชายแดนใต้ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ "เฝ้าระวังพิเศษ" ของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับโรคที่เกี่ยวกับจิตใจ 5 โรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคซึมเศร้า 2.ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 3.โรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 4.โรคเครียดวิตกกังวล และ 5.ภาวะการติดสุราหรือสารเสพติด
          ที่ผ่านมาแม้จะมีการให้ข้อมูลจากหลายฝ่ายว่าภาวะเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นสูงมากในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน แต่ก็น่าแปลกที่มูลเหตุดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นกลับมาจากสาเหตอื่น
          ความซับซ้อนที่น่าสนใจนี้สะท้อนอัตลักษณ์และวิถีแห่งความเชื่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่จริงอย่าง
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นผู้อธิบาย
          และทั้งหมดนี้คือภาพรวมภาวะจิตใจของผู้คนจากชายแดนใต้ซึ่งเป็นทั้งเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่ตนเองมิได้ก่อ...
 
          O ในห้วง 8 ปีที่เกิดความรุนแรงรายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดผลกระทบด้านจิตใจต่อประชาชนแค่ไหน อย่างไร?
          แน่นอนว่าต้องเกิดผลกระทบ คือทำให้เกิด 3 โรคใหญ่ๆ คือ โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่เรียกว่า PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) โรคเครียดฉับพลัน และโรคเครียดเรื้อรัง
          ขณะที่อีกโรคหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัก็คือ 'โรคซึมเศร้า' เกิดจากความรู้สึกสูญเสียเช่นเดียวกัน และถือเป็นโรคที่มีความสำคัญ เพราะส่งผลให้เกิดการพยายามฆ่าตัวตาย
ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ
 
          O คนกลุ่มไหนที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด?
          หากพิจารณาข้อมูลจากทั่วประเทศจะพบว่าเป็นคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุหลักที่ก่อผลผลิตให้กับประเทศชาติ ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโดยเฉลี่ยการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งมีผลกระทบต่อคนใกล้เคียงมากถึง 6 คน หมายถึงว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน จะมีคนรอบข้างประมาณ 6 คนที่พลอยได้รับผลกระทบด้านจิตใจไปด้วย
          ในทางจิตเวชจะมีศัพท์ที่เรียก 'พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย' มี 3 อย่าง คือ 1.คิดจะฆ่าตัวตาย 2.การพยายามฆ่าตัวตาย และ 3.การฆ่าตัวตายสำเร็จ
 
          O สถิติในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ทั้งฆ่าตัวตายสำเร็จและไม่สำเร็จ?
          ข้อมูลปี 2554 ใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา พบว่ามีคนพยายามฆ่าตัวตายทั้งหมด 606 คน แต่สำเร็จจริงๆ 40 คน ไม่สำเร็จ 566 คน การฆ่าตัวตายสำเร็จ พบมากที่สุดที่ จ.สงขลา 20 คน รองลงมาคือปัตตานี 9 คน ยะลา 7 คน และนราธิวาส 4 คน มีข้อสังเกตว่า อ.นาทวี จ.สงขลา มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง 7.93 ต่อประชากรแสนคน และเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 5 คน
          ส่วนการพยายามฆ่าตัวตาย (ไม่สำเร็จ) ที่มีอยู่ 566 คนนั้น พบมากที่สุดที่ จ.สงขลาเช่นกัน จำนวน 460 คน รองลงมาคือ จ.ยะลา 42 คนเท่ากับนราธิวาส ขณะที่ปัตตานี 22 คน เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ อ.รามัน จ.ยะลา พบการพยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ทั้งหมดคือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยหลักอิสลามแล้ว การฆ่าตัวตายเป็นบาปหนัก แต่กลับมีแนวโน้มการ
ฆ่าตัวตายในหมู่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.นราธิวาส พบถึงร้อยละ 34.9 ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนทำงานเหมือนข้อมูลจากทั่วโลก และเริ่มพบในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่าเดิม อายุต่ำสุดคือ 14 ปี และเริ่มพบมากในสังคมเมืองหรืออำเภอที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมที่เจริญขึ้นมากกว่าในเขตชนบท
          สาเหตุส่วนใหญ่ของการพยายามฆ่าตัวตายเกิดจากปัญหาทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยอกน้อยใจ ความรัก ความหึงหวง จะว่าไปแล้วก็เป็นปัญหาครอบครัว การสื่อสารภายในครอบครัว การควบคุมอารมณ์และสติ ซึ่งแต่เดิมเราเชื่อกันว่าการฆ่าตัวตายจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วย
ที่เป็นโรคเรื้อรัง เกิดความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายกับโรคที่เป็นอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว
          สำหรับการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากสถิติตัวเลขพบว่าผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายเมื่อตั้งใจฆ่าแล้วมักฆ่าตัวเองตาย แต่ถ้าพยายามฆ่าตัวตาย (ไม่สำเร็จ) จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องความสนใจ
 
          O มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ทำให้คนคิดฆ่าตัวตาย?    
          ปัจจัยที่ทำให้คนพยายามฆ่าตัวตายมี 4 เรื่องหลัก คือ
1.ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสถานภาพการสมรส จะพบว่าคนโสดกับหย่าร้างมีความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่มีครอบครัวครบสมบูรณ์ นอกจากนั้นเมื่อมีบุตรแล้ว การฆ่าตัวตายจะน้อยลง เนื่องจากคิดถึงลูก ความมั่นใจในศาสนาหรือการมีเพื่อนสนิท มีญาติพี่น้องพูดคุยด้วยบ่อยๆ ก็เป็นทุนสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญที่ทำให้การฆ่าตัวตายน้อยลงเช่นเดียวกัน
          2.ปัจจัยเรื่องโรคทางจิตเวช ซึมเศร้า โรคจิตเภท ทำให้มีอารมณ์เศร้า หมดกำลังใจ ส่งผลต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการติดสุรา ยาเสพติดและลักษณะบุคลิกภาพด้านอารมณ์บางอย่างที่ไม่มีการแก้ไขก็ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเช่นกัน
          3.ปัจจัยเฉพาะตัว คือมีประวัติการพยายามฆ่าตัวตาย และ
4.ปัจจัยทางสุขภาพ คือการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ความดันสูงหรือต่ำ เบาหวาน มะเร็ง หรือโรคเอดส์ จะเห็นได้ว่าคนที่เป็นโรคเรื้อรังมีแนวคิดว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งของการฆ่าตัวตาย
 
          O การพยายามฆ่าตัวตายมาจากความเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบบ้างหรือเปล่า?
          จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบของโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ซึ่งเป็นแม่ข่าย ในรอบ 6 เดือนของปี 2554 พบว่า ผู้ที่มีความเครียดจากเหตุสะเทือนขวัญ หรือ PTSD พบมากที่สุดที่ จ.นราธิวาส และปัตตานี แต่ไม่ใช่การพยายามฆ่าตัวตาย
          ต้องยอมรับว่าในพื้นที่สามจังหวัดก็มีคนที่คิดฆ่าตัวตาย และมีที่ฆ่าตัวตายสำเร็จด้วย แต่ยังไม่พบว่ามีคนที่พยายามฆ่าตัวตายจากความเครียดเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบเลย ทั้งพุทธและมุสลิม ซึ่งอาจเป็นเพราะคนสามจังหวัดยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาเป็นสำคัญ
 
 
O อัตราการพยายามฆ่าตัวตายที่ชายแดนใต้เยอะกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศหรือไม่?
          ข้อมูลจากตัวชี้วัดทั่วประเทศของกรมสุขภาพจิตเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จ ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ถือว่าไม่เยอะกว่าพื้นที่อื่น แต่ต่ำกว่าเกณฑ์เสียด้วยซ้ำ ยกเว้น จ.สงขลา ที่ดูจากข้อมูลแล้วค่อนข้างน่าเป็นห่วง
 
          O วิธีการฆ่าตัวตายมีอะไรบ้าง?
          จากข้อมูลที่พบในพื้นที่มีทั้งกินยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตตามอล กินยาฆ่าแมลง และดื่มสารเคมีต่างๆ ส่วนในกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีตัวเลขอยู่คือ 1.ผูกคอหรือแขวนคอตาย 2.กินยาเกินขนาดหรือใช้สารเคมี และ 3.ยิงตัวเองตาย ซึ่งมีอยู่เหมือนกันแต่ไม่มาก
 
          O ที่ผ่านมามีข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ฆ่าตัวตายบ่อยครั้งในพื้นที่สามจังหวัด มีสาเหตุมาจากอะไร?
          หมอทราบจากแหล่งข่าวคนหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร มีความเครียดและพยายามฆ่าตัวตาย ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตเข้าไม่ถึงเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ เนื่องจากมีต้นสังกัดดูแลโดยตรงและคิดว่าสามารถดูแลได้ กรมสุขภาพจิตจึงดูแลแต่พลเรือน
          จากที่ได้เข้าไปสัมผัสปัญหา พบว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีการคัดกรองเรื่องสุขภาพจิตก่อนไปทำงาน ฉะนั้นคนที่ถูกส่งตัวลงไปปฏิบัติหน้าที่จึงมีความเครียดในระดับหนึ่งอยู่แล้ว หากคนเหล่านั้นมีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อน ก็สมควรได้รับการดูแลก่อนทำหน้าที่ การคัดกรองทั้งก่อนและหลังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง กำลังคิดว่าทางกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกันอย่างไรในการคัดกรอง เพราะกำลังพลแทบทุกหน่วยยังขาดการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตอย่างเป็นรูปธรรม
 
          O ในมุมมองของคุณหมอเอง มองว่าปัญหาการฆ่าตัวตายในจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าวิตกหรือไม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทอย่างไร?
          ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม แต่ก็น่าวิตกพอสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ควรผลักดันสนับสนุนให้เกิดกระบวนการในชุมชน โดยเฉพาะกระบวนการการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตายในพื้นที่ หรืออาจใช้มาตรการทางสังคมและชุมชนเข้าไปดูแล ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) และองค์รกรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชน ย่อมได้รับความไว้วางใจ โดยรูปแบบเป็นการให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งทางใจ คอยให้กำลังใจ หรือรวมกลุ่มกันในชุมชน ให้กลุ่มดูแลเยียวยากันเอง (
Self health group) หรือที่เรียกว่า 'กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน'
 
          O อยากขอคำแนะนำสั้นๆ สำหรับคนที่คิดฆ่าตัวตาย...
          ปัญหาทุกปัญหามีทางออก ขอให้มีสติ ใช้หลักศาสนามาควบคุมความคิด ควบคุมอารมณ์ ควรคิดทางบวก คิดถึงคนที่เรารัก คนที่เราต้องดูแล หากหาทางออกไม่ได้ให้ใช้ตัวช่วย คือพูดคุยกับคนที่เราใกล้ชิด คุยกับคนที่เราไว้วางใจ หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ สามารถโทร.ไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทุกวัน
 
 
 
ขอขอบคุณ
บทความโดย  นางสาวแวลีเมาะ  ปูซู  ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา